เดินไปในเงาฝัน : มติชน บันทึกประเทศไทยปี 2563

คงต้องยอมรับว่าตลอดปี 2563 ผ่านมาประเทศไทยมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงเรื่องของมหันตภัยไวรัสร้ายโควิด-19 ที่เข้ามาจู่โจมมนุษยชาติบนโลกใบนี้

รวมถึงประเทศไทยด้วย

ผ่านมาสำนักพิมพ์มติชนเคยจัดทำหนังสือมติชน บันทึกประเทศไทยหลายปีอย่างต่อเนื่อง มีเว้นว่างบางปีที่ไม่ได้ทำต่อ อาจด้วยเหตุผลบางอย่าง

แต่สำหรับปี 2563 ผ่านมา

Advertisement

สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์หนังสือ “มติชน บันทึกประเทศไทยปี 2563” ขึ้นอีกครั้ง ด้วยคำตอบง่ายๆ ว่าตลอดปี 2563 ผ่านมามีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

น่าจะทำการบันทึกไว้

เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ เหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ขณะเดียวกัน ก็มีหลายๆเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่า จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในที่สาธารณะ

Advertisement

ถามว่าเรื่องอะไรบ้าง ?

เชื่อว่าผู้อ่านคงประจักษ์ชัดดี เพราะถึงตอนนี้เหตุการณ์เหล่านั้นยังไม่น่าจะยุติ ตรงกันข้าม อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สังคมไทยเกิดการตั้งคำถาม

เกิดการแตกแยกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นล้วนผูกพันกับรัฐบาล จนทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยตั้งข้อสงสัย แกมตั้งคำถามว่า…ทำไมรัฐบาลถึงไม่กล้าจัดการอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มคณะราษฎร 2563

อาศัยแต่ตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว

ทั้งยังทำท่าว่าตัวบทกฎหมายอย่างมาตรา 112 น่าจะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่เกรงกลัวหรืออย่างใด ถึงได้กล้าออกมาจาบจ้วง หรือให้ร้ายต่อสถาบันกษัตริย์อยู่เนืองๆ

จนทำให้หลายคนมองเรื่องนี้ไปต่างๆ นานา

อันหาข้อสรุปแทบมิได้

ฉะนั้น เมื่อมาดูบทความอันเสมือนคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ ทางสำนักพิมพ์จึงหยิบยกข้อเขียนของ “อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์” มาตีพิมพ์ เพื่อแสดงหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ตลอดช่วงผ่านมาอย่างน่าสนใจ

“ประวัติศาสตร์คือ การศึกษาว่าด้วยความเปลี่ยนแปลง นั่นคือเหตุผลที่ในสมัยหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ จึงคิดว่าตนคือผู้ที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ทั้งที่เกิดมาแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีที่สุด เพราะประวัติศาสตร์มองความเปลี่ยนแปลงจากทุกมิติ ในทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม หรืออื่นๆ ในขณะที่สังคมศาสตร์แขนงอื่นๆ มองจากมิติเดียว”

“นอกจากมิติอันหลากหลายแล้ว ประวัติศาสตร์ยังสอนให้ประเมินความเปลี่ยนแปลงจากผลที่ปัจจัยหลากมิติเหล่านี้กระทำต่อกัน เช่น โรคระบาดใหญ่ไปกระทบต่อพฤติกรรมด้านต่างๆ ของคนอย่างไร และไปเปลี่ยนคุณค่าด้านความงาม ความเชื่อ หรือเกียรติยศ และช่วงชั้นทางสังคมของเขาหรือไม่อย่างไร”

นอกจากนั้น “อาจารย์นิธิ” ยังมองว่าสัญญาณที่ทำให้เกิดบรรยากาศดังกล่าวมีให้เห็นได้ รู้สึกได้ คาดการณ์ได้ในทุกด้านมานานพอสมควรแล้ว เช่น เศรษฐกิจไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะโควิดนะครับ แต่เพราะระบบการผลิตของเราในเกือบทุกด้านไร้ประสิทธิภาพเสียจนไม่อาจแข่งขันกับใครได้

“ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม หรือหัตถอุตสาหกรรม แม้แต่ภาคบริการ ซึ่งดูเหมือนจะพอไปได้ ก็มีเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งล้ำหน้าเพื่อนบ้าน แต่ไม่ใช่ภาคบริการด้านอื่น เช่น ไม่ใช่ด้านการเงิน ไม่ใช่ด้านการวิจัย ฯลฯ เป็นต้น ส่วนด้านที่ยังพอแข่งขันได้ เช่น การแพทย์ เสริมความงาม ภาพยนตร์ ฯลฯ ก็เป็นการแข่งขันด้านราคา หรือมีช่องในตลาดที่ยังไม่ถูกแข่งขัน ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่ยั่งยืนทั้งสิ้น”

“จนทำให้เราทำนายไม่ถูกว่ามันจะพังลงอย่างไร”

ในส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งที่ “อาจารย์นิธิ” สะท้อนออกมาในบทความชิ้นนี้มีความลึกซึ้งในหลายมิติด้วยกัน และในความหลากหลายของบริบทที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนี่เอง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นในบ้านเราเมื่อปี 2563 ผ่านมา

ถามว่าในหนังสือเล่มนี้บันทึกเหตุการณ์อะไรไว้บ้างในปี 2563 ?

