คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง : BROKEN-HEARTED MELODY สำหรับคนอกหัก

ผลประชามติ 7 สิงหา 2516 ทำคนไทย-อย่างน้อยก็ร่วม 10 ล้านคน–อกหัก แต่นักเพลงรุ่น “หนุ่ม 60s” กลับเห็นว่าเป็นโจ๊ก

เพื่อนที่โหวตเยสร่วมหัวร่อด้วยอย่างสะใจทั้งที่ยังไม่รู้ว่าสหายหัวเราะอะไร ส่วนเพื่อนที่โหวตโนตะคอกว่า

“#*@!* ขำอะไรของมึง”

หนุ่ม 60s สารภาพว่า ขำพวกโหวตโนบางคนที่ตีโพยตีพาย หมดหวัง หมดศรัทธาในเหล่าประชาสยาม แถมยังพยายามเข้าใจว่า พวกโหวตเยสเขารักตุ๊ดตู่-รักทหาร เชื่อว่าเผด็จการจะทำให้บ้านเมืองสงบ หรือเบื่อการเมือง หรืออยากเลือกตั้งเร็วๆ ฯลฯ พวกโหวตโนเสียเวลาในการพยายามหาเหตุผลบนความไม่มีเหตุผล ทำเหมือนลืมไปว่าการทำประชามติครั้งนี้วิปริตผิดเพี้ยนมาตั้งแต่ต้น

Advertisement

พวกโหวตเยสก็ไม่ต่างกันเลย ทำเนียนลืมไปเหมือนด้วย ว่าการทำประชามติครั้งนี้วิปริตผิดเพี้ยนมาตั้งแต่ต้น เมื่อมีชัยก็ตีปีกเต้นแร้งเต้นกายินดีราวกับว่าเป็นคะแนนอันใสสะอาด ซึ่งได้มาจากการแข่งขันที่มีวิธีการอันเที่ยงธรรม

ทั้งชัยชนะและความปราชัยดูจะมีอะไรคล้ายๆ กับความรัก คือทำให้ตาบอด

ที่บันเทิงสาหัสอีกอย่างหนึ่งคือมีผู้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เสียงประชาชนดังชัดทั่วแผ่นดิน” ฟังผ่าเผยเป็นอันมากจนออกอายๆ แทนคนพูด และนึกไปถึงการ์ตูนเสียดสีสถานการณ์ในอิหร่าน ที่ผู้ชนะออกมาประกาศทำนองเดียวกัน แต่ฝูงชนในการ์ตูนนั้นล้วนถูกเทปปิดปากสนิท

Advertisement

สำนวน “เสียงประชาชน” นี้มาจากคลีช/clich ฝรั่งที่ว่า The people have spoken (ประชาชนได้พูด/เปล่งเสียงแล้ว หมายถึงได้ออกเสียงแล้ว ลงคะแนนแล้ว ตัดสินแล้วอะไรทำนองนี้) เป็นสำนวนที่พูดกันจนเฝือ พวกนักการเมืองทุกฝ่ายทุกประเทศนิยมใช้เมื่อฝ่ายตนชนะ (ประชาชนพูดแล้ว-เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ / ประชาชนเปล่งเสียงแล้ว–เราจะเดินไปตามทางที่พวกเขาต้องการ / ประชาชนเลือกแล้ว–จงวางใจการตัดสินของพวกเขา ฯลฯ) แต่หากเมื่อใดเป็นฝ่ายแพ้ก็จะเงียบๆ ซะ ไม่ยอมเอ่ยถึงเสียงประชาชนอีกเลย

อย่างตอนที่ท่านปูตินแห่งรัสเซียชนะเลือกตั้ง (แบบขาดลอยทุกครั้ง) ก็มีคนนำรูปท่านปูตินมาเขียนล้อว่า The people have spoken, all 125% of them! (ทั้ง 125% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) เพราะคนรัสเซียจำนวนไม่น้อยเชื่อว่านอกจากจะไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งได้หาเสียงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ท่านปูตินยังโกงอย่างแหลกลาญ

ผู้ที่ใช้สำนวน The people have spoken รายแรกๆ คือคุณทวด มาร์ค ทเวน นักเขียนอเมริกันผู้สร้าง “ทอม ซอว์เยอร์” เด็กซนวายป่วงแห่งลุ่มแม่น้ำมิซซิสซิปปี แต่คุณทวดเป็นนักเสียดสีระดับโลก สำนวนเต็มๆ ที่แกใช้คือ

“The people have spoken-the bastards!”

