คาเฟ่ ‘กัญชา’ ตำรับยา อาหาร ก้าวแรกจาก คลายล็อก สู่ มูลค่าทางเศรษฐกิจ

จุดกระแส แบบมาแรงสุดๆ สำหรับพืชสมุนไพรใบเขียว คู่บ้านเมืองไทยมาแต่ในอดีต

เมื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี 2564

ปลด 5 ตำรับยา ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ให้เสพเพื่อรักษาโรค หรือใช้ศึกษาวิจัยได้ ทั้ง 5 ตำรับ

เป็นการนำออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ทำให้ต่อไปนี้ ใบ-ราก-ลำต้นกัญชา ไม่ใช่สารเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป

Advertisement

โดยภาครัฐ โฟกัสไปยัง “ยาศุขไสยาศน์” ที่มากสรรพคุณ ทั้งช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร เมื่อทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 1 ครั้งก่อนนอน ทั้งยังมีสูตรที่กำลังพัฒนา อย่าง ยาแก้ไข้ผอมเหลือง แก้ลมแก้เส้น แก้ริดสีดวงทวารหนัก รักษาโรคผิวหนัง และยาที่ปรุงเพื่อแก้โรคทางจิต

ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงยาจากกัญชาสะดวกขึ้น ผ่านคลินิกแพทย์แผนไทยและแผนไทยประยุกต์ทั่วประเทศ สามารถใช้ใบกัญชา กัญชงไปประกอบอาหารเพื่อดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว ให้ใช้ตามวิถีภูมิปัญญาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือทำรายงานใดๆ ส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ขอให้ใบมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายเท่านั้น

ในขณะที่ภาค “เอกชน” เอง ก็สามารถขออนุญาตผลิตยาดังกล่าวได้ ที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย. นับแต่ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

Advertisement

ต่อไปนี้คือความเคลื่อนไหวหลายด้าน ในแวดวงกัญชา

หลากสูตร เมนู 5 แฉก

กัญชา กับ ผู้ประกอบการอาหาร

เมื่อล็อกถูกคลาย หลายผู้ประกอบการต่างหันมาปรับสูตร เพิ่มลูกเล่นให้เป็นเมนูต่างๆ เจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพรูปแบบใหม่

เริ่มจาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หลังเผยแพร่เมนู “มาชิมกัญ” โดย ห้องอาหารอภัยภูเบศรเดย์สปา นำส่วนของ “ใบกัญชา” มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะ “รื่นเริงบันเทิงยำ” เติมเต็มทุกคำ สุขล้ำทุกเวลา, “ข้าวกะเพราสุขใจ” กินมื้อไหนก็ไม่เบื่อ, “เล้งแซ่บซดเพลิน” ช่วยเจริญอาหาร, “ก๋วยเตี๋ยวคึกคัก – ขนมปังคิกคัก” กินเสริมเวลาพัก แล้วจะรักทุกคำ ไปจนถึงเครื่องดื่ม “ซู่ซ่าร่าเริง” ที่ทำจากน้ำคั้นใบกัญชาสดๆ ผสมชา โซดา และน้ำผึ้งป่า ผลปรากฏว่าประชาชนจากทั่วสารทิศ หลั่งไหลไปชิมอย่างหนาแน่นตลอดทั้งวัน ไม่ย่อท้อแม้ต้องต่อคิวรอนานนับชั่วโมง

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ กัญชาในน้ำชาบู โดย “ชาบูอินดี้” มีทั้งเมนู “น้ำซุปอารมณ์ดี” ช่วยเจริญอาหาร ไปจนถึง “หมูแฮปปี้” “เทมปุระพาเพลิน”

อีกหนึ่งแนวคิดสุดเก๋ ร้าน “420 Cannabis Bar Bangkok” คาเฟ่กัญชาลับที่แรกในไทย ย่านศรีนครินทร์ ก็ต่อยอดฐานลูกค้ารุ่นใหม่ให้เป็นร้านสุดชิค เสิร์ฟชา ขนม ผสมใบกัญชาแท้ แถมมุมถ่ายรูปแน่น

ไปจนถึง “คลาส คาเฟ่” ชื่อดัง ที่ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากใบกัญชามาแปรรูป ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. จ.นครราชสีมา ให้เกิดผลผลิตคุณภาพ ต่อยอดกัญชาสู่การเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดนครราชสีมา จากการที่ร้านนำกัญชาเข้ามาเป็นส่วนผสมในเมนูอาหารและเครื่องดื่ม

โดยเริ่มเปิดตัว 3 เมนูแรก ใน 4 สาขา ให้ได้ชิมเครื่องดื่ม “อเมริกาโน่ กาแฟดำผสมกัญชา” , “มัทฉะ ชาเขียวผสมกัญชา” และ “ชากัญชาเพียว” ภายใต้แบรนด์ KhaoYai CALM เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หวังทดลองจำหน่าย ก่อนเก็บข้อมูลไปพัฒนาต่อ

เหล่านี้ คือผู้ประกอบการแห่งต้นๆ ที่ขานรับนโยบายปลดล็อกกัญชา นำร่องพัฒนา ไปใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการ ที่ประสงค์จะแปรรูปกัญชา-กัญชง เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย จะต้องขอเลข อย.ก่อน

