อาศรมมิวสิก : A.Salieri ตำนานบอกเล่า, อคติที่ปิดกั้นการรับรู้รสชาติทางศิลปะดนตรี

อาศรมมิวสิก : A.Salieri ตำนานบอกเล่า, อคติที่ปิดกั้นการรับรู้รสชาติทางศิลปะดนตรี

อาศรมมิวสิก : A.Salieri
ตำนานบอกเล่า,
อคติที่ปิดกั้นการรับรู้รสชาติทางศิลปะดนตรี

ในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความน่าเบื่อสำหรับวิชานี้ก็คือ “การท่องจำ”เราต้องท่องจำชื่อบุคคล,ตัวเลขวัน,เดือน,ปีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น และทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านไปแล้วทั้งสิ้น สิ่งหนึ่งที่จะพลิกให้วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่น่าสนใจขึ้นมาได้ก็คือ การพยายามมองประวัติศาสตร์ให้เสมือนเป็นเหตุการณ์จริงๆ ให้เสมือนราวกับว่าเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน บุคคลผู้นั้นยังมีชีวิต,มีความขัดแย้ง ,มีการแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์,ความอิจฉาริษยา………ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกยุคสมัย นั่นคือเราพยายามมองเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องราวที่มีชีวิตชีวา ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องราวที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ก็คือ การใส่ความน่าตื่นเต้น,ใส่การตีความ,ใส่สิ่งที่เป็นความคิดเห็นลงไป นั่นดูจะทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเหตุการณ์ที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ทันที ซึ่งนี่จึงกลายเป็นดาบสองคมต่อสิ่งที่เรียกว่า “ความจริงในประวัติศาสตร์”

เพราะการทำให้ประวัติศาสตร์น่าตื่นเต้น,การใส่ความคิดเห็นลงไปมากๆ เข้านั้นก็กลับกลายเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปโดยไม่รู้ตัว ประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตกก็เช่นกัน ความน่าตื่นเต้นในชีวิตนักแต่งเพลงอย่าง “วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท” ที่ดึงดูดความน่าสนใจได้มากประการหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งของเขากับนักแต่งเพลงอิตาเลียนผู้ทรงอิทธิพลนามว่า “อันโตนิโอ ซาลิเอริ”(Antonio Salieri) ประเด็นอันร้อนแรงจนนำไปสู่การสร้างเป็นเรื่องราวโรแมนติก นำไปสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมบทละคร,นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อันโด่งดัง ใน ปีพ.ศ.2527 ได้รับรางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัล

ประเด็นอันเป็นจุดสูงสุดของเรื่องราวนี้เห็นจะได้แก่ คำสารภาพของ อันโตนิโอ ซาลิเอริ ในเรื่องนี้ว่าเขาเป็นผู้วางยาพิษปลิดชีพนักประพันธ์ดนตรีอัจฉริยะอย่างโมซาร์ท ซาลิเอริกลายเป็นผู้ร้าย,ตัวอิจฉาริษยาและกลายเป็นฆาตกรไปในที่สุด ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ควรค่าอันเชื่อถือได้เลยว่านี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง อันโตนิโอ ซาลิเอริ (ค.ศ.1750-1825) เป็นผู้ที่มีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการดนตรี อย่างน้อยที่สุดพิจารณาในแง่ที่ว่าเขาคือครูดนตรีของนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่หลายท่านไม่ว่าจะเป็น เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven),ฮุมเมล(Johann Nepomuk Hummel),ชูเบอร์ต (Franz Schubert) และ ลิซท์ (Franz Liszt) อีกทั้งยังครองตำแหน่งทางดนตรีอันสำคัญๆ ในกรุงเวียนนาที่เปรียบเป็นเสมือนเมืองหลวงทางดนตรีในยุคนั้นเกือบทั้งสิ้น เขาเป็นผู้ทรงอำนาจทางดนตรีในราชสำนักซึ่งโมซาร์ทไม่อาจบรรลุถึงความสำเร็จเหล่านี้ได้เลย