“ประชาชนได้เปล่งเสียงแล้ว-ไอ้สารเลว”

ทั้งนี้ เพราะครั้งนั้นผู้คนส่วนใหญ่โหวตให้ตาเบื๊อกอะไรคนหนึ่งที่คุณทวดมาร์ค ทเวน เห็นว่าไม่เข้าท่า คุณทวดเลยด่าประชาชนซะเลย

นับแต่นั้นมาหลายคนที่แพ้โหวตก็อาศัยสำนวนคุณทวดช่วยให้หายอารมณ์เสีย อย่างเบาก็ใช้ “The people have spoken (and they are wrong)” อย่างในกรณีที่พลเมืองโหวตให้สหราชอาณาจักรอังกฤษ ออกจากอียู

เอาเหอะ ประชามติครั้งนี้จะชวนขำหรือชวนขมขื่นก็ไม่เป็นไร ฉากผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในเกมแบบนี้มีให้ชมกันมาหลายครั้งแล้ว นักเพลง 60s ท่านบอกว่า อย่าไปซีเรียส ต้องทำใจแบบสำนวนเยอรมัน “Die Lage ist kritisch aber nicht ernst.” ที่คนออสเตรียนชอบขอยืมมาใช้ ในภาษาอังกฤษเรามักเห็นว่า The situation is hopeless (หรือ critical), but not serious หรือ “สถานการณ์สิ้นหวัง แต่ไม่ซีเรียส”

สำนวนที่ว่าเป็นดั่งยากายสิทธิ์ที่ใช้รักษาทุกโรคสำหรับคนออสเตรียน จะเป็นทุกข์การเมือง ทุกข์การบ้าน ทุกข์การงาน หรือทุกข์ใดในชีวิตก็ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะทำให้จิตใจสบายขึ้น ไม่หมกมุ่นเป็นกังวลกับสิ่งที่เกิด แบบว่า–เดี๋ยวก็ดีเอง

ในกรณีบ้านเรา ต่อให้ฝ่ายโหวตโนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ coming soon น่าสะพรึงกลัวแค่ไหน แต่ก็ไม่ต้องไปเครียดกับมัน

“จงจำไว้เสมอว่า รธน.ไทยทุกฉบับล้วนเป็น รธน.ชั่วคราว มีอายุโดยเฉลี่ยไม่เกิน 5 ปี”

เออ-ถ้าจริงก็อยากจะเอาอย่างพวกออสเตรียน The situation is hopeless but not serious จะได้หัวร่อบ้าบอแบบไทยๆ ต่อไปอีกสี่ซ้าห้าปี

อ้าว–มัวแต่ไม่ซีเรียสจนเกือบลืมว่าจะต้องหาเพลงมาฝาก คราวนี้ต้องฝากคนอกหักแน่นอน และเพลงอะไรก็คงไม่ดีไปกว่า Broken Hearted Melody เพลงที่หนุ่มสาวสมัย 60s ในบ้านเรานิยมกันมาก

ความจริงแล้ว Broken Hearted Melody เป็นฮิตในช่วงปลาย 50s ในสหรัฐ แต่กว่าจะมาเป็นที่รู้จักจริงจังในเมืองไทยก็อีกสองสามปีต่อมา คือในตอนต้นของ ค.ศ.1960

คุณ Sarah Vaughan (1924-1990) ผู้ร้อง Broken Hearted Melody เป็นหนึ่งในนักร้องแจ๊ซฝ่ายหญิงที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงสุดในศตวรรษที่ 20

คุณซาร่า วอห์น เข้าสู่วงการเพลงในสมัยที่ศิลปินผิวดำ ไม่ว่าหญิงหรือชาย เกือบร้อยทั้งร้อยไต่เต้าสู่ความเป็นยอดด้วยความสามารถล้วนๆ เพราะไม่มีรูปร่างหน้าตาที่จะขายได้อย่างศิลปินในยุคต่อๆ มา

และแม้ Broken Hearted Melody จะไม่ใช่เพลงแจ๊ซ แถมคุณซาร่าค่อนข้างรังเกียจว่ามันเช้ย-เชย แต่เธอก็ต้องร้องเพลงนี้ตามสัญญาที่มีกับบริษัทแผ่นเสียง

คนร้องไม่ชอบก็ไม่เป็นไร Broken Hearted Melody กลับถูกใจผู้ฟังทั้งหลายในสหรัฐและอังกฤษ และกลายเป็นเพลงที่นำแผ่นเสียงทองคำแผ่นแรกมาให้คุณซาร่า วอห์น

สุ้มเสียงและเทคนิคในการร้องของคุณซาร่า ทำให้เพลงที่เจ้าตัวว่า “เช้ย-เชย” นี้คงความน่าฟังอยู่ได้แม้เวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ

เป็นเพราะศิลปินมีคุณภาพอย่างคุณซาร่า วอห์น ไม่ยอมให้ความชอบไม่ชอบส่วนตัว มาทำให้ความตั้งใจในการทำงานด้อยลงไป

เห็บสยามทุกสี คิดได้อย่างนี้ก็คงดีไม่น้อย

BROKEN HEARTED MELODY จาก Sarah Vaughn

และที่

https://youtu.be/QEYPpX9wY1M

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image