อาศรมมิวสิก : เล่นเพลงอยุธยาที่วัดพระราม

อาศรมมิวสิก : เล่นเพลงอยุธยาที่วัดพระราม

อาศรมมิวสิก : เล่นเพลงอยุธยาที่วัดพระราม

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เวลา 16.30-18.00 น. มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดแสดงดนตรี “เพลงสมัยอยุธยา” โดยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ควบคุมและเรียบเรียงเพลงโดย พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ แสดงที่หน้าวัดพระราม

ทำไมจึงเลือกแสดงดนตรีที่หน้าวัดพระราม เป็นคำถามจากหลายคน เนื่องจากวัดพระรามมีรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ดูแล้วสวยงามมาก เป็นวัดแรกๆ ในกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งวัดพระรามมีสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นกรุงศรีอยุธยา ภาพประวัติศาสตร์เป็นเครื่องหมายที่นานาชาติรู้จัก ภาพอยุธยาเป็นที่แพร่หลายและจดจำในอดีตว่ามีคนหลายเชื้อชาติ ที่สำคัญเมื่อไปยืนที่หน้าวัดพระรามก็อยากเล่นดนตรี

ถามว่า ดนตรีและเพลงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างไร ความจริงผมเองก็ไม่รู้พอๆ กับคนที่ถามแหละ แต่เท่าที่พบหลักฐานว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยามีดนตรีอะไรอยู่บ้าง อาทิ เครื่องดนตรี บทเพลง สถานที่ร้องเพลง ที่เรียนดนตรี พื้นที่ทำพิธีกรรม เมื่อกรุงศรีอยุธยามีผู้คนที่หลากหลาย 43 เชื้อชาติ 20 ภาษา มีเพลงที่บอกความเป็นนานาชาติ (เพลง 12 ภาษา) ชาวต่างชาติที่เข้ามาหากินในกรุงศรีอยุธยา อาทิ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน กรีก อาร์เมเนีย ฝรั่งเศส โคชินไชน่า โคชินจีน มอญ จาม ญี่ปุ่น แขกชวา มลายู อินเดีย (พราหมณ์) อันนัม แขกกุศราช แขกสุหรัด แขกเทศ (เปอร์เซีย) ฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เป็นต้น

Advertisement

เพลงสยามและเครื่องดนตรีสยามมีอะไรบ้าง สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ชาวสยามมีความหลากหลาย คือ ร้อยพ่อพันแม่ เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีความเป็นนานาชาติ กรณีเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่พบจากหลักฐานในวรรณคดี เป็นดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรม เครื่องดนตรีแขกเปอร์เซีย อาทิ ปี่ไฉน ปี่ชวา กลองรำมะนา มีเครื่องดนตรีแขกอินเดีย (พราหมณ์) อาทิ สังข์ แตรงอน กลองชนะ (ขึงด้วยหนัง) เครื่องดนตรีในท้องถิ่นที่พบมี กลองทัด (ขึงด้วยหมุด) หรือกลองเพล ฆ้อง ระฆัง กังสดาล มโหระทึก กลองไชย กรับ ฉิ่ง เครื่องดนตรีที่รับอิทธิพลจากเขมร อาทิ มโหรี กระจับปี่ ปี่ห้อ พิณ ซอ (ทร) โทน (โทนหรือทับโนรา) เครื่องดนตรีจากชุมชนลาวมี แคน ปี่จุม เป็นต้น ส่วนเพลงร้อง มีช่างขับซอ ร่าย ขับเสภา สวด อ่านโองการ เทศน์ เป็นต้น ดนตรีเหล่านี้พบว่ามีอยู่ทั่วภูมิภาค

บทเพลงที่พบอยู่ในวงดนตรีไทยเดิม อาทิ เพลงเขมร เพลงแขก เพลงขอม แขกพราหมณ์ แขกเปอร์เซีย แขกชวา แขกมลายู แขกปัตตานี แขกมอญ แขกอาหรับ เงี้ยว จาม (จัมปา) จีน ญวน ญี่ปุ่น ฝรั่ง พม่า ลาว ภูไท มอญ อาหม เป็นต้น ชื่อความเป็นเชื้อชาติก็นำมาตั้งชื่อเพลงเพื่อบอกสำเนียงของความเป็นชนเผ่านั้นๆ ในอยุธยา

เพลงฝรั่ง ชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2061 โดยมีราชทูตเข้ามาถวายพระราชสาส์น มีการถวายเครื่องราชบรรณาการเพื่อขอเจริญสัมพันธไมตรี เพื่อทำการค้า อาศัยตั้งบ้านเรือน และประกอบศาสนกิจ ในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช (พ.ศ.2034-2072) มีชุมชนและโบสถ์คาทอลิก มีการขับร้องเพลงสวดในโบสถ์

