ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องไทม์ไลน์ บนความรัก ความตาย จากผีบรรพชนถึง ‘อีนากพระโขนง’

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องไทม์ไลน์ บนความรัก ความตาย จากผีบรรพชนถึง ‘อีนากพระโขนง’
ภาพมุมสูงจากโดรนมติชนทีวี บริเวณวัดมหาบุศย์ ที่ตั้งศาลแม่นาคพระโขนง ริมคลองพระโขนง ซึ่งมีคลองตันไหลมาบรรจบ โดยปากคลองพระโขนงคือเมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา ซึ่งเคยพบเทวรูปเขมร “กมรเตง” อันเป็นที่มาของชื่อเมืองพระประแดง อธิบายความเชื่อเรื่องแม่นาคผีบรรพชนเขมรที่สืบทอดสู่ความทรงจำคนยุคอยุธยา

กุมภาพันธ์ เดือนแห่งรัก ความรู้สึกอันซับซ้อนยิ่งในความเป็นมนุษย์

ทว่า ในเรื่องเล่าบนความเชื่อ ไม่เพียงปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่อาจหลีกพ้นวังวนแห่งรัก หากแต่ผีสางผู้ข้ามภพไปสู่โลกหลังความตาย ก็ยังเปี่ยมล้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความผูกพัน

ดังเช่นเรื่องราวของ ‘แม่นาคพระโขนง’ เรื่องผีระดับตำนานอันมีความลึกซึ้ง ซับซ้อน และซ่อนไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ความทรงจำ

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน เปิดประเด็นแรกของปี 2564 ด้วยเรื่องรักที่มากกว่ารัก ในรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘แม่นาคพระโขนง LOVE STORY ผีกับคน ขวัญในโลกต่างมิติ’ พาผู้ชมเดินทางไปยังแหล่งกำเนิด ‘ผีแม่นาค’ ณ วัดมหาบุศย์ ริมคลองพระโขนง ย้อนจินตนาการถึงบรรยากาศป่าช้ายุคเก่า ซึ่งปัจจุบันอยู่บนแนวถนนฝั่งอ่อนนุช แขวงสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

Advertisement

ก่อนปักหลักนั่งพูดคุยหน้า ‘ศาลพ่อปู่’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ ‘มติชน’ สะท้อนความเชื่อเรื่องศาสนา ‘ผี’ ที่อยู่กับคนไทยควบคู่พุทธศาสนามาเนิ่นนาน

(จากซ้าย) เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกร, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ ในรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอนแรกของปี 64 “แม่นาคพระโขนง LOVE STORY ผีกับคน ขวัญในโลกต่างมิติ” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี

‘อีนากพระโขนง’ ผีผู้หญิงในความทรงจำ จากน้ำโขงถึงเจ้าพระยา

เริ่มต้นที่ความหลากหลายในสำนวนเรื่องแม่นาค ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายเวอร์ชั่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทว่า บางสำนวนอ้างอิงถึงยุคก่อนหน้า ไกลถึงรัชกาลที่ 3 ก่อนกลายเป็นภาพยนตร์ละครโทรทัศน์และวรรณกรรม

Advertisement

ขรรค์ชัย และ สุจิตต์ ยกข้อมูลในหนังสือ ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คลังวิทยา เมื่อ พ.ศ.2517 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องแม่นาคได้อย่างน่าสนใจว่า

“ท่านหญิงพูนบอกว่าคุยกับกรมดำรงฯ ตอนนั้นกรมดำรงทรงมีพระชนมายุได้ 81 อยู่ในช่วงบั้นปลาย ทรงเล่าว่า สมัยรับราชการใหม่ๆ เป็นนายทหารประจำการพระราชวังหลวง มีเจ้าพี่เจ้าน้องมักมาประทับคุยอยู่ใกล้ๆ ประตูวัง เห็นคนเข้าออกเนืองแน่นอยู่เสมอ ทรงคิดว่า จะลองความรู้คนดูสักที แล้วลองจดชื่อบุคคล 4 คน คือ 1.ท่านขรัวโต คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์วัดระฆัง 2.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 3.จำไม่ได้ว่าใคร และ 4.อีนากพระโขนง แล้วคอยถามคนที่เข้าออกประตูวังทุกคน ว่าใน 4 คนนี้ รู้จักใครบ้าง ปรากฏว่า อีนากพระโขนง มาเป็นที่ 1 นี่เป็นพยานอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องผีที่คนทุกคนอยากรู้เรื่อง”

อดีตสองกุมารสยามยังชี้ถึงร่องรอยสำคัญที่ทำให้คนสนใจมาก อยู่ที่ความเป็น ‘ผีผู้หญิง’

