พม่ากับไทย มี ‘บรรพชนร่วม’ หลายพันปีมาแล้ว

พม่ากับไทย มี ‘บรรพชนร่วม’ หลายพันปีมาแล้ว
ชาวเมืองย่างกุ้งพากันตีกระทะตีกระป๋องให้เกิดเสียงดัง เป็นการประท้วงการที่กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อคืนวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (ภาพจาก รอยเตอร์ส)

พม่ากับไทย มี ‘บรรพชนร่วม’
หลายพันปีมาแล้ว

รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชาวเมืองย่างกุ้งพากันตีกระทะตีกระป๋องให้เกิดเสียงดัง เป็นการประท้วงการที่กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อคืนวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (ภาพจาก รอยเตอร์ส)

พม่ากับไทยมี “บรรพชนร่วม” กลุ่มเดียวกัน เป็นคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของพื้นที่และผู้คนของพม่ากับไทยเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากอุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องต่อมาจนสมัยปัจจุบัน
แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยที่ถูกสถาปนาโดยคนชั้นนำไทยสมัยก่อนๆ หลงเชื่อว่า “เชื้อชาติไทยแท้” มีอยู่จริงแถวๆ เทือกเขาอัลไตและอาณาจักรน่านเจ้า ดังนั้น “คนไทยไม่เหมือนใครในโลก” เลยไม่เป็นกลุ่มเดียวกับคนในอุษาคเนย์ และไม่เป็นพวกเดียวกับพม่า, มอญ, มลายู, เขมร, เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีในสากลโลก
ประวัติศาสตร์พม่ามีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว (เช่นเดียวกับไทย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ) และนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ พบหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่ง มีโครงกระดูก และมีฟันทอง (คือ ฟันเลี่ยมด้วยทองคำ) สอดคล้องกับเอกสารจีน “หมานซู” ที่บันทึกไว้ 2,000 ปีมาแล้ว

บรรพชนพม่า
ประวัติศาสตร์พม่า ยกย่องนับถือบรรพชนหลัก 2 พวก คือ ปยู และ มอญ
ปยู (Pyu) หรือ พยู ในเอกสารโบราณของไทยเรียก ผิ่ว เป็นกลุ่มชนพูดตระกูลภาษาจีน-ทิเบต มีชุมชนบ้านเมืองตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.500 (หรือราว 2,000 ปีมาแล้ว) เช่น ศรีเกษตร, เบกตาโน, ฮาลิน ฯลฯ รับพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย (ยุคเดียวกับสุวรรณภูมิ, ทวารวดี ในไทย)

Advertisement

เมียนมา, พม่า
เมียนมาร์ (Myanmar) กับพม่า (Bama อังกฤษเรียกเพี้ยนเป็น Burma) เป็นคำเดียวกัน ที่ออกเสียงต่างกัน เพราะในภาษาพูดของพม่า มักแผลงเสียง ม เป็น บ (หรือ พ) แล้วรวบเสียง เ-ีย เป็น -ะ
เดิมชื่อ พม่า เปลี่ยนเป็น เมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ.2532 (เมียนมาร์ เดิมเขียน เมียนมา) เมียนมาร์ หรือ พม่า หมายถึง ดินแดน (มีหลักฐานในจารึกเมืองพุกาม) และบางทีก็หมายรวมถึงกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ
[สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยสันนิษฐานว่า พม่า กลายมาจากคำว่า พราหมณประเทศ แต่ไม่น่าเชื่อ เพราะพม่าเต็มไปด้วยพุทธ เกือบไม่มีพราหมณ์]

อนุสาวรีย์มหาราชทั้งสามของประวัติศาสตร์พม่า (จากซ้ายไปขวา) พระเจ้าอโนรธามังช่อ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา ที่กรุงเนปิดอว์

ในทางสากล ช้างเป็นสัตว์ท้องถิ่นของดินแดนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ เพราะมีชุกชุมทั่วไป ช้างงานที่ฝึกดีแล้วเป็นสินค้าส่งออกไปอินเดียใต้และลังกา ช้างจึงเป็นสัญลักษณ์ทั้งของพม่าและไทย
[รูปจาก Khin Myo Chit. A WONDERLAND OF BURMESE LEGENDS. Bangkok : Tamarind Press, 1984.]

