อาศรมมิวสิก ศาสตราจารย์กับฤๅษี จะสร้างอาชีพได้อย่างไร

อาศรมมิวสิก ศาสตราจารย์กับฤๅษี จะสร้างอาชีพได้อย่างไร

อาศรมมิวสิก : ศาสตราจารย์กับฤๅษี
จะสร้างอาชีพได้อย่างไร

ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านรัฐมนตรีและคณะนักวิชาการที่ได้รับเชิญ 20 คน ในหัวข้อ “การสร้างปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการ” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เมื่ออ่านจากหัวข้อที่ตั้งไว้ ได้ยินแล้วก็หนาว เกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย อาทิ อุดมศึกษาไทยเป็นที่อยู่ของปราชญ์และสร้างปราชญ์ได้หรือ แล้วคนที่เข้าร่วมประชุมเป็นปราชญ์อะไรทำนองนั้น ก็พอจะสรุปเอาเองว่า ศาสตราจารย์กับฤๅษีทั้งหลายที่อยู่ในมหาวิทยาลัย จะสร้างอาชีพให้แก่นักศึกษาได้อย่างไร เพราะโดยธรรมชาติปราชญ์ไทยแล้ว นิยมใช้น้ำหอมยี่ห้อ “อีโก้” เหมือนๆ กัน

ขณะที่นั่งฟังท่านทั้งหลายแสดงความเห็น อาทิ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง นักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ มนุษยศาสตร์ พยายามจับประเด็นว่าเรื่องที่คุยกันคืออะไร ยิ่งฟังการยกทฤษฎีของนักปราชญ์เมธีโลก ยิ่งทำให้หัวใจห่อเหี่ยวหดหู่ ขณะเดียวกันตัวก็เล็กลงไปเรื่อยๆ เพราะเริ่มรู้สึกตัวว่า “เราเป็นเปรตที่นั่งอยู่ในหมู่ปราชญ์ทั้งหลาย” ฟังไปก็ไม่รู้อะไรมากขึ้น และเพิ่งรู้ตัวว่า ไม่มีความรู้ใดๆ ในสิ่งที่เขาพูดกัน จึงไม่ได้อยู่ในเวทีสนทนาแต่อย่างใด เมื่อถูกชี้ให้พูด ก็ต้องรวมพละกำลังพูดออกไป รู้ดีว่า “เมื่อเผยอปากพูดออกไปแล้ว ความเป็นปราชญ์ก็จะหดหายไปในพริบตา”

โอกาสมาก็ต้องพูดเท่าที่มีให้หมดพุง จึงเสนอความเห็นจากประสบการณ์ว่า การศึกษาไทยล้มเหลวอย่างไร โดยเฉพาะการศึกษาด้านศิลปะและดนตรี โดยขอขยายความไว้ ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้

Advertisement

ประเด็นแรก การศึกษาไทยสร้างคนให้เป็นคนเก่ง แต่คนเก่งของไทยมักจะโกง การศึกษาไทยสร้างคนให้เป็นคนดี แต่คนดีของไทยมักจะซื่อบื้อ “คนเก่งโกงและคนดีซื่อบื้อช่วยชาติไม่ได้” ดังนั้น การศึกษาไทยจะต้องสร้างคนเก่งและคนดีให้อยู่ในคนคนเดียวกัน โดยอาศัยดนตรี ศิลปะ และกีฬา เป็นตัวเชื่อม ในการสร้างและพัฒนาทั้งกายและจิตของคนผ่านระบบการศึกษา ทั้งนี้ ดนตรี ศิลปะ และกีฬา เป็นสัจนิยมโดยประจักษ์ ทำได้จริง

ประเด็นที่สอง โครงสร้างระบบการศึกษาไทยอำนาจเป็นใหญ่ อำนาจทำให้คนขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดจินตนาการ คนที่มีวิสัยทัศน์อยู่ในระบบการศึกษาไม่ได้ ต้องออกจากระบบไป คนที่จำยอมและคนที่จำนนเท่านั้นจึงจะอยู่ในระบบการศึกษาได้ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องทำงานเสมียน สุดท้ายระบบการศึกษาไทยจึงตกอยู่ในมือของเสมียน โดยมีเสมียนเป็นใหญ่ “โง่อย่างมีหลักการ การศึกษาไทยจึงล้มเหลวอย่างเป็นระบบ”