คำตอบง่ายๆ คือมีทุกเรื่อง และทุกรส ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 อาทิ ไทยพบผู้ป่วยรายแรก หญิงชาวจีนมากอู่ฮั่น, ตั้งอนุทินหัวหน้าทีมสู้โควิด, พบรายแรกติดเชื้อโคโรนาในไทย ฯลฯ

เดือนกุมภาพันธ์ – ขน 138 คนไทยจากอู่ฮั่นกลับไทย, จ่าทหารคลั่งยิงดะ 29 ศพ, ยุบอนาคตใหม่ตัดสิทธิยาว 10 ปี ฯลฯ

เดือนมีนาคม – ติดเชื้อผับย่านทองหล่อ, เวทีลุมพินี แพร่เชื้อกลุ่มก้อน, สั่งปิดห้าง-ตลาด กทม.-ปริมณฑล ฯลฯ

เดือนเมษายน – ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ, ไทยติดเชื้อแล้ว 68 จังหวัด, บิ๊กตู่ขอ 20 เจ้าสัวร่วมลุยศึกโควิด ฯลฯ

เดือนพฤษภาคม – ศบค.ไฟเขียวปลดล็อกเฟส 2, คลังสรุปช่วยประชาชน 66 ล้านคน, สภาถกร่าง พ.ร.ก.สำคัญ ฯลฯ

เดือนมิถุนายน – นักศึกษาเรียกร้องเลิกฉุกเฉิน, จี้รัฐบาลเขมร-ไทยหาตัววันเฉลิม, บิ๊กป้อมนั่งหัวหน้าพรรค พปชร.ตามโผ ฯลฯ

เดือนกรกฎาคม – เปิดแผนทดลองวัคซีนกับคน, สมคิด-4 กุมารยื่นลาออก รมต., ม็อบชุมนุมล้นอนุสาวรีย์ ปชต. ฯลฯ

เดือนสิงหาคม – ชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน, ชุมนุมถนนราชดำเนินแน่น, ม็อบ น.ร.เป่านกหวีดไล่ รมต. ฯลฯ

เดือนกันยายน – คืนฐานันดรศักดิ์เจ้าคุณพระสินีนาฏ, ม็อบยึดพื้นที่สนามหลวง, ปักหมุดสนามหลวง-ยื่น จม.เปิดผนึก ฯลฯ

เดือนตุลาคม – ม็อบคณะราษฎรล้อมทำเนียบฯ, ตร.ฉีดน้ำสลายม็อบปทุมวัน, ม็อบยกระดับไปสถานทูต ฯลฯ

เดือนพฤศจิกายน – ม็อบหย่อน จ.ม.ส่งสำนักพระราชวัง, ม็อบปะทะเดือดหน้ารัฐสภา, ม็อบหน้ากรมทหารราบที่ 11 ฯลฯ

เดือนธันวาคม – ศาลตัดสินบิ๊กตู่พักบ้านหลวงได้, ม็อบร้องยูเอ็น-ล่าชื่อเลิก ม.112, ล็อกดาวน์สมุทรสาคร-โควิดพุ่ง 548 คน ฯลฯ

ที่ผมรวบรวมมาให้ดูแค่เป็นหนังตัวอย่างเท่านั้น จริงๆ ก็อย่างที่ทุกคนทราบกัน เหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นในบ้านเราตั้งแต่ต้นปี 2563-ปลายปี 2563 หนังสือเล่มนี้มีบันทึกไว้ทั้งสิ้น

ที่ไม่เพียงจะเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจ

ยังเป็นหมุดหมายของเหตุบ้านการเมืองที่บางเรื่องราวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2475 มาด้วยซ้ำ ฉะนั้น ใครที่ชื่นชอบเกี่ยวการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือใครที่ทำอาชีพบรรณารักษ์ห้องสมุด หรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ

หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพวกเขา

หรือแม้แต่ใครที่ชื่นชอบศึกษาประวัติศาสตร์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือแม้แต่การทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็น่าจะมีไว้คนละเล่มนะครับ

เพราะหนังสือมติชน บันทึกประเทศไทยปี 2563 ถือเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง

ที่ทุกคนควรจะมี ?

สาโรจน์ มณีรัตน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image