The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley เอลิซาเบธ โฮล์มส : นักคิดค้นหรือนักลวงโลก

สารคดีที่ออกฉายทางช่อง HBO เรื่อง “The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley” เป็นสารคดีที่พาไปเจาะลึกความเป็นไป ของ “สตาร์ตอัพดาวรุ่ง” ที่จบลงเป็นสตาร์ตอัพลวงโลก “Theranos” เธรานอส บริษัทมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ที่ก่อตั้งโดย เอลิซาเบธ โฮล์มส์ หญิงสาววัย 19 ปี ที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาปั้นธุรกิจสตาร์ตอัพด้านไบโอเทคนำเสนอผลิตภัณฑ์ “เครื่องตรวจเลือดเธรานอส” บนความฝันที่ต้องการให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองแบบง่ายดาย สะดวกและราคาประหยัด และความฝันที่เธอเชื่ออยู่บนฐานแนวคิดที่ว่าถ้าเราสามารถรู้สาเหตุของการก่อกำเนิดโรคทันเวลาก็จะทำให้การบำบัดเกิดผล และเราก็จะเปลี่ยนผลรักษาได้

“ข้อมูลสุขภาพที่ช่วยให้ตัดสินใจได้ในเวลาคับขัน โลกที่ซึ่งไม่มีใครต้องพูดว่า ถ้าแเพียงแต่รู้เร็วกว่านั้น ก็ไม่ต้องบอกลาก่อนวัยอันควร” คือประโยคที่เธอบอกไว้ในการประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของเธอ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่พยายามจะคล้ายสตีฟ จ็อบส์ ที่กำลังอธิบายสรรพคุณไอพอด ไอโฟน

สารคดี “The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley” นำเสนอให้เห็นจุดเริ่มต้นแรกของความทะเยอทะยานของ อลิซาเบธ ที่มีบางมุมสอดคล้ายกับความพยายามของ “โธมัส เอดิสัน” นักประดิษฐ์ก้องโลก และมีความกระหายอันคุกรุ่นเฉกเช่น ตำนานแห่งแอปเปิ้ล “สตีฟ จ็อบส์” แตกต่างตรงที่ว่าจุดจบของอลิซาเบธนั้นไม่ได้เหมือนคนทั้งคู่

Advertisement

แนวคิดนวัตกรรมใหม่ทางการแพทย์ของ อลิซาเบธ นั้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลากหลาย จำนวนนี้มีบรรดาผู้ทรงอิทธิพลการเมืองโลกให้ความสำคัญพูดถึงและสนับสนุน ยิ่งช่วยโหมกระพือให้ “เธรานอส” ถูกพูดถึงในทางบวกกระทั่งได้รับการระดมทุนสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ และขยับมูลค่าบริษัทขึ้นมาเกือบหมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนที่ความจริงในอีกไม่กี่ปีจะพบว่า นวัตกรรมด้านสุขภาพของเธอในการนำหยดเลือดที่เจาะปลายนิ้วไม่กี่หยดเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ที่บริษัทสร้างขึ้นมาในขนาดย่อม ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงห้องปฏิบัติการก็จะได้ผลตรวจเลือดวิเคราะห์โรคออกมาในเวลา 30 นาทีนั้นเป็นเรื่อง “ปั้นน้ำเป็นตัว”

เรื่องราวเริ่มจากข้อสงสัยของพนักงานเธรานอสที่ทำงานใกล้ชิด อลิซาเบธ และพบว่าหลายการทดสอบที่ล้มเหลวนั้นผู้บริหารให้พวกเขาทำการปิดบัง และยังคงเดินหน้าราวกับโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ถึงขนาดที่ได้ดีลสำคัญเมื่อ เธรานอส ได้ทำสัญญาธุรกิจกับร้านค้าปลีกขายยาชื่อดังกล่าว “วอลล์ กรีน” และจุดนั้นเองที่สุดท้ายความจริงก็ค่อยๆถูกเปิดเผยออกมาเมื่อนวัตกรรมนี้ใช้ไม่ได้จริง พร้อมด้วยการถูกเปิดโปงอย่างชัดเจนจากนักข่าวสืบสวนสอบสวนแห่ง วอลสตรีท เจอร์นัล ที่เกาะติดรายงานข่าวชิ้นนี้จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว ที่ใช้เวลาไม่กี่ปี จากบริษัทมูลค่าเกือบหมื่นล้านดอลลาร์ จ้างงาน 800 ตำแหน่ง ลดเหลือมูลค่าเป็นศูนย์

