คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ริงๆ ในชีวิตนี้ผมคุยกับคนมาเยอะพอสมควร แต่สำหรับ “ต่อ” ธนญชัย ศรศรีวิชัย หรือที่หลายคนรู้จักเขาในนาม “ต่อ ฟีโนมีน่า” ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาแถวหน้าของเมืองไทย และผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณามือ 1 ของโลก 6 ปีซ้อน จากรางวัลคานส์ ไลอ้อน ประเทศฝรั่งเศส กลับทำให้ผมต้องหยุดคิดอยู่บ่อยครั้ง

เพราะทุกเรื่องที่เขาเล่าผ่านปากน่าคิดทุกเรื่อง แม้จะรู้มาก่อนว่าคนคนนี้ไม่ธรรมดา ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิต ความคิด และการกระทำ

โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ชีวิต เพราะเขามีหลักธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลารามเป็นบุคคลต้นแบบ หรือนัยหนึ่งเขามีองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแรงบันดาลใจ ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ค่อยยึดติดกับอะไร

เสื้อผ้าไม่จำเป็นต้องหรูหรา

Advertisement

ดำเนินชีวิตแบบคนธรรมดา

แต่กระนั้น เขาก็มีรสนิยมในการทำงานศิลปะที่เขาชอบ เพราะเขาชอบอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือชอบเดิน เพื่อไปพูดคุยกับผู้คนในมุมต่างๆ ของมหานครกรุงเทพ

และที่อื่นๆ เวลาเขาไปไหน

Advertisement

“ต่อ” บอกว่า การที่เราได้พูดคุยกับพ่อค้า แม่ค้า หรือพูดคุยกับคนกวาดถนน ลูกจ้างร้านของชำ และอีกมากมายที่เขาเจอ ทำให้เขาพบความจริงของชีวิต

“ชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ คุณอย่าไปยึดติดกับอะไร ดังนั้น ถ้าคุณไม่ยึดติดกับคำว่าตัวกูของกู ทุกอย่างก็จะทำให้เราเบาขึ้น สบายขึ้น”

“ต่อ” เล่าให้ผมฟังว่า…วันที่ทราบข่าวว่าเขาถูกจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณามือ 1 ของโลก และจะต้องไปรับรางวัลที่เมืองคานส์ ฝรั่งเศส

คนรอบข้างต่างตื่นเต้น และบอกเขาต้องไปรับรางวัล

เขายอมรับว่าเขาเองก็ดีใจ แต่อีกใจหนึ่งเขาคิดว่าก็กูทำงานหนักมาตลอด ยังไงกูก็ต้องได้ แต่จะให้ไปรับรางวัลนั้น เขาบอกว่าการตัดสินใจไปรับรางวัลนั้นง่าย

คิดแล้วไปได้เลย

แต่การตัดสินใจไม่ไปรับรางวัลนั้นยากกว่า เขาบอกผมว่าเขาตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ยากคือไม่ไปรับรางวัล และเขาไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว

หมายถึงทุกครั้งที่เขาได้รับรางวัล

แต่ครั้งหนึ่ง เขาบอกว่าจำเป็นต้องไป แต่ก็ไม่ขึ้นไปรับรางวัลอยู่ดี เพราะเขาต้องการไปที่จะบอกเอเยนซี่ในวงการโฆษณาโลกว่าบ้านเมืองของผมยังสบายดี ไม่มีอะไรน่าห่วง

ที่คุณเห็นจากข่าวว่ามีการเผาบ้านเผาเมือง ก็แค่เป็นส่วนเดียวของมหานครกรุงเทพ หลายคนเชื่อในสิ่งที่เขาบอก และเชื่อในสิ่งที่เขาพยายามสื่อความหมาย

เช่นเดียวกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด เขาบอกผมว่าอิทธิพลหลักๆ คงมาจากครอบครัว เพราะเขาเป็นลูกนายอำเภอ และครู

ที่บ้านมีหนังสือเยอะ

เขาเองก็ชอบอ่านหนังสือ

และด้วยความที่เป็นลูกนายอำเภอ เขาต้องย้ายโรงเรียนไปเรียนในจังหวัดต่างๆ ที่พ่อรับราชการ เขาจึงมีโอกาสติดตามพ่อเดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ

เมื่อเจออะไรที่สงสัยเขาก็ถาม

ทั้งถามจากพ่อ และคนอื่นๆ

จนทำให้เขารู้ตัวเองว่าหากจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาจะเรียนต่อที่ไหนดี ที่สุดเขาจึงตัดสินใจสอบเข้า คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

