ทุกทิศ ‘ทั่วไทย’ สะท้อนอย่างไรเสียง ‘ประชามติ’

นอกจากจะรู้ผลของการประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว-จนถึงตอนนี้ หลายคนน่าจะคุ้นชินหรือวางแผนอนาคตต่อจากผลคะแนนดังกล่าว

จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50,071,589 คน ผู้มาใช้สิทธิคิดเป็น 59.40% บัตรเสียคิดเป็น 3.15%

ประเด็นที่ 1 เห็นชอบ 61.40% ไม่เห็นชอบ 38.60%

ประเด็นที่ 2 เห็นชอบ 58.11% ไม่เห็นชอบ 41.89%

Advertisement

มองลึกในระดับภูมิภาคลงไป แล้วจึงจะพบว่ามีมิติความน่าสนใจที่บ่งบอกนัยสำคัญไว้หลายประการ

 

ภาคกลาง

ด้วยคะแนนเห็นชอบ 69.47% ไม่เห็นชอบ 30.53% คงพอจะกล่าวได้ว่าเป็นคะแนนรับที่ “ขาดลอย” แล้วสำหรับชาวภาคกลาง

Advertisement

วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงพื้นฐานก่อนว่า ต้องเข้าใจว่าภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีพรรคการเมืองหลากหลายกุมอำนาจอยู่ และนั่นทำให้เลี่ยงไม่ได้เลยที่อิทธิพลของนักการเมืองจะไม่แทรกซึมไปทุกภาคส่วน

ประกอบกับด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้ประชาชนชาวภาคกลางได้รับผลกระทบทางการเมืองน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ประกอบกับมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีทำให้ประเด็นทางเศรษฐกิจของชาวภาคกลางนั้นถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัยหรือพอรับได้

“ดังนั้น เลยอาจพูดได้ว่า คนภาคกลางจึงเหมือนจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียทีเดียว เพราะหลายเรื่องในชีวิตเขามีเสถียรภาพ และทำให้คนภาคกลางไม่มีปัญหาที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงการที่จะให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

“คือเขาคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เป็น”

วิโรจน์ขยายความว่า อาจเกิดจากการที่ประชาชนในพื้นภาคกลางนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ รวมถึงระบบจัดการน้ำดีกว่าหลายๆ ที่เพราะอยู่ใต้เขื่อน

พ้นไปจากนี้ ชนชั้นกลางยังต้องการให้เสียงของตัวเองมีน้ำหนักมากกว่าชนชั้นล่างในแง่ของสัดส่วนด้วย อันเนื่องมาจากความรู้สึกว่าคนต่างจังหวัดใช้จำนวนเลือก ส.ส.เข้ามา

“การดำเนินนโยบายจะพุ่งไปที่ฐานเสียงของผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็เลยเป็นไปได้เหมือนกันที่ชนชั้นกลางอยากสร้างความสมดุลย์ตรงนี้ และเนื่องจากชนชั้นกลางเองมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่า พวกเขาเลยให้ความสนใจเรื่องภาพรวม ความโปร่งใสและการปฏิรูป”

ทั้งหมดนี้เลี่ยงไม่ได้ที่ชนชั้นกลางจะรู้สึกเรียกร้องว่าสิทธิของพวกเขานั้นควรมีเพิ่มมากขึ้นมาอีกระดับ กล่าวให้ชัดคือมีอำนาจ มีเสียงที่มีความสำคัญ

“ถึงที่สุด คสช.ก็ไม่ได้ทำอะไรชนชั้นกลาง และชนชั้นกลางก็ไม่ใช่เป้าหมายของ คสช.อยู่แล้วด้วย ประกอบกับแนวความคิดต่างๆ ของ คสช.เองที่ว่าด้วยการมีระบบตรวจสอบนักการเมือง มันตรงกับที่ชนชั้นกลางอยากได้อยู่แล้ว” วิโรจน์กล่าวสรุปในภาพรวม

