แท็งก์ความคิด : น. ถึง น.

เทศกาลตรุษจีนนอกจากจะไหว้เจ้าแล้ว ยังมีการไหว้บรรพบุรุษเพื่อเป็นสิริมงคล

เรามีวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากบรรพบุรุษสร้างความเข้มแข็งให้วงศ์ตระกูลไว้

หนังสือชื่อ “น. ถึง น.” เป็นหนังสือที่อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เขียนเล่าเรื่องตระกูล “เศรษฐบุตร” ไว้อย่างน่าสนใจ

เริ่มต้นจาก “ครูลัด” ครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนสุนันทาลัยได้รับการคัดเลือกให้เป็นล่ามประจำกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2436

Advertisement

ปี 2436 อยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5

ครูลัดได้รับมอบหมายให้ทำงานกับมิสเตอร์ โรแลง ยัคแมงส์ ชาวเบลเยียม ที่ปรึกษาราชการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ครูลัดมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับมิสเตอร์โรแลงในช่วงวิกฤต ร.ศ.112

Advertisement

มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ได้รับการสนับสนุนจากมิสเตอร์ โรแลง ยัคแมงส์ ซึ่งภายหลังเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ทูลขอให้ครูลัด ซึ่งตอนนั้นเป็นขุนลิปิกรณ์โกศล ศึกษาภาษาอังกฤษที่ประเทศอังกฤษ

ได้รับทุนการศึกษาให้เรียนวิชากฎหมายที่คิงสกอลเลซ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

หลังจากนั้นขุนลิปิกรณ์โกศลได้เดินทางกลับประเทศ ย้ายสังกัดจากกระทรวงต่างประเทศไปอยู่กระทรวงยุติธรรม

รับราชการกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นเสนาบดี

เติบโตทางหน้าที่ราชการจนได้รับบรรดาศักดิ์ “นรเนติบัญชากิจ”

ต่อมาเป็น “พระนรเนติบัญชากิจ” และเป็น “พระยานรเนติบัญชากิจ” ขณะที่มีอายุ 39 ปี

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นองคมนตรี มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย

สมัยนั้นมีองคมนตรี 233 คน

ตอนที่เป็นพระยานรเนติ ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยายืนชิงช้า

พระยายืนชิงช้านี้ ถือเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์

การที่ได้รับหน้าที่นี้ถือเป็นเกียรติอย่างสูง

ต่อมาปี 2469 ได้รับพระราชทานนามสกุล “เศรษฐบุตร”

จึงถือว่าพระยานรเนติบัญชากิจเป็นต้นตระกูล “เศรษฐบุตร”

พระยานรเนติบัญชากิจมีลูกชายลูกสาวรวม 8 คน

ลูกชายคนโตชื่อ “ชวลิต” เป็นคนในวงการนักเขียน ใช้นามปากกาว่า “กุมารใหม่”

นายชวลิตเป็นบิดาของนายเฉลิม เศรษฐบุตร บิดาของอาจารย์นรนิติ

อาจารย์นรนิติเขียนเอาไว้ว่า ชื่อ “นรนิติ” น่าจะมาจากบิดาที่รำลึกนึกถึงปู่ คือ พระยานรเนติบัญชากิจ จึงเลือกที่จะตั้งชื่อนี้

ตอนหนึ่งของหนังสือ อาจารย์นรนิติยังกล่าวถึง “สอ เศรษฐบุตร” เอาไว้ในเล่ม

“สอ เศรษฐบุตร” หรือหลวงมหาสิทธิโวหาร แต่งงานกับนางนิตย์ เศรษฐบุตร ลูกสาวคนรองสุดท้ายของพระยานรเนติบัญชากิจ

สอ เศรษฐบุตร เป็นเลขาธิการคณะกรรมการองคมนตรี รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

ภายหลังได้รับผลกระทบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และลาออกจากราชการ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลถึงครอบครัว

เนื้อหาภายในหนังสือมีรายละเอียดหลายอย่างที่น่าสนใจ

แม้แต่เส้นทางชีวิตของอาจารย์นรนิติก็น่าสนใจ

อาจารย์นรนิติ แม้จะชื่อนรนิติ ที่คิดว่าน่าจะมุ่งไปทางนิติศาสตร์

แต่อาจารย์นรนิติสนใจวิชารัฐศาสตร์ โดยเข้าศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ อาจารย์นรนิติเลือกเรียน “โซเวียตวิทยา” ที่สวิตเซอร์แลนด์

กลับจากต่างประเทศทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนังสือ น. ถึง น. ได้สอดแทรกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เข้าไปเป็นช่วงๆ

นับตั้งแต่สมัยพระยานรเนติบัญชากิจ ที่มีส่วนในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสบุกไทย การตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ไปยุโรป การศึกษาในต่างประเทศในฐานะนักเรียนทุน

เหตุการณ์ความขัดแย้งในคดีพระยาระกา เรื่อยมาถึงเหตุการณ์สงครามอินโดจีน

หลายจังหวะเวลาได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์

ไม่ว่าจะเป็น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายปรีดี พนมยงค์ ร.อ.แปลก ขีตะสังคะ นายควง อภัยวงศ์ นายประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น

การเอ่ยถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และเอ่ยถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านลำดับเวลาตามเหตุการณ์สำคัญและบุคคลสำคัญได้

หนังสือ น. ถึง น. เล่มนี้ อาจารย์นรนิติจัดพิมพ์จำนวนจำกัด

อ่านหนังสือเล่มนี้จบ สัมผัสคุณค่าได้จากเนื้อหา

แต่ละเรื่องราว ล้วนเป็นเรื่องที่น่าบันทึกและเผยแพร่

เฉกเช่นเดียวกับหนังสือ น. ถึง น. ที่นำบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง

ต้องขอขอบคุณอาจารย์นรนิติ ที่มอบหนังสือเล่มนี้มาให้อ่าน

ได้เห็นคุณค่าของชีวิต ได้รำลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ

และความภาคภูมิใจในวงศ์ตระกูล

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image