อาศรมมิวสิก : ทำไมโนรากับลิเกใส่ถุงเท้า ตามฝรั่งหรือตามแขก

ทำไมโนรากับลิเกใส่ถุงเท้า ตามฝรั่งหรือตามแขก

ทำไมโนรากับลิเกใส่ถุงเท้า
ตามฝรั่งหรือตามแขก

ทําไมโนรากับลิเกจึงใส่ถุงเท้า เป็นคำถามที่เก็บอยู่ในใจมายาวนาน ถามใครก็ได้คำตอบที่ไม่เคยสิ้นข้อสงสัย เพราะว่าโนราเป็นการละเล่นของพื้นบ้านภาคใต้ แม้จะแต่งตัวสวยงามแต่ก็หาหลักการไม่ได้ว่าทำไมจึงต้องใส่ถุงเท้า ในขณะเดียวกันลิเกก็เป็นศิลปะของชาวบ้านภาคกลางที่เล่นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ก็ใส่ถุงเท้า แสดงว่า “เจ้าโบราณ” นั้นใส่ถุงเท้าด้วย อาจจะมีเหตุว่า การใส่ถุงเท้าของศิลปินเป็นการอำพรางสีผิวของคนพื้นเมืองซึ่งไม่ใช่ฝรั่ง เพราะถุงเท้าเป็นวัฒนธรรมฝรั่งเท่านั้น แต่เรื่องถุงเท้าในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะใครๆ ต่างก็ใส่ถุงเท้า แม้แต่ขอทานก็ยังใส่ถุงเท้าเพราะว่าอากาศหนาว

ถ้าโนรากับลิเกพัฒนามาจากละครนอก โนรากับลิเกก็ต้องลอกเลียนพฤติกรรมของเจ้าในราชสำนัก อาทิ การแต่งกาย พฤติกรรมกิริยาของเจ้า ภาษาราชาศัพท์ เรื่องราวที่ใช้เล่นลิเก ส่วนลิเกป่านั้นไม่ได้แต่งองค์ทรงเครื่องตามวิถีแบบเจ้า ลิเกฮูลูเป็นการสวดบทดิเกร์ของพวกมุสลิมนิกายชีอะห์ หรือแขกเจ้าเซ็น ซึ่งเป็นบทสรรเสริญถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า ลิเกเหล่านี้ไม่ใส่ถุงเท้า ไม่ได้แต่งตัวหรูหรา

พวกลิเกทรงเครื่องนิยมแต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงามโดยเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2423) พวกแขกเจ้าเซ็นได้สวดเข้าถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล ต่อมาก็มีการสวดพลิกแพลงเป็นลำนำ ร้องออกเป็นภาษาต่างๆ มีลูกหมดออกสนุก ออกแขก ต่อมาลิเกได้เล่นอย่างละคร มีเรื่องเล่นเป็นทั้งชาดก นิทาน และนิยาย ตัวเอกของลิเกใส่ถุงเท้า

Advertisement

ลิเกหมายถึงการแสดงลวกๆ แต่งกายฉูดฉาด รำก็ไม่ประณีต ร้องก็ไม่ไพเราะ เอาทางสนุกสนาน มุขตลกขบขัน เป็นพวกจำอวด ไม่จริงจัง เชื่อถือไม่ได้ แต่จะสร้างจุดเด่นได้ก็เรียกว่า “ลิเก” เป็นได้แค่ชั่วครู่ชั่วยาม

“อันยิเกลามกตลกเล่น รำเต้นสิ้นอายไม่ขายหน้า

ไม่ควรจดจำเป็นตำรา มักจะพาเสียคนป่นปี้เอย” กลอนบทดอกสร้อย

ผู้ใหญ่สมัยก่อนจะสอนลูกผู้หญิงว่า “นายท้ายเรือเมล์ยิเกตำรวจ คนเขาสวดว่าไม่ดี” ไม่ควรคบหา อยู่ในเพลงของไวพจน์ เพชรสุพรรณ

