‘กลุ่มชาติพันธุ์’ คือบรรพชน ‘คนไทย’ ความเป็นไทย ‘เปิดรับ’ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์

‘กลุ่มชาติพันธุ์’ คือบรรพชน ‘คนไทย’ ความเป็นไทย ‘เปิดรับ’ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายบริเวณสองฝั่งโขงในพิธีกรรมแม่น้ำโขง (ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป จากหนังสือ A Pictorial Journey on the Old Mekong Cambodia Laos and Yunnan. White Lotus Press, 1998)

‘กลุ่มชาติพันธุ์’ คือบรรพชน ‘คนไทย’

ความเป็นไทย ‘เปิดรับ’ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์

“คนไทยเชื้อสายจีน” เป็นข้อความเชิงยกย่องและคุ้นเคยมากที่สุดในไทยอย่างไม่มีข้อสงสัย โดยเฉพาะย่านเยาวราชและเทศกาลตรุษจีนจะได้ยิน “คนไทยเชื้อสายจีน” ผ่านสื่อหลักมากที่สุดและบ่อยที่สุด

ทำนองเดียวกัน “คนไทยเชื้อสายอเมริกัน, คนไทยเชื้อสายอังกฤษ” ฯลฯ เป็นข้อความเชิงยกย่องและคุ้นเคยกว้างขวางผ่านสื่อหลักทั้งๆ โดยชาติพันธุ์และวัฒนธรรมแล้วห่างจากไทยจนหาความเชื่อมโยงลำบาก

Advertisement

คนจีนจากประเทศจีนต้องการแปลงสัญชาติ หรือเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย สมัยก่อนเคยมีปัญหามาก แต่ปัจจุบันไม่เคยได้ยินว่ามีปัญหา เช่นเดียวกับชาวตะวันตกจะแปลง-เปลี่ยนสัญชาติเป็นไทยก็ทำได้ไม่ยาก

กลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์มีเชื้อสายใกล้ชิดคนไทยมากกว่าจีนและฝรั่ง แต่กลับถูกปฏิเสธจากรัฐราชการรวมศูนย์ว่า “ไม่ไทย” แล้วถูกจัดเป็น “กลุ่มชาติพันธุ์” (แปลว่าไม่ไทย) โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงจะถูกกีดกัน อาจถูกกีดกันไปตลอดชีวิต ไม่มีโอกาสเป็นคนไทย

1. ไม่ไทย กลุ่มชาติพันธุ์เมื่อถูกจัดเป็นกลุ่มชนต่างหาก แม้จะเรียกด้วยคำงามหรูอย่างไรก็ตาม แต่โดยสรุปก็คือไม่รับว่าเป็น “คนไทย” แต่เป็นคน “ไม่ไทย”

Advertisement

เหมือนนาฏศิลป์และดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ถูกเรียกเป็นนาฏศิลป์และดนตรีไทย แต่ถูกจัดเป็นนาฏศิลป์และดนตรี “พื้นเมือง” หมายถึง “ไม่ไทย”

2. ของแปลก กลุ่มชาติพันธุ์ ถ้ามีกฎหมายรองรับความเป็นชาติพันธุ์ แล้วสนับสนุนให้มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตั้งแต่เครื่องแต่งตัว, อาหารการกิน, บ้านเรือน, ประเพณีพิธีกรรม ก็เท่ากับถูกแช่แข็ง, ดองเค็ม, สตัฟฟ์ไว้เป็น “ของแปลก” กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงมิได้

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ความเสมอหน้า

ในทางที่ถูกที่ควร รัฐไทยต้องรับรองกลุ่มชาติพันธุ์เป็น “คนไทย” อย่างมีสิทธิเต็มภาคภูมิตามที่มีบัญญัติในกฎหมายอย่างเสมอหน้าเทียมบ่าเทียมไหล่ที่เปิดให้ “คนไทยเชื้อสายจีน” และคนไทยเชื้อสายอื่นๆ

เพราะความเป็นไทยทุกวันนี้ล้วนมีความเป็นมาดั้งเดิมจากกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสิ้น

