คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : คิดไกล

นอร์เวย์เป็นอีกหนึ่งประเทศน่าสนใจด้านการบริหารจัดการทางคมนาคม หากจำกันได้ปลายปีก่อน มีข่าวน่าสนใจที่สภาบริหารท้องถิ่นกรุงออสโล มีแผนห้ามรถยนต์ส่วนตัววิ่งในพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งแผนนี้อยากจะเริ่มทำในปี 2562

และไม่ใช่แค่บริหารจัดการจราจรเท่านั้น แต่เขา “คิดไกล” ไปถึงขั้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องการให้ลดลง 50% ภายในปี 2563 ซึ่งพื้นที่ที่ตั้งใจทำนี้มีประชาชนอาศัยแค่พันคน แต่เป็นพื้นที่จุดทำงาน 9 หมื่นคน

วิธีคิดของนอร์เวย์ ไม่ได้คิดแค่เรื่องโครงสร้าง แต่คิดถึง “คน” หลายครั้งพิสูจน์ถึงแนวคิดนี้ได้ดี เช่น การสร้างเรือนจำที่มีจุดเด่นด้านคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน อย่างเรือนจำฮอลเดน ทางตอนใต้ของนอร์เวย์ที่ถูกยกให้เป็นเรือนจำในอุดมคติ มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร และไม่ติดลูกกรงเหล็กที่หน้าต่าง ไปจนถึงสร้างบรรยากาศให้นักโทษที่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว สามารถปรับพฤติกรรมออกไปสู่สังคมได้อย่างไม่มีรู้สึกแย่ ตกต่ำ หรือโกรธเคืองสังคม

กลับมาที่แวดวงการจัดการคมนาคม เพิ่งมีข่าวไอเดียเมกะโปรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานที่ดังในต่างแดน และมองว่า หากนอร์เวย์ทำได้จริงก็จะเป็นแห่งแรกของโลก คือ การสร้าง Floating Tunnel หรืออุโมงค์ลอดใต้ทะเล แบบที่มีโครงสร้างลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำ

Advertisement

ที่มาโครงการนี้เพราะฝั่งตะวันตกของนอร์เวย์อุดมด้วย “ฟยอร์ด” fjord ถึง 1,190 แห่ง

“ฟยอร์ด” คือ บริเวณทางภูมิศาสตร์ของช่องทางน้ำที่ยาวและแคบที่ถูกประกบไปด้วยริมฝั่งที่สูงชันอันเกิดจากกิจกรรมของธารน้ำแข็ง ซึ่งมีทั้งความสวยงามตามธรรมชาติ แต่ด้านหนึ่งเป็นจุดที่เดินทางยากลำบาก ใช้เวลาที่นาน หากขับรถจากฝั่งใต้ไปฝั่งเหนือ กินเวลาราว 21 ชั่วโมง และหากใช้เรือเฟอร์รี่ข้ามฟากทะเลนอร์เวเจี้ยนใช้เวลา 7 ชม.

หน่วยงานทางถนนของนอร์เวย์เสนอให้สร้าง Floating Tunnel เพราะประเมินว่าจะประหยัดเวลาเดินทางด้วยรถเหลือราว 9 ชม. เพราะทำให้ข้ามจุด “ฟยอร์ด” ได้ไวขึ้นนั่นเอง

Advertisement

อุโมงค์ที่สร้างแบบลอยน้ำใกล้ผิวทะเลนี้ยังไม่เคยมีในโลก โดยคาดการณ์งบประมาณที่ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

มาดูโครงสร้างอุโมงค์ทางลอดรถวิ่งใต้น้ำในแบบลอยใกล้ผิวน้ำ จะก่อสร้างเป็น 2 อุโมงค์คอนกรีต ลึกลงไป 20 เมตร จากพื้นผิวทะเลนอร์เวเจี้ยน ให้รถวิ่งไป-กลับในระยะทาง 1.22 กิโลเมตร

และแน่นอนว่าคำนึงถึง “คน” อีกเช่นกัน เพราะจะทำทางเดินและทางจักรยานไว้บริการ ขณะที่บนพื้นผิวทะเลจะมีการวางทุ่นลอยเป็นจุดสังเกต เว้นช่องให้เรือเฟอร์รี่สัญจรผ่านได้

นอกจากนี้ หน่วยงานด้านคมนาคมนอร์เวย์ยังเสนออีกหนึ่งทางเลือก คือ การรวมอุโมงค์ใต้ทะเลเข้ากับสะพานแขวนข้ามขึ้นมาบนบก ซึ่งสะพานนี้จะมีความยาว 12,139 ฟุต หรือ 3.7 กม.

เรียกว่ามี 2 ออปชั่น แต่ในส่วน Floating Tunnel หากทำได้จริงก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลก

แต่ถ้าช้า หรือไม่ทำ…อาจได้เห็นก่อนในประเทศจีนหรือไม่ (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image