สูตรใหม่สายดริงก์!?’ยาผสมเครื่องดื่ม’ โทษมหันต์ต่อสมอง-ภัยร้ายต่อสุขภาพ

ยามีไว้รักษาโรค แต่หากนำมาใช้ผิดวิธีก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ปัจจุบันมีหลายข่าวสารที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของวัยรุ่นตั้งวงนั่งดื่มกินยาแก้ไอหรือแก้แพ้ที่หาซื้อได้ง่าย ผสมกับเครื่องดื่มหวานๆ จนเป็นเหมือนแฟชั่นของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้

มิหนำซ้ำยังมีการโพสต์ผ่านสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กว่ามีการคิดค้นสูตรใหม่ๆ หรือได้รับต่อมาจากรุ่นพี่ โดยนำยาสามัญที่ไม่ผิดกฎหมายหลายตัว เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด มาผสมกับเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน ขณะที่วัยรุ่นอีกหลายกลุ่มก็นำไปผสมกับยาเสพติดประเภทที่ 5 นั่นคือใบกระท่อม

หลายเหตุผลในการเสพได้ถูกโพสต์ทิ้งเอาไว้ อาทิ รสชาติอร่อยหวาน, ราคาถูกกว่าเหล้า เบียร์, หาซื้อได้ง่าย ที่สุดแล้วเป้าหมายหลักของพวกเขาคือต้องการสนุกสนานกับกลุ่มเพื่อนด้วยอาการเมาที่มาพร้อมกับอาการซึม-เหม่อลอย

Advertisement

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกับหลายภาคส่วน เพื่อพูดถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางรับมือกับปัญหาในอนาคต

เริ่มที่ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เล่าถึงการใช้ยาในทางที่ผิดของวัยรุ่นว่า การใช้ยาเหล่านั้นของวัยรุ่นหวังผลให้มีอาการมึนเมา งง สนุกสนาน จึงได้มีการเอายาบางตัวไปใช้

แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เอาไปใช้เพียวๆ มักเอาไปใช้ร่วมกับพวกกระท่อม หรือที่เรียกกันว่า 4 คูณ 100 ในการผสมดื่มให้มีอาการมึนเมา

Advertisement

“ยาจำพวกนี้ต้องเป็นการใช้ร่วมกับยาเสพติดประเภทที่ 5 คือใบกระท่อม เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะในรูปแบบที่เป็นน้ำ เรียกว่าไซรัป พวกนี้เอาไปผสมกับกระท่อมให้เกิดอาการมึนเมา ส่วนยาน้ำแก้ไอมีบางตัวที่หาซื้อได้ ไม่ได้เป็นยาที่ควบคุม แต่เป็นยาให้ระวัง อย่างเช่นเป็นยาแก้ไอเม็ดสีเหลืองที่มีการซื้อขายกันอยู่ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป หรือว่ายาแก้ไอที่มีขายในท้องตลาด พวกเขาก็นำมาผสมกับน้ำกระท่อมเพื่อเสริมฤทธิ์ให้เกิดอาการมึนเมา”

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังบอกเพิ่มเติมว่า ยาจำพวกนี้ก็จะเป็นกลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูกที่เป็นไซรัป เรียกว่าคลอร์เฟนิรามีน ซีพีเอ็น หรือเดกซ์โทรเมทอร์แฟน ไม่ได้ทำให้เกิดผลร้ายหรือการเสพติด แต่ถ้านำไปผสมกับน้ำกระท่อม ทำให้เกิดอาการมึนเมามากขึ้น อีกทั้งสองตัวนี้ก็ยังหาซื้อได้ตามท้องตลาด
ส่วนกรณีที่มีเด็กโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงการคิดค้นสูตรการใช้ยาใหม่ นพ.บุญเรืองกล่าวว่า ยาตัวที่พวกเขานำไปใช้เป็นคลอร์เฟนิรามีนซึ่งจะเอาไปผสมกับยาแก้ปวดอย่าง “ทรามาดอล” โดยยาตัวนี้จะมีฤทธิ์ลดอาการปวด แต่ผลข้างเคียงจะทำให้มีอาการมึนงง หรือรู้สึกเมาได้หากใช้ในปริมาณที่สูง

“พวกเขาก็เอาไปผสมกับยาลดน้ำมูกที่อยู่ในท้องตลาด หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งยาตัวนี้เป็นยาทั่วไปเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ถ้าหากเป็นเม็ดก็นำมาบดแล้วผสมลงไปในปริมาณมาก

“ซึ่งจริงๆ แล้วเราแค่กินยาแก้แพ้เม็ดเหลืองๆ เม็ดเดียวก็ง่วงนอนแล้ว แต่พวกเขานำไปผสมกับยาแก้ปวดแล้วก็ยังผสมน้ำหวานอีกจึงทำให้รสชาติดี แทนที่จะง่วง ก็กลับทำให้รู้สึกเมาเพราะในน้ำหวานมีน้ำตาลอยู่ด้วย