พม่า-พะม่า

จิตร ภูมิศักดิ์

Advertisement

ชื่อดั้งเดิมของชนชาติพะม่านั้น คือ มรัน. คำนี้ออกเสียงแตกต่างกันป็นสองสำเนียง คือสำเนียงชาวยะไข่ (อาระกัน) ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับอินเดียและออกเสียง ได้ชัดเจน, พวกนี้ออกเสียง มรัน ตรงตัวเขียน
ส่วนพะม่าทางตะวันตกนั้นออกเสียง ไม่ได้, หากออกเป็น หมดทุกแห่ง, คำนี้จึงออกเสียงเป็น มยัน, ทำนองเดียวกับที่ชื่อเมืองหลวงพะม่ามีเรียกกันสองสำเนียงว่า ร่างกุ้ง กับ ย่างกุ้ง ฉะนั้น.
ทีนี้ในอักขรวิธีของพะม่านั้นมีข้อแปลกอยู่อย่างหนึ่งในบรรดาหลายอย่างนั่นคือ คำที่ออกเสียง สกดนั้น ในตัวเขียนกลับเขียนด้วย สกด ฉะนั้นคำที่ออกเสียง มรัน นี้ในตัวเขียนอักษรพะม่าจึงเป็น มรัม, ซึ่งนี่เองที่พะม่าสมัยหลังเมื่อนิยมภาษาบาลี นำมาแปลงเรียกชื่อประเทศของตนว่า “มรมฺมเทส”. หนังสือ
พะม่ายังคงเรียกตัวเองแบบบาลีว่า “มรมฺมา” แต่อ่านออกเสียง มรันมา และ มยันมา อยู่จนทุกวันนี้, ซึ่งคำนี้แหละที่เพี้ยนมาเป็นภาษาปากตลาดว่า “ภมา” ที่ไทยนำมาเรียกว่า พม่า-พะม่า
[จากหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 27-28]


พุกาม
ความเป็นพม่าเริ่มที่รัฐพุกาม (Pagan) ราวหลัง พ.ศ.1600 ยุคพระเจ้าอโนรธามังช่อ นับถือพุทธศาสนาเถรวาท มีอำนาจเหนือเมืองมอญที่อยู่ทางใต้ของพุกาม
พุกาม อยู่บนพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน มีสถูปเจดีย์นับพันองค์ขนาดมหึมาก่อด้วยอิฐ ล่มสลายจากการรุกรานของพวกมองโกลกองทัพกุบไลข่าน ราว พ.ศ.1832 (ร่วมสมัยรัฐละโว้-
อโยธยา ในไทย)

อังวะ
รัฐอังวะ ที่เมืองอังวะ ถูกสถาปนาเมื่อ พ.ศ.1907 สืบทอดจากรัฐพุกาม (ขณะนั้นอยุธยาอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี อู่ทอง)
เมืองมาว ของพวกไทยใหญ่มีอำนาจอยู่ทางตอนเหนือ แล้วรุกรานอังวะล่มสลาย ราว พ.ศ.2070 (อยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2)

ตองอู
รัฐตองอู ที่เมืองตองอู เติบโตขึ้น (สืบต่อจากอังวะ) ราวหลัง พ.ศ. 2029
มีพื้นที่เลื่อนลงทางใต้ (จากอังวะ) เริ่มปะทะกับมอญและอยุธยา (ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.1991-2031)

ผู้ชนะสิบทิศ
“เมงตยาชเวที” หรือ “พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้” (แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร ไทยเรียก “มังตรา”) กษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ตองอู
ตีเมืองหงสาวดีของพวกมอญแตก แล้วย้ายเมืองหลวงลงมาอยู่ที่หงสาวดีเมื่อปี พ.ศ.2074
อีก 7 ปีต่อมาพระองค์ทรงยกทัพตีเมืองเชียงกราน (คือบริเวณด่านเจดีย์สามองค์) กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นคือ สมเด็จพระชัยราชาธิราช ทรงเกณฑ์ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสจนรบชนะพม่าได้ (บางทีนับเป็นสงคราม “ไทยรบพม่า” ครั้งแรก)
(เกร็ดสำคัญที่ระบุอยู่ในพงศาวดารไทยช่วงนี้คือ พ.ศ.2091 พระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติที่อยุธยา ปีเดียวกันนี้ตรงกับปีที่พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกทัพมาตีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระสุริโยทัยถูกพระแสงของ้าวของพระเจ้าเมืองแปรฟันจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง)
“บายินหน่อง” หรือ “บุเรงนอง” (แปลว่า พระเชษฐาของกษัตริย์ หมายถึงเป็นพี่เขยของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ที่ในนิยายเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ของยาขอบ ให้ชื่อว่าตะละแม่จันทรา) ได้ครองราชย์สืบต่อจากน้องภรรยาของตนเอง (เป็น “หานตาวดีเชงพยูเชงพญา” หรือพระเจ้าหงสาวดีช้างเผือก)
ส่วนคำว่า “ตะละพะเนียเธอเจาะ” ที่แปลว่า “พระเจ้าสิบทิศ” เป็นพระนามที่ปรากฏอยู่ในจารึกของพวกมอญ
ในรัชสมัยของบุเรงนอง ชาวพม่าถือว่าเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากจะมีอำนาจเหนือทั้งพวกมอญและไทยใหญ่แล้ว ในปี พ.ศ. 2112 พระองค์ยังยกทัพมากรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ และเปิดดินแดนทางตอนใต้ ซึ่งรวมถึง ทวาย มะริด และตะนาวศรี ให้กลายเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลของพม่าอีกด้วย

