รัฐธรรมนูญ ประชามติ และอนาคตประเทศไทย บรรยาย ‘รับน้อง’ สร้างสรรค์โครงการ ‘SEAs’

บรรยกาศในห้องบรรยาย

ถือว่าเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ซึ่งผลที่ออกมา “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” จึงเดินหน้ามุ่งสู่โรดแมปขั้นต่อไป ขณะที่ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เองก็เดินหน้าจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเช่นกัน

อย่างไรก็ตามท่ามกลางอนาคตที่ยังคลุมเครือ สถานการณ์ที่แม้ว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ยังคงไม่ชัดเจน วิชา มธ.111 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Southeast Asian Studies หรือ “SEAs) ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ ประชามติ และอนาคตประเทศไทย” โดยมีวิทยากรได้แก่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ท่ามกลางนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของโครงการ และสื่อมวลชนที่มาเต็มพื้นที่ ห้อง 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ที่ต่างพร้อมรอฟังเสวนาด้วยใจจดจ่อ

Advertisement

เป็นการรับน้องใหม่ ที่ได้ทั้งเนื้อหาและความสนุกสนานโดยไม่ต้อง “ว้าก” ให้เกรงกลัว

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์เริ่มต้นทักทายกับนักศึกษาใหม่ที่อยู่เต็มห้อง 107 อย่างเป็นกันเอง พร้อมกล่าวแซว อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่าเดิมทีที่มาศึกษาที่โครงการแห่งนี้ อัครพงษ์เป็นคนที่เอวบางร่างน้อยและหล่อที่สุดในรุ่น ขณะเดียวกันก็แซวนักศึกษาใหม่ที่เวลาถามตอบแล้วยังคงเหนียมอายว่า ยังอยู่ในช่วง “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง” อยู่แต่เดี๋ยวอีกไม่นานคงจะไม่เป็นเช่นนี้ เรียกเสียงหัวเราะจากนักศึกษาทั่วทั้งห้องประชุม

ก่อนที่จะเริ่มต้นกล่าวว่า ส่วนตัวคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 จะไม่ผ่าน เนื่องด้วยเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเสนาอำมาตย์ตุลาการ เพื่อเสนาอำมาตย์ตุลาการ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

ที่สำคัญ ชาญวิทย์กล่าวอีกว่า การวิเคราะห์คาดการณ์ได้ใช้วิชาประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่ร่ำเรียนมาในการวิเคราะห์ จากสถานการณ์ที่เห็นอีกว่านอกจากที่มาของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคใหญ่บอกว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอีก

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ซึ่งเป็นการคาดคะเนที่ผิดของผม” ชาญวิทย์กล่าวยอมรับ “เช่นเดียวกับกรณีของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่คาดคะเนว่าจะอยู่ครบวาระ ทั้งที่ผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพและคาดการณ์ด้วยวิชาประวัติศาสตร์ว่าฝ่ายทหารไม่น่าจะทำปฏิวัติกับนายกผู้หญิง แต่สุดท้ายก็ผิดเช่นกัน”

รวมไปถึงกรณีของ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ที่เขาเองมองว่า สมัคร ไม่น่าจะไปได้ไกลกว่าการเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เนื่องด้วยความด่างพร้อยในสมัย 6 ตุลาฯ

“ดังนั้นในสิ่งที่มาพูดในวันนี้ ผมก็อาจจะคาดคะเนผิดอีกก็เป็นได้” ชาญวิทย์กล่าว-หัวเราะเล็กน้อย ก่อนที่เริ่มต้นแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาเป็นสงครามตัวแทนสองฝ่ายคือ อำนาจเดิม และแนวคิดอนุรักษนิยมเดิม กับ อำนาจใหม่ แนวคิดเสรีประชาธิปไตยใหม่

ทั้งหมดเป็นการต่อสู้ระหว่าง “เดิม” กับ “ใหม่” เป็นสงครามที่ยาว ยืด รุนแรง อย่างที่เราได้สัมผัส เป็นสงครามที่ข้ามทศสมัย

“ท่านผู้ฟังที่อยู่ที่นี่และอยู่ที่ทางบ้านคงต้องการคำตอบว่าใครจะชนะ ผมตอบว่าฝ่ายที่จะชนะคือฝ่ายที่มีความอดทนสูง มีขันติบารมี กล่าวคือ ใครอดทน ใครรอได้ จนถึงชั่วขณะของสัจธรรมนั้นคือผู้ชนะ ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นอยู่คือเกมรอ เกมรั้ง เกมยื้อ ในศึกสงครามต่อจากนี้เชื่อว่าจะไม่มีการประนีประนอม “เกี้ยเซี้ย” อีกต่อไป เพราะสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปนั้นจะไม่เกิดขึ้น การปรองดองจะไม่มี เพราะรัฐธรรมนูญที่เกิดเป็นรัฐธรรมนูญของเสนาอำมาตย์ตุลาการ ทั้งหมดจึงเป็นการรักษาสถานะเดิมมากกว่าที่จะปรองดองกับอีกฝ่าย

