อาศรมมิวสิก : ทำดนตรีไทยให้เป็นดนตรีโลก

อาศรมมิวสิก : ทำดนตรีไทยให้เป็นดนตรีโลก

อาศรมมิวสิก : ทำดนตรีไทยให้เป็นดนตรีโลก

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 มีงานแถลงข่าวที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นประธานในการแถลงข่าวเรื่องการแสดงดนตรีที่วัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้แสดงไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นการนำผลงานวิจัยเรื่อง “พื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่ โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรี”

ในวันแถลงข่าวและวันแสดง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ก่อนการแสดงได้ตั้งคำถามไว้หลายเรื่อง ทั้งคำถามเชิงหารือว่าดนตรีจะช่วยพัฒนาชาติได้อย่างไร ส่วนคำถามที่เป็นข้อสงสัยว่าดนตรีจะเป็นอาชีพทำมาหากินได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ว่าจะนำดนตรีไทยไปสู่ดนตรีโลกได้อย่างไร แบบดนตรีจีน ดนตรีอินเดีย ดนตรีญี่ปุ่น เป็นต้น

ซึ่งก็คงไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์นัก แต่จะตอบคำถามตามสามัญสำนึกว่า ดนตรีนั้นจะช่วยพัฒนาชาติได้อย่างไร ดนตรีพัฒนาเศรษฐกิจชาติ ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ดนตรีพัฒนาคนและศักยภาพของคน ดนตรีเป็นมรดกของชาติที่มีราคาแพง และดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน

Advertisement

ดนตรีทำหน้าที่รับใช้สังคม ใช้ประกอบพิธีกรรมมาช้านาน ดนตรีอยู่ในสังคมสยามโดยใช้เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ของพิธีกรรม ดนตรีเป็นเครื่องมือของผู้นำ พิธีกรรมทุกชนิดต้องอาศัยเสียงดนตรีทำหน้าที่ประโคมทำเสียง เพราะเสียงมีอำนาจ ผู้นำต้องใช้เสียงเพื่อนำจิตวิญญาณ เสียงดนตรีทำให้พิธีกรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ หากว่าพิธีกรรมใดก็ตามที่ไม่มีเสียงดนตรี พิธีกรรมนั้นก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ขลัง ไม่ปัง และไม่ยิ่งใหญ่ เสียงดนตรีจะประสานเนื้องานของพิธีกรรมให้ศักดิ์สิทธิ์และขลัง ดนตรีได้ทำหน้าที่อยู่ในพิธีกรรมของสยาม

เสียงดนตรีอยู่กับทุกศาสนา ทั้งหมอผีและนักบวช เพลงที่สวดในศาสนาเชื่อว่า “เสียงน้อยกิเลสน้อย” เสียงดนตรีจะนำดวงวิญญาณไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าหรือไปสู่สรวงสวรรค์ ทุกศาสนาจึงต้องมีเพลงสวด เมื่อสวดแล้วก็จะมีความสุข จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน สร้างความเชื่อมั่น เสียงดนตรีทำให้จิตใจของทุกคนมั่นคง

วรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ มีเครื่องดนตรี แตรงอน สังข์ พิณพาทย์ ฆ้อง ใช้เสียงดนตรีเป็นเครื่องประโคมในพิธีกรรม เครื่องดนตรีเหล่านี้ทำให้เกิดเสียงดัง แต่ไม่ได้เป็นทำนองเพลงที่ไพเราะอย่างใด มนุษย์มีความกลัว จึงต้องการเสียงดังๆ เพื่อช่วยขจัดความกลัวให้ออกไป เมื่อมนุษย์ได้ยินเสียงแล้วรู้สึกว่าอบอุ่นและมั่นคง ดนตรีจึงทำหน้าที่รวบรวมจิตใจคนไว้ด้วยกัน

Advertisement

“แตรสังข์พิณพาทย์ฆ้อง เสียงประโคมครื้นก้อง แหล่งหล้ากรุงไกร”

“เสียงแตรสังข์พาทย์ฆ้อง กึกก้องเสทือนธรณิน”

“เปนมหามหรสพ ตลบดุริยางคดนตรี ตีฆ้องกลองครื้นเครง ละเวงศัพท์แตรสังข์ ประดังเสียงกึกก้อง ท้องธรณีนฤนาท”

ในลิลิตโองการแช่งน้ำ เป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ ซึ่งรับมาจากเขมรอีกทอดหนึ่ง มีพระวิษณุหรือพระนารายณ์ทรงครุฑ

“อันนารายณ์นั้นสี่หัตถา ทรงตรีคทาจักรสังข์”

