หลังม่านไหม ‘จิม ทอมป์สัน’ สุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์ ‘คุณภาพ’ คือหัวใจความสำเร็จ

‘จิม ทอมป์สัน’ ชื่อนี้เป็นที่รู้จักและยอมรับของชาวต่างประเทศมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่นายห้างจิม ทอมป์สัน ฝรั่งอเมริกันที่มาหลงใหลผ้าไหมไทย และปลุกปั้นจนไหมไทยลือเลื่องไปในต่างแดน

หลังการหายตัวไปของจิม ทอมป์สัน เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทยต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

ในบรรดาหัวเรี่ยวหัวแรงยุคบุกเบิกก่อร่างสร้างผู้ทอกลุ่มใหม่ที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ผู้ที่บุกตะลุยขับรถวันละหลายร้อยกิโลเมตร ไม่เพียงจากกรุงเทพฯ ขึ้นโคราช ยังบุกไปทุกที่ที่รถยนต์เข้าถึงได้ ไปเดินเคาะประตูบ้าน ผูกมิตรพูดคุยเพื่อสำรวจคุณภาพเส้นไหม พร้อมกับจูงใจให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากขึ้น

ไม่เพียงตั้งศูนย์รับซื้อเส้นไหมด้วยเงินสดในราคายุติธรรม ในช่วงปี 2523 หลังจากเริ่มต้นสร้างโรงงานทอผ้าด้วยกี่ทอมือ เขายังเปิดหลักสูตรสอนทอผ้าไหมที่โรงงานทอผ้าในอำเภอปักธงชัย เพื่อปลุกปั้นช่างทอผ้าฝีมือดีและส่งเสริมให้มีการส่งออกผ้าไหมคุณภาพดีไปจำหน่ายต่างประเทศมากขึ้น ยังปฏิวัติเครื่องทอผ้าและเครื่องสาวม้วนเส้นยืนให้มีความแข็งแรงและเที่ยงตรง ทำให้ช่างทอสามารถทอผ้าได้อย่างมีมาตรฐานและทอลวดลายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

Advertisement

นอกจากนี้ยังนำความรู้และเทคโนโลยีจากประเทศจีนมาพัฒนาสายพันธุ์หนอนไหม จนได้สายพันธุ์ผสมที่มีความแข็งแรงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และให้เส้นใยที่เล็กสวยและยาวกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 3 เท่า พัฒนาระบบปฏิบัติการในอีกหลายรูปแบบ อาทิ การใช้ระบบน้ำหยดและจัดระยะใหม่สำหรับการปลูกต้นหม่อน ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมากสำหรับการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีจำกัด และยังริเริ่มปลูกพืชปุ๋ยสดในร่องของต้นหม่อน เป็นการเพิ่มคุณภาพของดินโดยเว้นการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น

สุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์ เป็นบุตรของนายอยู่ ศุภสวัสดิ์พันธุ์ กับนางปอเตียง แซ่เซียว เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2480 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเคนเนดี้ เวสเทิร์น

เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด หลังจากสำเร็จการศึกษาที่อัสสัมชัญพาณิชย์ ในปี พ.ศ.2505 ในตำแหน่งเลขานุการผู้ช่วยนายห้างจิม ทอมป์สัน (วิลเลี่ยม บู๊ทธ์ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ)

Advertisement

“ผมเป็นลูกพ่อค้า และผมตั้งใจทำค้าขาย ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยเมื่อตอนที่ผมเลือกเรียนคอมเมิร์ซ บังเอิญผมเรียนดีพอจบออกมา บราเธอร์เจ้าของโรงเรียนส่งตัวให้มาหา มิสเตอร์จิม ทอมป์สัน ซึ่งท่านเจอผมแฮปปี้มากให้ผมทำงาน ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ไปไหน เพราะบริษัทงานเยอะมีงานให้แก้ไขตลอด”

ปัจจุบันในวัย 79 ปี สุรินทร์เป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด เป็นนักพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมหม่อนไหมไทยคนสำคัญ ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่วงการหม่อนไหมไทยมากว่า 50 ปี จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย” ประจำปี พ.ศ.2539

ล่าสุด ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ (ISC) ให้ได้รับรางวัล “หลุยส์ ปาสเตอร์” ในปี พ.ศ.2559 ซึ่งถือเป็นคนไทยคนที่ 4 กับรางวัลอันทรงเกียรติที่เปรียบได้กับโนเบลแห่งวงการหม่อนไหมโลก

ไปรู้จักกับเสี้ยวหนึ่งของการทำงานของเขาซึ่งไม่ธรรมดาจริงๆ

“…หัวใจสำคัญที่สุดคือ คุณต้องสอนให้เขาเข้าใจและทอเองได้โดยที่คุณไม่ต้องลงมือเอง คือเป็นการสื่อสารที่แสดงความต้องการและสามารถช่วยให้เขาทำได้สำเร็จมันสำคัญกว่าลงมือทอเอง…”

– ก่อนหน้าเคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์?

