คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : เรื่องกินเรื่องใหญ่

ความอยากอาหารลดลงเป็นหนึ่งในอาการของโรคซึมเศร้าที่แม้ไม่ใช่อาการหลักแต่ผู้ป่วยซึมเศร้าหลายคนมักประสบปัญหานี้ค่ะ ไม่นานนี้มีคุณผู้ชายท่านหนึ่งมาปรึกษาด้วยเรื่องเครียดกังวลอย่างมาก เหตุเกิดเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อนที่พ่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หลังการผ่าตัดครั้งแรกเมื่อ 2 เดือนก่อนพ่อก็เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นคนดุและขยันขันแข็งทำสวนทำไร่ตลอดทั้งวันกลับกลายเป็นอ่อนเพลีย ง่วงทั้งวัน ไม่อยากลุกขึ้นไปทำสวนทำไร่เหมือนเคยเพราะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด ถ้าถามเรื่องอารมณ์เบื่อหน่ายท้อแท้ก็จะปฏิเสธว่าไม่มีอารมณ์แบบนั้น ยังอยากรักษาและใจสู้แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าตายไปเลยก็ดีเพราะตอนนี้ทำให้ลูกหลานลำบาก เมื่อได้ยินพ่อพูดแบบนี้ก็ยิ่งเครียดและรู้สึกว่าหมอยิ่งรักษาแต่พ่อกลับยิ่งอ่อนแอลง

“ผมคิดว่าจะพาพ่อไปรักษาแพทย์ทางเลือก ไม่รักษาในโรงพยาบาลแล้ว หมอรักษามาหลายเดือนพ่อผมกลับแย่ลง”

“หมอทราบว่าคุณพ่อของคุณได้ผ่าตัดและได้รับเคมีบำบัด ดูเหมือนการรักษาคืบหน้าไปตามขั้นตอนแต่คุณดูกังวลและคิดว่าพ่ออาการแย่ลงเพราะอะไรคะ”

“พ่อผมผอมลงจะสิบกิโลแล้วตั้งแต่หลังผ่าตัด ตั้งแต่ตอนยังไม่ให้คีโมก็ผอมลงเรื่อยๆ เหมือนคนตรอมใจ กินก็ไม่ได้ ขนาดยังไม่ได้ให้คีโมยังอ้วกออกตลอด ถ้ากินไม่ได้แล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง”

Advertisement

เรื่องกินเป็นเรื่องซีเรียสจริงๆ ค่ะโดยเฉพาะกับลูกหลานที่เห็นพ่อแม่ป่วยแล้วกินไม่ได้ สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกว่าอาการหนักในความหมายของหมอกับคนไข้ไม่เหมือนกัน พวกหมอคิดว่าเจาะเลือดแล้วเจอเชื้อ ไข้ขึ้น หรือความดันโลหิตไม่ปกติคืออาการไม่ดีแต่สำหรับคนทั่วไป อาการไม่ดีคือกินไม่ได้ หายใจไม่ออก และเลือดไหล

เรื่องกินเป็นธีมหลักของการ์ตูนแนวอบอุ่น “Sweetness and Lightning” (Amaama to Inazuma) ซึ่งแปลเป็นหนังสือการ์ตูนภาษาไทย “เมนูกรุ่นอุ่นไอรัก” และถูกนำมาทำเป็นแอนิเมชั่นฉายซีซั่นนี้ในญี่ปุ่นค่ะ แอนิเมชั่นตอนที่ 1 ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการกินกับความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวอย่างมาก เรื่องนี้เล่าถึง “อินาสุกะ โคเฮย์” ครูมัธยมที่กลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้ 6 เดือนหลังภรรยาเสียชีวิตจากอาการป่วย ทิ้งโคเฮย์ให้ดูแลลูกสาว “สึมุกิ” วัยเพิ่งเข้าโรงเรียนอนุบาลไว้ โคเฮย์เริ่มต้นวันด้วยการให้สึมุกิกินขนมเป็นอาหารเช้าและดูการ์ตูนไปด้วย ระหว่างนี้เขาจะเอาอาหารแช่แข็งออกมาอุ่นในไมโครเวฟและจัดใส่กล่องอาหารกลางวันเตรียมไว้ ตกเย็นก็แวะซื้อข้าวกล่องจากร้านมากินโดยเขาต้องตรวจการบ้านเด็กระหว่างที่สึมุกิกินข้าวเย็นพร้อมกับดูการ์ตูนเหมือนเดิม สองพ่อลูกไม่เคยกินข้าวพร้อมหน้ากัน โคเฮย์เคยลองพยายามทำอาหารแต่รสชาติใช้ไม่ได้เลยจึงหาทางออกด้วยอาหารแช่แข็งและอาหารกล่องแบบนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งสึมุกิแทบจะเลียโทรทัศน์ที่มีรายการทำอาหารจนดูน่าสงสาร เขาจึงพาสึมุกิไปกินข้าวสวยหุงใหม่ๆ ที่ร้านอาหารและได้เห็นลูกสาวกินอย่างเอร็ดอร่อยเป็นครั้งแรกนับแต่ภรรยาเสียชีวิตไป เขาจึงรู้ว่าอาหารไม่ใช่แค่สักแต่กิน การปรุงและความอร่อยสะท้อนความรักและเป็นห่วงด้วย