พวกโนรานั้นเดิมเน้นชุดและท่ารำสวยงามแบบนางฟ้าเทวดาผสมกับกายกรรม (จีน) มีการว่าบท ขับกลอน และร่ายรำ (ซัดท่า) แต่งตัวสวยงามอย่างเจ้า มีเครื่องประดับแพรวพราว ตัวเอกของโนราโดยเฉพาะโนราที่มีครูจะใส่ถุงเท้า ยกเว้นโนราของชาวบ้านที่เรียกว่า “โนราโกลน” ไม่แต่งตัวและไม่ได้ใส่ถุงเท้า

เมื่อได้ศึกษาเพลงไทยโดยเฉพาะเพลงฝรั่งและเพลงแขก เป็นเพลงที่อยู่ในดนตรีไทยทั้งในวงมโหรีและวงปี่พาทย์ทำให้เข้าใกล้คำตอบที่ว่า “ทำไมโนรากับลิเกจึงใส่ถุงเท้า” มากขึ้น

ข้อมูลเพลงต้นวรเชษฐ์ เป็นเพลงที่มีทำนองเป็นฝรั่ง ซึ่งเชื่อว่าต้นตอมาจากเพลงต้นโปรตุเกส เนื่องจากทำนองเพลงเป็นฝรั่ง เมื่อเพลงตกอยู่ในวงดนตรีไทยมาหลายชั่วอายุคน ทำให้เพลงต้นวรเชษฐ์ผสมกลายเป็นเพลงไทยเดิมโดยที่ไม่รู้ที่มา ไม่มีหลักฐาน และอธิบายได้ยาก ใครเป็นคนแต่ง เข้ามาอยู่วงดนตรีไทยได้อย่างไร โดยรูปลักษณ์ของเพลงต้นวรเชษฐ์นั้นมีสำเนียงเป็นเพลงฝรั่ง (สากล)

ต้นวรเชษฐ์กลายเป็นเพลงไทยยอดนิยม สืบทอดต่อกันมาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เป็นเพลงทำนองเก่าในสมัยอยุธยา ใช้หน้าทับสองไม้ ครูกล้อย ณ บางช้าง นำทำนองเพลงมาดัดแปลงใหม่ชื่อ เพลงชมแสงจันทร์

เพลงต้นวรเชษฐ์ในทางสากล พระเจนดุริยางค์ (พ.ศ.2426-2511) ได้นำทำนองมาเรียบเรียงขึ้นสำหรับวงออเคสตรา ต่อมาวงสุนทราภรณ์ได้นำทำนองไปแต่งเป็นเพลงรำวง “เพลงวันนี้วันดี” ส่วนอาจารย์บรู๊ซ แกสตัน (Bruce Gaston) ได้เอาทำนองเพลงต้นวรเชษฐ์มาเรียบเรียงใหม่ใช้เป็นเพลงเปิดรายการโทรทัศน์ช่อง 9
อสมท ในเพลงลูกทุ่งครูชลธี ธารทอง ได้นำทำนองเพลงต้นวรเชษฐ์มาใส่เนื้อร้องใหม่ กลายเป็นเพลงยอดนิยมชื่อเพลง “กินอะไรถึงสวย” ขับร้องโดยสายัณห์ สัญญา มีเพลงโต้ตอบ “กินข้าวกับน้ำพริก” ขับร้องโดยผ่องศรี วรนุช

ถ้าเพลงต้นวรเชษฐ์ เป็นเพลงฝรั่งโปรตุเกส (Portuguese) สมัยอยุธยา ซึ่งชาวโปรตุเกสได้เข้ามาในกรุงสยาม พ.ศ.1998 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199) ชุมชนโปรตุเกสในอยุธยามีความรุ่งเรืองมาก ชาวโปรตุเกสเล่นดนตรีเล่นเพลง สงสัยจะเรียกว่า เพลงต้นวรเชษฐ์ หรือต้นโปรตุเกส