คนไทยกลุ่มแรกอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

“คนไทย” ไม่เป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์มาแต่ดั้งเดิม เพราะเชื้อชาติบริสุทธิ์ไม่มีจริงในโลก หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยายืนยันตรงกัน ว่าคนไทยเพิ่งเรียกตนเองว่า “คนไทย” ครั้งแรกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราวเรือน พ.ศ. 1800 ประกอบด้วยคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ “ร้อยพ่อพันแม่” นับไม่ถ้วน ส่วนก่อนหน้านั้นไม่เรียกตนเองว่าคนไทย แต่เรียกตนเองตามประเพณีชื่อกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ ซึ่งมีมาก โดยพูดภาษาชาติพันธุ์ของตนซึ่งแตกต่างกัน ซึ่งชาวต่างชาติเรียกคนเหล่านั้นว่า “ชาวสยาม” หรือ “สยาม” หรือ “เสียน”, “เสียม”

ความเป็นไทยสมัยอยุธยาเปิดรับทุกกลุ่มชาติพันธุ์กลายตนเป็น “คนไทย” (ไม่เว้นแม้กระทั่งชาวตะวันออกกลางและชาวตะวันตก) เหล่านี้เป็นพยานหลักฐานชัดเจนว่าคนไทยมีขึ้นครั้งแรกจากกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อเรือน พ.ศ. 1800 คนชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านั้นอยู่ในไทยมาก่อนคนไทย (ที่เพิ่งมีสมัยหลัง)

ประเทศไทยแท้จริงแล้วมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของพื้นที่และผู้คน เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากอุษาคเนย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว และสืบเนื่องต่อมาจนสมัยปัจจุบัน

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยวิปริตผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยกีดกันคน “ไม่ไทย” ออกไปพ้นๆ เพราะหลงเชื่อหัวชนฝาว่ามีจริงเรื่อง “เชื้อชาติไทย” ซึ่งหลักฐานวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าไม่มีจริงเป็นที่รู้กันทั่วโลก

เหตุที่ไทยยังเชื่อก็เพราะถูกเจ้าอาณานิคมยุโรปปลูกฝังครอบงำไว้นานมากกว่า 100 ปีมาแล้ว และข้อสำคัญยังใช้แสวงประโยชน์ได้ดีทางการเมืองการปกครองแบบรัฐราชการรวมศูนย์ดังเป็นอยู่ทุกวันนี้

บรรพชนคนไทย เป็น “กลุ่มชาติพันธุ์”

ไทย (หมายถึงคนในภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต) มีบรรพชนกลุ่มหนึ่งเป็น “ชาวเขา” หรือ “กลุ่มชาติพันธุ์” นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่าอยู่บริเวณที่เรียกโซเมีย (ZOMIA) ซึ่งเป็นที่สูงแห่งเอเชีย อยู่จีนตอนใต้ หรือเหนือสุดของอุษาคเนย์โบราณ ซึ่งเป็นพื้นที่มีขนาดกว้างขวางใหญ่โตมาก พบหลักฐานโบราณคดีว่ามีวัฒนธรรมร่วมกับอุษาคเนย์

บรรพชนไทยกลุ่มนี้เมื่อหลายพันปีมาแล้วไม่เรียกตนเองว่า “ไทย” แต่เรียกกลุ่มของตนด้วยชื่อต่างๆ (ทางวัฒนธรรม) เช่น ลื้อ, จ้วง, ต้ง, ผู้นุง, ผู้ไท, ลาว ฯลฯ โดยพูดตระกูลภาษาเดียวกัน คือ ไท-กะได หรือ ไท-ไต แล้วถูกจีนเหยียดเหมารวมเป็นพวกป่าเถื่อน เรียก “เยว่”