จริงๆ หลายปีแล้วนะครับ หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับรางวัลนี้ ทางราชการก็สรรหาบุคคลในอาชีพนี้เพื่อขอรับรางวัลต่อเนื่อง แต่ผมคิดว่าเราทำงานในบริษัทเอกชน เป็นคนทำงานในอาชีพนี้ไม่น่าจะมีความสำคัญอะไรมากนัก

รางวัลนี้ตามที่ผมเรียนถามมาภายหลังทราบว่า มอบให้กับผู้ที่มีผลงานสร้างอาชีพ สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมอาชีพหม่อนไหมโดยเฉพาะ ผมได้ทำงานกับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การใช้เส้นไหม ซึ่งก็ผูกพันถึงการทอผ้า ทุกๆ ด้านมันต้องเจริญไปตาม ต้องพึ่งพากัน เขาจึงพิจารณาว่าผมมีผลงานทางด้านการส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกร และการสร้างตลาดให้กับเกษตรกรในเรื่องหม่อนไหม

– ได้ทำงานกับนายห้างจิม ทอมป์สัน?

ครับ ผมเป็นเลขาฯของผู้ช่วยนายห้างจิม ทอมป์สัน ตอนนั้นงานจะขยาย นายห้างจิมจ้างผู้ช่วยมาจากอเมริกา และต้องการเลขาฯ มาดูแลออฟฟิศงานเอกสาร ซึ่งผมก็เข้ามาทำตรงนี้ จากนั้นก็ย้ายไปทำงานเอ็กปอร์ต งานโปรดักชั่นมา 30 กว่าปีแล้ว

ตอนที่นายห้างริเริ่มสร้างคนทอในชุมชนบ้านครัว ทุกเช้าท่านจะข้ามเรือไปสั่งทอ สั่งสี ตรวจคุณภาพ แล้วผ้าทุกชิ้นก็จะกลับมาที่นี่

ตั้้งแต่นายห้างหายไปความเชื่อมั่นไม่ค่อยมี และคนทอก็ไม่ค่อยมี เพราะเขาจะทำงานกับคนๆ หนึ่งคือ มิสเตอร์จิม ทอมป์สัน เท่านั้น ฉะนั้นกำลังการผลิตเราก็ตกไป

บังเอิญมีผู้ทอคนหนึ่งมาจากปักธงชัย มาเล่าให้ฟังว่านายห้างสมัยก่อนนั่งรถไฟไปหาเขาไปสอนย้อมไหม เราตามไปดูเห็นว่าแถวบ้านเขาทอผ้ากันเยอะ ทอแบบโบราณ เป็นผ้าผืนบ้าง เป็นผ้ามัดหมี่บ้าง หลังจากนั้นเราก็ไปบ่อยๆ ไปดูเขาทอผ้า และชวนเขาเอาผ้ามาขาย เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะตั้งโรงทอผ้าที่นั่น เพราะเราอยู่กรุงเทพฯ ขับรถทั้งวันได้แค่ 2-3 บ้าน แต่อยู่ที่่นั่นเราดูเขาได้เป็นสิบๆ บ้าน เพราะต้องพูดจูงใจให้ผู้ทอพอใจและตั้งใจทำจึงจะได้คุณภาพ

– ตอนนั้นยังไม่มีโรงงานจึงต้องไปกำกับการทอด้วยตนเอง?

ครับ ก็เหมือนกับตอนนายห้างจิม ก็ต้องไปคุยกับคนทอทุกกี่ พอเราไปเจอคนทอที่ปักธงชัย รู้สึกดีใจมาก เพราะเราหาคนทอผ้าที่กรุงเทพฯ ยาก ตอนนั้นคนต่างจังหวัดจะเข้ามาทำงานรอบนอกกรุงเทพฯ แต่ละคนลำบากลำบน มาจากอุบลฯ มาอยู่กันแออัด ทอผ้าอย่างเดียว ต้องทำกับข้าวกินเอง ความกดดันมาก เหลือเงินก็แค่นิดหน่อย ฉะนั้นถ้าเรามาอยู่ที่ปักธงชัย ชาวบ้านเดี๋ยวไปทำนา ไปจับปลา ไปทอผ้า ไม่มีความกดดัน ข้าวก็มีจากบ้านไม่ต้องไปซื้อ ฉะนั้นทอได้เท่าไหร่พอขายแล้วก็กำเงินใส่กระเป๋ากลับบ้านไปซื้อลิปสติก ไปซื้อขนม ให้พ่อแม่ เราอยากเห็นชีวิตที่มีความสุขอย่างนั้น พอเราไปตั้งโรงงานทอผ้า คนที่กรุงเทพฯ กลับบ้านไปทอกับเราเยอะมาก

– ไม่ใช่เรื่องง่าย?