Advertisement

ดนตรีฝรั่งที่เข้ามากับชาติต่างๆ เพื่อเผยแผ่ศาสนา ทำการค้า ในสังคมอยุธยาในฐานะเมืองท่าที่มีความมั่งคั่ง การนำวัฒนธรรมดนตรีจากตะวันตกสู่สังคมสยามโดยผ่านศาสนา การร้องเพลงใช้ภาษาละติน มีการขับร้องประสานเสียง มีนักร้องและนักดนตรีที่ฝึกซ้อมเป็นอาชีพ มีการเล่นดนตรีในโบสถ์ของชาวโปรตุเกส ซึ่งมิชชันนารีชาวโปรตุเกสเผยแผ่คำสอนเป็นภาษาละติน ใช้ออร์แกนในโบสถ์คาทอลิก ชาวสยามนั้นชอบเสียงออร์แกนมาก นอกจากนี้ ชาวสยามยังชอบเสียงปี่ กลอง แตร และขลุ่ยของฝรั่งอีกด้วย

เพลงสวดเป็นเพลงขับร้อง ทั้งร้องเดี่ยวและร้องประสานเสียง ใช้ในโบสถ์ผ่านนิกายต่างๆ อาทิ เยซูอิต โดมินิกัน คาทอลิก โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีโรงเรียนพระคริสตธรรม ใช้ภาษาละติน ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากฝรั่งเศส มีการขับร้องประสานเสียง มีเพลงสวดเกรโกเรียน (Gregorian Chant) มีบทเพลงสวดประจำวัน ร้องเพลงระหว่างกลางวัน นักเรียนจะเรียนวิชาเทวศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดีละติน ภาษาตะวันออก มีการบรรเลงแตรเมื่อกินอาหาร การเล่นไวโอลิน การเต้นรำ การขับร้อง การสวด บาทหลวงที่เข้ามาได้รับการฝึกด้านการขับร้องเป็นอย่างดี

เพลงสวดที่มีในโบสถ์กรุงศรีอยุธยา อาทิ ลาเตแนเบรอะ (La Tenebre) อัลเลลูยา (Alleluia) ม้าละลาย (Le cheval fondu) เจ้าหนูน้อย (Cochon Cochonnet) อเวมาเรีย (Ave Maria) ส่วนเพลงอื่นๆ ที่พบมี พันธุ์ฝรั่ง ฝรั่งรำเท้า สายสมร สุดใจ เพลงศรีสวัสดิ์ สำหรับเพลงศรีสวัสดิ์ยังไม่พบหลักฐานใดๆ

ที่โบสถ์นอทเทอร์ดาม เดอ ลอแรตต์ (Notre-Dame de Laurette) ในบ้านราชทูตวิชาเยนทร์ พระราชวังลพบุรี มีนักเล่นออร์แกนชื่อฌ็อง บล็อง (Jean Blanc) นักเป่าขลุ่ยชื่อริชาร์ด (Richard) ซึ่งยุคนั้นน่าจะเป็นรีคอร์เดอร์ (Recorder) และมีนักร้องเพลงในโบสถ์เป็นประจำ

มีโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา ทุกนิกายจะมีเพลงสวด (Chant หรือ Hymn) ฮีม ซึ่งพบว่ามีเพลง “ยี่เฮ็ม” ปะปนอยู่ในวงปี่พาทย์ โดยเฉพาะในเพลงชุด 12 ภาษา หมายถึงเพลงนานาชาติ คือเพลงสวดสำหรับพิธีแต่งงาน (ปัจจุบันเมื่อบ่าวสาวตัดเค้กแต่งงาน นักดนตรีจะเล่นเพลงนี้) ในโรงเรียนสอนศาสนาจะมีเพลงร้องเดี่ยวและเพลงประสานเสียง มีเครื่องดนตรีออร์แกนและพิณฝรั่ง

ในกรุงศรีอยุธยามีโรงเรียนศาสนา มีโบสถ์ที่ทำพิธีทางศาสนาหลายแห่งด้วยกัน อาทิ ที่โบสถ์โดมินิกัน (Dominican) โบสถ์ฟรังซิสกัน (Franciscan) โบสถ์เยซูอิต (Jesuits) โบสถ์โรมันคาทอลิก โบสถ์นักบุญยอเซฟ (St. Joseph) มีโรงเรียนและวิทยาลัยที่สอนเด็กที่มาเข้ารีต อาทิ วิทยาลัยซานซัลวาดอร์ (San Salvador) ที่บ้านมหาพราหมณ์ มีวิทยาลัยมหาพราหมณ์ (College de Mahaphram) วิทยาลัยกลางอยุธยา วิทยาลัยคอนสแตนติน (Constantin College) วิทยาลัยแห่งชาติ (College des Nations) โรงเรียนสามเณร (General College) ฯลฯ

