แม่นาคเลิฟสตอรี่ คน ขวัญ ผี ในโลกหลังความตาย

เป็นหนึ่งในตำนานอมตะที่ถูกเล่าขานกระทั่งสร้างเป็นภาพยนตร์ และละครหลังข่าวนานนับเนื่องอย่างไม่รู้เบื่อ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเติมแต่งสีสันให้ยิ่งซาบซึ้งจับใจในบรรยากาศวังเวง

ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นเรื่องใดไปไม่ได้ นอกจาก ‘แม่นาคพระโขนง’ ซึ่งบอกเล่าความรักและผูกพันระหว่างผีกับคนบนความเชื่อที่ลุ่มลึกไปกว่านั้น บนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าประวัติศาสตร์ชาติ บนข้อเท็จจริงที่ทับซ้อนด้วยจินตนาการ

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ประจำเดือนมกราคม ตอนแรกของปี 2 วิทยากรอาวุโส ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ ค่ายมติชน และสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่จะพาไปไต่เส้นเรื่องในตอน ‘แม่นาคพระโขนง LOVE STORY ผีกับคน ขวัญในโลกต่างมิติ’ เดินทางไปยังแหล่งกำเนิด ‘ผีแม่นาค’ ณ วัดมหาบุศย์ ริมคลองพระโขนง ย้อนจินตนาการถึงบรรยากาศป่าช้ายุคเก่า ซึ่งปัจจุบันอยู่บนแนวถนนฝั่งอ่อนนุช แขวงสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

Advertisement

ตำนานเรื่องแม่นาคพระโขนง เป็น ‘คำบอกเล่า’ ที่ถูกแต่งเป็นนิทาน อยู่ในความทรงจำสืบมายาวนาน ประกอบด้วยสำนวนหลากหลายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทว่า บางสำนวนอ้างอิงถึงยุคก่อนหน้า ไกลถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เตรียมเปิดเผย 4 สำนวนหลัก ผ่านหนังสือลายลักษณ์ของ 1 นักปราชญ์ และ 1 นักค้นคว้าคนสำคัญ ได้แก่ ตามรอยนางนากพระโขนง ของ ส.พลายน้อย และ เปิดตำนานแม่นากพระโขนง ของ เอนก นาวิกมูล

แต่ละสำนวนล้วนเข้มข้น น่าฟังเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นสำนวนของ กศร.กุหลาบ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2442 โดยเล่าว่า อำแดงนาก (สะกด ด้วย ก.ไก่) เป็นเมีย นายชุ่ม อาชีพเล่นโขน เป็นตัวทศกัณฐ์ ฐานะร่ำรวย มีลูกหลายคน ครั้งอำแดงนากคลอดลูกตายทั้งกลม ก็ถูกนำร่างไปฝังในป่าช้าวัดมหาบุศย์ ลูกๆ ของอำแดงนากกับนายชุ่ม ร่วมกันสร้างเรื่องผีมาหลอกคนริมคลองพระโขนง หวังไม่ให้บิดามีเมียใหม่ เพราะหวั่นแย่งชิงสมบัติไป

หรือจะเป็น นางนาก (ยังคงสะกดด้วย ก.ไก่) พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ โดยทรงใช้นามแฝงว่า C.H.T. (Calton H. Terris) เรื่องมีอยู่ว่า นางนาก หญิงงาม เป็นภรรยา นายขำ ชาวนาผู้มั่งคั่งแห่งบางพระโขนง นางนากคลอดลูกแล้วตาย นายขำไม่กล้าแต่งเมียใหม่ เพราะผีนางนากมาช่วยทำงานบ้านทุกวัน อีกทั้งต้อนควาย วิดน้ำเข้านา จึงไม่มีหญิงใดกล้ามาอยู่ด้วย

สำนวนนี้ แต่งด้วยภาษาอังกฤษ ในชื่อว่า ‘The Second Ghost of Phra-Kanong’

สำนวนที่ 3 ยังคงเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 แต่เป็นภาษาไทย ใช้นามปากกา ‘นายแก้วนายขวัญ’ ตีพิมพ์ในหนังสือ ทวีปัญญา ฉบับเมษายน พ.ศ.2448 สำนวนนี้ นางนาก เป็นภรรยาขี้หึงของพันโชติ (กำนัน) ก่อนตายเคยบอกไว้ว่าถ้าพันโชติมีเมียใหม่ จะเป็น ‘ปีศาจ’ มาหลอกหลอน ครั้นนางนากตายไปจริงๆ ไม่ได้มาหลอกใคร แต่ลูกชายร่วมกันสร้างสถานการณ์ผีๆ ให้คนกลัว เพราะไม่อยากให้พ่อมีเมียใหม่

