“ทศพร เสรีรักษ์” บุคคลใน “บันทึกประเทศไทย 63” ศักราช “ไร้จริงใจ” ที่พรุ่งนี้จะไม่เหมือนเดิม

จากวันประกาศ “เปิดฉากศักราชใหม่แห่งการต่อสู้” ที่ยังคงอยู่บน 3 ข้อเรียกร้องเดิม

10 กุมภาพันธ์ 2564 หนนี้ “ราษฎร” กลับมาพร้อมผนึก “เครือขายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน” มวลชนรวมพลบนสกายวอล์ก ก่อนลงไปจับจองพื้นที่ชายคาหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หม้อ กระทะ ตะหลิว ถังเบียร์ ถูกระทบสนั่นแยกปทุมวัน ปนเสียงก่นด่า ว่าผู้นำไม่ฉลาด ผสมแววตาแห่งความ “อัดอั้น”และ “หิวโหย” จากพิษเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโรคโควิด-19

“เสียงตีหม้อ คือเสียงสัญลักษณ์บอกว่า เราไม่มีเสียงปืน เสียงระเบิด เรามีแต่เสียงหม้อ เราไม่มีเงินซื้อรถถัง ซื้อกระบอกปืน เหมือนที่รัฐเอาภาษีเราไป แต่นี่คือเสียงคนยากจน ที่ส่งเสียงถึงรัฐบาล ถ้าไม่ฟังเจอเราอีก ประยุทธ์สั่งทหาร สั่งตำรวจได้เท่านั้น แต่สั่งประชาชนไม่ได้”

Advertisement

เสียงปราศรัย โดย “ไหม” “ธนพร วิจันทร์” ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ประกาศย้ำบน พ.ศ.ใหม่ ว่า “ประชาชนจะไม่ทนอีกต่อไป”

ไม่อยู่ในความคาดหมายอีกตามเคย… สิ้นเสียง “รุ้ง ปนัสยา” ประกาศกร้าว มวลชนตบเท้าอีกหน ลงถนนมุ่งหน้า สน.ปทุมวัน เพื่อทวงคืนเพื่อนส่วนหนึ่งที่ถูกจับกุมไปก่อนถึงเวลาชุมนุมโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา

เสียงโปงเปง พร้อมเปล่งวลี “ขี้ข้าเผด็จการ ปล่อยเพื่อนเรา” เคล้าเสียงเพลงปฏิรูป กระหึ่มตลอดเส้นทางร่วม 1 กิโลเมตร

เมื่อผนวกกับปม 4 แกนนำ ถูกคุมขังด้วยข้อหาอาญามาตรา 112 ที่ “ราษฎร” ไปจนถึงวาระ 2 และ 3 ของการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ผลลัพธ์ต่อจากนี้ อาจกลายเป็นเฟืองอีกมัด ยัดเข้าใส่กองไฟในปี 2564

“มีทางเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยหยุดติดหล่ม คือ คุณประยุทธ์ต้องรู้ตัวเองว่าคือตัวปัญหา ถึงทุกวันนี้ ถ้ายังไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา ก็แสดงว่าตัวเองไม่ฉลาดพอ ก็ควรจะหยุดหน้าที่ของตัวเองได้แล้ว สภาทั้งสภาก็ควรจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร.ให้สำเร็จได้แล้ว วุฒิสมาชิกควรจะหยุดอยู่นิ่งๆ ได้แล้ว กินเงินเดือนไปเถอะ แสน-สองแสนกว่าบาท ยอมเสียให้คุณ แต่ขอได้ไหม แค่คุณอยู่นิ่งๆ คุณก็ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติแล้ว ให้ประชาชนแก้ปัญหากันไป”

คือหนึ่งในคำตอบ ของ “นพ.ทศพร เสรีรักษ์” นักสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่ร่วมเป็นวิทยากร ประมวลขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2563 บนเวที “Matichon Book Talk” ภายในร้าน เบรนเวคคาเฟ่ มติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” คอลัมนิสต์และพิธีกรฝีปากกล้า ยิงคำถาม ชวน 3 วิทยากรสนทนา หาทางประเทศให้ไทยไปต่อได้ (คลิกชมคลิปถ่ายทอดสด)