“ดังนั้นการแตกหักจนถึงขั้นนองเลือดก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมอยากจะเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น แต่ไม่อยากที่จะเห็นมัน” ชาญวิทย์กล่าว ก่อนจะยกเอาท่อนหนึ่งของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยามาปิดท้าย และภาวนาว่าขอให้การพยากรณ์นี้ผิด

     คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน

มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง

     พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง

ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร

     ในลักษณะทำนายไว้บ่ห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม

มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด

     มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ

ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

ฟังการพูดคุย “ต้อนรับ” จากอาจารย์และวิทยากรมากความรู้แล้ว ลองฟังนักศึกษาชั้นปีหนึ่งของโครงการนี้ ว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการก้าวเข้าสู่รั้วการศึกษาในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะความขัดแย้ง

นิธิ สังขวาสี – ศุภวรรณ ขามเทศ – กัญญารักษ์ บัวเนียม

นิธิ สังขวาสี หรือ เวียง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการเข้ามาการเข้ามารับฟังงานเสวนาในวันนี้ได้ทำให้เห็นถึงแง่มุมหลังการทำประชามติว่าแท้จริงแล้วการทำประชามติในครั้งนี้มีผลอย่างไรต่อประชาชน และอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป สิ่งหนึ่งที่คิดเคลือบแคลงใจสงสัย คือ ทำไมประชาชนไทยส่วนใหญ่จึงไม่ตื่นตัวและตั้งข้อสงสัยว่าการทำประชามติในครั้งนี้นั้นไม่ฟรีและไม่แฟร์ ท่ามกลางสังคมซึ่งถูกปิดกั้นและมีการถูกจับกุมคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ

“ส่วนตัวเห็นว่าอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้ตนเองก็ยังคงมองไม่เห็นทางออกของประเทศว่าจะเป็นอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน อยากให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” นิธิกล่าว

ด้าน กัญญารักษ์ บัวเนียม หรือ ฟา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวพร้อมรอยยิ้มด้วยความเคอะเขินว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาฟังงานเสวนาในวันนี้ ซึ่งก็ได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่ไม่เคยได้ยินผ่านทางสื่อกระแสหลักทั่วไป รวมถึงได้เจอกับอาจารย์ชาญวิทย์เป็นครั้งแรกอีกด้วย

“ส่วนตัวชอบได้มีโอกาสอ่านหนังสืออาเซียนศึกษาที่อาจารย์ชาญวิทย์เป็นผู้รวบรวมข้อคิดเห็นของอาจารย์ท่านอื่นๆ และรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก การได้เจอกับอาจารย์ชาญวิทย์ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก รวมไปถึงได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นทางการเมืองของอาจารย์ด้วยเช่นกัน” กัญญารักษ์กล่าวก่อนที่จะเสริมว่า “อีกคนคืออาจารย์ปิยบุตร ที่เพิ่งเคยเจอตัวจริงเช่นกัน หลังจากที่มีโอกาสฟังผ่านทางยูทูบบ่อยๆ แต่ครั้งนี้ถือว่าได้มีโอกาสฟังสดๆ เป็นครั้งแรก ซึ่งตื่นเต้นและประทับใจมากเช่นกัน” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

กัญญารักษ์ทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ก็คงจะศึกษาหาความรู้ต่างๆ เพิ่มเติมเพราะยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากและอยากจะมีโอกาสนำวิชาที่ได้เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

ขณะที่ ศุภวรรณ ขามเทศ ประชาชนที่มารับฟังงานเสวนา กล่าวว่า ถ้าคนสนใจและมาฟังจะได้รับความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเพราะอะไร ขณะที่หลายคนมักมองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก

“คิดว่าอนาคตเรายังคงไปไหนไม่ได้ เพราะประชาชนยังไม่เรียนรู้ ไม่วิเคราะห์และแยกแยะ ส่วนใหญ่มักจะรับฟังโดยที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง รวมถึงคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนที่มีการศึกษาทั้งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ และหากทุกคนมีส่วนร่วมจะทำให้ประเทศไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่”

“อยากให้มีการจัดงานแบบนี้และเผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เพราะจะทำให้คนที่มีโอกาสฟังและคิดวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น” ศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

เป็นควันหลงงาน “ร้บน้อง” ที่ได้ประโยชน์และน่าสนใจยิ่ง

สถาบันการศึกษาไหน คณะใดอยากนำไปเลียนแบบ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาบอกว่าไม่สงวนลิขสิทธิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image