ในฐานะคนไทยซึ่งทำอาหารไม่เป็นและพึ่งอาหารนอกบ้านเสมอ เมื่อเห็นโคเฮย์รู้สึกกังวลที่ไม่มีมะเขือเทศใส่ในกล่องข้าวก็คิดในใจว่าวัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่นต้องแตกต่างจากไทยแน่นอน โคเฮย์ดูหน้าเสียเมื่อไม่มีมะเขือเทศใส่กล่องข้าวแต่เขากลับเลือกกินอาหารแช่แข็งและข้าวกล่องเย็นชืดมากกว่าจะเลือกหุงข้าว ทอดไข่ หรือต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกิน การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin บอกเราว่าวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการเลือกกินอาหารที่ดีและไม่ดีต่อสุขภาพด้วยค่ะ ไม่ใช่แค่ความชอบส่วนบุคคลเท่านั้น

Advertisement

ผู้วิจัยมีข้อมูลว่ามีคนวัยผู้ใหญ่ชาวอเมริกันไม่ถึง 14% เท่านั้นกินผักเพียงพอแม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะสนับสนุนให้ประชากรกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้วก็ตาม เขาจึงลองมองในมิติของวัฒนธรรมอเมริกันเทียบกับญี่ปุ่นก็พบว่าสังคมอเมริกันมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองและสิทธิในการตัดสินใจ ในระหว่างที่สังคมญี่ปุ่นมุ่งเน้นการพึ่งพาซึ่งกันและกันและรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันไว้ เมื่อวิจัยลักษณะการกินของคนทั้งสองชาติในขณะที่ไม่มีความเครียดก็พบว่าชาวอเมริกันที่มีคะแนนลักษณะ “พึ่งพาตนเอง” สูงจะมีแนวโน้มกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ผักและปลาปริมาณมากแต่น้ำตาลน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีลักษณะพึ่งพาตนเองต่ำกว่า นอกจากนั้น คนกลุ่มพึ่งพาตนเองสูงยังใช้อาหารเพื่อบำบัดความเครียดน้อยกว่าด้วย จึงเดาต่อได้ว่าหากจะประชาสัมพันธ์การกินเพื่อสุขภาพในคนอเมริกันควรมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่ภูมิใจกับการพึ่งพาตนเองซึ่งเป็นลูกค้าหลัก

ในทางกลับกัน คนวัยผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่มีคะแนนลักษณะ “พึ่งพาซึ่งกันและกัน” สูงจะมีนิสัยรักการกินเพื่อสุขภาพมากกว่าคนที่คะแนนต่ำกว่า เราจึงเดาต่อได้ว่าหากจะประชาสัมพันธ์การกินเพื่อสุขภาพในคนญี่ปุ่นก็ควรมุ่งเน้นว่าการกินแบบนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมให้แน่นแฟ้นขึ้นซึ่งพบได้ในโฆษณาร้านอาหารของไทยด้วย เช่น อาหารชุดสุขภาพที่ลูกชวนพ่อแม่ไปกินจะช่วยเสริมสร้างความรักในครอบครัว ส่วนโฆษณาแนวฝรั่งที่แนะนำอาหารเสริมบำรุงสุขภาพเพราะคุณต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองอาจจะเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตแบบไม่พึ่งพาใครและพึ่งตัวเองเป็นหลัก

สรุปได้คร่าวๆ ว่าการกินเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมด้วย ความที่เป็นวิถีชีวิตที่ใกล้ตัวและส่งผลต่อสุขภาพอย่างมากจึงเป็นเรื่องซีเรียสเสมอเมื่อกินไม่ได้หรือกินแล้วอาเจียน นอกจากนั้น ควรระลึกไว้เสมอว่าการกินเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ดังนั้น โฆษณาว่ารักพ่อรักแม่ต้องซื้ออย่างนั้นอย่างนู้นให้กินก็ฟังหูไว้หูนะคะ แค่กินอาหารปรุงใหม่และดีต่อสุขภาพพร้อมหน้ากันอาจจะมีคุณค่ามากกว่าการกินอาหารแพงๆ ในร้านก็ได้ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image