ไม่ว่าจะเคยร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ก็เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นตากับชายภายใต้เสื้อม่อฮ่อม ที่มือมักถือโทรโข่ง บ้างสะพายกระเป๋าปฐมพยาบาล บ้างก็หอบภาพเขียนไว้ในอ้อมอก หรือในบางทีเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้เกิดเหตุการณ์จับกุม สลายการชุมนุมก็ไม่ได้ถอยไปไหน คือหนึ่งในคนที่ยื่นมือมาช่วยเหลือในฐานะอดีตคนแวดวงการแพทย์

ก่อนการเมืองนอกสภาจะแผดเผาร้อนแรงแซงปีก่อน หมอทศพร ขอเล่าตะกอนความคิด จากการหยิบจับหนังสือ “บันทึกประเทศไทย ปี 2563” มาพลิกอ่าน

2563 เป็นปีที่คนพูดกันมากว่า มีเรื่องที่มองกลับไป ประเทศไทยไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป คิดเห็นอย่างไรบ้าง?

ทั้ง 3 เรื่อง เศรษฐกิจ โควิด การเมือง ค่อนข้างแยกกันยาก อย่างเรื่องการเมือง ทุกอย่างในปี 2563 เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย สิ่งที่ 40-50 ปีไม่เคยเกิด ก็เกิดขึ้น เรื่องที่ประชาชนแอบซุบซิบ พูดกันเฉพาะในบ้าน ในครอบครัว ถ้าไปพูดในที่สาธารณะก็ต้องจุ๊ปากกันให้หยุด ก็เริ่มเอาออกมาพูดกันมากขึ้น อย่างเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม น้องนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ พูดถึง 10 ข้อเรียกร้อง กลายเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาตร์ที่ทำให้คนกล้าออกมาพูดเรื่องที่ไม่กล้า ต่อมา อานนท์ นำภา ก็มาพูดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นคนก็พูดกันมากขึ้น ทั้งที่พูดด้วยวาจาและด้วยป้ายทั้งหลาย จุดติดกันทั่วเมือง

ทุกอย่างที่เป็นของประเทศไทย คนไทยมีสิทธิจะเข้าไปเกี่ยวข้องประชาชนที่ออกมาเรียกร้องก็ออกมาอย่างไม่เคยออกมาก่อนหลังหายเงียบไปนับ 10 ปี และออกมาอย่างชาญฉลาด ไม่ได้ออกมาแล้วนอนอยู่กลางท้องถนนรอการปราบ แต่ออกมาแล้วกลับ แล้วก็มาใหม่ สิ่งเหล่านี้บอกให้รู้ว่าประชาชนมีความฉลาดมากขึ้น ใช้สติปัญญาในการต่อสู้มากขึ้น และจะนำไปสู่จุดของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ผมเชื่อว่าในเร็วๆ นี้

อีกเรื่องที่อยากบอก คือ เศรษฐกิจ ที่ที่เห็นชัดเจนเมื่อโควิดมากระทบ รัฐบาลเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจ รัฐมนตรีลาออกไป 4 คน รัฐมนตรีคลังคนใหม่ เข้ามาได้ไม่กี่วันก็บอกว่าป่วย ต้องออกไปอีก แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทย ถ้าประชาชนเรายังยอมให้คนไม่ฉลาดปกครองประเทศ เศรษฐกิจก็จะย่ำแย่ ชีวิตเราก็จะแย่ไปทุกวันๆ ประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วแต่ก่อนจะไม่รู้ เลือกตั้งเข้ามา ทหารจะยึดอำนาจ ก็ปล่อยเขาทำไป เราก็ทำมาหากินไป แต่ทุกวันนี้คนรู้ดีแล้วว่า ถ้าเราให้คนไม่ฉลาดมาปกครองประเทศ เราก็จะต้องทุกข์ ต้องทรมานกันต่อไป

เชื่อว่าในปี 2564 ประชาชนจะกลับไปเหมือนก่อนปี 2563 แบบเงียบๆ สงบเสงี่ยม เรียบร้อยได้หรือไม่?