เราไปคุยกับเขาบอกว่าจะดูแลให้ทุกอย่าง สอนฟอกย้อม ดูปัญหาให้ ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ และสิ่งที่เราชนะใจคือ เรามีเงินจ่ายเขาทุกครั้ง คนต่างจังหวัดเมื่อพ่อค้าไปซื้อผ้าครั้งแรกซื้อเงินสด ครั้งที่ 2 เซ็นเช็ค ครั้งที่ 3 เซ็นเช็ค 2 เดือน ฉะนั้นสิ่งที่คนต่างจังหวัดกลัวคือเก็บตังค์ไม่ได้ เราไปคุยกับผู้ทอเอง จากตอนแรกรับซื้อตามบ้านก่อน เดินคุยจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง หลังจากนั้น 2-3 ปี ก็เพิ่มจาก 44 กี่เป็น 100 กี่ ค่อยๆ เพิ่มไปเรื่อยๆ จนเฉพาะในอำเภอปักธงชัยมีที่ทอผ้าส่งให้ 1,000 กี่

หลังจากทำมาระยะหนึ่ง นาย (วิลเลี่ยม บู๊ทธ์) ก็คิดว่าเราจะขายในชื่อ จิม ทอมป์สัน เมื่อตอนที่นายห้างเริ่มต้นใหม่ๆ นายห้างไปตั้งบริษัทของตนเองกับเพื่อนที่นิวยอร์คใช้ชื่อว่า “ไทยบ็อกซ์” (Thai Box) ขายผ้าไหมไทย ระยะหลังเมื่อนายห้างหายไป เราต้องไปขายผ้าให้กับบริษัทเอเยนต์ ผ้าไหมที่ขายจึงใช้ชื่อตามดีไซเนอร์ ขายไปขายมาคิดว่าทำไมเราไม่ขายในชื่อของเรา

– นี่คือตลาดต่างประเทศ?

ครับ ในประเทศเราใช้ชื่อ Thai Silk Company (Jim Thompson) ภาษาไทยใช้ชื่อว่า อุตสาหกรรมไหมไทย

เมื่อคิดว่าเราต้องสร้างแบรนด์ของเรา ในตลาดอเมริกาต้องรับผิดชอบคุณภาพเองทุกอย่าง เช่น เส้นด้าย สีย้อม ทอผ้า รูปแบบ ถ้าเราไปใช้ซับคอนแทรคมันยากที่จะควบคุมคนทอภายนอก ฉะนั้นเรื่องคุณภาพเป็นสิ่งที่เราต้องเอากลับมาพิจารณา สรุปคือ (ปี 1980) เราต้องตั้งโรงงานของเรา มีพนักงานของเราทำสิ่งที่เราต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีการผิดแบบ ลดต้นทุน ไม่มีการล่าช้า ยังมีเรื่องต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราทำเอง แม้เส้นไหมแพง ต้องขาดทุน เราก็ต้องทำ นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราตั้งโรงงานเองที่ปักธงชัย

– ก่อนหน้านี้ให้ชาวบ้านทอ เราออกแบบเอง?

ตอนแรกเราไปสั่งทอผ้า เขาทออะไร เราก็มาคัดดู นานๆ เข้ามีปัญหาผ้าปริบ้างอะไรบ้าง ผมก็เขียนตารางขึ้นมาเป็นกำหนดว่ามาตรฐานทอผ้าในการขายให้จิม ทอมป์สันมีอะไรบ้าง ต้องมีเส้นไหม 2,000 เส้น ใน 40 นิ้ว

– ต้องเรียนทอผ้า?

ต้องด้วยครับ อย่างตอนมิสเตอร์จิม ทอมป์สัน มีหนังสือโบราณเกี่ยวกับการทอผ้าในยุโรปมาให้อ่านทุกปี ให้ข้อมูลละเอียดมาก เทคนิคการทอผ้าด้วยมือ ผมจะอ่านหนังสือเหล่านี้ ไม่ได้ทอแทนเขา เราศึกษาวิธีทำ แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือ คุณต้องสอนให้เขาเข้าใจและทอเองได้โดยที่คุณไม่ต้องลงมือเอง คือเป็นการสื่อสารที่แสดงความต้องการและสามารถช่วยให้เขาทำได้สำเร็จมันสำคัญกว่าลงมือทอเอง

– การขึ้นลายมาจากไหน?