Advertisement

หากพิจารณาในแง่ของความเป็นมนุษย์แล้ว ถือได้ว่า ซาลิเอริ ประสบความสำเร็จในทางสังคม,ตำแหน่งหน้าที่การงาน และมีความสามารถในเชิงการเมืองและอำนาจ ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหมดกับความเป็นมนุษย์ในตัวของโมซาร์ทที่ล้มเหลวแทบจะทั้งหมดในเรื่องเหล่านี้ ภาพที่เราพอจะเปรียบเทียบกันได้ก็คือในขณะที่ซาลิเอริประสบความสำเร็จในทางสังคมและตำแหน่งหน้าที่การงาน โมซาร์ทกลับประสบความสำเร็จในทางดนตรีและศิลปะ เข้าไปอยู่ในหัวจิตหัวใจของผู้คนทุกยุคสมัย อันเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับซาลิเอริ ที่ดูจะเป็นนักแต่งเพลงที่ไม่สามารถเขียนดนตรีให้ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนได้เฉกเช่นโมซาร์ท หากเรามองว่าดนตรีของซาลิเอริ ไม่สามารถเทียบชั้นกับโมซาร์ทได้เลยนั้น เมื่อเราพิจารณาถึงความจริงบางอย่าง เราอาจได้เห็นถึงปรากฏการณ์นี้ว่า แท้จริงนี่เป็นเรื่องของระดับความสามารถ

หรือแท้จริงนี่เป็นเรื่องของรสนิยม,ความจงใจที่จะแสดงออกทางดนตรีที่แตกต่างกันของสองขั้วความคิด

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแรงบันดาลใจในการเขียนบทความชิ้นนี้ของผู้เขียนมาจากการได้ไปค้นหาผลงานบันทึกเสียง บทเพลงของซาลิเอริ มาฟังอยู่พักใหญ่ จนเริ่มรู้สึกได้ว่าความแตกต่างระหว่างดนตรีของโมซาร์ทกับซาลิเอรินั้น เป็นเรื่องของ “รสนิยม” และ “ทาง” ของดนตรีที่แตกต่างกัน แน่นอนที่สุดดนตรีของโมซาร์ท มีลักษณะของความเป็นดนตรีที่ยอดนิยมน่าจดจำมากกว่า เป็นดนตรีที่แสดงการลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติดังที่เรา (ผู้รักดนตรี) สัมผัสกันได้ ดนตรีของโมซาร์ทจึงประสบความสำเร็จสำหรับมหาชนเรื่อยมาจนปัจจุบัน แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าซาลิเอริ เป็นนักประพันธ์เพลงแห่งราชสำนักที่สูงด้วยรสนิยมเช่นเดียวกัน และคำว่ารสนิยมในที่นี้ก็เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะคำว่า “รสนิยม”นั้นขึ้นอยู่กับ ทั้งสถานที่,สังคมและกาลเวลา รสนิยมทางดนตรีของซาลิเอริเป็นรสนิยมของชาววังและผู้มีการศึกษา (ที่ไม่ใช่ชาวบ้าน) ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่านิยามความหมายของคำว่าดนตรีในสมัยศตวรรษที่18 ย่อมแตกต่างแทบจะโดยสิ้นเชิงกับคำว่าดนตรีในยุคเราๆ ที่มองดนตรีเป็นเรื่องของมหรสพและความบันเทิงล้วนๆ ซึ่งในอดีตดนตรีมิได้มีความหมายที่คับแคบดังเช่นทุกวันนี้

