จันทร์แรกของปีที่ 44 ‘มติชน’ บนเส้นบรรทัดการเมืองร่วมสมัย

“หนังสือพิมพ์มติชนฉบับปฐมฤกษ์ในมือท่านผู้อ่านฉบับนี้ หาใช่หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่แต่อย่างไรไม่ ในแง่ความถูกต้องตามกฎหมาย มติชนคือวิวัฒนาการจากหนังสือพิมพ์เข็มทิศธุรกิจรายสัปดาห์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ออกเป็นรายวันได้ แต่เพื่อขจัดความสับสนอันอาจจะพึงมี จึงแยกชื่อออกจากกันให้เห็นชัด และแน่นอนว่า ในระยะเวลาอันใกล้ มติชนจะได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อได้ถูกต้องต่อไป

เมื่อมิใช่หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ คณะผู้จัดทำทั้งปวงก็มาจากผู้สุจริตในวิชาชีพหนังสือพิมพ์เก่าๆ นั่นเอง รายละเอียดของความเป็นมาในเรื่องนี้ ได้ตีพิมพ์แล้วเป็นเนื้อหาสาระอยู่ในฉบับ…”

คือข้อความในล้อมกรอบ “หมายเหตุหน้าแรก” ในหนังสือพิมพ์ “มติชน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ 9 มกราคม 2521

บ่งบอกความเป็นมาของมติชนรายวันอันสืบเนื่องมาจากสภาวะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับถูกสั่งปิด รวมถึง “ประชาชาติ” ทีมงานจึงเบี่ยงเส้นทางจากถนนการเมือง ออกหนังสือพิมพ์ “เข็มทิศธุรกิจรายสัปดาห์” เน้นข่าวสารด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 กระทั่งเมื่อคณะปฏิวัตินำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ โค่นล้มรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 สั่งยกเลิกคณะที่ปรึกษาการพิมพ์ของรัฐบาล เปิดทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ทว่าจนแล้วจนรอด หนังสือพิมพ์ 13 ฉบับที่ถูกปิดก็ยังไม่มีคำสั่งให้พิมพ์ได้ ทีมงานประชาชาติจึงตัดสินใจออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ ใช้ชื่อ “มติชน”

Advertisement

จากมติชนรายวันฉบับแรก ในฉบับวันจันทร์ ราคา 1 บาท 50 สตางค์ ในวันนั้น ถึงฉบับวันจันทร์แรกของปีที่ 44 นั่นคือฉบับนี้ “มติชน” ยังยืนหยัดอุดมการณ์ตามข้อความที่พิมพ์หน้ากระดาษเหนือโลโก้สีดำในกรอบสีแดง “หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ” ควบคู่ “มติชนออนไลน์” ที่ยืดถือความมุ่งหมายเดียวกันในยุคที่ความถูกต้องในเนื้อหาต้องมาพร้อมความรวดเร็วทันใจชาวโซเชียล

‘แก้รัฐธรรมนูญเสร็จแน่ๆ ชาติหน้าตอนบ่ายแก่ๆ!’

Advertisement


‘นับแสนบุกทำเนียบ ทหาร-ตร.สกัดเต็มที่’
ประชาชนหลั่งไหลชุมนุม


‘เมียวีรชนอุ้มท้องอย่างเดียวดาย’

คือส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าว “หน้า 1” หนังสือพิมพ์มติชนรายวันในสถานการณ์ทางการเมือง

หลายข้อความคล้ายวงล้อประวัติศาสตร์ที่วนซ้ำบนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ที่ถูกวางตัวอักษรบนหน้ากระดาษซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่างเพียงวันเวลาในปฏิทินและตัวละครหลัก

นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน รายงานทุกสถานการณ์ทาง “การเมือง” อันเกี่ยวเนื่องกับทุกมิติสังคมอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ รวบรวมไว้ซึ่งเรื่องราวการต่อสู้ตั้งแต่ยุคนักศึกษาประชาชน จนถึง “ราษฎร 2563”

บันทึกไว้ซึ่งความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยในห้วงเวลาที่ขยับเข้าใกล้กึ่งศตวรรษเข้าไปทุกขณะ

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในฐานะ “แกนนำ” คณะทำงานประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย ซึ่งมีผลงานเล่มใหญ่ “สยามพิมพการ” มองพัฒนาการในไทม์ไลน์ของมติชน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า การรายงานข่าวยังรักษามาตรฐาน นำเสนอเนื้อหาสำคัญต่อสังคม และเป็นสื่อในกลุ่มที่ยึดถือคุณภาพ ข้อเท็จจริง เห็นการปรับตัว เห็นความเปลี่ยนแปลง เข้าสู่สื่อใหม่ของมติชนซึ่งเป็นด้านดี แม้ยากและต้องใช้ทรัพยากร อย่างไรก็ตาม สื่อแบบเดิมหรือหนังสือที่มักมองกันว่าคนจะอ่านน้อยลง แต่จริงๆ แล้วก็มีคนอ่าน อยู่ที่ว่าจะติดตามปัญหาได้รอบคอบ ลึกซึ้งขนาดไหน

“ยังเชื่อมั่นในมติชน ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนอิสระ เป็นตัวของตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นฝ่าฟัน เสริมสร้างความเป็นกระบอกเสียงของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เสียเปรียบ บทบาทนี้ สื่อมวลชนโดยเฉพาะประเทศโลกที่สาม ทำไม่ค่อยได้ ถ้าสื่อที่เหลืออยู่ยังทำได้ ต้องถือว่าเป็นของดีที่หายาก ต้องรักษาไว้ ขอให้ภูมิใจ และตระหนักถึงหน้าที่อันสำคัญยิ่งอันหนึ่งของมติชน 43 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ตกไปอยู่ในวังวนของอำนาจของการต่อรองผลประโยชน์”

ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เส้นทางเดินของมติชนควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

“มติชนเดินทางควบคู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม กล่าวคือ ไม่ใช่ล้ำหน้าจนเกินไป และไม่ใช่ว่าล้าหลัง มติชนเดินไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ผมเชื่อว่ามีอะไรหลายอย่างที่เป็นข้อจำกัด แต่ก็ใช้ความสุขุม รอบคอบในการทำงาน”

นักประวัติศาสตร์ชื่อดังท่านนี้ยังวิเคราะห์ว่า ความได้เปรียบของมติชน ก็คือสามารถนำนักคิด นักเขียน คนสำคัญ มามีบทบาทในการให้ความรู้ และร่วมหาทางออกในสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศ

“ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับผมโดยตรง ก็คือทางด้านวิชาการ ผมคิดว่า ความได้เปรียบของมติชน คือมีคนที่นำหน้ามากๆ อย่างกรณีของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ยังมีบทบาทอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งคนในระดับนำของสังคมและของมติชนเอง ทั้งคนแบบคุณขรรค์ชัย บุนปาน ก็ดี คนแบบ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ดี คนอย่างคุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ ก็ดี เรียกได้ว่าเป็นผู้สูงวัยที่ยังไม่ถูกเวลาวิ่งเลยหน้า (หัวเราะ) ยังวิ่งมาทันกับเวลา”

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าว ก่อนย้ำว่า มนุษย์ในวัย 40-50 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ อยู่ในช่วงของการสร้างสรรค์ในวันที่มีความมั่นคง เช่นเดียวกับมติชน ซึ่งก้าวสู่ปีที่ 44 ในปีนี้

อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านไทม์ไลน์ อย่าง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ซึ่งเปิดประเด็นใหญ่ในเชิงวิชาการ อย่างปมเผา-ไม่เผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ มองมติชนในมุมของเอกสารประวัติศาสตร์ว่า มติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่สะท้อนมุมมอง เสียงของประชาชน การนำเสนอข่าว มีทั้งในเชิงลึก วิเคราะห์ วิพากษ์ เปรียบเสมือนจดหมายเหตุฉบับราษฎร ซึ่งแตกต่างจากฉบับที่ทำขึ้นโดยรัฐบาล เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อันใกล้ในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่หนังสือพิมพ์มติชนโดดเด่นกว่าค่ายอื่น คือการนำเสนอข่าวสารด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งราชสำนักและสามัญชนได้อย่างลงลึก ทว่าเข้าใจง่าย

“ที่สำคัญกว่านั้นคือ มีการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดี นำความก้าวหน้าทางด้านการขุดค้นมานำเสนอต่อสังคม นอกจากนี้ ยังนำการตีความของนักวิชาการมาด้วย ซึ่ง 2 ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก จะเชื่อไม่เชื่ออีกเรื่องหนึ่ง หนังสือพิมพ์มติชน นำเสนอในสิ่งที่เป็นมติของประชาชน ทั้งโลกเก่าและโลกใหม่”

บนไทม์ไลน์สำคัญ มติชนได้รับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้ บนเหตุการณ์มากมายที่กลายเป็น “ภูมิต้านทาน”


 

ก้อนอิฐ-ดอกไม้

‘ไทม์ไลน์’

ประวัติศาสตร์ 4 ทศวรรษ

2515 หลัง ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตัดสินใจเปิดโรงพิมพ์ “พิฆเณศ” ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด
2517 ขรรค์ชัย พร้อมนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งได้รับประทานหัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายสัปดาห์ จากพลเรือตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

ความตอนหนึ่งว่า

“…เมื่อนายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่าใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายสัปดาห์ ข้าพเจ้าก็มีความยินดีและอนุโมทนา โดยชี้แจงให้ทราบว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ.2475 แล้ว ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจหลักประชาธิปไตยที่ว่า รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย ข้าพเจ้าจึงได้จัดการออกหนังสือรายวันให้ชื่อว่า ประชาชาติ…”

2519 ประชาชาติถูกปิดโดยคณะปฏิวัติ

2521 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับแรก วางแผงเมื่อวันที่ 9 มกราคม

2524 เกิดระเบิดที่สำนักงานมติชน ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ย่านวัดราชบพิธฯ ในสถานการณ์ยื้อแย่งอำนาจในกองทัพและรัฐบาลอันดุเดือด

2534 เกิดหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ในเครือมติชน พร้อมๆ ยุครัฐประหาร มีคำสั่งห้ามนำหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเข้าเขตทหาร

2542 คนร้ายขว้างระเบิดใส่อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด

2540-2544 สถิติฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนพุ่งสูงผิดปกติ ท่ามกลางข่าวขุดคุ้ยปมทุจริต ที่สุดท้ายมีการนำกฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปาก

2553 คนบางกลุ่มรณรงค์ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ในเครือ กีดขวางรถส่งหนังสือพิมพ์ ปลุกระดมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก กล่าวหาคนมติชนบนสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด มติชนยังยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตย ปฏิเสธอำนาจมืด

2557 สื่อออนไลน์ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ ผู้บริหารปรับตัวเดินหน้ารับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี

2563-2564 ปรากฏการณ์ “ดิสรัปต์” ยังคงอยู่ เกิดโรคระบาดแห่งศตวรรษ โควิด-19 มติชนปรับตัว เดินหน้าตามอุดมการณ์ ไม่ว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มใด ยังยึดมั่นจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์ไม่แปรเปลี่ยน

ในปีที่ 44 มติชนยัง “ไปต่อ” พร้อมประเทศไทย บนไทม์ไลน์ของวันพรุ่งนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image