#มนุษย์ครู 64 ในปีที่ (นอก) ห้องเรียนยังร้อนแรง

“ครูวิถีใหม่ ใส่ใจดิจิทัล สร้างสรรค์คุณธรรมประจำชาติ”

คือคำขวัญวันครู ประจำปี 2564 จากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ย้อนไปก่อนหน้านั้น คือวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งปีนี้ตรงกับเสาร์ที่ 9 มกราคม เยาวชนได้สรรค์สร้างคำขวัญมอบแด่ตัวเอง ความว่า

‘ต่อต้านอำนาจนิยม

Advertisement

สร้างสังคมให้ดีกว่า

สิ่งแวดล้อมต้องรักษา

ตระหนักว่า คนเท่ากัน’

ลงนามอย่างเป็นทางการโดย นายวศิน ศักดิ์ประทีปกร ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตบางคอแหลม

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ‘ขอส่งความปรารถนาดีไปยังเด็กและเยาวชนทุกท่าน ขอให้ทุกท่านเติบโตขึ้นอย่างงดงาม ตามความฝันและความปรารถนาของตนเอง’

ครั้นล่วงมาถึงวันครู กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเรียนเลว’ ก็จัดเต็ม มอบของขวัญคืนครูด้วยกิจกรรม ‘พระคุณที่สาม…งดงามแจ่มใส’ คัดวรรคทองจากเพลงอมตะที่เปรียบครูเป็นเรือจ้าง ราดรดสีแดงฉานลงบนเรือนร่างในเครื่องแบบนักเรียน คว้ากรรไกร ไม้บรรทัด ไม้เรียว มาโยนทิ้งหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ฉายภาพสะท้อนความรู้สึกในการถูกทำร้ายจากระบบการศึกษาไทย

ท่ามกลางทั้งวันเด็ก และวันครูในม่านหมอกของโควิด-19 และพีเอ็ม 2.5 ที่การเรียนออนไลน์กลับมาอีกครั้งจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสแห่งศตวรรษ

ท่ามกลางกระแสตั้งคำถามอย่างเข้มข้นของนักเรียนต่อประเด็นหลากหลายในรั้วโรงเรียน ในห้องเรียน ในวัฒนธรรมอำนาจนิยม

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวนอกห้องที่ยังต้องจับตาต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ทั้งสถานการณ์ร้อนแรงและการแก้ปัญหาว่าจะเกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด

ส่งผลให้ 16 มกราคมของปีนี้ วันครูดูจะมีความหมายอย่างยิ่ง

ล่าสุด ในวันดังกล่าว ‘ครูขอสอน’ เพจดังที่ให้ข้อมูลหลากหลายด้านการศึกษาออกมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “ครูขอสอน ตอน มนุษย์ครู” พูดคุยเพื่อสะท้อนถึงสภาพการทำงานในโรงเรียน และปัญหาการศึกษาต่างๆ ในแต่ละพื้นที่บริบทของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป โดยเน้นย้ำว่า

“ถึงเวลาที่การศึกษาต้องเปลี่ยน เพื่อให้ครูได้ทำหน้าที่สอนอย่างแท้จริง” ดำเนินการชวนคุยโดย ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล แอดมินเพจครูขอสอน

เปิดประเด็นที่ การสอนออนไลน์ ไหวไหมบอกมา?

ครูยอร์ช ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ จากโรงเรียนวัดบางขวาก จังหวัดสุพรรณบุรี บอกว่า ‘ยังไหวจ้า’ ทุกวันนี้สอนหลายวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องจัดแฟ้ม ผูกผ้างามๆ ที่เต็นท์เวลามีงานกิจกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน แต่ต้องมาเรียนรู้เมื่อมาเป็นครู

เช่นเดียวกับ ครูเอ็ม จากโรงเรียนในเมืองท่องเที่ยวภาคตะวันออก ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นครู ว่าสิ่งที่ไม่เคยเรียนแต่ต้องมาทำ คือ การจัดหน้าหนังสือราชการ และงานช่าง

“ตอนเป็นครูครั้งแรก ทำเอกสารส่ง สิ่งที่ถูกแก้ไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นย่อหน้า เว้นวรรค ตัวอักษร และที่ไม่คิดไม่ฝัน คือ งานช่างต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก เชื่อว่าครูต้องเจอ ช่างประปา ช่างไฟ ช่างต่อสายอินเตอร์เน็ต ก็ทำเท่าที่ทำได้”

ส่วนประเด็นการสอนออนไลน์ ครูเอ็มบอกว่า ‘ไม่ได้ฟิล’

“โรงเรียนปิดตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ตอนนี้อยากเจอเด็กแล้ว สอนออนไลน์เราอาจสนุกคนเดียว ไม่รู้ว่าเด็กสนุกกับเราด้วยหรือเปล่า”