ถ้าจะกลับไปสู่ทางนั้นก็มีวิธีเดียว คือคนที่มีอำนาจในประเทศไทยต้องมาเจรจากับประชาชน เท่านั้นเอง ไม่อย่างนั้นก็ยังใช้วิธีอย่างนี้เรื่อยไป

ผมเคยพูดสะท้อนเข้าหูผู้มีอำนาจในรัฐบาลหลายครั้ง อย่างช่วงนี้มีโควิด ผมไม่อยากให้ประชาชนออกไปชุมนุมกันเลย แต่รัฐบาลและผู้มีอำนาจ ต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุม ต้องหยุดจับ หยุดการดำเนินคดีทุกอย่าง แล้วมาเจรจา แต่เมื่อไม่กี่วันนี้ อัยการส่งตัว 4 คนขึ้นศาล ต่อมาไม่ยอมให้ประกันตัว จึงเป็นเงื่อนไขให้ประชาชน นักศึกษาทนไม่ได้ ออกมาเรียกร้องชุมนุมกันอีก และกระจายออกไป

ในเฟซบุ๊ก ในสังคมออนไลน์ก็ยังมีเป็นล้านๆ คนที่คุยเรื่องการเมือง ดังนั้น จะให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมอย่างปี 2563 เป็นไปไม่ได้แล้ว มีแต่จะคุยมากขึ้น แต่ยืนยันว่า ถ้าจะเป็นไปได้มีทางเดียว คือผู้มีอำนาจหาทางเจรจา หาทางออกให้เจอ แล้วมันจะจบได้

ปี 2564 ช่วงนี้เป็นสัญญาณของการไล่ล่า และเอาคนเข้าคุก ซึ่งสิ่งที่คุณหมออยากเห็น คือการเดินหน้าประเทศด้วยการเจรจาจากฝั่งผู้มีอำนาจ แต่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อคนมีโอกาสจะถูกจับเข้าคุก มากกว่าผู้มีอำนาจตั้งโต๊ะเจรจา?

ตรงนี้ สิ่งสำคัญคือความจริงใจของผู้มีอำนาจที่เราจะเห็นอยู่ตลอด ดูจาก “บันทึกประเทศไทย” เล่มนี้ ถ้าไปนั่งไล่อ่านตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา จะเห็นกระบวนการทำงาน กระบวนการทางความคิดของผู้มีอำนาจในประเทศไทยตามลำดับเลยว่า ไม่มีความจริงใจ

เริ่มต้นปี 2563 มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ พอนักศึกษา ประชาชนออกมาแฟลชม็อบกันมากขึ้น รัฐบาลเมื่อเห็นประชาชนเข้มแข็ง ก็มีท่าทีที่อ่อนลงนิดนึง ยอมให้มีการตั้ง กมธ.ศึกษา แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้คุณพีระพันธุ์ในตอนนั้นเป็นประธานกรรมาธิการ ช่วงนั้นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ แต่โควิดก็มาช่วยรัฐบาลให้การชุมนุมซาไป รัฐบาลก็ดึงเกมไปเรื่อยๆ กมธ.ในสภาก็ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” จนในที่สุด พอโควิดเริ่มซาลง มีการชุมนุมใหม่มากขึ้นๆ ประชาชนเริ่มแสดงความเข้มแข็งมากขึ้น รัฐบาลก็ยอม ฝ่ายค้านเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับไอลอว์และประชาชน รัฐบาลก็เสนอร่างมาบ้าง เอามาประกบเข้าสภา พอถึงวันที่โหวตจริง ก็ไม่มีความจริงใจอีก อภิปรายกันมา 3 วัน 3 คืน สมาชิกวุฒิสภา และพรรครัฐบาล ก็มาบอกว่า ไม่รู้เรื่อง เป็นร่างของ ส.ส. จึงขอตั้ง กมธ.ศึกษา ก็ตั้งไปอีก ดึงเกมไปเรื่อยๆ พอประชาชนเคลื่อนไหวมากขึ้น ในที่สุดก็เอาร่างเข้าสภา แต่ว่าก็ไม่มีความจริงใจอีก ร่างของประชาชนตกไป วันที่มีการชุมนุมหน้ารัฐสภา วันนั้นก็มีการฉีดน้ำ ฉีดสารเคมีอย่างรุนแรง มีการยิงกัน ประชาชนโดนยิง 3 คน ซึ่งผมได้ไปดูแลอยู่ ก็จะดึงเกมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พอประชาชนแข่งเมื่อไหร่เขาก็ทำท่าทีอ่อน ไม่ว่าประชาชนอ่อนลงจากโควิด หรือจากอะไรก็ตามที่ทำให้ดูเหมือนเบาลง เขาก็จะเบี้ยวอีกแล้ว 2 วันมานี้เอาอีก คือ ส.ว.กับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

