อาศรมมิวสิก : Sir John Barbirolli ความเป็นเลิศในดนตรีด้วยลมหายใจแห่งความเมตตา

อาศรมมิวสิก : Sir John Barbirolli ความเป็นเลิศในดนตรีด้วยลมหายใจแห่งความเมตตา

อาศรมมิวสิก : Sir John Barbirolli ความเป็นเลิศในดนตรีด้วยลมหายใจแห่งความเมตตา Sir John Barbirolli
ความเป็นเลิศในดนตรีด้วยลมหายใจแห่งความเมตตา

เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นดนตรีเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับชีวิต เราจะเห็นได้ว่าการประสบความสำเร็จในทางดนตรีนั้นก็มีอะไรๆ ที่คล้ายกับการประสบความสำเร็จในชีวิตจริง ความสำเร็จในชีวิตด้านหนึ่งมาจากการที่เราต้องทุ่มเท, ใช้ความอุตสาหะอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักผ่อนปรนทั้งกับตนเองและสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดความเคร่งเครียดจนเกินไป จนเสียสมดุลแห่งชีวิต ดังวลีสอนใจภาษาอังกฤษที่ว่า “Work Hard,Enjoy Life” แต่ทว่าสัดส่วนระหว่างการทุ่มเททำงานหนัก (Work Hard) กับการรื่นรมย์กับชีวิต (Enjoy Life) ในแต่ละคนก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวอีกเช่นกัน

บทบาทของวาทยกร (Conductor) ที่กำกับควบคุมวงออเคสตรา ก็มิได้แตกต่างกัน วาทยกรผู้มีชื่อเสียงหลายคน (โดยเฉพาะในอดีต) ประสบความสำเร็จด้วยบทบาทในเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จ, ทำงานดนตรีอย่างคร่ำเคร่งจริงจังด้วยมุมมองที่เทิดทูนบูชาศิลปะดนตรีจนไม่ยอมให้เกิดความผิดพลาดใดๆ (Work Hard) ในขณะที่วาทยกรบางคนก็ทำงานดนตรีด้วยความผ่อนปรน, เข้าใจและยอมรับในความผิดพลาดทางดนตรีที่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่การบรรเลงนั้นยังคงมีชีวิตชีวา มีลมหายใจอันอบอุ่นแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ (Enjoy Life)

สังคมดนตรีในอดีตมีวาทยกรจำพวกแรก (เผด็จการ) ดำรงอยู่มากมาย ด้วยสภาพเงื่อนไขหลายประการที่เอื้ออำนวยให้พวกเขาร่วมงานกับนักดนตรีได้ในสภาพการณ์เช่นนั้น เราจึงมักจะชินชากับเรื่องราวเช่นนี้ที่เป็นตำนานเล่าขานสู่กันฟัง วาทยกรจำพวกที่สองที่ทำงานดนตรีด้วยความเห็นอกเห็นใจ, ยืดหยุ่นกับนักดนตรี นักดนตรีสามารถร่วมทำงานได้ด้วยความสบายใจ ซึ่งหนึ่งในวาทยกรที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ที่เป็นวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานนี้ก็คือท่านเซอร์ จอห์น บาร์บิ
รอลลิ (Sir John Barbirolli) กับวงฮัลเล ออเคสตรา (Halle Orchestra) คู่บารมี (แห่งเมืองแมนเชสเตอร์) ซึ่งมีเรื่องราวในทางดนตรีและชีวิตที่น่าศึกษาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่องการต่อสู้, ทุ่มเทเพื่อสร้างมาตรฐานชื่อเสียงทางดนตรีต่อตนเองและเพื่อนร่วมงาน ด้วยวิธีการที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม, ความเห็นใจในเพื่อนร่วมงานทางดนตรี อันส่งผลต่อเสียงดนตรีที่เกิดขึ้นด้วยความลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ, ความละเมียดละไมอ่อนโยน การประสบความสำเร็จด้วยการปกครองแบบสั่งการเบ็ดเสร็จ, อำนาจข่มขู่ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่เข้าใจได้ไม่ยาก หากแต่การประสบความสำเร็จด้วยการปกครองอย่างมีเมตตานั้นดูจะเป็น “ศิลปะ” ที่น่าศึกษาเรียนรู้มากกว่าเป็นไหนๆ