“พวกที่ถูกจีนเรียกว่าเยว่ รวมทั้งพวกไท-ไตด้วย ต่างเป็นประชากรบนที่สูง หรือ โซเมียนี้ (เราเป็นชาวเขาอีกประเภทหนึ่งเกือบตลอดประวัติศาสตร์ของเรา) รัฐที่ตั้งอยู่ใต้พื้นที่สูงนี้ นับตั้งแต่สุโขทัยลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช ล้วนตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่แปลกปลอมสำหรับคนไท-ไต หากไม่มี ‘ครู’ อันได้แก่ แขก, มอญ, เขมร, มลายู, พม่า, จีน, ฯลฯ พวกไท-ไตไม่น่าจะมีอำนาจขึ้นมาในดินแดนอันเป็นที่ราบตรงนี้ได้เลย ถึงมีก็ไม่น่าจะรักษาต่อมาได้เป็นเวลานานๆ” นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกเพิ่มเติม


กลุ่มชาติพันธุ์

“กลุ่มชาติพันธุ์” หมายถึง กลุ่มชนที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์กับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต มีความแตกต่างด้านต่างๆ และมีวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง โดยเป็นกลุ่มชนที่ประชากรมีพันธะเกี่ยวข้องกัน มีลักษณะทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมประเพณีและภาษาพูดเดียวกัน รวมตัวเป็นพหุวัฒนธรรม มุ่งมั่นในการอนุรักษ์พัฒนาและสืบทอดฐานดินแดนของบรรพบุรุษและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นอนาคต

นับตั้งแต่อดีตกลุ่มชาติพันธุ์มีความหลากหลายและตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในพื้นที่ครอบคลุม จำนวน 67 จังหวัด 56 กลุ่ม มีประชากรรวมประมาณ 6,100,000 คน จำแนกพื้นที่จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานได้ 4 ลักษณะ คือ

1) กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือ “ชนชาวเขา” จำนวน 13 กลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) เย้า (เมี่ยน) ลีซู (ลีซอ) ลาหู่ (มูเซอ) อาข่า (อีก้อ) ลัวะ ถิ่น ขมุ จีนฮ่อ ตองซู คะฉิ่น และปะหล่อง (ดาราอั้ง)

2) กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบ จำนวน 38 กลุ่ม ได้แก่ มอญ ไทยลื้อ ไทยทรงดำ ไทยใหญไทยเขิน ไทยยอง ไทยหญ่า ไทยยวน ภูไท ลาวครั่ง ลาวแง้ว ลาวกา ลาวตี้ ลาวเวียง แสก เซเร ปรัง บรู (โซ่) โซ่ง โว (ทะวิง) อึมปี ก๋อง กุลา
ชอุโอจ (ชุอุ้ง) กูย (ส่วย) ญัฮกรู (ชาวบน) ญ้อ โย้ย เขมรถิ่นไทย เวียดนาม (ญวน) เญอ หมี่ซอ (บีซู) ชอง กระชอง มลายู กะเลิง และลาวโซ่ง (ไทยดำ)

3) กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในทะเล หรือ “ชาวเล” จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ มอแกน มอแกลน และอูรักละโว้ย

4) กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่า จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ มลาบรี (ตองเหลือง) และซาไก (มันนิ)

[คัดจาก รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร]


ชาติพันธุ์สองฝั่งโขง (บน) นั่งชันเข่าดูการละเล่น? (ล่าง) ดูดอุในพิธีเลี้ยงผี (ภาพถ่ายเก่าโดยชาวยุโรป)

 

ม้อย คนพื้นเมืองดั้งเดิม บริเวณลาว-เวียดนาม
‘กลุ่มชาติพันธุ์’ คือบรรพชน ‘คนไทย’ ความเป็นไทย ‘เปิดรับ’ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายบริเวณสองฝั่งโขงในพิธีกรรมแม่น้ำโขง (ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป จากหนังสือ A Pictorial Journey on the Old Mekong Cambodia Laos and Yunnan. White Lotus Press, 1998)

 

(บน) หญิงกะเหรี่ยงแม่ลูกอ่อนเผื่อแผ่นมให้แก่ลูกหมูพลัดแม่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี (ล่าง) ชาวมอญนับถือผีเรือน มักจะทําพิธีรําผีเมื่อมีคนในบ้านป่วยหรือทําผิดผีซึ่งจะมีโต้ง (หรือหัวหน้าผู้ประกอบพิธี)
เป็นผู้หญิง

