คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ทายาทแห่งกรรมดี

ภาพจาก http://thai.tourismthailand.org/

เทศบาลตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ได้ไปเยือน

สถานที่นี้ฟังชื่อแล้วให้ความรู้สึกว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง

ทั้ง “หนองควาย” ทั้ง “หางดง” แหม ต้องไกลแน่ๆ

แต่จริงๆ แล้วสถานที่แห่งนี้อยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่ไม่เท่าไหร่เลย

Advertisement

ที่นั่นมีของดีหลายอย่าง อย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงคือ วัดต้นเกว๋น

วัดแห่งนี้มีเสน่ห์ ใครเดินผ่านไปต้องสะดุดตา

เพราะสถาปัตย์ล้านนาที่พบเห็นนั้น…งดงามจริงๆ

ข้อมูลจากเทศบาลตำบลหนองควาย ระบุว่า “ต้นเกว๋น” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาษาพื้นเมืองล้านนา

คือที่อื่นเรียกต้นตะขบป่า แต่ล้านนาเรียกมะเกว๋น

เดิมมีการปลูกต้นเกว๋นในบริเวณวัดแห่งนี้จำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดต้นเกว๋น”

แต่ปัจจุบันต้นเกว๋นที่ปลูกอยู่ในบริเวณวัดเหลืออยู่เพียงต้นเดียว

และภายหลังชื่อวัดก็เปลี่ยนจาก “ต้นเกว๋น” ไปเป็น “วัดอินทราวาส”

ชื่อ “อินทราวาส” ว่ากันว่ามาจากชื่อของเจ้าอาวาสที่สร้างวัด คือ อินทร์

เมื่อผสมกับอาวาสก็เลยกลายเป็นอินทราวาส…

เว็บไซต์ของเทศบาลตำบลหนองควายบอกว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2399-2413)

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เป็นเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 6

วัดแห่งนี้อยู่ในเส้นทางสายเดิมที่ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุต้องหยุดพัก

โดยจะหยุดพักที่ศาลาจตุรมุขเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ

จากนั้นขบวนแห่จะเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่

ปัจจุบันยังหลงเหลือสิ่งปลูกสร้างที่เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุเมื่อครั้งกระโน้น

ทั้งศาลาจตุรมุข สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

รินรองน้ำสรง ที่ประชาชนใช้สรงน้ำพระบรมธาตุ

หรือแม้แต่กลองโยนหรือกลองปู่จ่า ใช้สำหรับตีในวันพระซึ่งจะได้ยินไปทั่วทั้งตำบลหนองควาย

รวมทั้งเสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟหรือบอกไฟจุดบูชา ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “เขนัย”

ความสวยงามและเก่าแก่กว่าร้อยปีของสถาปัตยกรรมในวัดต้นเกว๋นเรียกได้ว่าไม่แพ้ที่ใด

ตัววิหารของวัดยังคงปรากฏลวดลายทางสถาปัตยกรรมล้านนาชัดเจนมาก

วิหารวัดต้นเกว๋น สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ.1220 หรือประมาณปี พ.ศ.2401

มีการบันทึกไว้ที่ใต้เพดานด้านเหนือด้วยตัวอักษรไทยวน

บันทึกว่า นายช่างผู้สร้างวิหารมีความชำนาญ สามารถสลักลวดลายดอกไม้ลายรูปสัตว์ไว้ที่หน้าจั่วและช่อฟ้า

ฝาผนังด้านหลังพระประธานในวิหารมีรูปคล้ายซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะซึ่งหล่อเป็นองค์ติดฝาผนังมณฑปแบบจตุรมุข

เป็นศิลปกรรมแบบล้านนาใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราว

ตรงนี้สร้างด้วยไม้มุงกระเบื้องของดินเผาแบบสมัยล้านนาโบราณ

บนหลังคามีช่อฟ้าและหงส์ประดับอยู่เหนือราวหลังคาที่มุมของสันหลังคามีการปั้นรูปยักษ์ไว้ที่เหลี่ยมเสา ปัจจุบันมีร่องรอยปรากฏที่ชัดเจนมาก

ปี พ.ศ.2518 ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

ปี พ.ศ.2532 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ยกย่องให้เป็น “อาคารอนุรักษ์ยอดเยี่ยม”

ชื่อเสียงของวัดต้นเกว๋นโด่งดังเป็นที่รู้จัก ในฐานะวัดที่มีรูปแบบทางศิลปกรรมอันงดงาม

ทุกวันนี้ วัดต้นเกว๋นมีกิจกรรมประจำปี คือ พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนทุกปี

ประชาชนจะสรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครไม่เคยเห็นน่าจะแวะเวียนไปชม

ไปตำบลหนองควายครั้งนี้มีโอกาสแวะชม…ปลื้มใจ

แต่สิ่งที่ภาคภูมิใจมากกว่า คือ ระหว่างเยือนตำบลหนองควาย มีผู้อาวุโสเท้าความอดีตให้ฟัง

เขาถามว่า รู้ไหมว่าถ้าวัดต้นเกว๋นไม่ได้คุณขรรค์ชัย บุนปาน และมติชน มาช่วยก็ไม่ได้เป็นอย่างเช่นที่เห็น

เขาคนนั้นเล่าว่า มติชนได้ช่วยพิทักษ์ศิลปะของวัดให้คงความเป็นล้านนา วัดจึงเชิดหน้าชูตามาถึงปัจจุบัน

เขาคนเดียวกันบอกต่อว่า เพราะช่วงหนึ่งส่วนสำคัญของวัดชำรุด ทางราชการจะยึดไปเก็บในพิพิธภัณฑ์

แต่ขาวบ้านทักท้วง และยืนยันว่าจะช่วยกันรักษาศิลปะล้านนาเอาไว้

มติชนมีโอกาสเข้าไปช่วยตรงจุดนี้ วัดต้นเกว๋นจึงคงศิลปะล้านนาไว้สมบูรณ์จนถึงทุกวันนี้

เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนมานาน นานจนคิดว่าผู้คนน่าจะลืมเลือนไปแล้ว

แต่ก็ยังมีคนไม่ลืม

เคยทำดีไว้ คนไม่ลืม

นี่ขนาดคนรุ่นหลัง ไม่รู้เรื่องรู้ราว แวะเวียนผ่านไป ยังได้รับคำชมเป็นอานิสงส์

เป็นบทเรียนอีกหนึ่งที่ตอกย้ำว่า พึงกระทำกรรมดี

ทำดีย่อมได้ดี…ทำดีมีความสุข

แถมยังเป็นความสุขที่มิได้จำกัดเฉพาะตัว

หากแต่ผู้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงรุ่นต่อๆ ไปยังพลอยรับผล

เป็นทายาทผู้รับกรรม…จากการกระทำความดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image