ประเด็นที่สาม อ้างถึงประเด็นที่สอง ทำให้ระบบการศึกษาที่มีเสมียนเป็นใหญ่ ซึ่งมีผู้บริหารการศึกษาทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าเสมียน” ขาดไหวพริบและจินตนาการ ไม่สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ต้องอาศัยระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ สร้างเงื่อนไข ชีวิตมองเห็นแต่ปัญหา โดยผู้มีอำนาจเท่านั้นที่ตัดสินใจได้ อำนาจทำให้การศึกษาอุ้ยอ้าย ไร้ทิศทาง ต้องรอคอยคำสั่ง เมื่อได้ปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว ได้ความสำเร็จที่ล้าหลัง ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่อย่างใด ส่วนใหญ่ผู้มีอำนาจจะตายบนอำนาจ

Advertisement

ประเด็นที่สี่ สถาบันการศึกษาไทยไม่มีรสนิยมและไม่สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการเรียนรู้ การลงทุนต่ำ อาคารเก่าโกโรโกโส อุปกรณ์การศึกษาล้าสมัย แต่อยากได้คุณภาพสูง “โง่แล้วอยากนอนเตียง” การศึกษาไทยจึงหล่อหลอมคนออกมาแบบจืดชืดเชยและไม่มีเสน่ห์ เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว จึงมีความรู้อยู่ในพื้นที่แคบ ไม่กว้าง ค้นหาอะไรไม่ได้ ขาดทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยี สื่อสารกับโลกยาก สถาบันการศึกษาขาดการส่งเสริมให้เรียนรู้เรื่องรสนิยม ขาดทักษะการเข้าสังคม เชย ขาดการพัฒนาบุคลิกภาพ แก้ปัญหาไม่ได้ ต้อนรับคนไม่ได้ ให้บริการไม่เป็น ที่สำคัญคือขาดน้ำใจ ขาดทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น ขาดทักษะในการดำเนินชีวิต สถาบันการศึกษาไทยจึงไร้รสนิยม

ประการที่ห้า ข้าราชการและพนักงานของรัฐที่รับผิดชอบการศึกษามีสภาพเป็นนกน้อยอยู่ในกรงทอง อยู่ในกรงก็จิกตีกัน ออกจากกรงก็บินหลงฟ้า ไม่สามารถทำงานแบบคิดเองทำเองได้ ประกอบอาชีพอะไรไม่ได้ นอกจากเป็นลูกจ้างหรือเป็นเสมียนรับเงินเดือน

ประการที่หก สถาบันการศึกษาไทยจัดการศึกษาเป็นต้นแบบ “ขอทาน” ต้องรอคอยงบประมาณ ไม่มีงบประมาณก็ทำอะไรไม่ได้ อาคารสถานที่ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีล้าหลังก็ต้องของบประมาณ เมื่อมีผู้นำที่ล้าหลังหรือมีเสมียนเป็นผู้นำ จึงพัฒนาอะไรไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไข ติดระเบียบ ความจริงแล้วเป็นวิธีขี้เกียจชนิดหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีระดับเสมียน ไม่สามารถที่จะสร้างจรวดไปดวงจันทร์ได้

ประการสุดท้าย ผู้นำของสถาบันการศึกษาไทยขึ้นอยู่กับพวกเป็นสำคัญ เมื่อใครได้เป็นใหญ่ก็จะรื้องานเก่าทิ้ง ดูตัวอย่างห้องทำงานอธิบดีหรือรัฐมนตรี เมื่อใดมีคนใหม่เข้ามาทำงาน สิ่งแรกที่ทำก็คือ การรื้อห้องทำงาน แม้ว่าห้องทำงานเดิมจะดีเลิศสักปานใด การรื้อห้องและการรื้องานของคนเก่าที่สร้างไว้ก็ถือเป็นงานหลัก การศึกษาชาติจึงก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะผู้บริหารใหม่ต้องการลบของเก่าแล้วเริ่มจากหนึ่งใหม่

สําหรับวิชาชีพดนตรีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การสร้างพื้นที่และการสร้างอาชีพดนตรีให้มีเกียรติเชื่อถือได้ การสร้างราคาความน่าเชื่อถือโดยอาศัยฝีมือที่สุดยอดจึงจะอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนไปได้ เพราะคนที่มีฝีมือนั้นจะอยู่ที่ไหนก็ได้ อาชีพคือเสียงดังตังค์มา เมื่อนักดนตรีมีฝีมือและมีราคาความน่าเชื่อถือ คนที่มีฝีมือก็สามารถจะสร้างงานที่สุดยอดได้ งานที่สุดยอดคือสิ่งที่สังคมต้องการ เพราะพรสวรรค์สร้างได้ ไม่ต้องคอยเทวดา

