แท็งก์ความคิด : เคพีไอ นิวเจน

อาจารย์อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และคณะ กำลังเปิดตัวโครงการ KPI NEW GEN สร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่น

โครงการนี้จัดเพื่อเด็กอายุ 12-18 ปี

โครงการนี้เคยทำมาแล้ว แต่หยุดพักไปหลายปี

เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กทั่วประเทศที่มีไอเดียสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมพัฒนาท้องถิ่น

Advertisement

ปี 2564 สถาบันพระปกเกล้าจะจัดโครงการนี้อีกครั้ง

หัวใจสำคัญของโครงการ คือ ส่งเสริมให้เด็กที่มีอายุ 12-18 ปีทั่วประเทศ รวมกลุ่มกันแล้วคิดค้นนวัตกรรมพัฒนาท้องถิ่นขึ้นมา

พร้อมกันนั้นต้องประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดที่ตัวเองอยู่

จะเป็น อบจ.ก็ได้ เทศบาลก็ได้ หรือ อบต.ก็ได้ทั้งนั้น

รวมตัวและประสานกับท้องถิ่น แล้วคิดค้นนวัตกรรมพัฒนาท้องถิ่น

นวัตกรรมที่ว่าจะเป็นนวัตกรรมอะไรก็ได้ น้องๆ ที่จะรวมกลุ่มจะอยู่ในระบบโรงเรียน หรืออยู่นอกระบบโรงเรียนก็ได้

เพียงแต่ต้องเป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น

การจัดทีมกำหนดให้ทีมหลัก และทีมสนับสนุน

ทีมหลักมี 5 คน มีหัวหน้า 1 และลูกทีม 4 แต่ละคนต้องอายุระหว่าง 12-18 ปี

ทีมหลักสามารถหาทีมสนับสนุนเท่าไหร่ก็ได้ อายุต้องไม่เกิน 18 ปี

ทีมไหนจะหาทีมสนับสนุนที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ก็ไม่ขัดข้อง

หลังรวมทีมแล้วให้คิดโครงการสร้างสรรค์เพื่อท้องถิ่นในด้านต่างๆ ขึ้นมา

เช่น คิดนวัตกรรมในการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ

หรือนวัตกรรมพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม และอื่นๆ

ลักษณะการเริ่มต้นโครงการนี้คล้ายๆ กับสตาร์ตอัพ

นั่นคือ มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีไอเดียที่สร้างสรรค์

หลังจากนั้นก็นำนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเสนอให้คณะกรรมการที่สถาบันพระปกเกล้าพิจารณา

ทีมไหนผ่านการคัดเลือก จะได้โอกาสเข้ารับการอบรมเสริมความรู้จากสถาบันพระปกเกล้า

และได้รับงบประมาณสนับสนุนทีมละไม่เกิน 50,000 บาท

พออาจารย์อรทัยและคณะอธิบายมาถึงจุดนี้ ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ชุดเกาหลีชื่อ สตาร์ตอัพ

ใครติดตามคอลัมน์ “แท็งก์ความคิด” มาก่อน คงเคยได้อ่าน

เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่หาความสำราญผ่านทาง Netflix คงมีโอกาสได้ชม

คงทราบว่าสตาร์ตอัพเป็นการก่อตั้งธุรกิจยุคใหม่

รวมตัวคนเก่ง คิดค้นนวัตกรรม มีบริษัทเอกชนเป็นพี่เลี้ยง รับทุนผลิตสินค้าและบริการเพื่อค้าขาย

นี่คือสตาร์ตอัพทางธุรกิจที่นานาชาติปลุกปั้นให้เกิด

ไทยเราก็มีฝันที่จะก้าวไปให้ถึง หวังว่าจะมี “ยูนิคอน” เกิดขึ้นในประเทศเช่นกัน

นั่นคือสตาร์ตอัพทางธุรกิจ

แต่สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่นนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทาง การค้า

หากแต่มีวัตถุประสงค์ทางสังคม

ต้องการส่งเสริมเด็กที่มีไอเดีย ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง มีโอกาสพัฒนาท้องถิ่น

ชักชวนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยง หันไปหาเด็กๆ ในพื้นที่

โดยเบื้องต้นสถาบันพระปกเกล้าควักกระเป๋าออกทุนให้ก่อน

แต่ถ้าหากโครงการติดลม จะมีภาคเอกชนสนับสนุนเพิ่มก็เป็นเรื่องน่ายินดี

ผลที่เกิดขึ้นคือผลดีที่มีต่อตัวเด็กและท้องถิ่น และคนในท้องถิ่น

เข้าใจว่าโครงการนี้เริ่มประชาสัมพันธ์รายละเอียดให้ทราบทั่วกันแล้ว

ได้เปิดรับสมัครตััั้งแต่บัดนี้ สิ้นสุดวันรับสมัคร 28 กุมภาพันธ์ 2564

โครงการนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก

แต่เชื่อว่าน้องๆ ที่สมัครเข้าโครงการ หากสามารถผ่านทุกกระบวนการไปได้

ต่อไปการคิดโครงการ การเสนอโครงการ การผลักดันโครงการให้สัมฤทธิผล จะกลายเป็นวิชาติดตัว

เมื่อเติบโต หากมีโอกาส สามารถใช้วิชาที่ติดตัวไปพัฒนาต่อยอด

อาจก่อเกิดสตาร์ตอัพทางธุรกิจขึ้นมา

หรือจะต่อยอดสตาร์อัพท้องถิ่นอื่นๆ ขึ้นมาอีก

รับฟังคำอธิบายแล้วชอบใจโครงการนี้ เพราะเป็นอีกโครงการที่ให้โอกาสท้องถิ่น

เปิดโอกาสให้น้องๆ ในท้องถิ่นได้สามารถแสดงฝีมือ

ใครสนใจน่าจะเข้าไปอ่านรายละเอียดจากเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า เพื่อความแน่นอน

หากใครสงสัยอะไรก็สามารถติดต่อสอบถามไปได้

ถือเป็นโครงการในปี 2564 ที่มีคุณค่า ท้าทาย ตื่นเต้น

เป็นโครงการที่ให้ความสนุก และให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

ฟังๆ ฝันๆ แล้ว อยากเห็นสตาร์ตอัพท้องถิ่นนี่เติบโต

พอได้ฟังข่าวดี จึงอดที่จะบอกต่อไม่ได้

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image