 

pra01160859p2
ยาน้ำกับยาเม็ดที่วัยรุ่นนิยมนำมาผสมดื่ม

“ฤทธิ์ของมันจะทำให้มีอาการมึนงง คล้ายคนเมา ซึ่งจะไม่ใช่สูตรใหม่ แค่เอาตัวยาหลายๆ ชนิดมาผสมรวมกัน”

“พวกเขาต้องการเพียงแค่ฤทธิ์ของยาแก้แพ้ที่นำมาผสมกับยาแก้ปวด แล้วทำให้มีรสชาติดีขึ้นโดยการผสมกับน้ำหวาน จึงไม่ได้เป็นสูตรใหม่แต่อย่างใด เป็นเพียงแต่หายาที่ออกฤทธิ์คล้ายๆ กันมาผสมกันแทนตัวเดิม”

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพยังพูดถึงผลกระทบหากใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานว่า จะมีผลเสียต่อร่างกายอย่างแน่นอนหากใช้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยยาแก้แพ้จะมีฤทธิ์กดประสาททำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ถ้าใช้ยาในระยะเวลานานๆ จะส่งผลเสียต่อสมองโดยตรงได้

pra01160859p3
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ – ร.ต.ท.ธเนศ มหันตมรรค

“ยาแก้ไอยังมีสูตรโครงสร้างเหมือนกับฝิ่น ซึ่งหากใช้ยาเป็นระยะเวลานานๆ ไปมันก็กดสมอง และยาแก้ปวดก็อาจทำให้มึนงง ฉะนั้น ผลระยะยาวของยาพวกนี้ส่งผลต่อสมองทั้งสิ้น” นพ.บุญเรืองกล่าว

“ดังนั้นเราจึงต้องให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ ส่วนใหญ่พวกที่ใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ หรือผิดประเภทก็มักมีปัญหาส่วนตัวทางด้านจิตใจและครอบครัวทั้งนั้น”

ก่อนที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะทิ้งท้ายว่า ฉะนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่ายาเหล่านี้มีผลข้างเคียง ผลเสียอย่างไรบ้างให้สังคมได้รับทราบ ไม่หลงเชื่อในการโฆษณาว่า ปลอดโปร่ง ทำให้หมดทุกข์ ทำให้สบาย แต่ต้องทำให้เข้าใจถึงผลเสียของมัน

ด้าน ร.ต.ท.ธเนศ มหันตมรรค รอง สว.สส.สภ.เกาะพะงัน อธิบายถึงกฎหมายการใช้ยาสามัญในทางที่ผิดว่า “ผิดกฎหมายไหม มันไม่ผิด เช่นตัวยาแก้ไอจริงๆ มันไม่ใช่ยาเสพติดโดยตรง ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด แต่เป็นยาที่แพทย์สั่งได้ หมายถึงว่าถ้าใช้ในกรณีที่แพทย์สั่งจะไม่เป็นความผิด”

“ยาแก้ไอที่ผิดกฎหมายจะเป็นในเรื่องของการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนผู้ใช้หากมีไว้ในครอบครองเกินที่แพทย์ระบุก็จะมีความผิดเข้าข่ายยาเสพติดประเภท 2”

“จริงๆ แล้วผู้ที่จะใช้ยาพวกนี้ได้ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ เพราะส่วนใหญ่พวกที่ซื้อมากินเองไม่ได้มีใบสั่งจากแพทย์”

“โดยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น” ร.ต.ท.ธเนศกล่าว

ด้าน ภักดี พฤทธิประเสริฐ เภสัชกรโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งได้พูดถึงกรณีนี้ว่า ในฐานะเภสัชกร คิดว่าเด็กเยาวชนที่นำเอายาที่มีประโยชน์เหล่านี้มาใช้ในทางที่ผิดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ส่วนใหญ่ก็จะใช้โดยขาดการควบคุม ขาดความรู้ มีการบอกต่อกันแบบผิดๆ แต่ไม่ได้มีการบอกว่ามันมีผลเสียต่อร่างกาย ทำลายสมองตัวเอง

“ถ้าสามารถบอกกับพวกเขาได้ ก็อยากจะบอกถึงอันตรายของสิ่งที่พวกเขาใช้ ถ้าเลิกได้ก็ควรเลิก

“และอยากจะบอกถึงร้านขายยาทั่วไปว่า ถึงแม้กฎหมายจะอนุญาตให้สามารถขายยาเหล่านี้ได้ แต่ควรคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสักนิด ถ้าเห็นเป็นเด็กเยาวชนที่ไม่ได้เจ็บป่วย หรือพยายามมาซื้อเป็นประจำ ก็ควรพิจารณาและไม่ควรขายให้เขา

“คือมันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คิดถึงแต่เงินที่จะได้รับ” เภสัชกรหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นอีกมุมหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ควรร่วมกันพิจารณาต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image