สอดคล้องกับความเห็นของ สัญญา มัครินทร์ หรือ ครู สญ. จากโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ที่มองว่า การสอนออนไลน์ ‘ไม่เวิร์ก’

“โรงเรียนปิดตั้งแต่ปีใหม่ ขยายไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม มีสอนออนไลน์ ให้ทำใบงาน ไม่อนุญาตให้ไปสอนในชุมชน แต่การสอนออนไลน์ไม่เวิร์กกับเด็กที่สอนอยู่”

ครู สญ. เรียนจบด้านศิลปะแต่สอนวิชาสังคมและอื่นๆ ‘ที่เขาสั่งมาให้สอน’ เมื่อย้อนนึกถึงครูที่เป็น ‘ต้นแบบ’ เจ้าตัวบอกว่า ‘คือครูที่ไม่ค่อยสอน’

“ครูต้นแบบคือครูที่ไม่ค่อยสอน แต่พาไปเรียนรู้นอกห้อง เด็กสนใจอะไรก็พานักเรียนออกไปศึกษา ไม่มีเสาร์-อาทิตย์ เอาความสนใจของนักเรียนเป็นตัวตั้ง ตอนเด็กเป็นเด็กหลังห้อง แต่ครูคนนี้มองเห็นศักยภาพของเรา เป็นทั้งครู ทั้งเพื่อน ทั้งแม่ เป็นครูที่สร้างแรงบันดาลใจ ตอนสอน มีการเอาประเด็นที่เชื่อมโยงสังคมและสถานการณ์จริงมาสอน ทำให้ทุกคนมีตัวตนในห้องเรียน เปิดโอกาสให้ถกเถียง มนุษย์ครูน่าจะมีความเป็นนักเรียนอยู่ตลอด คนเป็นครูต้องมีหูตาเป็นนักเรียนถึงจะสนุก เรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ เรียนรู้ไปพร้อมเพื่อนครูด้วยกัน”

ความเห็นของครู สญ. คล้ายคลึงกับครูอีก 2 ท่านจาก 2 ภูมิภาค ได้แก่ ครูยามีน-อับดุลยามีน หะยีขาเดร์ จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี ที่บอกว่า ครูไม่ต้องรู้ทุกอย่าง ในบางครั้งโดยเฉพาะปัจจุบันเด็กรู้มากกว่าครูด้วยซ้ำ สิ่งที่ทำได้คือ ครูต้องร่วมเดินทางไปกับเด็ก สำหรับสถานการณ์ที่ปัตตานี ขณะนี้ยังไปสอนตามปกติ ไม่ต้องออนไลน์ เพราะโควิดยังไม่แพร่กระจายเข้าขั้นเสี่ยง

ในขณะที่ ครูนกยูง ปานตา ปัสสา จากโรงเรียนบ้านดอนทับช้าง อุบลราชธานี ติดกิ๊บเป็ดเหลืองออกหน้าจอ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า

“มนุษย์ครู เป็นคนธรรมดาที่ทำผิดพลาดได้ ไม่ได้ถูกไปเสียทุกเรื่อง ผิดก็ขอโทษ”

แม้จะเป็นคนธรรมดาอย่างไร ทว่า ครูมะนาว ศุภวัจน์ พรมตัน จากโรงเรียนนครวิทยาคม เชียงราย ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าพูดถึงมนุษยค์ครู จะนึกถึงคนที่มีออร่าของความเป็นครูไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหน ทั้งการแต่งกาย การพูดจาและสายตาที่เวลาเห็นใครทำผิด

ในขณะที่ ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ตัวจริง เล่าถึงสายบังคับบัญชาที่มีคำจำกัดความสั้นๆ ว่า ‘ยาว’ ที่ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้าตามสไตล์ราชการ

“โรงเรียนมีการรวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง คือกระทรวงศึกษาธิการ เวลาสั่งต้องสั่งเป็นลำดับชั้น จดหมาย ความจริงแล้วถ้าเป็นปัจจุบัน จากโรงเรียนไปถึงกระทรวงเลยก็ได้ แต่เรามี ผอ.เขตการศึกษาอยู่ด้วย เลยต้องมาที่ ผอ.เขตแล้วไปที่ ผอ.โรงเรียน กว่าจะไปถึงครู เพราะฉะนั้น บางครั้งกว่าเรื่องจะถึงครูก็ช้า ในงานสารบัญ หนังสือจะเวียนอยู่ในสำนักงานประมาณ 3 วัน”

ด้านเพจ ‘ครูขอสอน’ เผยแพร่ข้อเขียนน่าสนใจย้อนไปตั้งแต่เหตุผลที่ว่า ทำไมอยากเป็นครู?