การที่ผู้มีอำนาจในไทยไม่มีความจริงใจอย่างนี้ มันทำให้ประชาชนไม่เชื่อใจ พอไม่เชื่อใจ มีทางเดียว เมื่อสภาเป็นอัมพาต สภาทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องออกมาสู่ท้องถนน

แทนที่จะแสดงความจริงใจ คุณชวน หลีกภัย ก็ให้ตั้ง กมธ.ปรองดองสมานฉันท์ขึ้นมา แต่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้มีอะไรปรากฏต่อสาธารณชนเลย ถ้ามีความจริงใจจริง ต้องหยุดการดำเนินคดีทุกอย่าง แช่แข็งไว้ก่อน กรรมาธิการสมานฉันท์ รัฐสภาหรือหน่วยงาน ก็ต้องมาหาทางตั้งโต๊ะ เจรจากับนักศึกษาที่จะหาทางออก แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะตั้ง ส.ส.ร. ก็รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ แต่เมื่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจไม่มีความจริงใจ จึงทำให้การเมืองภาคประชาชนเดินไปได้ยาก นำไปสู่ท้องถนนเท่านั้นเอง

ดูแล้วการเจรจาไม่น่าจะเกิดในปี 2564?

ถ้ายังไม่มีความจริงใจอย่างนี้ ดูแล้วค่อนข้างยาก แต่ก็มีอยู่ทางเดียว ถ้าประชาชนเข้มแข็ง ออกมาเต็มท้องถนน เหมือนอย่างที่เคยออกมาเมื่อปีที่แล้ว เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น ถ้าเรามีวัคซีนมากขึ้น ผมเชื่อว่าประชาชนจะกล้าออกมา เพราะส่วนหนึ่ง ประชาชนผู้ชุมนุมทั้งหลาย มีความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องโควิด เรารู้ว่าคือเรื่องความเป็นความตายของพี่น้องทั้งประเทศ อาจจะทำให้เจ็บป่วย แล้วไปทับถมปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งทุกคนรับผิดชอบและห่วงใยกัน เพราะฉะนั้นอาจจะทำให้ส่วนหนึ่งไม่ออกมา

แต่ถ้าเราดูจากโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่าประชาชนติดตาม และยังพูดคุย เคลื่อนไหว แม้ตัวจะไม่ได้ออกมา แต่เป็น virtual ติดต่อกันตลอดเวลา พร้อมที่จะออกมาทุกเมื่อ เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

มองสถานการณ์ประเทศไทยในปี 2563 จากบันทึกประเทศไทยแล้วประเมิน จากประสบการณ์ สิ่งที่รุ้งและนักศึกษาอยากเห็น คือการพาคนลงถนน 2 ล้านคน เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ จะเกิดขึ้นได้ไหม?

ผมชื่อว่าเกิดขึ้นได้ แต่ไม่จำเป็นต้องถึง 2 ล้านคน แค่หลักแสน ผู้มีอำนาจในประเทศไทย และรัฐบาล ก็หนาวแล้ว ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า เมื่อแกนนำถูกจับ ในสภาพที่ไม่มีแกนนำ ประชาชนก็ออกมากัน เต็มแยกปทุมวัน เต็มแยกราชประสงค์ ไม่ต้องเป็นล้าน พอมากันทุกเย็นอย่างนี้การจราจรตรงนั้นเป็นอัมพาต ประชาชนเคลื่อนไหวไม่ไปไหนมาไหนไม่ได้ แต่ 4-5 ทุ่มก็กลับ ไม่จำเป็นต้องอยู่ค้างคืนให้เหนื่อย ให้มีอันตราย รุ่งขึ้นก็มาใหม่ ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน ถามว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร

แล้วตอนนี้พอเราเห็นการรัฐประหารในประเทศเมียนมา หมอ 70-80 โรงพยาบาล ทหาร สไตรก์ ข้าราชการออกมาก่อการประท้วง ประชาชนออกมา ถ้าสถานการณ์ในไทยเอื้ออำนวยอีกครั้งหนึ่ง ถ้ารัฐบาลจุดชนวนอีกครั้งหนึ่ง อย่างเช่น จับสัก 40 คน ที่ผิดด้วย ม.112 แล้วไม่ให้ประกันตัวอีก เอา 40-50 คนไปคุมขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทั้งหมด ผมว่าจนถึงตอนนั้น ประชาชนจะทนไม่ได้ ถึงวัคซีนจะยังมาไม่ครบ ประชาชนก็คงจะไม่รอ และออกมาชุมนุม สู้กับรัฐบาล

ย้อนไปในปี 2563 อะไรที่เป็นจุดดี จุดแข็ง ที่ถ้าเราเอาไปต่อยอดและขัดเกลาในประเทศ ปี 2564 น่าจะเดินหน้าต่อไปได้ เห็นต้นทุนจากร่องรอยในปี 2563 บ้างหรือไม่?

ความจริงโควิดไม่ใช่โรคที่น่ากลัวนะ เทียบกับโรคไวรัสตับอักเสบหรือไวรัสอีกหลายๆ ตัวที่มีอยู่ในจมูก ในปากของคน เป็นสิ่งที่น่ากลัว พอโควิดมา ทำให้ทุกคนใส่หน้ากาก ผมสบายใจแล้วเวลาที่คนมาบรรยายเรื่องอาหารเ ขาใส่หน้ากาก แล้วก็ทานได้สบายใจ

ถึงโควิดจะผ่านไปแล้ว แต่ทุกคนต้องไม่ละเลยสุขอนามัยส่วนบุคคล เพราะร้านอาหารต่างๆ มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้ประชาชนผู้บริโภค ทุกคนต้องล้างมือ คนที่จับสตางค์ไม่ควรที่จะไปจับอาหาร หรือว่าต้องล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์ เรื่องการใช้ช้อนกลาง แต่ก่อนเพื่อนกันบอกว่าถ้าใช้ช้อนกลางคือรังเกียจ ต้องกินช้อนเดียวกัน หารู้ไม่ว่า เป็นตับอักเสบเป็นมะเร็งตับกันในอนาคตหลายรายแล้ว ฉะนั้น โควิดมา ทำให้เราหันมาระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยกันมากขึ้น ตรงนี้ควรจะเอามาต่อยอด ไม่ใช่ว่าวัคซีนมาแล้วสบายใจ ใช้ชีวิตอย่างเก่า เราสามารถใช้ต่อเนื่องให้มีประโยชน์ได้

ส่วนเรื่องการเมือง ก็เป็นสิ่งดีที่มาก หลายคนพัฒนาการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการต่อสู้ สมัยก่อนการทำงานให้ประชาชนของผมจะไม่ค่อยใช้โซเชียลมีเดียมากนัก เพราะไม่ชอบการใช้ยุทธวิธีของการที่จะต้องประชาสัมพันธ์ บางคนต้องมีคนทำให้โดยเฉพาะ อย่างเมื่อก่อน จะไม่ใช้ทวิตเตอร์เลย เพราะรู้สึกว่าผถูกจำกัดเสรีภาพ ให้ใช้ได้้แค่ 40-50 ตัวหนังสือ และเป็นอะไรที่ไว ไปไหนทำอะไร จะต้องบอก ผมถึงใช้แค่เฟซบุ๊ก เพราะชอบสายลม แสงแดด เสียงเพลง อารมณ์ดีเมื่อไหร่ค่อยมานั่งเล่าบรรยายว่าเมื่อวานนี้ไปโน่นนี่มานะ พูดถึงคนนู้นคนนี้