จึงเสนอว่า ดนตรีมีบทบาทในระบบการศึกษาอยู่ 3 ระดับด้วยกัน ระดับที่หนึ่ง ดนตรีเป็นพื้นฐานหรือเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ดนตรีพัฒนาเด็กให้เป็นคนเต็มคน ดังบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 “ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ชอบกล แปลว่า “จืดชืดเชยและไม่มีเสน่ห์” ระดับที่สอง ดนตรีเป็นอุปกรณ์ของชีวิต ดนตรีเป็นเพื่อนคู่ชีวิต เพื่อใช้อาศัยเข้าสังคม ใช้ดนตรีเพื่อให้ความสุขส่วนตัว เพื่อแก้ปัญหาชีวิต รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่า “ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน” ระดับที่สาม เรียนดนตรีเพื่อเป็นพื้นฐานของอาชีพ คนที่จะประกอบอาชีพดนตรีได้นั้น ต้องมีทักษะและมีความสามารถสูง สูงพอที่จะทำมาหากินที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้

อาชีพดนตรี ศิลปะ และกีฬานั้น “ครูเก่งลูกศิษย์เก่ง ครูขี้โม้ลูกศิษย์ก็ขี้โม้” ครูเป็นต้นแบบของลูกศิษย์ การพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์นั้น “อัจฉริยะมาจากการฝึก” อยากเก่งต้องซ้อม อยากพร้อมต้องฝึก โดยธรรมชาติแล้ว “ศาสตราจารย์กับฤๅษี” นั้นหมดยุคไปแล้ว แต่ก็อย่าลืมว่า “ฤๅษีนั้นสอนไม่ได้” การสอนโดยการพูด การเขียน การวิจารณ์ การคิด การวิเคราะห์ การอ่าน การท่องบ่น ไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้กับอาชีพดนตรี ศิลปะ และกีฬา

วรรณกรรมฝาผนังส้วมก่อนมีการสื่อสารผ่านมือถือและไลน์ เขียนไว้ว่า “สิ่งที่ฉันได้ยินฉันลืม สิ่งที่ฉันเห็นฉันเข้าใจ และสิ่งที่ฉันทำฉันจำได้” ค้นพบภายหลังว่า เป็นคำสอนของขงจื๊อ นักปราชญ์ชาวจีน มีชีวิตก่อนพุทธศักราช 7 ปี และสิ้นชีวิตใน พ.ศ.65

การพัฒนาเด็กเพื่อเป็นอาชีพดนตรี ศิลปะ และกีฬา จึงต้องอาศัยครูที่เก่งเพื่อให้เด็กได้เลียนแบบ เด็กต้องฝึกทำซ้ำจนชำนาญ มีวิทยายุทธ์แล้วจึงค่อยแหกคอกเพื่อแสวงหาตัวตน จากนั้นก็ต้องไปให้สุดเต็มตามศักยภาพความเป็นเลิศ แล้วในที่สุดเด็กก็จะพบความเป็นฉัน ซึ่งโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (J. S. Bach) นักดนตรีคนสำคัญชาวเยอรมัน (พ.ศ. 2228-2293) ได้พูดไว้ว่า “ฉันเป็นคนทำงานหนัก ใครก็ตามที่ทำงานหนักเท่าฉัน ก็จะได้เป็นอย่างที่ฉันเป็น”

สรุปแล้วคนฉลาดจะวัดได้จากอะไร หากเริ่มวัดจากกำลัง เงิน เกียรติยศ อำนาจ เทคโนโลยี เมื่อทุกคนมีทุกอย่างเสมอกันแล้ว ก็จะวัดกันที่กึ๋นว่าใครมีกึ๋นมากกว่ากัน ซึ่งกึ๋นหมายถึงวิสัยทัศน์ ฝีมือ ศักยภาพความเป็นเลิศ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ หากกึ๋นกินกันไม่ลง ก็จะวัดกันว่า หัวใจใครใหญ่กว่ากัน

สวัสดีปีใหม่ครับ

 

โดย สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image