ซึ่งเสียงดนตรีได้ทำหน้าที่ประโคมในพระราชพิธีของกษัตริย์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยกระทั่งปัจจุบัน

ดนตรีทำหน้าที่เพื่อความบันเทิง พบหลักฐานในวรรณคดีกาพย์พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์ขึ้นโดยสุนทรภู่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2383-2385) รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ยึดถือประเพณีและองค์ความรู้จากสมัยอยุธยา เป็นช่วงเวลาที่สุนทรภู่ไปอยู่และศึกษากับครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ) ได้วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีขึ้น มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับดนตรีจำนวนมาก ทั้งปรัชญา ความเชื่อ พิธีกรรม ความบันเทิง และหุ้นส่วนของชีวิต สำหรับดนตรีที่มีในกาพย์พระไชยสุริยา น่าสนใจมาก ดังนี้

“อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวะนารี ที่หน้าตาดีดี ทำมะโหรีที่เคหา ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา”

เป็นวรรณคดีที่บอกให้รู้ว่า เจ้านายได้หาผู้หญิงที่หน้าตาดีให้มาเล่นมโหรี สีซอทั้งเช้าค่ำและเสพกาม อีกตอนหนึ่งบอกว่า “กระจับปี่สีซอทอเสียง ขับรำจำเรียง สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง” พูดถึงผู้หญิงสวยเล่นกระจับปี่และขับร้อง ซึ่งเป็นดนตรีที่รับอิทธิพลจากเขมร ทั้งการขับร้องและการเล่นกระจับปี่

“กระจับปี่สีซอท่อเสียง ขับรำจำเรียง สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง”

ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี สามพราหมณ์ซึ่งเป็นตัวแทนสังคมทั่วไป ได้ตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า ทำไมพระอภัยมณีจึงเรียนดนตรี ดนตรีมีประโยชน์อย่างไร เป็นคำถามที่เป็นปรัชญา (คลาสสิก) ของสังคมไทย

“อันดนตรีมีคุณที่ข้อไหน ฤาใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง
ยังสงสัยในจิตคิดประวิง จงแจ้งจริงให้กระจ่างสว่างใจ”

เมื่อดนตรีออกจากพิธีกรรม ดนตรีเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของชีวิต ดนตรีเป็นความบันเทิง ดนตรีเข้าไปอยู่กับกิจกรรมสังคม ดนตรีช่วยหล่อเลี้ยงให้กิจกรรมมีความสุขสนุกสนาน ในความบันเทิงมีดนตรีอยู่ 2 ระดับ คือ ดนตรีที่ต่ำกว่าสะดือและดนตรีที่สูงกว่าสะดือ โดยธรรมชาติแล้ว ดนตรีที่ต่ำกว่าสะดือนั้นสัมผัสได้ง่ายและเสพได้เร็วกว่า จากวรรณคดีเรื่องระเด่นลันได ดนตรีเป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน เป็นภาพลักษณ์ของวิชาไพร่

“เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
ไม่มีใครชังชิงทั้งหญิงชาย ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์ ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี ภูมีซบเซาเมากัญชา”

ทีนี้จะนำดนตรีไทยไปให้ถึงชาวโลกได้อย่างไร สิ่งแรกก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ดนตรีให้เป็นวิชาที่มีเกียรติเชื่อถือได้ก่อน ดนตรีเป็นวิชาของนักปราชญ์ ดนตรีสามารถให้ความสุขแก่คน ดนตรีสามารถสร้างรอยยิ้ม สร้างจินตนาการ สร้างความคิดสร้างสรรค์ สร้างสุขภาพจิตที่ดี ดนตรีทำให้คนฉลาดขึ้นได้ ดนตรีสามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญงอกงาม จึงต้องสร้างภาพดนตรีให้ดีก่อน เรียนดนตรีดูดี “เก่งและรวย”

ไทยขายธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นรายได้ลำดับต้นๆ ของประเทศ ในประเทศที่เจริญแล้วจะขายความสุขที่สูงกว่าสะดือ ดนตรีเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต ดนตรีสร้างเสน่ห์และให้รสนิยม ดนตรีเป็นหุ้นส่วนสำคัญของชีวิต นักท่องเที่ยวชั้นดียินดีที่จะจ่ายเพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อให้ตนเองดูดี มีเสน่ห์ และมีรสนิยม

ดนตรีที่ดีต้องเล่นโดยนักดนตรีที่มีฝีมือสูง มีศักยภาพความเป็นเลิศ ดนตรีที่มีคุณภาพและขายคุณภาพ ขายความสำเร็จคือคุณภาพ สุดยอดฝีมือคือคุณภาพ ดนตรีเป็นศิลปะของหัวใจและเป็นหัวใจของศิลปะทั้งมวล