แต่พอเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ เลยจำเป็นต้องยอมรับว่า ต้องทำให้มันทันการณ์ยิ่งขึ้น และเชื่อว่าประชาชนหลายคนเริ่มเรียนรู้ การต่อสู้ และทำให้เร็วยิ่งขึ้น อย่างวันที่ผมโดนจับไป สน.ปทุมวัน วันนั้นเฟซบุ๊กผมคนเข้ามาดู 4 ล้านคน เข้ามากดไลค์หลายหมื่นคนในวันเดียว เป็นปรากฏการณ์ที่ผมตกใจ ว่าเกิดขึ้นอย่างนี้ได้อย่างไร เก็บเลยต้องยอมใช้ทวิตเตอร์ ทำให้สามารถสื่อสารกับประชาชน เป็นประโยชน์ในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อประชาชนมากขึ้น และผมเชื่อว่าผู้ใหญ่อีกหลายคนก็เริ่มปรับตัวเข้ามา ยอมรับ และติดต่อสื่อสารกันได้มากขึ้น ตรงนี้ทำให้เรามาเรียนวิชาต่างๆ ผ่าน สื่อออนไลน์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดมติชน น่าจะมีชั้นเรียนสอนผู้ใหญ่มากขึ้น นอกจากออนไลน์ เพราะการเรียนในห้องยังเป็นประโยชน์ ได้มารื้อฟื้นวิชา มติชนอาจจะสอนวิชารัฐศาสตร์ ให้ผู้ใหญ่มานั่งทบทวน แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน

อีกอย่างที่ผมประทับใจในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือทุกคนจะมีความรัก มีความเสีลสละให้กัน ทุกคนพร้อมที่จะบริจาค อย่างเช่น พอเจอตำรวจจะฉีดน้ำ ทุกคนตะโกน “ร่ม ร่ม ร่ม” จากท้ายขบวน ส่งร่มข้ามหัว ส่งแว่นตา ส่งหน้ากากมา เป็นอะไรที่ทำให้เห็นความเสียสละ ความผูกพันของประชาชน ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือจุดแข็ง และถ้าประชาชนเราใช้จุดนี้ ที่เรียนรู้ถึงการรักและเสียสละกัน จะทำให้ประเทศเราก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคตได้

ถ้าสมมุติว่าแต่ละท่านมีลูก ในปี 2564 อยากให้ลูกอยู่ในไทยหรือไปอยู่ประเทศอื่น?

หัวเราะ สำหรับผมเอง จะให้อยู่เมืองไทย และต่อสู้ไปร่วมกัน ผมว่ามีความหวัง จากประสบการณ์ที่เราเรียนรู้มาในการต่อสู้ และจากขบวนการประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น ผมเชื่อว่าเราจะก้าวหน้าไปอีก ผมเป็นคนมองโลกในง่ดี เชื่อว่าปีนี้เราจะทำอะไรได้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

มีคำถามจากทางบ้าน ถามว่าจะแก้ปัญหาผู้นำไม่ฉลาดอย่างไร หากกลไกรัฐสภาถูกควบคุม แล้วประชาชนจะทำอย่างไร?

เป็นปัญหาที่หนัก เพราะเรายังถูกครอบอยู่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ยังมี ส.ว. 250 คน ที่ทำให้พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ไปรวมกับทางนู้น แล้วก็ตั้งรัฐบาลขึ้นมาจนได้ ผนงรจตกม

ในระบบตอนนี้ ค่อนข้างหวังยาก แต่ผมยังหวังว่าอาจจะมีสักวันที่คุณจุรินทร์ คุณอนุทิน สำนึกได้ และถอนตัวจากการหนุนคุณประยุทธ์ ซึ่งเหตุการณอย่างนี้เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อเรามีผู้นำไม่ฉลาด ประชาชนต้องฉลาด เราต้องยกระดับ พัฒนาตัวเรา พัฒนาการต่อสู้ ให้ได้มากยิ่งขึ้น ต้องสร้างพลังการกดดัน ในขั้นต้น ที่ต้องทำให้ได้ คือต้องกดดันและจับตาดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเข้าสู่วาระ 2 และ 3 น่าจะเดือนนี้เดือนหน้า ถ้ารัฐบาลยังไม่มีความจริงใจที่จะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา ก็มีทางสุดท้าย ทางเดียว คือเราต้องออกมาอยู่บนถนนกัน

ล่าสุดที่เราออกมาชุมนุม ข้างๆ ก็มีพี่น้องเมียนมา ออกมาเคาะกระทะ เคาะหม้ออยู่ด้วย ผมเห็นข้อความหนึ่งและเห็นมานาน พี่น้องเมียนมาเอามาถือ เขียนว่า “The only real prison is fear and the only real freedom is freedom from fear”