ที่จะเกี่ยวข้องกับ “ถุงเท้า” เชื่อว่าถุงเท้ามากับฝรั่งโปรตุเกส ครั้งที่โปรตุเกสถวายเครื่องราชบรรณาการ แต่ก็ไม่มีหลักฐานบันทึก ได้แต่นึกและทึกทักเอาว่าโปรตุเกสนำถุงเท้าเข้ามาด้วย ซึ่งในสมัยพระเชษฐาธิราช (พ.ศ.2140-2171) โปรตุเกสมีบทบาทสูงทางการเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสได้ถวาย “เสื้อเกราะทำด้วยผ้าซาตินสีแดงเลือดหมู หอก โล่ หมวกเหล็กตกแต่งอย่างงดงาม ปืน และกระสุนดินดำ” แต่ไม่พบถุงเท้า

เครื่องบรรณาการถวายแก่พระเจ้ากรุงสยาม มีเครื่องดนตรีอยู่ด้วย เป็นแตรวิลันดา มีเพลงแตรเข้าแถวทหารเพื่อรวมพล มีเพลงแห่ศพ “วิลันดาโอด” เป่าด้วยแตรวิลันดา แตรของพวกฮอลันดา หรือแตรทรัมเป็ตยาว (Natural Trumpet) เรียกกันว่า แตรฟันฟาร์ ซึ่งอยู่ในพระราชพิธีปัจจุบัน

ทีนี้มาถึงเพลงแขกเปอร์เซีย ซึ่งมีอยู่หลายเพลง อาทิ แขกเชิญเจ้า แขกเจ้าเซ็น แขกสะระหม่า แขกสาย บุหลันชกมวย แขกต่อยหม้อ แขกหนัง แขกสาหร่าย แขกถอนสายบัว ตะเขิ่งเจ้าเซ็น เป็นต้น กรณีแขกเจ้าเซ็นหมายถึง ฮูเซ็น บินอาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าแขกมุสลิม นิกายชีอะห์ แขกกลุ่มนี้เข้ามาทำการค้าและเผยแผ่ศาสนาในสมัยอยุธยา พิธีเต้นเจ้าเซ็นหรือการแห่เจ้าเซ็นมะหะหร่ำ เป็นการแห่ศพเจ้าเซ็น ซึ่งเป็นหลานของพระศาสดา
(นบีโมฮัมหมัด) ที่ถูกสังหารที่เมืองคาร์บาลา (Karbala) ในอิรัก เป็นมุสลิมต่างนิกายขัดแย้งกันเอง การทำพิธีแห่ศพเจ้าเซ็นหัวหน้านิกายชีอะห์มีอยู่ในปัจจุบันที่กุฎีเจริญพาศน์ ริมคลองบางหลวง มีเพลงแขกเจ้าเซ็น แขกเชิญเจ้า ร่วมอยู่ในพิธี

การแห่เจ้าเซ็นมีอาการตีอกชกหัว วงปี่กลองก็เชิดแห่ ซึ่งนำวงดนตรีมาใช้ในวงปี่มวยในปัจจุบัน พิธีไหว้ครูมวยในเวทีชกมวย ปี่เป่าเพลงสะระหม่า มวยชกยกที่ 1-4 ปี่จะเป่าเพลงแขกเจ้าเซ็น ส่วนยกที่ 5 ปี่เป่าเพลงเชิด

เพลงแขกเชิญเจ้า มีข้อสงสัยและทำให้สับสนว่า เป็นแขกพวกไหน แขกมลายู แขกอินเดีย (พราหมณ์) แขกอาหรับ แขกอิเหนา แขกเปอร์เซีย (แขกมัวร์) ซึ่งทำนองแขกเชิญเจ้าเป็นเพลงแขกเปอร์เซีย