เรื่องนี้เป็นนิทานที่ยาว การทอผ้าลายมัดหมี่ทอกันเยอะแยะ แต่การจะไปบอกให้ทอ 4 เมตรแล้วลายเหมือนกันทุกเมตร เขาทำไม่ได้ จะเพี้ยนไปนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งต่างกันไปก็ขายไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีรูปแบบที่สม่ำเสมอและทอเหมือนกัน ก็ต้องเข้าไปศึกษาอุปกรณ์การทอของเขาและปรับปรุงคุณภาพ โดยอาศัยหลักวิชาการในหนังสือเป็นแนวทาง ฝรั่งเรียก “เคาน์เตอร์ บาลานซ์” นั่นคือ สี่มุมจะต้องด้านเท่า ตรงเป๊ะ ต้องแน่นตลอดโยกไม่ได้ ฉะนั้นเวลากี่กระทบแต่ละเส้นจะเรียงกันเป็น 180 องศาตลอดไป ผ้าที่ออกมาจะเรียบ สามารถกำหนดแรงกระทบ นิ้วหนึ่งจะต้องการกี่สอดก็ได้

ฉะนั้นจากที่เราไม่เคยศึกษาการทอผ้ามาก็กลายเป็นว่ามีความรู้มีประสบการณ์ด้วยการปฏิบัติและศึกษาค้นคว้า สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ก็อาศัยที่ตนเองต้องไปทำความเข้าใจ ไปทำให้สำเร็จ ปัญหาอยู่ที่ไหนก็ทำที่นั่น ชูป้ายคุณภาพให้เขาเห็น และเขียนตำราให้เขาทำเลยว่าเส้นยืนจะต้องมีกี่เส้น เส้นพุ่งจะต้องมีกี่เส้น เส้นไหมอะไรใช้ได้ ใช้ไม่ได้ และอุปกรณ์ต้องปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรบ้างเพื่อให้ได้คุณภาพและลวดลายนั้นๆ

– ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้อื่น?

ผมเรียนรู้จาก 2 คน คนแรกคือ ดีไซเนอร์ เขาออกแบบมา คุณต้องไปคิดต่อว่าเครื่องไม้เครื่องมือเราทำได้มั้ย ถ้าทำไม่ได้ต้องไปซื้อเครื่องมืออะไรมาทำ คนที่ 2 คนขายเครื่องจักร โดยผมจะบอกความต้องการของผม แล้วเขาจะทำมาให้ จากกี่ทอผ้าธรรมดาเมื่อหาซื้อไม้ใหญ่มาทำกี่ไม่ได้ก็ใช้เหล็กรางรถไฟมาตั้งเป็นสี่เสา มันหนักมากและไม่โยก เป็นความสำเร็จในการเปลี่ยนจากกี่ไม้เป็นกี่เหล็ก นักอนุรักษ์นิยมบอกว่าดูไม่ได้เลย แต่ผมได้คุณภาพ

เราอยู่ในธุรกิจเรามองเห็นภาพกว้างกว่าพ่อค้า เกษตรกร คนทอผ้า เพราะเราเห็นว่าตัวที่เชื่อมโยงทั้งหมดคือ คุณภาพ คุณต้องทำความเข้าใจให้กับทุกคน และเป็นคนช่วยทำให้สำเร็จ

– กินนอนที่ปักธงชัยเลย?

ผมไปตั้งครัวอยู่ที่นั่นด้วย 2 ปี ตอนย้ายฐานการผลิตจากที่นี่ไป ผมมีพนักงานไปด้วย 22 คน ยกไปทั้งทีม ตั้งแต่คนคัดไหม ไปจนถึงคนย้อมสี ทำสีตัวอย่าง ทอผ้า ตรวจคุณภาพผ้า ไปหมดเลย เป็นความท้าทาย ทุกคนต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำอย่างจริงจัง จุดเริ่มต้นลำบากลำบนแต่ก็สนุกดี

