คอลัมน์แทงก์ความคิด : ปรับตัวคือทางรอด

คอลัมน์แทงก์ความคิด : ปรับตัวคือทางรอด

คอลัมน์แทงก์ความคิด : ปรับตัวคือทางรอด

ได้ฟังได้ยินข้อมูลจากงานสัมมนาเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดขึ้นในรูปแบบ เวอร์ชวล คอนเฟอเรนซ์ กันไปแล้วใช่ไหม

ใครได้ฟังสัมมนา “เบรกทรูไทยแลนด์ 2021” ในวันนั้นคงมองเห็นแล้วว่าโลกเปลี่ยนไป

ประเทศไทยก็เปลี่ยนเช่นกัน

Advertisement

ในมุมมองของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังแย่ เพราะโลกเผชิญหน้ากับโควิด-19 ระบาดไม่สิ้นสุด

ส่วนความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่กับการเมือง ถือว่าไปไกลมาก

ไกลถึงขนาดที่สังคมไทยต้องปรับตัว

Advertisement

หากไม่ปรับตัวอาจต้องเผชิญหน้ากับ “กบฏในระบบ”

สอดรับกับ อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่ให้ข้อมูลจากการศึกษาความนึกคิดของคนรุ่นใหม่

เรื่องที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหม่และความคิดใหม่มิได้มีจำเพาะแค่นักเรียนนิสิตนักศึกษา

หากแต่คนในแวดวงต่างๆ ที่เริ่มทำงานก็มีแนวคิดใหม่

ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ หรือภาคเอกชน ต่างก็เริ่มมีไอเดีย

ดังนั้น คนรุ่นเดิมจึงต้องเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ยอมรับว่าคนรุ่นใหม่มีข้อเรียกร้อง ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากคนรุ่นเดิม

และเรียกร้องให้เปิดช่องทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแอ๊กชั่น

อีกคนหนึ่ง คือ นายสันติธาร เสถียรไทย ได้ชี้ให้เห็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น

เรียกว่าคลื่นยักษ์ 5D เกิดขึ้นเร็วและแรง

D แรกคือ Debt หรือ หนี้

หนี้ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ไอเอ็มเอฟบอกว่าหนี้จะสูงถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

สภาวะนี้มีผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ และดอกเบี้ยก็ต่ำ และจะต่ำไปอีกนาน

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เงินไหลมาอยู่ที่เอเชีย ตลาดเงินคึกคัก ค่าเงินบาทแข็ง

ส่วนหนี้ที่น่าห่วงที่สุดของไทย คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่มีถึง 86% ต่อจีดีพี

D ที่สอง คือ Divided หมายถึง ความเหลื่อมล้ำ

โควิด-19 ทำให้คนที่ “สายป่านสั้น” ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ธนาคารโลกบอกว่า คนไทยมีคนจนเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน ในปี 2563

กลุ่มที่เปราะบางมากๆ คือ เอสเอ็มอี ส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน

และทำให้คนต้องว่างงาน

D ที่สาม Divergence หมายถึง การผงาดขึ้นของเศรษฐกิจเอเชีย

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวเร็ว ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้

โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะแซงอเมริกาในปี 2573

ปัจจัยนี้ทำให้ต้องใส่ใจดูรายละเอียดจีนมากขึ้น

เพราะจีนกำลังจะเปลี่ยนจากโรงงานผลิตของโลก เป็นลูกค้าใหญ่ของโลก

D ที่สี่ Digitalization การเข้าสู่ดิจิทัลเร็วมาก

ปี 2563 อาเซียน 6 ประเทศใหญ่ ใช้อินเตอร์เน็ต 400 ล้านคน

กลุ่มผู้ใช้ใหม่อยู่นอกเมืองใหญ่ และ 90 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่าหลังโควิด-19 จบก็ยังใช้อินเตอร์เน็ตต่อไป

คำถามที่ทิ้งไว้ให้คิด คือ จะใช้ดิจิทัลมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร

ช่วยเอสเอ็มอีได้อย่างไร ช่วยกลุ่มที่ถูกกระทบได้อย่างไร

และ D สุดท้าย Degradation of Environmemt หรือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

นายสันติธารบอกว่า โรคโควิดทำให้คนกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ ESG (Environmental, Social, and Governance) เป็นเทรนด์สำคัญ

เกิดเป็นเทรนด์ธุรกิจสีเขียวขึ้นทั่วโลก

ส่วนวิธีรับมือกับเทรนด์ใหม่ นายสันติธารเสนอกลยุทธ์ 5 ธาตุ

หนึ่ง ธาตุลม คือ สิ่งรอบตัวที่มองไม่เห็น ลมในยุค 4.0 ก็คือ ดาต้า หรือข้อมูล

ควรใช้ข้อมูลเหล่านี้มากระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ

สอง ธาตุดิน คือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม

สาม ธาตุน้ำ หมายถึง การปรับตัว แม้จะล้มแต่ก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้

เคยมีการศึกษาร่วมกับ World Economic Forum พบว่า มี 3 ทักษะสำคัญที่ทุกองค์กรควรมี ได้แก่ 1.มีพื้นฐานดิจิทัล 2.มีทัศนคติที่ดี และ 3.เป็นผู้นำที่ดีในองค์กร

สี่ ธาตุไฟ หมายถึง ความสามารถในการแข่งขัน

แนะนำให้ทำ 3 อย่าง 1.ดึงดูดคนเก่ง 2.ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 3.สังคายนากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ห้า ธาตุไม้ คือ ความยั่งยืน ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

นายสันติธารสรุปว่า 5 ธาตุนี้สามารถรับมือคลื่นยักษ์ 5D

นั่นคือ ใช้ธาตุลม ข้อมูลสร้างองค์ความรู้ ใช้ธาตุดิน ให้ความสำคัญคนเปราะบาง ใช้ธาตุน้ำ ยืดหยุ่นปรับตัว ใช้ธาตุไฟ เพิ่มความสามารถของเรา และใช้ธาตุไม้ คือ ยั่งยืน

ที่สำคัญคือต้องรักษาสมดุลทั้ง 5 ธาตุ

น่าสังเกตว่าวิทยากรทุกคนยอมรับว่าโลกและไทยมีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อโจทย์คือการเปลี่ยนแปลง ทางรอดจึงมีเพียงการปรับตัว

ปรับตัวเพื่อลดขัดแย้ง ปรับตัวเพื่อพัฒนา

ร่วมกันฝ่ามรสุมวิกฤตไปให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image