“ตอนที่เราอยากเป็นครูมันเริ่มจากเห็นครูได้สอนหน้าห้อง ได้อยู่กับนักเรียน มันดูเน้นเรื่องวิชาการอย่างเดียว มันทำให้เราอยากทำหน้าที่นี้ อยากเห็นเด็กมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่เราสอนมากขึ้น และเขาได้เอาไปต่อยอดในอนาคต เขาอาจจะไม่ได้ไปต่อยอดอุดมศึกษาก็จริง แต่เขาได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เขาไม่ได้เห็นว่ามันเป็นการท่องจำและไปสอบแล้วจบมันไม่ใช่ มันเลยจุดประกายเราเริ่มอยากเป็นครูจากจุดนี้ เราอยากสอน เราอยากอยู่หน้าห้องแล้วเรามีความสุขเมื่อได้เห็นเด็กที่สอน หรือแนะนำเขาทำได้ดี หรือเป็นไปตามที่เขาต้องการ”

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งนั่นคือ การกวดวิชา ซึ่งที่ผ่านมากลายเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในชีวิตของเยาวชนไทย

“ตอนเด็กเราเรียนพิเศษแล้วก็อยู่ในระบบการเรียนพิเศษเหมือนกัน แล้วเราเปรียบเทียบกับระบบการเรียนในต่างประเทศ เราต้องไปนั่งเรียนกวดวิชา กวดวิชาไม่ผิด แต่มันกลายเป็นค่านิยมของเด็กไทยไปแล้วว่าเราต้องเรียนกวดวิชาถ้าเราไม่เรียนเราจะไม่สามารถเอาตัวรอดได้ มันเหมือนเรามีหลักประกันที่เรียนแล้วมันมีโอกาสที่จะสอบติดมากกว่าชาวบ้านเขา

แล้วทำไมเราต้องเสียเงินไปกับแบบนี้ แล้วคนที่เขาไม่มีเงินเขาจะทำยังไง เขาเสียโอกาสในส่วนนี้แล้วทำไมในคาบ 50 นาที ทำไมเราไม่สามารถท้าทายตนเองที่จะทำให้เด็กได้รับความรู้เต็มๆ ไม่ได้หรอ แล้วมันก็มีอีกหลายวิธีการสอน หรือเทคนิคต่างๆ มันก็น่าสนใจ”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ นั่นคือ ‘โอเน็ต’ ที่ถกเถียงคัดง้างกันอย่างกว้างขวาง

“ถามว่าโอเน็ตโอเคจริงไหม ด้วยวัตถุประสงค์หลักของเขามันชัดเจนนะ แต่ว่าในระดับการนำไปใช้มันผิดวัตถุประสงค์ไปหน่อย การที่เราเอา โอเน็ตมาเป็นการเรียนต่อระดับโรงเรียน ว่าโรงเรียนมีคะแนนโอเน็ตสูงมันเชิดหน้าชูตาอะไรแบบนี้ เราต้องดูก่อนว่าถูกประสงค์ตั้งหลักว่า วัดพื้นฐานว่าเด็กควรรู้อะไรไม่ควรรู้อะไรเพราะจริงๆ แล้วอย่างสารสนเทศอย่างโอเน็ต มันให้อะไรหลายอย่าง

เคยแชร์เรื่องหนึ่งที่พูดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในตัวเมืองกับต่างจังหวัด มันมีประเด็นว่ามันมีประโยชน์แต่ใช้อย่างไม่ถูกวิธี เราไม่ได้มีการวิเคราะห์จากข้อมูลการทำข้อสอบข้อมูลสารสนเทศว่าสามารถตอบอะไรได้บ้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ…โรงเรียนก็ชอบให้ติวโอเน็ตเหมือนเป็นที่โชว์ของโรงเรียนถ้าทำคะแนนสูงโรงเรียนฉันต้องดี มันเลยกลายเป็นว่าเรียนเพื่อทำข้อสอบโดยหลายๆ โรงเรียน ม.6 เทอม 2 จะกลายเป็นรายวิชาจะเป็นวิชาติวโอเน็ตอย่างนั้นเลย มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น”

ย้อนกลับมาเรื่องเทคนิคการสอน เพจดังกล่าวแนะว่า การเอาเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กคงไม่อินกับเรา ถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างการ์ตูนที่เขาดูมาและมาอธิบายในหลักวิชา อย่างน้อยเด็กๆ สนใจแน่นอน เด็กจะเปิดใจได้ง่าย เรื่องพวกนี้จะเป็นจุดเน้นในมุมที่สามารถนำสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการสอน

“ถ้าพูดในมิติครู ถ้ามีเท่าไหร่เราก็ใส่ไม่ยั้ง เรามีร้อยเราให้ร้อยเพราะเราไม่อยากกั๊กอะไรแล้วในเวลา 50 นาที เราอยากให้เด็กเต็มร้อยกับทุกคน อยากมีอย่างนี้มากกว่า…คงเคยได้ยินว่า เราคงไม่สามารถเป็นครูที่ดีได้อย่างเดียว เราก็ต้องเป็นครูที่เก่งด้วย”

เราต้องพัฒนาตนเองอย่างจริงจังทั้งเรื่องของเนื้อหาและเรื่องของการสอน

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image