Advertisement

เรื่องราวในการเป็นผู้นำทางดนตรีของท่านเซอร์ จอห์น บาร์บิรอลลิ ก็เช่นเดียวกัน มันคือมาตรฐานทางดนตรีอันสูงส่งจนเป็นตำนานที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานแห่งเมตตาบารมี

ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญผลงานดนตรีของ กุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler) ที่ขึ้นชื่อว่าทั้งซับซ้อน, แยบยล และสูงด้วยเทคนิคทางการบรรเลงดนตรี แต่ในขณะเดียวกันผู้รักดนตรีซิมโฟนีของมาห์เลอร์ต่างก็รู้ว่า ดนตรีของมาห์เลอร์มีองค์ประกอบพื้นฐานแห่งศิลปะดนตรีพื้นบ้านร่วมอยู่ไม่น้อย (รวมถึงดนตรีร่วมสมัย “ข้างถนน” ในยุคนั้น) ที่ต้องอาศัยมิติแห่งความเข้าใจที่เป็นด้านแห่งความรู้สึกเป็นอย่างมาก

อาจกล่าวได้ว่าศิลปินที่จะเข้าถึงวิญญาณแห่งดนตรีของมาห์เลอร์ได้นั้น ต้องมีพื้นฐานประสบการณ์ทางดนตรีที่กว้างขวางหลากหลาย และที่สำคัญก็คือ ต้องมี “ความติดดิน” ที่ต้องเป็นทั้งแก่นและรากฐานอันมั่นคง ในการเข้าถึงซิมโฟนีของมาห์เลอร์ที่ฟังดูหรูหรา หากแต่มีรากฐานและแก่นแกนทางศิลปะแบบบ้านๆ อยู่ไม่น้อย ซึ่งนี่เป็นองค์ประกอบอันสอดคล้องกับประสบการณ์ดนตรีอันติดดินและหลากหลายกว้างขวางของ วาทยกรอย่างบาร์บิรอลลิ, ชาวอังกฤษที่ถือกำเนิดในกรุงลอนดอน ลูกครึ่งอิตาเลียน-ฝรั่งเศส

Advertisement

ก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยเพลง บาร์บิรอลลิเป็นนักเล่นเชลโล (Cello) มาก่อน แม้จะได้รับการศึกษาทางดนตรีมาอย่างเป็นระบบจากสถาบันดนตรีชั้นนำของอังกฤษอย่าง “ทรินิตี คอลเลจ” (Trinity College) และ “ราชวิทยาลัยดนตรี” (Royal Academy of Music) แห่งกรุงลอนดอน แต่เขาก็มีประสบการณ์ในการเล่นดนตรีมาอย่างหลากหลาย นับแต่การเป็นสมาชิกของวงดนตรี “ควีนส์ฮอล”(Queen’s Hall Orchestra) ที่อายุน้อยที่สุดในวง (อายุเพียง 16 ปี), จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเขาต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งในตอนนี้เองที่มีโอกาสในการสวมบทบาทเป็นผู้อำนวยเพลงครั้งแรกในชีวิต หลังปลดประจำการ เขาท่องยุทธจักรทางดนตรีต่อด้วยการเป็นนักเชลโลของวงลอนดอนซิมโฟนีฯ (LSO), วง “โคเวนท์ การ์เดน ออเคสตรา” (Covent Garden Orchestra) เล่นเชลโลในวงดนตรีตามโรงเต้นรำ (Dance Hall), โรงภาพยนตร์ ตลอดไปจนถึงคณะละครสัตว์

ในอีกด้านหนึ่งบาร์บิรอลลิเป็นนักเชลโลที่เคยบรรเลงเดี่ยว (Soloist) ในบทเพลงเชลโลคอนแชร์โตของเอลการ์ (Sir Edward Elgar) มาแล้วในยุคบุกเบิกของคอนแชร์โตบทนี้ อีกทั้งการบรรเลงเชมเบอร์ มิวสิก (Chamber Music) ในวงสตริง ควอเต็ท (String Quartet) อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นประสบการณ์ดนตรีอันเต็มไปด้วยความเปื้อนเปรอะ อย่างหลากหลายในทุกระดับชนชั้นทางดนตรี