Advertisement

ในการเปรียบเทียบแนวคิดทางดนตรีของโมซาร์ทและซาลิเอรินั้น เราจึงอาจได้ภาพสรุปคร่าวๆ ได้ว่าโมซาร์ทมีความคิด (และแนวทางชีวิต) แบบเสรีนิยม รักอิสระสร้างสรรค์ศิลปะโดยอาศัยแรงบันดาลใจอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ซาลิเอริมิได้มีแนวทางความคิดและศิลปะเช่นนั้น เขามาจากสายความคิดในเชิงนักปราชญ์,นักคิดที่ใช้ตรรกะและเหตุผลมากกว่าโมซาร์ท ถ้าหากเราได้ย้อนไปดูว่าเขายกย่องนับถือ “กลุค” (Christoph Willibald Gluck)เป็นชีวิตจิตใจเราจะเห็นภาพความตั้งใจในการสร้างสรรค์ดนตรีของซาลิเอริ ได้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ กลุคได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิรูปอุปรากรคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 18 ซึ่งคำว่าปฏิรูปอุปรากรของกลุคนั้น แท้จริงเขาพยายามทำศิลปะละครอุปรากรให้เป็นศิลปะขั้นสูง,มิใช่เพื่อความสนุกสนานบันเทิง เป็นศิลปะเพื่อยกระดับความคิด-สติปัญญาของผู้ชมโดยแท้จริง ซึ่งความคิดเช่นนี้ไม่ตอบสนองต่อความต้องการในระดับมหาชนอยู่แล้ว ความเคร่งครัดจริงจังในความคิดทางดนตรีของ
กลุคนั้น แฮโรลด์ ซี. โชนเบอร์ก (Harold C. Schonberg) นักวิชาการดนตรี ชาวอเมริกันแห่งศตวรรษที่ 20 เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า กลุคเปรียบเสมือน อาร์ทูโร ทอสกานินิ (Arturo Toscanini) วาทยกรจอมเผด็จการแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ที่มองดนตรีด้วยความคิดเชิงตรรกะมากกว่าที่จะใช้แรงบันดาลใจ และกลุคก็เป็นผู้ควบคุมวงที่เคร่งครัดและน่าเกรงขาม ในแบบเดียวกัน และอันโตนิโอ ซาลิเอริ ก็ได้รับแรงบันดาลใจและแบบอย่างมาจาก กลุค เป็นอันมาก และซาลิเอริก็ชื่นชมศิลปะละครอุปรากรโศกนาฏกรรม(Tragedy)
ของกลุคเป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่า อุปรากรของกลุคนำพาเราไปสู่ “ความจริง”(Truth) แทนที่จะใช้คำว่า “ความงาม” หรือความไพเราะแบบที่เรารับรู้กัน นี่ย่อมสะท้อนถึงวิธีคิด,วิธีการมองและรับรู้ศิลปะของพวกเขาเหล่านี้

นับเป็นโชคดีของคนในยุคเรา ในแง่ที่ว่าความต้องการในการฟังดนตรีคลาสสิกที่มีมากขึ้นๆ ตามความต้องการทางการตลาดที่เติบโต จนมีความต้องการสำรวจบทเพลงใหม่ๆ ที่ตกสำรวจและโลกลืมอยู่นับร้อยปี ผลงานเหล่านี้ยังรอคอยการค้นพบอยู่อีกมากมาย และผลงานดนตรีของซาลิเอริ ก็เป็นหนึ่งในกรณีแห่งการตกสำรวจนี้ สิ่งที่เราอยากจะทำความรู้จักซาลิเอริได้ดีมากขึ้น เห็นจะได้แก่การไปทำความรู้จักเขาจากผลงาน มิใช่จาก “ตำนาน” ที่เล่าขานอย่างไร้หลักฐาน หรือภาพยนตร์,บทละครวรรณกรรม ที่เราเสพกันมายาวนานนับร้อยปี ในปัจจุบันมีผลงานดนตรีของ อันโตนิโอ ซาลิเอริ มากมายที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาบรรเลง,ตีความและบันทึกเสียงออกมามากมาย แต่ผู้เขียนคิดว่าการทำความรู้จักอัจฉริยภาพของซาลิเอริ ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นผลงานทางละครอุปรากรของเขา

ซึ่งผลงานการบันทึกเสียงบทเพลงร้องจากอุปรากรเรื่องต่างๆ ของซาลิเอริ โดย “เชซิเลีย บาร์โทลิ” (Cecilia Bartoli) นักร้องเสียง เมซโซ-โซปราโนชาวอิตาเลียน ร่วมกับวงดนตรี “Orchestra of The Age of Enlightenment” ภายใต้การควบคุมวงโดย “อดัม ฟิชเชอร์” (Adam Fischer) ดูจะเป็นคู่หูที่ร่วมกันไถ่บาปให้กับซาลิเอริได้ดีที่สุด (บาปที่ซาลิเอริ มิได้ก่อ)