วิโรจน์ อาลี – ฮาร่า ชินทาโร่

ภาคใต้

ในภาคใต้นั้นนับว่าเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือกับคะแนนเห็นชอบ 76.65% ไม่เห็นชอบ 23.35% สามจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นส่วนหนึ่งของ 23 จังหวัดที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ฮาร่า ชินทาโร่ นักวิชาการอิสระวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ด้วยการย้อนกลับไปยังวันเลือกตั้งครั้งล่าสุดภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สามจังหวัดใต้เป็นภูมิภาคเดียวในภาคใต้ที่ยังมีการเลือกตั้งได้ แม้จะเป็นในระดับเลือกตั้งเฉพาะเขตอย่างเดียวก็ตาม

“แต่นั่นหมายถึงว่าประชาชนในพื้นที่เขาอยากได้ประชาธิปไตยมากๆ และในกรณีการประชามติที่ผ่านมานี้ก็เช่นกัน คิดว่าเป็นไปได้ว่าประชาชนในพื้นที่มีการใช้ความพยายามใช้วิธีประชาธิปไตย และแสดงว่าเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นประชาธิปไตยมากกว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียอีก”

ฮาร่า ชินทาโร่ ให้ความเห็นเพิ่มถึงกรณีไม่รับร่างมากกว่ารับของสามจังหวัดว่า นี่ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชนพร้อมต่อสู้ภายใต้กติกาที่มีความเป็นประชาธิปไตย และพร้อมที่จะต่อสู้ในระบบ

“ไม่ใช่อยู่ในระบบที่มีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยแต่ฟังเสียงประชาชนไม่ได้”

ขณะที่ชาวใต้อีกมากที่ยินดีโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ในการประชามติที่ผ่านมาจนผลคะแนนรับถล่มทลายเป็นสถิตินั้น โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นไว้ได้อย่างน่าสนใจ ถึงทัศนคติของชาวใต้เองที่มีต่อการเมือง ซึ่งเป็นไปในลักษณะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและอำนาจใหม่

“ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่าชาวใต้เขาไม่ค่อยยอมรับกลุ่มขั้วการเมืองเก่าโดยเฉพาะการเมืองที่มีคุณทักษิณ ชินวัตร อยู่ ดังนั้น เมื่อมีใครมีท่าทีว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคุณทักษิณ ประชาชนชาวใต้เขาก็จะพุ่งเป้าเข้าไปหา”

โอฬารอธิบายเพิ่มเติมถึงสภาวะที่ชาวใต้เผชิญมาเนิ่นนานอย่างเรื่องปากท้อง ที่ตกต่ำมาตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังคงสภาพเป็นประชาธิปไตยอยู่

“พวกเขาเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว การเมืองจะกลับมาสภาพเดิม ซึ่งผมคิดว่าคนใต้อาจจะไม่ได้รักทหาร แต่ชิงชังนักการเมือง”

ประกอบกับอิทธิพลของนักการเมืองอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยังมีอิทธิพลอยู่สูงมากในพื้นที่แถบภาคใต้ โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ในเครือข่ายจัดตั้งของสุเทพ อันประกอบไปด้วยนักการเมืองท้องถิ่น ยังมีผลมากในการชี้นำและชักจูงประชาชนให้โหวตรับร่าง

คนใต้อาจจะไม่ได้รักทหาร แต่ชิงชังนักการเมือง-นี่อาจเป็นข้อสรุปจากโอฬารที่ให้ภาพได้ชัดเจนทีเดียว

โอฬาร ถิ่นบางเตียว-ฐิติพล ภักดีวานิช-ชำนาญ จันทร์เรือง

อีสาน

เป็นหนึ่งภูมิภาคที่คะแนนไม่รับมากกว่ารับ โดยอยู่ที่เห็นชอบ 48.58% ไม่เห็นชอบ 51.42%

ฐิติพล ภักดีวานิช จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิเคราะห์ประเด็นนี้อย่างแหลมคมว่า ประชาชนย่อมเลือกตัวแทนที่กำหนดนโยบายเพื่อเขา-ในอีสานก็เช่นกัน ต่อให้ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยแต่ถ้ามีนโยบายที่สนองความต้องการผู้คน ประชาชนอีสานก็ย่อมเลือก