การสร้างดนตรีที่มีคุณภาพ ต้องลงทุน ซึ่งทุนประกอบด้วย หัวใจที่มีความรักในการทำงานดนตรี ต้องใช้สมอง สติปัญญา และประสบการณ์ ต้องลงมือทำทั้งสองมือและทำให้สำเร็จด้วยดีมีคุณภาพ ใช้จิตวิญญาณในการทำงานดนตรี ส่วนสุดท้ายก็ต้องมีเงินทำงาน “งานคือเงิน เงินคืองาน” แต่งานที่ดีนั้น มีคุณภาพยิ่งใหญ่กว่าเงิน

หากว่าท่านรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ต้องการให้ผมควบคุมการทำงานเพื่อนำดนตรีไทยไปสู่ดนตรีโลก จะใช้เงินปีละ 200 ล้านบาท ใช้เวลา 5 ปี รวมเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าสามารถรวบรวมดนตรีไทยในพื้นที่ภาคต่างๆ ได้สำเร็จ เพลงภาคกลาง 2,000 เพลง เพลงภาคเหนือ 400 เพลง เพลงภาคอีสาน 400 เพลง และเพลงภาคใต้ 300 เพลง รวมกันคร่าวๆ 3,100 เพลง นำมาพัฒนาให้เป็นเพลงของโลก โดยที่ยังรักษาวัฒนธรรมเพลงของชาติเอาไว้ กระบวนการรวบรวมเพลงเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะเมื่อมีเงินแล้วจะทำอย่างไรก็ไม่น่าเกลียด

ให้นักดนตรีชาวบ้านส่งเพลงมาให้ทางไลน์ หรือเชิญวงดนตรีชาวบ้านมาเล่นบันทึกเสียง โดยใช้ทฤษฎี “เสียงดังตังค์มา” ศิลปินชาวบ้านผู้รักษาเพลงก็จะมีเงินเลี้ยงชีพ สามารถเล่นดนตรีด้วยความสุข จะเอากี่ร้อยกี่พันเพลงก็สามารถทำได้ ได้เพลงมาแล้วก็เอาเพลงไปฝากไว้กับเทวดา (iCloud)

ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีประจำชาติเหล่านี้ สามารถนำมาเรียบเรียงให้เป็นวงซิมโฟนีออเคสตราและให้เป็นวงดุริยางค์เครื่องเป่า ให้วงดนตรีเล่นบันทึกเสียงทุกเพลง โดยใช้นักดนตรีฝีมือชั้นเยี่ยมมาตรฐานนานาชาติ กระจายเพลง กระจายงาน กระจายเงินไปให้วงดนตรีที่มีอยู่ในเมืองใหญ่ วงดนตรีในมหาวิทยาลัย วงดนตรีในโรงเรียน วงดนตรีของโลก ให้สืบทอดเพลงของชาติ เผยแพร่ไปที่เยาวชนรุ่นใหม่ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

เมื่อเพลงได้บันทึกเสียงแล้วผลิตออกมาเป็นไฟล์เสียง กระจายเพลงไปเปิดในสนามบิน บนสายการบิน ในร้านอาหารไทยทั่วโลก โรงแรมไทยที่รองรับนักท่องเที่ยว ทั้งโรงแรมที่อยู่ในประเทศไทยและโรงแรมของคนไทยในต่างประเทศ ใช้เพลงเป็นของที่ระลึกให้แก่ชาวต่างชาติโดยผ่านร้านค้าที่สนามบิน สถานทูตไทย ใช้เพลงเป็นของที่ระลึกจากประเทศไทย ซึ่งดนตรีเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ใช้ดนตรีประกอบภาพยนตร์ไทย ในสารคดีไทย รายการโทรทัศน์ไทย การ์ตูนไทย รายการวิทยุเพลงไทย เป็นต้น เป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมเพลงไทย

การจัดประกวดดนตรีระดับนานาชาติ ใช้เพลงไทยเป็นเพลงบังคับและเป็นเพลงเลือก ทั้งเพลงเดี่ยวและเพลงสำหรับวงดุริยางค์เครื่องสายและวงดุริยางค์เครื่องเป่า การให้รางวัลผู้ชนะเลิศการประกวดดนตรีราคาที่สูง (เหมือนนักกีฬา) สูงพอที่ทุกคนทั่วโลกอยากเข้าร่วมแข่งขัน เมื่อมีการแข่งขันดนตรีในประเทศไทย โดยเล่นเพลงไทย นักดนตรีระดับโลกก็เล่นเพลงไทย จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ดนตรีไทยออกไปสู่ชาวโลกเร็วขึ้น

โดย สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image