นี่เป็นการค้นคว้า,วิจัยและปฏิบัติให้เห็นให้ได้ยินอันสูงด้วยสัมฤทธิผล เชิงประจักษ์ เราได้เห็นถึงความน่าตื่นเต้น การแสดงออกด้วยพลังอารมณ์และเทคนิคการร้องขั้นสูง การเปลี่ยนอารมณ์อย่างปัจจุบันทันด่วนแบบปรัชญาดนตรีในศตวรรษที่ 18 ที่เรามักยึดติดกับคำว่า “คลาสสิก”ตามความเข้าใจเดิมๆ ของพวกเรา (เรียบร้อย,สงบเสงี่ยม) แต่ในผลงานนี้ทำให้เราต้องย้อนกลับไปดู ลักษณะและแนวทางดนตรีแห่งศตวรรษที่ 18 อย่างแท้จริงว่ามันสร้างความน่าตื่นเต้น ได้มากเพียงใด เอาแค่บทเพลงแรกคือ “Son qual lacera tartana” จากอุปรากรเรื่อง “La Secchia rapita” ที่ว่าด้วยชีวิตประดุจเรือน้อยที่ต้องฝ่าพายุคลื่นใหญ่,อันตราย และน้ำทะเลรอบตัว ผู้ที่จะรักษาชีวิตรอดก็คือผู้กล้าหาญที่ปราศจากความกลัว ฉันต้องนำพาเรือน้อยนี้ต่อไป…แล้วมันจะไปสู่จุดหมาย ณ ที่ใดกันหนอ? นี่คือตัวอย่างบทละครชั้นเยี่ยมที่สอนปรัชญา,ความคิดให้กับชีวิตเรา ที่ยึดเป็นหลักและหน้าที่ของดนตรีก็คือ ส่งเสริม “ความจริง”เหล่านี้ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ซาลิเอริ เขียนดนตรีประกอบถ้อยคำได้อย่างทรงพลังน่าตื่นเต้น นอกจาก เชซิเลีย บาร์โทลิ จะใช้พลังเสียงอันดุดันน่าตื่นเต้นถ่ายทอดเนื้อหาได้อย่างน่าทึ่งแล้ว (นี่อาจเป็นตัวอย่างของพลังเสียง “Castrato” ที่เป็นตำนานในอดีต) วาทยกรอย่าง อดัม ฟิชเชอร์นั้นแสนจะเก๋าเกมทางประสบการณ์และองก์ความรู้ เขาเผยให้เราเห็นถึงพลังทางดนตรีแห่งศตวรรษที่18อันน่าทึ่ง ด้วยลีลาการบรรเลงที่แสนจะร้อนแรง บทเพลงอื่นๆ ที่เหลือล้วนทำให้เราต้องหันมาทบทวนความยิ่งใหญ่ในตัวตนของ ซาลิเอริ กันใหม่ ยิ่งถ้าหากเราได้อ่านตัวบท (Text) ของแต่ละบทเพลง ก็ยิ่งซาบซึ้งในศิลปะการใช้ถ้อยคำของผู้เขียนบท และอัจฉริยะในการใช้เสียงเครื่องดนตรีรับใช้ถ้อยคำอันงดงามเหล่านี้ของซาลิเอริ

ในด้านดนตรีซิมโฟนี (Symphony) บทเพลง Twenty-six Variations on “La folia di Spagna”ที่ทำให้เราเห็นชั้นเชิงทางดนตรีในการผันแปรทำนองเพลงพื้นบ้านโปรตุเกส “La folia” ยอดนิยมเพลงนี้ ศิลปะการใช้สีสันเครื่องดนตรี (Orchestration) ที่จัดได้ว่าหลากหลาย ซาลิเอริ แสดงความเข้าใจในธรรมชาติของเครื่องดนตรีในแต่ละหมวดหมู่ได้เป็นอย่างดี (จากอัลบั้ม สังกัด Chandos บรรเลงโดย London Mozart Players อำนวยเพลงโดย Matthias Bamert) ความเข้าใจในธรรมชาติเครื่องดนตรี เช่นนี้เองที่เขานำมันไปรับใช้ถ้อยคำในละครอุปรากรได้อย่างเป็นเลิศ ยังมีผลงานอุปรากร และดนตรีซิมโฟนิกอีกมากมายของซาลิเอริ ที่เรายังไม่รู้จักมากและรู้จักดีพอ