“ถ้าไม่ใช่ผู้หญิง เจ๊ง ไม่มีคนดูหรอก ความทรงจำยาวนานเรื่องแม่นาค เพราะโครงสร้างของเรื่องถูกจริตชาวอุษาเคนย์ รักครอบครัว รักผัว รักลูก เป็นมรดกตกทอดจากเรื่องแม่นาค ผีบรรพชนหลายพันปีมาแล้ว อยู่ในความทรงจำของคนทั้งในกัมพูชาและไทย จากน้ำโขง ถึงเจ้าพระยา”

จากนั้น ยกหลักฐานคือนิทานในพงศาวดารเขมร เรื่อง ‘พระทอง นางนาค’ ซึ่งเชื่อว่าส่งอิทธิพลถึงราชสำนักอยุธยา

“พระทอง เป็นพวกชวา มลายู ติดต่อค้าขายทางทะเล มาเห็นนางนาคซึ่งเป็นหญิงพื้นเมืองแก้ผ้าอาบน้ำ ก็ไปเกี้ยวพาราสี ได้เสียกัน จากนั้นพระทองเกาะสไบนางนาคไปหาพ่อซึ่งเป็นพญานาคใต้บาดาล พญานาคเนรมิตนครวัดนครธมให้อยู่ด้วยกัน นางนาคคุมราชอาณาจักร พอตายไปก็เป็นผีบรรพชน มีนิทานบอกว่า เวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินต้องไปสมพาส คือ มีสัมพันธ์กับนางนาค ถ้าไม่ไป บ้านเมืองล่มจม

เรื่องนี้ เข้ามาอยู่ในกฎมณเทียรบาลในราชสำนักอยุธยา คือ พระราชพิธีเบาะพก กำหนดให้พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปบรรทมกับแม่หยัว คือ แม่อยู่หัว ทั้งหมดนี้ยืนยันว่านาค เป็นความทรงจำศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องมา ผู้หญิงในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน การสืบสันตติวงศ์ในอดีตก็สืบสายทางฝ่ายผู้หญิง ความรู้เรื่องนางนาคฟักตัวอยู่ในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย แต่เล่ากันในสำนวนไหน เราไม่ทราบ นาค คือผีบรรพชน ไม่ใช่ผีหัวไร่ปลายนาทั่วไป การรักลูก รักผัว รักครอบครัว คือบุคลิกผีผู้หญิงในอุษาคเนย์ที่อยู่ในความทรงจำเรื่อยมา บุคลิกนี้ถูกนำมาใส่ในแม่นาคพระโขนง เราจึงพบว่ากิจกรรมหลักของแม่นาคคือช่วยผัวทำงาน ไม่ได้ไปหลอกใคร การหลอกคือสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลังเพื่อความสนุกในภาพยนตร์”

‘ตายทั้งกลม’ คือ ศักดิ์สิทธิ์ เปิดพงศาวดารเฮี้ยนของผีผู้พิทักษ์

ฟังเรื่องราวลึกซึ้ง ยิ่งชวนตะลึงไปกับความคิดความเชื่อที่มากกว่าเรื่องผีๆ ในวัฒนธรรมบันเทิง ยิ่งไปกว่านั้น ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังจูงมือให้แฟนรายการดำดิ่งลงไปค้นข้อมูลลึกเรื่อง ‘ผี ขวัญ วิญญาณ’ ที่จะอธิบายความเรื่องแม่นาคได้เป็นอย่างดี

“เรื่องผี สังคมยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป ผีในศาสนาดั้งเดิมก่อนรับศาสนาพุทธและพราหมณ์ กับหลังรับศาสนาแล้ว พอพูดไปจะสับสนและปนเป แต่ถ้าค่อยๆ ทำความเข้าใจร่วมกัน เราจะไม่ปนกัน” วิทยากรอาวุโสชิงเกริ่นนำในความมึนงงที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้

“คำว่าผี เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่มีคน มีชุมชนเกิดครั้งแรกในโลกก็มีผีแล้ว ผีหมายถึงคนที่ตายไปแล้ว แต่ขวัญไม่ตาย ดำรงวิถีปกติ เหมือนตอนไม่ตาย แต่ต่างมิติ จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ขวัญเป็นความเชื่อดั้งเดิมคนอุษาเคนย์ และจีนหรืออาจทั้งโลกก็ได้ แต่ปัจจุบันเราเอาไปปนกับวิญญาณที่รับมาจากอินเดียสมัยหลังจากพุทธ และพราหมณ์ ฮินดู

ขวัญกับวิญญาณ ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่ปัจจุบันเราเอาไปปนกัน จึงสับสน

รูปปั้นแม่นาคจากดิน 7 ป่าช้า ฝีมืออาจารย์พวน ช้างเจริญ ซึ่งเคยบวชที่วัดมหาบุศย์ ก่อนถูกแต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงามในศาลใหม่ดังที่เห็นในปัจจุบัน