Advertisement

หากเรามองข้ามคุณค่าของตัวเลขมูลค่าทางธุรกิจและค่อยๆเขยิบเข้ามาดูคุณค่าหรือบทเรียนจากเรื่องราวของเธรานอสและอลิซาเบธ โฮล์มส์ ก็มีบางอย่างที่น่าสนใจ ยิ่งกับโลกยุคนี้ที่ผู้คนมองเห็นไอดอล นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ บุคคลที่ถูกยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบมากมายจนราวกับทุกคนต้องประสบความสำเร็จกับอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต ทั้งที่ก็เห็นว่ามันเป็นเพียงเศษเสี้ยวน้อยนิดบนโลกใบนี้ แต่หลายคนก็อยากได้ลิ้มรสและยืนอยู่บนจุดสูงสุดนั้น และ “อลิซาเบธ โฮล์มส์” ก็ไม่ปฏิเสธความทะเยะทะยานนี้ในนามของความคิดที่ถูกแพร่กระจายกันไปทั่ว “ซิลิคอน วัลเลย์” แหล่งพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม เทคโนโลยีชื่อดังของโลกว่าธุรกิจที่ตั้งต้นที่นี่ต้องการหาวิธี “สร้างโลกที่น่าอยู่” หรือ Better Place ซึ่งฟังดูเป็น “กิมมิค” ของวงการธุรกิจสตาร์ตอัพเทคโนโลยีไปแล้ว

สารคดีชิ้นนี้เล่าได้น่าสนใจโดยเริ่มเทียบเคียงให้เห็นระหว่าง นักประดิษฐ์และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง “โธมัส เอดิสัน” นั้น ก็ดูราวกับจะคิดบวก “สร้างโลกที่น่าอยู่” เช่นกัน และเส้นทางของเอดิสันก็เป็นเรื่องเล่าที่ขายได้ เมื่อเริ่มแรก โธมัส เอดิสัน ก็อยู่บนจุดที่ถูกท้าทาย ถูกตั้งคำถาม และความไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้สำเร็จ แต่เมื่อเขามีคติว่า การยอมแพ้คือบ่อเกิดความอ่อนแอถึงขีดสุดของเรา และหนทางแน่นอนที่สุดที่จะไปสู่ความสำเร็จ คือพยายามอีกสักครั้งอยู่เสมอ ช่างฟังแล้วฮึกเหิมส่งพลังโดยเฉพาะกับคนที่มีความปรารถนาบางอย่างอย่างแรงกล้าเช่น อลิซาเบธ โฮล์มส์ ซึ่งนั่นทำให้สิ่งประดิษฐ์เครื่องตรวจเลือดของเธอถูกตั้งชื่อว่า “เอดิสัน” จะแตกต่างตรงที่สิ่งประดิษฐ์ดังๆหลายอย่างของเอดิสัน ซึ่งจดสิทธิบัตรไว้กว่า 2,000 รายการ ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ และที่โด่งดังคือ หลอดไส้ไฟฟ้า นั้น เขาทำมาได้สำเร็จ แม้จะต้องผ่านการทดสอบที่ล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ใช้เวลานานถึง 4 ปี จนพัฒนาหลอดไส้ไฟฟ้าที่คงทนขึ้นมาได้ แต่ในกรณีของ อลิซาเบธ โฮล์มส์ การพยายามเข็นดันเธรานอสให้เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพใหม่ของโลกกลายเป็นเรื่องชวนช็อค

สารคดีตั้งคำถามว่า หนึ่งในกิมมิคที่สตาร์ตอัพในซิลิคอน วัลเลย์ ต่างนิยมทำกันคือ “หลอกไว้ก่อนจนกว่าจะทำได้จริง” คือตั้งเป้าจะสร้างสรรค์อะไรบางอย่างและพยายามมุ่งทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ซึ่งก็มีทั้งคนที่สำเร็จและล้มเหลว ในฝั่งคนสำเร็จก็ทำให้เกิด “สตอรี่” หรือเรื่องราวสุดเท่ของคนที่มุมานะจนสำเร็จขึ้นมา เฉกเช่นโธมัส เอดิสัน ตำนานเมื่อกว่าร้อยปีก่อน

สารคดีจะค่อยๆพาไปสำรวจความจริงอย่างรอบด้าน และการวิเคราะห์ว่าทำไมเธรานอสได้มาถึงจุดสิ้นสุดเร็วนักบนบทบาทของอลิซาเบธ ที่ดูเป็นทั้ง นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และผู้ประกอบการ พร้อมเรื่องที่สร้างความฮือฮาว่าสามารถค้นพบเชื้อโรคหลายร้อยชนิดจากเลือดแค่ไม่กี่หยดที่เจาะปลายนิ้ว โดยในสารคดี สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้สื่อข่าวที่เคยไปสัมภาษณ์พิเศษรายงานสกู๊ปเธรานอสอย่างเจาะลึก อดีตพนักงานที่เห็นสิ่งผิดปกติ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ชวนให้ชมกันกับสารคดี The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley ตัวอย่างบทเรียนที่นำเสนอให้เห็นชีวิตของ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ที่หลงเข้าไปอยู่ในเขาวงกตของแรงจูงใจของตัวเอง และสับสนระหว่างสิ่งที่ทำให้เป็นจริงได้ กับสิ่งที่ทำให้โลกเชื่อ

 

ภาพประกอบ Youtube Video / HBO

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image