เมื่อทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอนุญาตให้จัดแสดงดนตรีได้ โดยมีจำนวนคนทั้งหมดแค่ 100 คน หมายถึง มีเก้าอี้นั่งได้แค่ 100 ที่นั่ง ที่เหลือให้ผู้ชมยืนแอบตามสุมทุมพุ่มไม้ เพื่อรักษาระยะห่าง ส่วนคนที่ทำงานให้ไปก่อนเวลา และเมื่อจัดการงานในหน้าที่เสร็จ ก็ให้หายตัวออกไปจากบริเวณงาน ในการแสดงครั้งนี้ใช้วิธีถ่ายทำโดยบันทึกภาพและเสียงเพื่อส่งต่อการแสดงให้ผู้ชมเข้าถึง ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์

คำถามต่อไปว่า ทำไมต้องดิ้นรนทำงานแสดงดนตรีซึ่งยากลำบากถึงเพียงนี้ ที่จริงความลำบากนั้นเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย นักดนตรีตกงานไม่มีงานทำ ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม งานเทศกาล กิจกรรมรื่นเริง งานเฉลิมฉลอง งานวิชาการก็ถูกงดกันหมด งานเหล่านี้เป็นพื้นที่ทำมาหากินของนักดนตรี การแสดงครั้งนี้เป็นการทดลองเพื่อหาทางออกและการปรับตัวใหม่ เพื่อให้นักดนตรีที่มีฝีมือได้ทำงาน ได้สร้างงาน เพื่อให้สามารถอยู่ในอาชีพดนตรีและมีรายได้ ดนตรีเป็นอาชีพ เสียงดังตังค์มา

เหตุผลสุดท้ายคือ การมอบเพลงให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) คนเก่งคนดีในประวัติศาสตร์สยาม เป็นราชทูตสยามที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ใช้เวลาเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2228 ถึงฝรั่งเศสวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2229 ใช้เวลาเดินทาง 188 วัน คณะราชทูตพำนักอยู่ในฝรั่งเศส 255 วัน ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 ออกเดินทางกลับสยามในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2230 ถึงสยามวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2230 ใช้เวลาเดินทางกลับ 222 วัน รวมเวลาเดินทางไปทำหน้าที่ราชทูต 665 วัน

ขณะที่พำนักอยู่ในกรุงปารีส เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้มีโอกาสชมโอเปร่า ได้ฟังเพลงร้องและฟังเพลงบรรเลงในโบสถ์และดนตรีราชสำนักหลายครั้ง กระทั่งหัวหน้ากรมมหรสพ ไมเคิล ริชาร์ด เดอลาลองด์ (Michel Richard Delalande) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รู้สึกประทับใจอุปนิสัยท่านราชทูตเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประพันธ์เพลงเพื่อมอบให้เป็นที่ระลึก ท่านผู้ที่มีอัธยาศัยไมตรี มีความสุภาพ และมีความเฉลียวฉลาด เพลง “ยินดีต้อนรับชาวสยาม” และเพลง “สำเนียงของชาวสยาม” ทั้ง 2 เพลง ได้บรรเลงในงานต้อนรับคณะราชทูต หน้าพระพักตร์และระหว่างเสวยพระกระยาหารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) กลับถึงกรุงสยามแล้ว ครั้งนี้จะนำเพลงเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยามาบรรเลงให้ท่านได้ฟังอีกครั้ง แม้เวลาผ่านไป 335 ปีแล้วก็ตาม เพลงอาจจะผิดแผกแตกต่างไปตามกาลเวลา มากน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ รู้เพียงว่าอยากทำเพลงให้ท่านฟัง แม้ทำได้แค่นี้ก็ตาม เพื่อมอบให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับฟังเพลงนี้อีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อสืบทอดอายุเพลงด้วย

ในช่วงเวลา 16.30-18.00 น. ฤดูนี้ ดวงอาทิตย์ยังมีแสงแรง นักดนตรีได้อาศัยแสงสว่างเพื่อจะอ่านโน้ต ซึ่งบรรยากาศตอนเย็นที่หน้าวัดพระรามนั้นดูสวยงามเสียยิ่งนัก อุณหภูมิค่อยๆ ลดต่ำลง 32-29 องศาเซลเซียส ผู้ชมสามารถแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สบายได้ ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ช่วยอำนวยห้องสุขาเคลื่อนที่ให้แก่ท่านผู้ชมด้วย

ผู้ชมทุกคนจะต้องรับผิดชอบและต้องป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด มีอุปกรณ์หน้ากากพร้อม เมื่อไปถึงแล้วก็ต้องลงทะเบียน ตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกัน ล้างมือด้วยเจล เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ขอให้ทุกคนโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image