สร้างกรุงเทพฯ สมัย ร.1 เขมรขุดคูน้ำ ลาวก่อกำแพง

ป้อมมหากาฬ เห็นภูเขาทอง วัดสระเกศ

สร้างกรุงเทพฯ สมัย ร.1 เกณฑ์คนทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง

รื้อป้อมวิชเยนทร์ (ตรงปากคลองตลาด) และกำแพงเมืองธนบุรีฟากตะวันออก (คลองคูเมืองเดิม)

แล้วให้ขยายพระนครกว้างออกไปกว่าเก่า ถึงตรงที่เป็นคลองโอ่งอ่างปัจจุบัน

ประตูเมืองบนถนนมหาไชย ภาพถ่ายเก่าสมัย ร.5
ประตูเมืองบนถนนมหาไชย ภาพถ่ายเก่าสมัย ร.5

สะพานช้าง

ไม่ได้สร้างตรงป้อมมหากาฬ

Advertisement

แนวคิดครั้งแรกจะสร้างสะพานช้าง ข้ามคลองรอบกรุง บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ทุกวันนี้

แต่พระสงฆ์ผู้ใหญ่สมัยนั้นทักท้วง เลยให้งดไว้ไม่สร้าง มีความในพระราชพงศาวดาร โดยสรุปว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินตรวจการก่อสร้าง ทรงพระราชดำริจะให้สร้างสะพานช้างข้ามคลองรอบกรุงที่ใต้ปากคลองมหานาค

Advertisement

จึงพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) ไปถวายพระพรว่า ซึ่งจะทรงสร้างสะพานช้างข้ามคูพระนครนั้นอย่างธรรมเนียมแต่โบราณมาไม่เคยมี แม้มีการสงครามถึงพระนครข้าศึกก็จะข้ามมาถึงชานพระนครได้โดยง่าย อีกประการหนึ่งแม้นจะแห่กระบวนเรือรอบพระนคร สะพานนั้นก็จะเป็นที่ขัดขวางอยู่

ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้งดสร้างสะพานช้างเสีย เป็นแต่ให้ทำท่าช้างสำหรับช้างข้ามคลองรอบกรุง

เขมร (จาม) ขุดคูเมือง

เกณฑ์เขมรแขกจามเข้ามาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดสังเวชไปออกแม่น้ำข้างใต้ที่วัดบพิตรพิมุข ให้ชื่อว่าคลองรอบกรุง

ขุดคลองเชื่อมคลองรอบกรุงกับคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง คลองหนึ่งคือคลองข้างวัดราชบพิธ อีกคลองหนึ่งข้างวัดราชนัดดากับวัดเทพธิดา ทำสะพานช้างและสะพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครหลายตำบล

ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศ เรียก คลองมหานาค เหมือนครั้งกรุงเก่า

แขกจามที่เข้ารีตอิสลามอยู่ในเมืองเขมร เมื่อขุดคลองคูเมืองและคลองมหานาคแล้ว ก็โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งคลองสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกบ้านครัว (หมายถึงถูกกวาดต้อนมาทั้งครอบครัว เลยเรียกยกครัว กลายเป็นบ้านครัวในปัจจุบัน)

ประตูพฤฒิบาศ ป้อมที่เห็นถัดไปคือป้อมมหากาฬ
ประตูพฤฒิบาศ ป้อมที่เห็นถัดไปคือป้อมมหากาฬ

ลาวสร้างกำแพงเมือง

เกณฑ์ลาวเมืองเวียงจัน ตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขง เข้ามาขุดรากก่อกำแพงเมือง และสร้างป้อมเป็นระยะๆ รอบพระนคร

ลาวที่ถูกเกณฑ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้กลับถิ่นเดิม เพราะการสร้างบ้านแปลงเมืองไม่ได้เสร็จในคราวเดียว หากทำต่อเนื่องหลายรัชกาล พวกที่เกณฑ์มาจึงตั้งหลักแหล่งกระจายทั่วไปตามแต่นายงานจะสั่งให้อยู่ตรงไหน ทำงานที่ไหน

ที่สุดแล้วก็สืบโคตรตระกูลลูกหลานตั้งหลักแหล่งถาวรอยู่ในบางกอกกลายเป็นคนกรุงเทพฯ

กำแพงกรุงเทพฯ

เมื่อแรกสร้างมีกำแพงพระนครและคูพระนคร

มีชานกำแพงพระนครด้านตะวันออกเลียบคลองโอ่งอ่าง เป็นหลักแหล่งของเขมร, ลาว, และไพร่ที่ถูกเกณฑ์จากที่ต่างๆ มาเป็นแรงงานสร้างพระนคร

มีเนื้อที่ในกำแพงพระนคร 2,163 ไร่ กำแพงสูงประมาณ 3.60 เมตร หนาประมาณ 2.70 เมตร มีประตู 63 ประตู (ประตูใหญ่, ประตูช่องกุด)

มีป้อม 14 ป้อม มีนามเรียงตามลำดับตั้งแต่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้

ป้อมพระสุเมรุ อยู่หัวมุมกำแพงเมืองด้านเหนือ เป็นป้อมใหญ่ มีหอรบสูง เลียนแบบป้อมเพชรที่พระนครศรีอยุธยา

ป้อมยุคนธร อยู่หน้าวัดบวรนิเวศ

ป้อมมหาปราบ อยู่ระหว่างสะพานผ่านฟ้าลีลาศกับสะพานเฉลิมวันชาติ

ป้อมมหากาฬ อยู่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หน้าวัดราชนัดดาราม

ป้อมหมูทลวง อยู่หน้าลหุโทษเดิม ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะ

ป้อมเสือทยาน อยู่ระหว่างป้อมหมูทลวงกับสะพานดำรงสถิตย์ (หรือสะพานเหล็กบน) ที่ถนนเจริญกรุง

ป้อมมหาไชย อยู่หน้าวังบูรพาภิรมย์

ป้อมจักรเพชร อยู่หัวมุมกำแพงเมืองด้านใต้

ป้อมผีเสื้อ อยู่บริเวณปากคลองตลาด หัวมุมปากคลองคูเมืองเดิม

ป้อมมหาฤกษ์ อยู่ตรงโรงเรียนราชินีล่าง (ทับรากฐานเดิมของป้อมวิชเยนทร์สมัยอยุธยาที่ให้รื้อไปก่อนแล้ว)

ป้อมมหายักษ์ อยู่ตรงตลาดท่าเตียน เยื้องหน้าวัดโพธิ์

ป้อมพระจันทร์ อยู่บริเวณตลาดท่าพระจันทร์

ป้อมพระอาทิตย์ อยู่ปากคลองท่าช้างวังหน้า บริเวณที่เป็นรากฐานสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร

ป้อมอิสินธร อยู่ระหว่างป้อมพระอาทิตย์กับป้อมพระสุเมรุ

ทุกวันนี้เหลือซากอยู่ 2 ป้อม คือป้อมพระสุเมรุกับป้อมมหากาฬ

มีประตูเข้าออกอยู่ระหว่างป้อม เช่น ประตูสามยอดเป็นประตูใหญ่มีสามยอด กับประตูเล็กเรียกประตูช่องกุดเป็นระยะๆ

ประตูผี เป็นช่องขนศพจากในเมืองไปเผานอกเมือง

กำแพงพระนครด้านแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นวังหลวงกับวังหน้า จะใช้กำแพงวังเป็นกำแพงป้องกันพระนครเช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image