เราต้องเรียนรู้เรื่องสี ทดลองในห้องแล็บ เลือกกลุ่มสีที่แพงที่สุดสีไม่ตกและไม่เป็นพิษ (Toxic) ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงเส้นไหมที่ต้องดีด้วย เป็นสาเหตุที่ต้องตั้งโรงงานสาวไหมเอง และส่วนสำคัญกว่านั้นคือ ชาวบ้านจะนั่งสาวไหมอย่างนี้ไปตลอดชีวิตหรือ เราก็ต้องยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมองถึง 10-20 ปีข้างหน้า ใช้เทคโนโลยีการผลิตเส้นไหมให้ทัดเทียมในระดับสากล แทนที่จะให้ชาวบ้านสาวเส้นไหม ก็ให้เลี้ยงรังสด แล้วเราเอารังสดมาสาวเส้นไหมที่เราต้องการด้วยการควบคุมคุณภาพอีกที

การจะให้เลี้ยงรังสดให้ได้ เราก็ต้องมีพันธุ์ไหมที่เขาเลี้ยงแล้วอยู่รอด มีผลผลิตดี ฉะนั้นก็ต้องไปหาพันธุ์ไหม เราจึงไปลงทุนเอาเทคโนโลยีจากเมืองจีนเข้ามาผลิตไข่ไหมให้ชาวบ้านเลี้ยง แล้วเรารับซื้อรังกลับมา ความคิดมันต่อเนื่อง ทำไปพัฒนาไป เป้าหมายคือคุณภาพบนความยั่งยืน และต้องการคนที่ทำกับเรายั่งยืนไปด้วย และสิ่งแวดล้อมก็ต้องไปด้วยกัน

– ขณะนั้นถือว่านวัตกรรมจีนดีที่สุด?

เขามีอนาคตกว่า ตอนนั้นประเทศอื่นๆ หันทิศไปทำอุตสาหกรรมรถยนต์กันหมดแล้ว มีแต่จีนที่ยังเน้นการผลิตอยู่ และอยากสร้างสัมพันธ์กับไทยให้ดีขึ้น จึงตกลงช่วย เอาเครื่องจักรจีนเข้ามา เอาคนที่เก่งที่สุดของเขาเข้ามาช่วย และเราก็ส่งคนของเราไปเรียนรู้ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ไปจนถึงสาวไหม

สิ่งสำคัญเขามีวัตถุดิบเยอะกว่า ถ้าจะพัฒนาเส้นไหมจะต้องมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เยอะแยะ คนจีนรู้เรื่องนี้ เขารู้ว่าถ้ายกให้เราหมดไม่สำเร็จ จึงมาพัฒนาพันธุ์กับเรา มาผสมกับพันธุ์ไทย เป็นสีเหลือง แล้วจึงมาปรับให้เป็นสีขาว ฉะนั้นพันธุ์ไหมของเราจึงมีความแข็งแรงทนทานทุกสภาพอากาศ แล้วสาวเท่าไหร่ก็ไม่หมด เพราะรังใหญ่ รังชาวบ้านสาวได้ 300 เมตร แต่รังของเราสาวได้ 1,200 เมตร เส้นก็สวย นี่คือเป้าหมายของการยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีผลผลิตที่ดีขึ้น มีรายได้ดีขึ้น มันก็เกิดความตื่นเต้นที่จะทำการผลิต ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่ถูกต้องช่วยลดต้นทุน

– คงที่หรือยัง?

ตอนนี้คงที่เรื่องหม่อน แต่ยังไม่คงที่เรื่องรังไหม เราพบว่ารังไหมส่วนหนึ่งดึงเส้นออกมาไม่ได้ เพราะรังไหมที่เลี้ยงเวลาฝนตกมากๆ มันชื้นจนเส้นไหมเกาะกันเป็นก้อน ต้องทิ้งหมดเลย พออากาศร้อน สาวได้ดีแต่เส้นหงิกงอเป็นปุ่มปมเสียหาย เราต้องแก้ไขปัญหาแบบนี้ด้วยวิชาการ พัฒนาไปเรื่อยๆ มันไม่มีตำราล่วงหน้า ฉะนั้นเรื่องของงานวิจัยจึงควรตั้งเป็นอันดับ 1 สำหรับประเทศไทย จะช่วยให้เราพัฒนาต่อไปได้ โดยเฉพาะ 10 ปีที่ผ่านมางานหม่อนไหมในประเทศจีนเข้าไปอยู่ในรูปของงานวิจัยหมดแล้ว และอยู่ในรูปของสถาบันการศึกษา มีงบประมาณ ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนา

เพราะหม่อนไหมสมัยนี้ไม่เพียงแค่เป็นเส้นใยสำหรับสิ่งทอแล้ว แต่เป็นวัตถุดิบสำหรับอีกหลายสาขา เช่น สาขาการแพทย์ สาขาอาหาร สาขาเครื่องสำอาง ฯลฯ ฉะนั้นถ้าเราจะใช้เป็นวัตถุดิบได้ เราต้องมีงานวิจัยเข้ามารองรับ

สุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image