เรื่องแม่นาค ไม่ใช่วิญญาณ แต่เป็นเรื่องผี ขวัญ

เวลาหมอผีเรียกแม่นาคพระโขนงมาใส่หม้อแล้วไปถ่วงน้ำ ซึ่งในความเชื่อของพุทธ-พราหมณ์ชัดเจนว่า พอตายแล้ว วิญญาณออกจากร่าง ไปจุติ เกิดใหม่ สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ใช่วิญญาณ แต่เป็นผี ขวัญ ในภาษาไทย มีคำว่า มิ่ง กับ ขวัญ ขวัญคือสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่อยู่ในร่างคนทุกจุดของร่างกาย แต่วิญญาณมีดวงเดียว แต่ขวัญมี 80 หรืออาจจะมากกว่า ถามว่า ขวัญไม่มีตัวตน แล้วมันอยู่อย่างไร มันอยู่ในสิ่งที่มีตัวตน เรียกว่า มิ่ง ขวัญต้องอยู่กับมิ่ง มิ่งเป็นที่สถิตของขวัญ มิ่งคือ ร่างกาย คือตัวตน เมื่อคนตาย ร่างกายตาย คือ มิ่งตาย มิ่งเป็นซาก แต่ขวัญไม่ตาย ขวัญเปลี่ยนสภาพไปอยู่อีกมิติหนึ่ง ซึ่งจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น”

อธิบายยาว ก่อนสรุปรวบความเพื่อความเข้าใจตรงกันว่า

“นี่แหละแม่นาค ไปมีวิถีปกติ เหมือนที่เคยปฏิบัติมาและจะปฏิบัติต่อไป แต่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่หมอผีเชิญแม่นาคมาลงหม้อ คือ ขวัญ ไม่ใช่วิญญาณ”

สำหรับประเด็น ‘ตายทั้งกลม’ คือ ตายทั้งแม่ทั้งลูกในท้อง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ อธิบายว่าคนปัจจุบันมักถูกหลอกให้กลัว แต่แท้จริงแล้วในสมัยโบราณ เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์

“การตายทั้งกลม ถือว่าเฮี้ยน คือศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ดุร้าย พบหลักฐานเก่าสุดในพงศาวดารมอญ-พม่า ตอนสร้างปราสาทให้พระเจ้าฟ้ารั่ว มีการผลักหญิงท้องแก่ลงหลุมให้เสาปราสาทกระแทกตายคาหลุม มีเลือดพุ่งขึ้นมาเป็นงู หลักเมืองกรุงเทพฯ มีเรื่องเล่าว่าต้องหาคนชื่อ อิน จัน มั่น คง ใส่ในหลุม นี่เป็นพัฒนาการความเชื่อเรื่องผีผู้พิทักษ์”

คนตาย ขวัญไม่ตาย น้ำเต้าดินเผา ‘มดลูกของแม่’ เมื่อกว่า 2,500 ปี

ปิดท้ายด้วยความยาวไกลในการสืบหลักฐานความเชื่อของผู้คน โดย 2 บัณฑิตศิษย์เก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ยกภาพภาชนะดินเผารูปทรงคล้าย ‘น้ำเต้า’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ครรภ์มารดา’

ภาชนะดินเผา มีฝา บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในแหล่งโบราณคดีเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด รูปร่างคล้าย “น้ำเต้า” สัญลักษณ์ “ครรภ์มารดา”

“นี่คือภาชนะดินเผา กรมศิลปากรขุดพบที่ทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีส่วนที่เป็นทรงกลม และฝา ทั้งหมดรูปร่างคล้ายกับน้ำเต้า น้ำเต้าคือสัญลักษณ์ของครรภ์มารดา หรืออวัยวะเพศของแม่ มดลูกของแม่ที่ให้กำเนิดคน ขุดพบในหลุมศพร่วมกับภาชนะอื่นๆ เต็มไปหมด มหาศาล บรรจุกระดูก อายุ 2,500 ปีเป็นอย่างน้อย

หม้อใส่กระดูกตามวัดตามวา เขาทำกันมาตั้งดึกดำบรรพ์ ปฐมกัปป์ ที่เขาเรียก หม้อฝาละมี

การเก็บกระดูก ซึ่งคือ มิ่ง รอ ขวัญ กลับมา ความตาย คือ ขวัญออกจากร่าง แล้วมันหาทางกลับไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าไปไหน ในอีกสาน จึงมี งันเฮือนดี ตีเกราะเคาะไม้ มีระเม็งละคร หมอลำ เพื่อเรียกขวัญกลับมา ดังนั้น จึงมีมหรสพงานศพ”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมอธิบายผ่านหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญ

พาผู้ชมผู้ฟังและผู้อ่านเดินทางไปยาวไกลเกินกว่าเรื่องแม่นาคพระโขนงที่คุ้นเคย ข้ามเส้นของเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม สู่มิติทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีกับสังคมร่วมสมัยที่ไม่อาจแยกจากกันได้โดยสิ้นเชิง

อีนาก แม่นาค นางนาก
สำนวนหลากหลายในความทรงจำ

ตํานานเรื่องแม่นาคพระโขนง เป็น ‘คำบอกเล่า’ ที่ถูกแต่งเป็นนิทาน อยู่ในความทรงจำสืบมายาวนาน ประกอบด้วยสำนวนหลากหลายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทว่า บางสำนวนอ้างอิงถึงยุคก่อนหน้า ไกลถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

1.สำนวนของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2442 โดยเล่าว่า อำแดงนาก (สะกด ด้วย ก.ไก่) เป็นเมีย นายชุ่ม อาชีพเล่นโขน เป็นตัวทศกัณฐ์ ฐานะร่ำรวย มีลูกหลายคน ครั้งอำแดงนากคลอดลูกตายทั้งกลม ก็ถูกนำร่างไปฝังในป่าช้าวัดมหาบุศย์ ลูกๆ ของอำแดงนากกับนายชุ่ม ร่วมกันสร้างเรื่องผีมาหลอกคนริมคลองพระโขนง หวังไม่ให้บิดามีเมียใหม่ เพราะหวั่นแย่งชิงสมบัติไป

แม่นาค 2505 เวอร์ชั่น “ปรียา รุ่งเรือง” ฉายา “อกเขาพระวิหาร” พี่สาวเพื่อนคนหนึ่งของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเคยหยิบยืมอุปกรณ์เสริมมาแต่งหญิงเพื่อแสดงละครของโรงเรียน

2.นางนาก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ โดยทรงใช้นามแฝงว่า C.H.T. (Calton H. Terris) เรื่องมีอยู่ว่า นางนาก หญิงงาม เป็นภรรยา นายขำ ชาวนาผู้มั่งคั่งแห่งบางพระโขนง นางนากคลอดลูกแล้วตาย นายขำไม่กล้าแต่งเมียใหม่ เพราะผีนางนากมาช่วยทำงานบ้านทุกวัน อีกทั้งต้อนควาย วิดน้ำเข้านา จึงไม่มีหญิงใดกล้ามาอยู่ด้วย สำนวนนี้ แต่งด้วยภาษาอังกฤษ ในชื่อว่า ‘The Second Ghost of Phra-Kanong’

3.พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 แต่เป็นภาษาไทย ใช้นามปากกา ‘นายแก้วนายขวัญ’ ตีพิมพ์ในหนังสือ ทวีปัญญา ฉบับเมษายน พ.ศ.2448 สำนวนนี้ นางนาก เป็นภรรยาขี้หึงของพันโชติ (กำนัน) ก่อนตายเคยบอกไว้ว่าถ้าพันโชติมีเมียใหม่ จะเป็น ‘ปีศาจ’ มาหลอกหลอน ครั้นนางนากตายไปจริงๆ ไม่ได้มาหลอกใคร แต่ลูกชายร่วม20กันสร้างสถานการณ์ผีๆ ให้คนกลัว เพราะไม่อยากให้พ่อมีเมียใหม่

4.บทละครร้อง ‘อีนากพระโขนง’ ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เล่นที่โรงละครปรีดาลัย ในวังแพร่งนรา ถนนตะนาว กรุงเทพฯ สำนวนนี้ นางนากเป็นเมีย ‘นายมาก’ อย่างที่เรารู้จัก บ้านอยู่ริมคลองพระโขนง วันหนึ่งถูกเกณฑ์ไป ‘เข้าเดือน’ ทำงานราชการในเมือง นางนากจึงต้องอุ้มท้องลำพัง ต่อมาคลอดลูกตายทั้งกลม เพื่อนบ้านและสัปเหร่อช่วยจัดแจงงานศพ แล้วฝังในป่าช้าวัดมหาบุศย์ ผีนางนากอุ้มลูกชายไปหานายมากที่กรุงเทพฯ แล้วร่วมหลับนอนกัน รุ่งเช้าก็หายไป ครั้นนายมากออกเวรได้//กลับบ้านบางพระโขนง เพื่อนบ้านบอกว่านางนากตายแล้ว แต่นายมากไม่เชื่อ แล้วมีเรื่องราวพิสดารออกไป

นับแต่นั้น เรื่องราวเหล่านี้ก็ได้รับการสร้างสรรค์เป็นผลงานให้รับชมทั้งจอเงินและจอแก้ว อีกทั้งรูปแบบอื่นๆ มากมาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image