สำนวนสุดท้ายซึ่งสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าเป็นที่มาของ ‘แม่นาคพระโขนง’ ในภาพจำของสังคมไทยในทุกวันนี้ นั่นคือ บทละครร้อง ‘อีนากพระโขนง’ ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เล่นที่โรงละครปรีดาลัย ในวังแพร่งนรา ถนนตะนาว กรุงเทพฯ

สำนวนนี้ นางนากเป็นเมีย ‘นายมาก’ อย่างที่เรารู้จัก บ้านอยู่ริมคลองพระโขนง วันหนึ่งถูกเกณฑ์ไป ‘เข้าเดือน’ ทำงานราชการในเมือง นางนากจึงต้องอุ้มท้องลำพัง ต่อมาคลอดลูกตายทั้งกลม เพื่อนบ้านและสัปเหร่อช่วยจัดแจงงานศพ แล้วฝังในป่าช้าวัดมหาบุศย์

ผีนางนากอุ้มลูกชายไปหานายมากที่กรุงเทพฯ แล้วร่วมหลับนอนกัน รุ่งเช้าก็หายไป ครั้นนายมากออกเวรได้กลับบ้านบางพระโขนง เพื่อนบ้านบอกว่านางนากตายแล้ว แต่นายมากไม่เชื่อ แล้วมีเรื่องราวพิสดารออกไป

นับแต่นั้น เรื่องราวเหล่านี้ก็ได้รับการสร้างสรรค์เป็นผลงานให้รับชมทั้งจอเงินและจอแก้ว อีกทั้งรูปแบบอื่นๆ มากมาย ในนาม แม่นาค (สะกดด้วย ค.ควาย) และแม่นาก หรือนางนาก (สะกดด้วย ก.ไก่) อาทิ นางนาคพระโขนง นิยายตลกชุดสามเกลอ ของ ป.อินทรปาลิต เมื่อปี 2498, ภาพยนตร์แม่นาคพระโขนง เมื่อ ปี 2502 และภาคต่อ วิญญาณรักแม่นาค ปี 2505,แม่นาคคืนชีพ ปี 2503,แม่นาคคะนองรัก ปี 2511,นิยายภาพเรื่อง แม่นากพระโขนง ปี 2513,แม่นาคพระโขนง ปี 2511 กระทั่ง นางนาก ซึ่งแสดงโดย ทราย เจริญปุระ เมื่อปี 2542 กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร

ไม่เพียงไล่เรียงไทม์ประวัติศาสตร์ความทรงจำจนถึงลายลักษณ์กระทั่งถูกผลิตซ้ำในวัฒนธรรมบันเทิง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังร่วมกันวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงเรื่อง ‘ขวัญ’ ความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนอุษาคเนย์ หยิบยกหลักฐานทางโบราณคดีอายุกว่า 2,500 ปีมาให้รับชม ดังเช่นภาชนะดินเผามีฝา เอวคอดคล้ายผลน้ำเต้า บรรจุกระดูกมนุษย์ พบที่ทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด สัมพันธ์กับการฝังศพครั้งที่ 2 ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วาทะ ‘คนตาย ขวัญไม่ตาย’ จะถูกนำมาขยายให้ร่วมเรียนรู้อย่างเข้าใจง่ายผ่านรายการคุณภาพ

ไหนจะภาพเขียนพิธีกรรมดึกดำบรรพ์อายุใกล้เคียงกัน ปรากฏขบวนแห่ซึ่งขีดเขียนบนผนังถ้ำตาด้วง ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีคนแบกหามเครื่องประโคมดนตรี รวมถึงภาพเขียนอันสะท้อนความเชื่อในโลกหลังความตายที่เขาจันทน์งาม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีรูปหมาที่เชื่อว่าเป็นสัตว์นำทาง ‘ขวัญ’ คนตายไปสู่ดินแดนบรรพชน อีกฟากหนึ่งไกลโพ้นห้วงน้ำ

เป็นปฐมบทของพุทธศักราช 2564 ที่ห้ามพลาด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image