นี่กระมังจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหตุใดในภายหลังเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นวาทยกรผู้เชี่ยวชาญดนตรีซิมโฟนีของกุสตาฟ มาห์เลอร์ อันฟังดูหรูหราลสูงส่งภายนอก จัดเป็นศิลปะดนตรีซิมโฟนีในขั้นสูงอย่างแท้จริง แต่เนื้อหาภายในหลายบทตอนนั้น อ้างอิงมาจากดนตรีชาวบ้านไปจนถึงวงดนตรีข้างถนน นี่จึงสอดคล้องกับประสบการณ์อ้างอิงในอดีตของท่านเซอร์ จอห์น บาร์บิรอลลิ ผู้นี้

วิถีสู่การได้ชื่อว่าเป็นวาทยกรผู้เชี่ยวชาญซิมโฟนีของมาห์เลอร์ของเขาก็เป็นเรื่องที่แสนจะเรียบง่าย และเป็นการสะกิด “อะไรบางอย่าง” ที่ซ่อนอยู่ในตัวของเขามาแต่กำเนิด และผู้ที่สะกิด “ต่อมซิมโฟนีมาห์เลอร์” ในตัวของบาร์บิรอลลิ ก็คือนักวิจารณ์ดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ “เซอร์ เนวิลล์ คาร์ดุส”(Sir Neville Cardus) ที่ได้เขียนบทความหวนรำลึกถึงการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของมาห์เลอร์รอบปฐมทัศน์ในอังกฤษโดยวงฮัลเล ออเคสตรา อำนวยเพลงโดย “เซอร์ ฮามิลตัน ฮาร์ตี” (Sir Hamilton Harty) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1930

บทความนี้ ท่านเซอร์ เนวิลล์ คาร์ดุส เขียนขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ.1952 เพื่อหวนรำลึกถึงการบรรเลงในครั้งประวัติศาสตร์นั้น โดยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์แมนเชสเตอร์การ์เดียน (Manchester Guardian) โดยมีใจความในทำนองที่ว่า “นี่เป็นผลงานชั้นเลิศเลยทีเดียวสำหรับวาทยกรอย่างบาร์บิรอลลิ ที่น่าจะได้อำนวยเพลงซิมโฟนีบทนี้ ทำไมเขาจึงไม่ได้นำพามารู้จักกับบทเพลงนี้เลย”

นี่กลายเป็นประเด็นคำถามที่ทั้งตรงใจและสะกิดใจสำหรับบาร์บิรอลลิ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเพียงแต่เคยอำนวยเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ตัดตอนออกมาเฉพาะในท่อนช้า (Adagietto) และอำนวยเพลงร้องของมาห์เลอร์บางบทเพลงบ้างเท่านั้น

หลังจากบทความนี้ตีพิมพ์ และผ่านสายตาของบาร์บิรอลลิแล้ว เขาเริ่มหันมาศึกษาบทเพลงซิมโฟนีของมาห์เลอร์อย่างจริงจังทันที และก็ดำเนินรอยตามคำแนะนำของท่านเซอร์ เนวิลล์ คาร์ดุส ด้วยการเริ่มที่ซิมโฟนีหมายเลข 9 ก่อน โดยนำออกบรรเลงครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1954 ที่เมืองแบรดฟอร์ด (Bradford) หลังจากนั้นก็ตามมาในอีกหลายๆ เมืองในอังกฤษ นี่จึงเป็นอรุณรุ่งแห่งการเกิดใหม่ (Renaissance) แห่งดนตรีซิมโฟนีของมาห์เลอร์ในประเทศอังกฤษ และการรื้อฟื้นซิมโฟนีของมาห์เลอร์ขึ้นมาสู่ความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่โลกลืมผลงานของมาห์เลอร์กันไปอย่างยาวนาน แน่นอนหลังจากอุบัติการณ์นี้ ซิมโฟนีทั้งหลายของมาห์เลอร์ เริ่มค่อยๆ กลับมาสู่ความสนใจของโลกดนตรีในศตวรรษที่ 20 อีกครั้งหนึ่งและกลายเป็นบทเพลงในระดับจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้สำหรับวงออเคสตราและวาทยกรทั้งหลายในยุคปัจจุบัน