สงครามยุทธหัตถี?
หลังการสวรรคตของบุเรงนองในปี พ.ศ.2124 ราชบุตรนันทบุเรงขึ้นครองกรุงหงสาวดี 3 ปีต่อมาสมเด็จพระนเรศวรประกาศ “ไม่เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกันกับหงสาวดี”
ท้ายสุดในปี พ.ศ.2143 พวกอาระกันยกทัพมาตีกรุงหงสาวดีของพระเจ้านันทบุเรงแตก แผ่นดินพม่าแตกออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่ อังวะ ตองอู และแปร

คองบอง อลองพญา
พ.ศ.2295 อองไจยะ นายบ้านมุดโชโบ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนกลางของพม่าแข็งข้อต่อพวกมอญแล้วสถาปนาตนเองเป็น “พระเจ้าอลองพญา” แห่งราชวงศ์ คองบอง (ไทยเรียก ราชวงศ์อลองพญา) มีเมืองหลวงคือ เมืองชเวโบ รวบรวมพม่าเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ปกครองทั้งพวกมอญและไทยใหญ่

ตีอยุธยาแตก
พ.ศ.2303 พระเจ้าอลองพญาเสด็จสวรรคต พระเจ้าฉินบูชิน หรือพระเจ้าช้างเผือก (ไทยเรียก พระเจ้ามังระ) ขึ้นครองราชย์แทน แล้วย้ายเมืองหลวงกลับไปอยู่ที่อังวะ
7 ปีต่อมาพระองค์ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่ 2 ตรงกับ พ.ศ.2310
หลังรัชกาลของพระเจ้ามังระ ราชวงศ์คองบองย้ายเมืองหลวงอีก 2 แห่ง

พม่าเสียเมือง
พระเจ้ามินดง กษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งคองบอง ได้สถาปนาเมือง
มัณฑะเลย์ขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้าย (ตรงกับสมัย ร.4 ของไทย)
ช่วงเวลานี้ตรงกับยุคอาณานิคม ที่จักรวรรดิอังกฤษคุกคามอุษาคเนย์
พม่ารบกับอังกฤษทั้งหมด 3 ครั้ง จนถึงแผ่นดินของพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งคองบอง พม่าก็เสียเมืองให้กับอังกฤษในปี พ.ศ.2428 (ตรงกับสมัย ร.5 ของไทย)
นับเป็นการปิดฉากระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในพม่า และประเทศพม่าก็ก้าวล่วงเข้าสู่สมัยอาณานิคมอย่างเต็มตัว
(สรุปจากเอกสารเที่ยวเมืองพม่า, มอญ ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ)

ไทย-พม่า
ภูมิศาสตร์ ทำให้เราเป็นเพื่อนบ้านกัน
วัฒนธรรม ทำให้เรามีมรดกร่วมกัน
เทคโนโลยี ทำให้เราเชื่อมต่อกัน ทั้งโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ต ถนน ฯลฯ
สำนึกของความเข้าใจ หรือ mentality ทำให้เราเหินห่างจากเครือญาติเพื่อนบ้าน
ประวัติศาสตร์ ทำให้เราเป็นศัตรูกัน
(จากงาน ไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน จัดโดย โตโยต้า และโครงการตำราฯ ที่ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก เมื่อ 18-19 ธ.ค. 2557)