“แต่เราติดกับอยู่ที่ว่า ทักษิณเริ่มทำให้คนเชื่อว่าอีสานเลือกเพื่อไทยเพราะทักษิณ ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด เราต้องมองว่าพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนมันซับซ้อนกว่านั้น”

ลำพังการซื้อข้าวกิน หลายคนยังทะเลาะทั้งกับคนข้างตัวและกับตัวเองว่าจะกินอะไร คิดหนักและคิดเยอะ การเลือกตั้งเองก็เช่นกัน

“ปัจจัยแรกที่หลายคนตั้งข้อสังเกตคือ อีสานเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเอาเข้าจริงๆ คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า รัฐธรรมนูญที่ลงประชามติไปมีอะไรอยู่บ้าง และไม่ใช่แค่คนในภาคอีสาน แต่คนที่ไปลงรับเองอย่างคนภาคกลางหรือภาคใต้ก็ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญแต่ไปด้วยความเชื่อ คือเขาอาจจะเห็นด้วยกับ คสช. หรือมองว่าโหวตรับแล้วจะกลับไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่ปัญหา”

สำหรับฐิติพลแล้ว ปัญหาคือประชาชนไม่อาจเข้าถึงข้อมูลเรื่องร่างรัฐธรรมนูญได้ต่างหากที่เป็นปัญหาปัจจัยใหญ่ ซึ่งสำหรับนักวิชาการหนุ่มแล้ว ความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะโหวตรับนั้นอาจมีมากกว่านี้ด้วยซ้ำถ้ามีโอกาสได้รับข้อมูลมากขึ้น

แต่ก็ใช่-อย่างที่ทราบกัน ว่าก่อนหน้าการลงประชามตินั้นมีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลอย่างหนักแน่นแข็งขัน จนข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากตัวผู้ร่างและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะเกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการการทำประชามติเอง

นี่อาจเป็นคมดาบที่เผลอๆ รัฐบาลอาจไม่ทันนึกว่าย้อนบาดตัวเองเข้าให้ในท้ายที่สุด

เหนือ

กับพื้นที่ที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียงมากที่สุดอีกพื้นที่หนึ่งอย่างภาคเหนือ ที่คะแนนโหวตรับชนะโหวตไม่รับห่างระดับหนึ่ง ที่เห็นชอบ 57.67% ไม่เห็นชอบ 42.33%

“หลายคนวิเคราะห์ว่าผลประชามติครั้งนี้นับเป็นการตบหน้านักการเมือง ซึ่งผมว่าไม่ใช่นะ คนละเรื่องเลย” เป็นความเห็นจาก ชํานาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระกล่าวอย่างอารมณ์ดี ก่อนขยายความว่า แท้จริงแล้ว จังหวัดภาคเหนือตอนบนนั้นไม่รับมากกว่ารับเสียอีก ยกเว้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งคะแนนรับเยอะกว่า

“อย่างที่เชียงใหม่เองมีนักการเมืองท้องถิ่นถูกจับกุม ยังไม่ได้ประกัน มันก็เกิดเป็นความรู้สึกเห็นใจของคนในพื้นที่ขึ้นมา แทนที่จะดีต่อ คสช. ก็กลับเสียไป”

ชำนาญวิเคราะห์ว่า ถึงอย่างไร การที่ประชาชนออกเสียงรับร่างมากกว่าไม่รับในการประชามติครั้งนี้นั้น เป็นการลงคะแนนด้วยความกลัว ซึ่งมีนัยยะของความกลัวที่มากกว่าความกลัวการโดนจับกุม

“คนเขาก็กลัวความไม่แน่นอน เพราะเขาไม่รู้ว่าถ้าโหวตไม่รับแล้วจะได้อะไรตามมา แย่กว่าเก่าไหม ความไม่สงบจะตามมาไหม

“นี่จึงไม่ใช่เรื่องเนื้อหาแล้ว แต่เป็นเรื่องของอารมณ์”

ทั้งหมดนี้จึงเป็นความเห็นจากผลการลงประชามติที่ผ่านมา

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจต้องถามกันอีกครั้งว่า ประชามติครั้งนี้จะให้อะไรที่ตอบสนองหัวใจ ความต้องการและปากท้องพวกเขาบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image