คอลัมน์ ประสานักดูนก : กองหน้า

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น

เหยี่ยวอพยพที่เดินทางผ่านภาคใต้ของไทย มีมากกว่า 20 ชนิด จากทั้งหมด 55 ชนิด มี 6 ชนิดที่มีจำนวนมากกว่า 1000 ตัวต่อฤดูกาลอพยพต้นหนาว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าเหยี่ยวอพยพจำนวนมากจะอพยพผ่านไทยในเดือนตุลาคม แต่เหยี่ยวอพยพมาเร็ว ไม่แพ้นกอพยพชนิดอื่นๆ ที่เดินทางมาถึงบ้านเราแล้ว เช่น นกเด้าลมหลังเทา นกกระเต็นน้อยธรรมดา นกอีเสือสีน้ำตาล

เหยี่ยวอพยพ 6 ชนิดหลักของไทย ประกอบด้วย เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาชิครา เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวหน้าเทาและเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ชื่อข้างต้นเรียงตามลำดับเวลาที่เหยี่ยวแต่ละชนิดจะเคลื่อนทัพมาถึงไทย ชนิดแรกที่เป็นกองหน้ามาเดี่ยวรายตัว คือ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น พบในภาคกลางได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมนี้ และช่วงการอพยพทอดระยะเวลาไปจนถึงสิ้นสุดฤดูกาลทีเดียว ต่างจากเหยี่ยวอพยพหลักบางชนิดที่แม้จะมีจำนวนมากเกินแสนตัวต่อฤดูกาล เช่น เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ แต่จะมาถึงเป็นรายสุดท้าย เพราะถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์อยู่ในภาคใต้ของประเทศจีน ต่างจากพวกมาก่อน เช่น พันธุ์ญี่ปุ่น และพันธุ์จีนที่ทำรังวางไข่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตั้งแต่รัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่นและจีน จึงต้องรีบเดินทางจากบ้านมาก่อนด้วยระยะทางระหว่างบ้านในฤดูร้อน และบ้านในฤดูหนาวไกลกว่าชนิดอื่นๆ

นอกจากนั้น เหยี่ยวอพยพหลักส่วนใหญ่ จะมีช่วงการอพยพแคบ คือ เดินทางมาพร้อมกันจำนวนมากภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นแล้วจำนวนจะลดลงอย่างฮวบฮาบ แทบจะหายไปจากน่านฟ้าไทย ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า surge migration พบในเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวหน้าเทา และเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ต่างจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นและชิครา ที่ช่วงเวลาอพยพจะทอดระยะยาวครอบคลุมตลอดฤดูกาล ตั้งแต่ต้นจรดปลายฤดูทีเดียว รูปแบบการอพยพเช่นนี้ ทำให้การชมเหยี่ยวอพยพ ณ จุดชมเหยี่ยว อาทิ เขาเรดาร์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ เขาดินสอ จ.ชุมพร สามารถชมได้ยาวนานตลอดเดือน โดยเฉพาะเดือนตุลาคม เพราะไม่ว่าไปสัปดาห์ใดก็จะมีเหยี่ยวอพยพตัวเอก ต่างกันออกไป เช่น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนจะรวมฝูงกันจัดขบวนบิน เป็นแถวยาว เรียกว่า สายธารเหยี่ยวอพยพ หรือ River of raptors หลายร้อยตัวต่อฝูง กว่าหมื่นตัวต่อวัน ในปลายเดือนกันยายน เมื่อถึงต้นเดือนตุลาคม ตัวเอกจะเปลี่ยนเป็น เหยี่ยวผึ้งหลายพันตัว ตามด้วยเหยี่ยวหน้าเทา และทัพใหญ่หรือทัพหลวงของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำนับแสนตัว ในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายของวันปิยมหาราชไปจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน

ปรากฏการณ์สายธารเหยี่ยวอพยพของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ประเทศไทยเป็นจุดชมการอพยพที่ดีที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะไม่มีจุดชมเหยี่ยวอพยพอื่นใดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่มีรายงานพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำมากเท่า ที่เขาเรดาร์และเขาดินสออีกแล้ว เป็นโอกาสอันดีของนักนิยมธรรมชาติ ที่ต้องการพักผ่อนและตื่นตาตื่นใจกับปรากฏการณ์ของสัตว์อพยพจำนวนมากที่หาดูได้ไม่ยากในบ้านเรา และเป็นทางที่ไม่ต้องเบียดเบียนนกนักล่าอีกด้วย ในเดือนตุลาคมนี้หวังว่าผู้อ่านจะให้โอกาสตนเอง ไปสัมผัส พิสูจน์ด้วยตาตนเองในความมหัศจรรย์ของสายธารเหยี่ยวอพยพครับ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image