“คุกที่แท้จริงก็คือความหวาดกลัว และอิสรภภาพที่แท้จริงก็คือ อิสรภาพจากความหวาดกลัว ก็อยากจะบอกกับพี่น้องประชาชนว่า เราจะต้องมีอิสรภาพจาการหวาดกลัว เราจะไม่กลัว เราจะออกมาต่อสู้ร่วมกัน”

จบได้ในรุ่นเรา อดีตสอนว่า “อย่าเดินชนกำแพง” แต่เอาชะแลงแงะ

“บันทึกประเทศไทย เป็นหนังสือที่ผมอ่านมาตั้งแต่เล่มแรกแล้วก็เก็บไว้เป็นหนังสืออ้างอิง ของปีนี้ก็ตามหามานาน มาที่มติชนหลายครั้งก็ถามหาว่าเมื่อไหร่จะออก ในที่สุดก็จะเปิดโฉมแล้ว เป็นหนังสือที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง น่าจะเก็บไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้” คือความคิดเห็นของ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นักสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมือง อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย และผู้ลงสมัครพรรคไทยรักษาชาติ หลังได้หนังสือเล่มล่าสุดของสำนักพิมพ์มติชนมาครอบครอง

(สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เพจสำนักพิมพ์มติชน)

เมื่อ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง ตั้งโจทย์ว่า เราจะออกจากวังวนนี้ไปได้อย่างไร?

หมอทศพรตอบกลับทันควัน “ปัญหาผู้นำเรา ผมว่ามี 2 อย่าง” อย่างหนึ่งคือ 1.ท่านไม่มีความฉลาด ไม่มีความสามารถ ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศก็คงจะเข้าใจ และยอมรับในจุดนี้

“แม้แต่ฝ่ายที่สนับสนุนก็ตาม คงรู้ว่าเขาได้คนไม่ฉลาดมาเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะดูจากวิธีการคิด วิธีการพูดจา วิธีการทำงาน และผลงานที่ปรากฏออกมา”

อันที่ 2.เขายังมัวเมาอยู่ในอำนาจ ผลประโยชน์มันมหาศาล เป็นพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน

นพ.ทศพรเล่าต่อว่า เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ได้ไปฟังเสวนาที่รัฐศาสตร์ เรื่องรัฐประหารในพม่า ซึ่งมีการพูดถึงกองทัพเมียนมา เทียบกับกองทัพไทยว่า มีอะไรคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งกองทัพไทยมีหน้าที่มีอยู่ 4 ข้อ หนึ่งในนั้น คือการไปช่วยน้ำท่วม และอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร และมี กอ.รมน.ที่ปีหนึ่งๆ ได้งบเป็นหมื่นล้าน เอาไปทำพื้นที่ทุรกันดารที่คนที่ไม่ใช่ทหารไปไม่ถึง

“อย่างที่ไปทำโซลาร์เซลล์ พร้อมกับพิมรี่พาย แต่แพงกว่ากันเป็นร้อยเท่า แค่ตัดงบ กอ.รมน.มาให้วิจัยเรื่องวัคซีนจากยาสูบ เราก็คงเสร็จไปแล้ว คือความไม่ฉลาดในเรื่องการทำงาน แต่มีความฉลาดในการฉ้อฉลที่จะดึงงบประมาณมาไว้ใช้กับตน นี่คือปัญหาที่ทำให้ประเทศเดินไปไม่ได้” หมอทศพรชี้

ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าขบวนการต่อสู้ของเยาวชน นักศึกษา ยังคงมีพลังเต็มเปี่ยม เมื่อรวมกับรุ่นผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดมา จากเหตุการณ์ในอดีต ทั้ง 14 ตุลาคม 16, 6 ตุลาคม 19 จนถึงปี 35, 52, 53 ก็ยิ่งรู้ ยิ่งเข้าใจ

“รั้ว กำแพงอยู่ตรงไหนเราไม่ควรจะเดินเอาหัวชนกำแพง แต่เราเอาชะแลง เอาค้อนแงะกำแพง หรืออาจจะเดินอ้อมกำแพงไปก็ได้ เมื่อใช้ความมีพลัง มีความมุ่งมั่นของน้องๆ นักศึกษา รวมกับประสบการณ์ของพี่ๆ รุ่นใหญ่ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้มันจบที่รุ่นเราได้” หมอทศพรมองอย่างนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image