นอกจากงานซิมโฟนีของมาห์เลอร์แล้ว ในช่วงบั้นปลายชีวิต บาร์บิรอลลิได้รับการยกย่องอีกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญผลงานซิมโฟนีของ “โยฮันเนส บรามส์” (Johannes Brahms) ซึ่งเมื่อคิดดูแล้วก็เป็นที่พอจะเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าทำไม เขาจึงทั้งชอบและทำได้ดี ในการตีความซิมโฟนีของบรามส์ ดุริยกวีผู้มีความติดดิน, รักในการเดินเท้าชมความงามของทิวทัศน์แห่งท้องทุ่งและความงามของชนบทในแบบเดียวกันกับกุสตาฟ มาห์เลอร์
ซึ่งในกรณีผลงานดนตรีของบรามส์มีประเด็นอันเป็นพิเศษสำหรับบาร์บิรอลลิ อยู่ไม่น้อยเมื่อเขาได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลและบุคคลอ้างอิงในระดับ “ปฐมภูมิ” ในผลงานซิมโฟนีของบรามส์ จากมิตรภาพสมัยยังเป็นนักเรียน ที่เขาได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนนักร้องเสียงโซปราโนนามว่า “เฮเลน เฮนเชล” (Helen Henschel) เธอเป็นลูกสาวของศิลปินดนตรีคนสำคัญนามว่า “เซอร์ จอร์จ เฮนเชล”
(Sir George Henschel)

ท่านผู้นี้เป็นทั้งนักร้องเสียงบาริโทน (Baritone), นักเปียโน และวาทยกร อีกทั้งเป็นเพื่อสนิทของโยฮันเนส บรามส์ มานับสิบปีจวบจนบรามส์ถึงแก่กรรม ซึ่งได้เคยปรึกษาหารือในทางดนตรีกับโยฮันเนส บรามส์ อยู่เสมอๆ ในปี ค.ศ.1933 ท่านผู้อาวุโส จอร์จ เฮนเชล อยู่ในวัย 83 ปี และบาร์บิรอลลิก็ได้มีโอกาสเข้าพบกับท่านผ่านการแนะนำของบุตรสาว ทั้งคู่สนทนากันนานหลายชั่วโมง โดยมีสกอร์ (Score) ซิมโฟนีของ
บรามส์หลายเพลง ที่จอร์จ เฮนเชล ได้เคยใช้อำนวยเพลงในสมัยยังหนุ่ม, รุ่งโรจน์ ซึ่งสกอร์เพลงเหล่านี้เขาได้ทำเครื่องหมายบันทึกเพิ่มเติมมากมาย เพื่อช่วยในการอำนวยเพลงให้เข้าถึงรายละเอียดมากขึ้น เครื่องหมายบันทึกมากมายเหล่านี้ เขาได้เขียนเพิ่มเติมจากการแนะนำและปรึกษากับตัวบรามส์เอง อย่างใกล้ชิดและยาวนาน ถือเป็นความประสงค์ในรายละเอียดของบทเพลงที่บรามส์ต้องการสื่อสารทางดนตรีอย่างแท้จริง

หลังจากการพบกันในครั้งนั้นในปีถัดมาคือ ค.ศ.1934 เซอร์ จอร์จ เฮนเชล ก็ถึงแก่กรรมในวัย 84 ปี ซึ่งสกอร์ซิมโฟนีของบรามส์ชุดใหญ่นั้น เฮเลน บุตรสาวก็ได้มอบให้กับบาร์บิรอลลิผู้คู่ควรแก่การสืบทอดมรดกทางดนตรีของบรามส์นี้