สถานที่แห่งนี้เองที่บ่มเพาะเขาเรื่องการออกแบบดีไซน์

และสถานที่แห่งนี้เองที่ทำให้เขาต่อยอดเพื่อมาทำงานกราฟิกดีไซน์ในตอนแรก ก่อนที่จะหันมาเป็นครีเอทีฟ และผู้กำกับภาพยนตร์ในที่สุด

“ต่อ” ยอมรับว่างานโฆษณาเป็นงานที่ทำให้เขามีรายได้ค่อนข้างดี และเขาเองก็เคยใช้ชีวิตหรูหรา ฟู่ฟ่า แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นงานที่หนักมากเช่นกัน

วันหนึ่งเขาถามตัวเองว่าจะมีเงินมากมายไปเพื่ออะไร ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ กอปรกับวันหนึ่งเขามีโอกาสไปเที่ยวป่ากับรุ่นพี่ ที่นั่นไม่มีความสะดวกอะไรเลย เหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

เขาจึงค้นพบว่าป่านี่แหละที่ทำให้เขาใกล้ชัดกับธรรมชาติ

ความคิดในการปลูกป่าจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น

ครั้งแรกเขาซื้อที่ดิน 85 ไร่ ที่อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อปลูกป่า เพราะคิดว่าเขาคงจะลาออกจากวงการนี้ แล้วไปใช้ชีวิตอยู่กับป่าธรรมชาติ

แต่เมื่อเพื่อนฝูงทุกคนบอกว่าเขายังทำงานโฆษณาเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อยู่ เขาจึงต้องตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นเขาจะต้องหาที่ดินในมหานครกรุงเทพเพื่อปลูกป่า และปลูกบ้านไปพร้อมๆ กัน

จนวันหนึ่งมีคนมาเสนอขายในราคา 105 ล้านบาท

บริเวณซอยอ่อนนุช 51 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่กว่าๆ เขารู้ดีว่าเงินจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยๆ ปีนั้นทั้งปีเขาจึงทำงานหนักมาก โดยเขากำกับหนังโฆษณาในปีนั้น 114 เรื่อง

เพื่อจะนำเงิน 105 ล้านไปปลูกป่า

หลายคนบอกเขาบ้าไปแล้ว

แต่เขากลับบอกว่าการที่ตัดสินใจนำเงิน 105 ล้านบาท มาปลูกป่าที่กรุงเทพฯ ผมตัดสินใจเพียง 5 นาที คือผมมีความขี้เกียจกับเงินว่าท้ายที่สุดเมื่อผมตายไป เราก็เอาอะไรไปไมได้

“ถึงแม้เงินจะเป็นสิ่งมีค่า และจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีค่า เงิน 105 ล้านบาท ถ้าอยู่ในแบงก์ มันทำให้ทุกคนบอกว่าเรารวย แต่มันไม่ได้เกิดประโยชน์ เพราะผมถามตัวเองอยู่เสมอว่าความสุขของผมคืออะไร ก็คือต้นไม้ ธรรมชาติ แก่ๆ แล้วผมอยากอยู่กับธรรมชาติ”

“ก็ผมทำอยู่นี่ไง เพราะฉะนั้น ผมจะต้องไปทำกิจกรรมอะไรที่อ้อมค้อมแบบนั้น ผมก็เลยพบกับความสุขทันที เพราะเป้าหมายของผมต้องทำอะไรให้ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง แต่จะต้องดีที่สุดสำหรับทุกคนด้วย”

อันส่งผลต่อเนื่องถึงการกระทำของเขา ที่ไม่ได้มองเฉพาะตนอย่างเดียว หากเขายังมองเพื่อคนอื่นๆด้วย “ต่อ” บอกว่าโลกที่แท้คือโลกของสรรพสิ่ง ไม่ใช่จำเพาะแค่มนุษย์เท่านั้น มนุษย์จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าเราไม่คิดถึงคนอื่น หรือสรรพสิ่งอื่น

“เราจะหายใจได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีออกซิเจนจากต้นไม้ เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่ได้กินน้ำ น้ำที่มาจากฝน ฝนมาจากป่า และนี่คือแก่นสาร และสาระสำคัญที่ผมเลือกอยู่ขณะนี้”

ในขณะที่เขาอายุ 47 ปี

แต่เป็น 47 ปีที่ทำให้ผมในฐานะคนคุยด้วยยังต้องกลับไปคิดต่ออีกหลายครั้ง

จนกระทั่งขณะนี้

หมายเหตุ – เรื่องราวของ “ต่อ ฟีโนมีน่า” จะถูกนำมาเผยแพร่ผ่านวิดีโอคลิปในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ CSR 360 องศา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image