แขกเปอร์เซีย (แขกเจ้าเซ็น) ปัจจุบันคืออิหร่าน เข้ามาในสยามสมัยสุโขทัย มีหลักฐานในศิลาจารึกพูดถึงตลาดปสาน (บาซาร์) คือตลาดภาษาเปอร์เซีย คำว่าเหรียญคือเรียล ภาษาเปอร์เซีย ดอกกุหลาบเป็นดอกไม้ที่นำมาปลูกในอยุธยา กุหลาบ (กุล็อบ) ภาษาเปอร์เซีย ผ้าขาวม้าลายเป็นตาราง (คะมาบัน) วิธีเหน็บดาบยาวแบบชาวแขกเหน็บกริช ทหารสัญญาบัตรแต่งตัวเหน็บกระบี่ ใช้หมวกทรงสูงของขุนนาง (ลอมพอก) การแต่งตัวขุนนางในสมัยอยุธยา (โกษาธิบดีปาน) ใส่เสื้อครุยขุนนาง ทั้งหมดเป็นวัฒนธรรมเปอร์เซีย

เรือสำเภาขนสินค้าของแขกเฉกอะหมัด (เกิดในอิหร่าน พ.ศ.2086) เป็นต้นตระกูลบุนนาค มาค้าขายในสยามเมื่อ พ.ศ.2145 สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2148) ต่อมาได้เข้าทำงานรับราชการใกล้ชิดพระเจ้ากรุงสยามและมีบทบาททางการเมือง การปกครอง และการค้า

วัฒนธรรมเปอร์เซียมีอิทธิพลในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) พ่อค้าชาวเปอร์เซียได้ตำแหน่งสูงในราชสำนัก เจ้านายและคนชั้นสูงแต่งกายแบบเปอร์เซีย อาทิ เสื้อฉลองพระองค์ครุยกษัตริย์ เสื้อคลุมยาว กางเกงขายาว เสื้อชั้นใน หมวกแหลมเรียกลอมพอก โดยดัดแปลงจากผ้าโพกหัวกับชฎาใส่รวมกัน ฉลองพระบาทเชิงงอน มีถุงเท้าและรองเท้า ซึ่งนำเข้ามาจากเปอร์เซีย ให้ดูการแต่งตัวของพระยาแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นชุดแขกเปอร์เซีย วัฒนธรรมเปอร์เซียบอกไว้ชัดว่ามีถุงเท้าใส่ในชุดเจ้านายชั้นสูงชัดเจน

การแต่งกายของเจ้านายชั้นสูงได้รับรูปแบบอิทธิพลจากเปอร์เซีย เป็นการยกฐานะให้แตกต่างไปจากชนชั้นสามัญทั่วไปชัดเจน เพราะเสื้อผ้าและเครื่องใช้ที่นำเข้ามาจากเปอร์เซียนั้นมีราคาแพง คนธรรมดาสามัญชนไม่สามารถหาซื้อได้ ที่สำคัญคือเป็นเรื่องแปลกแตกต่างไปจากชาวบ้าน

เพลงแขกเชิญเจ้าจึงเป็นเพลงที่บอกฐานะของเจ้า บอกฐานะของคนชั้นสูง รวมเครื่องแบบการแต่งกาย เครื่องประดับ รองเท้าถุงเท้า เพลงแขกเชิญเจ้าจึงเป็นเครื่องประดับยศและบรรดาศักดิ์ของเจ้าในสมัยอยุธยา

ปัจจุบันโนราและลิเกก็ตายเกือบหมดแล้ว เหลือไว้เพียงชื่อ แต่ไม่มีพื้นที่แสดง ไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน ไม่มีอาชีพ การแต่งตัวของลิเกใส่ถุงเท้าตามแบบของเจ้า ส่วนโนรานั้นใส่ถุงเท้าได้ต้นแบบมาจากลิเกอีกทอดหนึ่ง การใส่ถุงเท้าของโนราและลิเก ก็เพื่อให้ดูว่าเป็นศิลปะชั้นสูงอยู่ใกล้เจ้านายหรืออยู่ใกล้ฝรั่งที่เป็นสากล

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image