 

หญิงชาวขมุกําลังร้องรําทําเพลงในพิธีขึ้นบ้านใหม่ จ.น่าน

[ภาพและคำอธิบายจากหนังสือ เพศและวัฒนธรรม ของ ปรานี วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2559

 

สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ของ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ

ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

สภาผู้แทนราษฎร

นับแต่อดีตเป็นต้นมาประเทศไทยยังไม่มีนโยบายในการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมาก่อน มีเพียงนโยบายการพัฒนาชาวเขาที่เกิดจากแรงกดดันจากนอกประเทศเกี่ยวกับการผลิตพืชเสพติดเท่านั้น ซึ่งครอบคลุมประชากรกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเพียง 10 กลุ่มชาติพันธุ์ใน 20 จังหวัดในภาคเหนือและภาคกลางฝั่งตะวันตก นโยบายและการดำเนินงานพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงมีลักษณะจากบนสู่ล่าง

นอกจากนี้กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการด้านป่าไม้ ล้วนไม่คำนึงถึงการมีอยู่ของชุมชนบนพื้นที่สูง ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า และชุมชนชาวเลที่ดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมา

 

หลายชั่วอายุคน ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่าชุมชนที่ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่า จึงทำให้กฎหมายเหล่านี้มีผลกระทบเชิงลบต่อชุมชน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องยับยั้งการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ที่คุกคามต่อวิถีชีวิตตามจารีตประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนอื่นๆ พร้อมไปกับตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมผูกพันไว้และผลักดันให้เกิดการปรับแก้กฎหมายของรัฐให้สอดคล้องโดยเร็ว

จากการพัฒนาที่ผ่านมา ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีโอกาสร่วมในการวางแผนและดำเนินการพัฒนาชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง ทั้งยังต้องรับผลกระทบเชิงลบจากแผนการพัฒนาเหล่านี้มาโดยตลอด อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมหลายด้าน อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างของชุมชนที่สามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ภูมิปัญญาตามประเพณีของตน และเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่

3 สิงหาคม 2553 ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนพัฒนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ โดยการพัฒนาชุมชนบนฐานวัฒนธรรมประเพณีของตน ชุมชนที่เข้าร่วมเกิดความมั่นใจในศักยภาพของตนเองในการจัดการตนเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ต่อมาในแผนการปฏิรูปประเทศได้กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้น โดยมีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการระดมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการยกร่างโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆ จึงมีแนวคิดในการนำร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้น

เมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. บูรณาการให้เป็นฉบับเดียวกันโดยผสมผสานบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครอง (Promotion and Protection) เข้ากับกิจการของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตามหลักการของการจัดการตนเอง (Self-Governance) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดความประสานสอดคล้องไปกับพันธกรณีระหว่างประเทศต่างๆ ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมผูกพัน ที่สำคัญคือ การดำเนินงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จะส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาศักยภาพในการจัดการตนเองได้ตามความต้องการอย่างมีประสิทธิผล

จากการพิจารณาศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่สื่อสารสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกต ดังนี้

1) รัฐบาลควรมีการเร่งรัดให้มีการตรา “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….”

2) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ควรมีการพิจารณาบูรณาการร่างพระราชบัญญัติที่จะเกิดขึ้นใหม่ (ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….) เข้ากับมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….

3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ควรปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน อันเป็นผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง

4) กองทัพบกควรติดตามช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ต่อบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ทั้งกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) และกลุ่มกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร

5) กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งรัดกระบวนการทางสัญชาติไทยให้รวดเร็วและทั่วถึงในกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้เข้าถึงสิทธิการศึกษา สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิผู้สูงอายุ สิทธิผู้พิการ ตลอดจนการออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้กับกลุ่มชาติพันธุ์

[คัดจาก “บทสรุปผู้บริหาร” ใน รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image