ศาสนาพม่า

ภาพเขียนรูปนัตพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

พม่านับถือ ศาสนาพม่า หมายถึง ศาสนาผีที่เคลือบด้วยพุทธศาสนา
นัต (nat) คือ ผีบ้านผีเมืองของพม่า มีอิทธิฤทธิ์เป็นที่นับถือยำเกรงกว้างขวาง เพราะล้วนเป็นผีตายโหง
ในพม่ามีนัตอยู่ 37 ตน หนึ่งในจำนวนนั้นมีนัตของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้รวมอยู่ด้วย
ตำนานเล่าว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถูกพนักงานเชิญพระแสงลอบสังหาร โดยตัดพระเศียรขาดกระเด็น เมื่อคราวที่ถูกหลอกให้ออกไปคล้องช้างเถื่อนแถบเมืองสะโตง
ขณะพระเศียรขาดออกจากร่าง พระเนตรยังกะพริบอยู่อีกนาน เป็นเหตุให้เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วได้ไปเกิดเป็นนัตตนที่ 17 (ในกลุ่มนัต 37 ตน)
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ประสูติในปี พ.ศ.2059 และสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2093 รวมพระชนมายุ 34 พรรษา
[ภาพและคำอธิบายสรุปจากหนังสือ มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า ฉบับสำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545]


ประชากร
ในพม่ามีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ รวมกันโดยประมาณมากกว่า 60 ล้านคน
พม่า พูดตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) มี 68% เป็นจำนวนมากสุด
นอกนั้นเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ฉาน (ไทยใหญ่) 9%, มอญ 2%, กะเหรี่ยง, อาระกัน (ยะไข่), ชิน, อินเดีย, จีน ฯลฯ

พม่ากินข้าว
คนพม่ากินข้าวเป็นอาหารหลักมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว และน่าเชื่อว่ากินข้าวเหนียว (ข้าวเมล็ดป้อม) เหมือนคนทั้งหลายในสุวรรณภูมิอุษาคเนย์
กับข้าว (กินกับข้าวเหนียว) จึงเป็นประเภท “เน่าแล้วอร่อย” เหมือน เขมร, ลาว, ไทย, มลายู
งาปิ ภาษาพม่า-มอญ หมายถึง น้ำปลา หรือเครื่องปรุงอาหารทำจากกุ้ง, ปลาเล็กหมักเข้าด้วยกัน แล้วโขลกผึ่งแดดจนได้ที่ ซึ่งตรงกับคำไทยที่ขอยืมมาว่า กะปิ
กับข้าวพม่า-มอญ โดยรวมๆ หลักๆ แล้วไม่ต่างกับไทย

พม่านุ่งโสร่ง
มักเข้าใจทั่วไปว่าโสร่งเป็นของพม่าเท่านั้น เพราะพม่านุ่งโสร่ง แต่ภาพสลักเสียมกุก ที่ปราสาทนครวัด ราว พ.ศ.1650 ชาวสยามในขบวนแห่ก็นุ่งผ้าผืนเดียวคล้ายโสร่ง
โสร่ง หมายถึง ผ้าผืนใหญ่ใช้นุ่งห่ม โดยเย็บชายผ้าติดกันเป็นถุง เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนโบราณ


แถลงการณ์สมาคมโบราณคดีเมียนมาร์
1.สมาคมโบราณคดีเมียนมาร์ (Myanmar Archaeology Association, MAA) เป็นองค์กรทางวิชาการที่ถูกกฎหมาย ที่มีบทบาททางงานโบราณคดีและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ
2.MAA ขอประณามการทำรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพ และมีจุดยืนที่จะต่อต้านการกระทำอันเป็นเผด็จการที่ไม่อยู่ในวิถีทางอันเป็นประชาธิปไตย
3.MAA ขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้ผู้นำกองทัพปล่อยตัวประธานาธิบดี
วี่น มหยิ่น และที่ปรึกษารัฐ ออง ซาน ซูจี และผู้นำการเลือกตั้งอื่นๆ
4.MAA ขอไม่รับรองรัฐบาลใหม่ที่ผู้นำคณะรัฐประหารจัดตั้งขึ้น และขอแสดงเจตจำนงที่จะจัดการรณรงค์อย่างเป็นอารยะ ด้วยการปฏิเสธที่จะร่วมงาน และไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะในส่วนของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และงานโบราณคดีต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นไป

คณะกรรมการบริหารกลาง
สมาคมโบราณคดีเมียนมาร์
[แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ]


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image