เมื่อมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่า ในการเปรียบเทียบ “โมซาร์ท” กับซาลิเอริ นั้นเอาเข้าจริง มันจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องของความสามารถที่ห่างไกลจนเป็นคนละระดับชั้น คำว่า “ห่างกันจนเปรียบเทียบกันไม่ได้”นั้นมันเกินจริงไปหรือเปล่า หรือแท้จริงแล้วดนตรีเป็นเรื่องของรสนิยมที่เปรียบกันยากอยู่แล้ว ต่างคนต่างมีแนวทางที่ประจักษ์ชัดเป็นของตนเอง ถ้าเอาการตลาด,ความยอดนิยมในระดับมหาชนเป็นตัวตั้ง โมซาร์ทชนะขาดแบบไม่ต้องกังขา แต่ถ้าเราพิจารณาดนตรีในแง่ของคำว่า “ทาง”แล้ว การประเมินผลงานของซาลิเอริ คงต้องใช้ความละเมียดใส่ใจในรายละเอียด และความคิดในเชิงตรรกะ,โครงสร้างและเหตุผลให้มากกว่า เราจึงจะซาบซึ้งกับงานดนตรีใน “ทาง”ของ อันโตนิโอ ซาลิเอริผู้นี้กันมากขึ้น

ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างคีตกวีเสรีนิยมขวัญใจมหาชนผู้เกลียดระบบระเบียบแบบผู้รากมากดีอย่างโมซาร์ท กับคีตกวีผู้สุขุมในบุคลิกภาพ,ทรงภูมิแห่งราชสำนักอย่างซาลิเอริ ย่อมเป็นวิถีชีวิตที่แตกต่างกันแน่นอน นักแต่งเพลงอิสระนอกรั้ว,นอกวังที่ผู้คนชื่นชอบ กับผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยปรัชญาในการรับใช้ศิลปะโดยไม่อินังขังขอบกับคำว่า “มหาชน” หรือความยอดนิยมใดๆ ความไม่ลงรอยกันบ้างคงเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาในทุกยุคสมัยและทุกๆ วงการ จดหมายที่โมซาร์ทเขียนถึงภริยาในวันที่14 ตุลาคม ค.ศ.1791 เพียงเดือนกว่าๆ ก่อนตาย พรรณนาถึงความซาบซึ้งและชื่นชอบที่ซาลิเอริ มีต่อผลงานอุปรากร “The Magic Flute” ของเขา โมซาร์ท เล่าว่า จากบทโหมโรงไปจนถึงเพลงสุดท้าย เขาตั้งใจจดจ่อ ทั้ง “ฟัง”และ “ดู” อย่างไม่วางตา ไม่มีเพลงไหนเลยที่ซาลิเอริไม่ร้องตะโกน “Bravo” (ยอดเยี่ยม) ออกมา นี่เป็นหลักฐานจากจดหมายที่โมซาร์ทเขียนเอาไว้ด้วยตนเอง และเราต้องไม่ลืมว่า “โมซาร์ทจูเนียร์” คือ “ฟรันซ์ ซาแวร์ โมซาร์ท” (Franz Xaver Mozart) ที่เกิดก่อนบิดาจะตายเพียง 6 เดือนนั้น ซาลิเอริผู้นี้แหละที่เป็นครูดนตรีคนสำคัญของเขา หลังมรณกรรมของบิดา

ทั้งหมดนี้เองคือความย้อนแย้ง เรื่องราวของโมซาร์ทถูกขยาย,เติมความตื่นเต้น จนกลายเป็นตำนานเรื่องโจทย์ขานอันยาวนาน เสมือนเป็นคำสาปต่อ ซาลิเอริ ไปโดยปริยาย จนหลายคนอาจมีอคติต่อดนตรีของเขาไปด้วยไม่มากก็น้อย สิ่งที่เราจะไถ่บาปให้กับซาลิเอริ และอคติของเราได้บ้างก็น่าจะเป็นการหันมาลองเปิดใจรับฟังและ “ศึกษา” ผลงานดนตรีของซาลิเอริ โดยปราศจากอคติเดิมๆ ใดๆ เราอาจได้พบแนวคิดทางดนตรีและแนวคิดปรัชญาทางศิลปะใหม่ๆ แห่งศตวรรษที่ 18 จากผลงานสร้างสรรค์ของซาลิเอริกันได้ไม่น้อยทีเดียว

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image