และบาร์บิรอลลิก็พิสูจน์แล้วว่าเขามิได้ครอบครองมรดกนี้แต่เพียงทางวัตถุธาตุ หากแต่ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณในวัตถุนั้นผ่านการตีความซิมโฟนีของบรามส์ทุกบทด้วย จิตวิญญาณและลมหายใจแห่งความอ่อนโยนอย่างเป็นธรรมชาติ

เรื่องราวในประสบการณ์ด้านการเป็นผู้อำนวยเพลงของบาร์บิรอลลิ ก็ต้องฝ่าบทพิสูจน์ที่หนักหนาสากรรจ์ เมื่อเขาได้รับสิ่งที่แทบจะเป็นทุกขลาภ ในปี ค.ศ.1936 เมื่อวาทยกรชั้นนำของโลกระดับตำนานอย่าง “อาร์ทูโร ทอสคานินี” (Arturo Toscanini) ประกาศวางมือจากวงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิก ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงไว้ในฐานะวงที่เป็นเลิศทางเทคนิค เต็มไปด้วยความหนักแน่น, แข็งแกร่งด้วยพลังทางดนตรีที่ทอสคานินีปลูกฝังไว้อย่างยาวนานด้วยระเบียบวินัยอันเคร่งครัด

ครั้นเมื่อบาร์บิรอลลิเข้ารับเผือกร้อนนี้แทน มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำรงรักษาแนวทางดนตรีอันเฉียบคมแม่นยำ, หนักแน่น (และถึงกับแข็งกร้าว) เช่นนั้น ความเป็นมนุษย์, วิสัยทัศน์ทางดนตรี และชีพจรลมหายใจทางดนตรีของบาร์บิรอลลิมิได้ ชื่นชมแนวทางดนตรีอันแข็งกร้าวแบบนั้น ปฏิกิริยาตอบรับส่วนหนึ่งโดยเฉพาะจากแฟนๆ เก่าของวงที่ชื่นชอบและยึดติดกับพลังทางดนตรีอันหนักแน่นเฉียบคมแบบทอสคานินีพากันตำหนิว่าบาร์บิรอลลิทำให้วงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิกอ่อนแอลงไป ความสัมพันธ์ 6 ปี ของเขากับนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิกจบลงแบบไม่ค่อยราบรื่นนัก

เขากลับมาสู่ประเทศอังกฤษรับตำแหน่งวาทยกรวงฮัลเลออเคสตรา ในปี ค.ศ.1943 ในยุคหลังสงคราม ที่วงกำลังตกต่ำ, ย่ำแย่ ต้องลดจำนวนนักดนตรี เขาเป็นผู้ร่วมอยู่กับชะตากรรมในช่วงที่วงกำลังลำบากจนช่วยปลุกปั้น-กอบกู้ชื่อเสียงจนกลายเป็นวงออเคสตราชั้นนำของยุโรปและของโลกมาจนทุกวันนี้ ช่วงเวลา 27 ปีกับวงดนตรีนี้ (ค.ศ.1943-1970) ทำให้เขาได้รับตำแหน่งวาทยกรเกียรติยศ (Laureate Conductor) ในปี ค.ศ.1968 สองปีก่อนถึงแก่กรรม เขาเป็นวาทยกรในแบบที่อาจเรียกว่าโลกยุคเก่า เป็นเสมือนคุณลุงบ้านนอกผู้ใจดีมีเมตตา, ทำงานดนตรีแบบลงหลักปักฐานสร้างชื่อเสียง, ฐานะร่วมชะตากรรมฝ่าฟันมาด้วยกัน เขาไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเทคนิคอันเป็นเลิศ, แม่นยำ, หนักแน่น แต่หากเราต้องการหรือชื่นชอบเสียงดนตรีที่เปี่ยมด้วยลมหายใจแห่งความเป็นมนุษย์, ลื่นไหล อ่อนโยนอย่างเป็นธรรมชาติ ดนตรีซิมโฟนีที่แฝงรอยยิ้มอันอ่อนโยน

เซอร์ จอห์น บาร์บิรอลลิ คือ คำตอบของคุณ แม้จะเหลือเพียงแค่มรดกทางผลงานบันทึกเสียงก็ตามที

โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image