แต่ความพิเศษคือ “ผู้ปรุงอาหาร” ไม่จำเป็นต้องผ่านหลักสูตรอบรม ก็สามารถขายเมนูอาหารจากกัญชาในร้านอาหารได้

แม้ปัจจุบันการปลูกกัญชายังจำกัด สำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ และแม้การนำกัญชามาทำเป็นอาหารจะยังเป็นศาสตร์ใหม่ แต่นี่ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ต่อยอด

ศูนย์วิจัยลงนาม

สวทช. เปิดแล็บมาตรฐาน

เทสต์ ‘กัญชา-กัญชง’

อีกหนึ่งความคืบหน้า ในมุมวิทยาศาสตร์การแพทย์

18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี มีความร่วมมือเกิดขึ้น ภายใต้บันทึกข้อตกลง ระหว่างวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน (วพพ.) จ.บุรีรัมย์ กับศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. หรือ NCTC (NSTDA Characterization and Testing Center) เพื่อร่วมวิเคราะห์ ทดสอบกัญชา หาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ ให้ได้มาตรฐานสากล

ซึ่งการลงนามการบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ คือหมุดหมายอันดีที่จะเสริมความแน่นด้านวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

“การลงนามครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ให้ผ่านการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ให้สามารถจำหน่ายและควบคุมคุณภาพได้เทียบเท่าหรือในระดับเดียวกับผลิตภัณฑ์สากล

อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ช่วยให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และภาคอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ทดสอบที่มีคุณภาพภายในประเทศ ตลอดจนควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และกำหนดราคาสินค้าได้อย่างชัดเจนและเป็นมาตรฐาน”

ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ อธิบายถึงประโยชน์จากความร่วมมือครั้งนี้

สำหรับ “ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและส่งเสริมงานบริการวิเคราะห์ทดสอบ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคุมระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสนับสนุนกลุ่มงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ (National Quality Infrastructure)

โดยผู้อำนวยการศูนย์ฯบอกอีกด้วยว่า ทางศูนย์ NCTC จะเป็นผู้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีมาตรฐานสากล ด้วยการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบด้านกัญชา กัญชง สารสกัดและผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง (Cannabis Analytical Testing Center) หรือ CATC เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสินค้ามูลค่าสูง ให้ทั้งภาครัฐและเอกชน

ด้วยการวิจัยภายใต้ระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025 มาตรฐานสากล วิเคราะห์กัญชา-กัญชง อย่างครบวงจร ลึกไปถึงการทดสอบสารสกัดและผลิตภัณฑ์ ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณและตรวจสอบความปลอดภัย เช่น การหาปริมาณโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ตัวทำละลายตกค้าง สารพิษจากเชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน รวมถึงการหาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ให้ได้ค่ามาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และกำหนดราคาสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

ผลสุดท้ายปลายทาง ณฏฐพล ชี้ว่า จะทำให้ประชาชนในประเทศไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสม ปลอดภัย และได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานในระดับสากล รวมถึงได้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูงในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะการกระจายตัวของสารสำคัญ การหาชนิดและปริมาณสารสำคัญที่ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาและกัญชง

เพิ่มศักยภาพ วิสาหกิจชุมชน

เพื่อความเป็น ‘สากล’

ด้าน ศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ มองการลงนามร่วมครั้งนี้ว่า จะทำให้วิสาหกิจชุมชน เพลาพาเพลินเป็นศูนย์กลางรับส่งวัตถุดิบกัญชาจากเกษตรกรและวิสาหกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการนำไปวิเคราะห์และทดสอบประสิทธิภาพ หาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ให้ได้ค่ามาตรฐาน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทกัญชาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยแรกเริ่ม “วิสาหกิจชุมชน เพลาเพลิน” ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างรายได้จากการพึ่งพาตนเองและเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน จากการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร การผลิตสินค้าจากสมุนไพรต่างๆ และการถ่ายทอดความรู้ของสมุนไพรกับชุมชน รวมถึงสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกสมุนไพร

ซึ่งต่อมาวิสาหกิจฯเพลาเพลินได้ทำหน้าที่ปลูกกัญชาทางการแพทย์ ด้วยการทำเกษตรแบบมาตรฐานสูง และใช้รูปแบบ “โรงเรือนระบบปิด” โดยได้รับความร่วมมือ จากพันธมิตรภาคเอกชนและภาครัฐบาล

ล่าสุด สามารถควบคุมการปลูกกัญชาที่ใช้ในระดับการแพทย์ได้ค่าสารสำคัญคงที่ และนำไปใช้ผลิตเป็นยารักษาทางการแพทย์ได้ ช่วยยกระดับเพิ่มมูลค่าของพืชพันธุ์สมุนไพรด้านการเกษตรได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

“กลไกสำคัญที่ทำให้เราได้รับความเชื่อถือในระดับการแพทย์ที่ผ่านมา คือการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ร่วมกับระบบการปลูกที่ดี ตัวอย่างเช่น มีการตรวจสอบตั้งแต่ดินปลูก ที่เราต้องมั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี หรือสารโลหะหนัก ที่ต้นกัญชาจะสามารถดูดซับได้ และมีแร่ธาตุที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสายพันธุ์ที่เราปลูก จวบจนถึงการตรวจสอบค่าสารสำคัญจากรอบการเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นยาของทางโรงพยาบาล และตรวจสอบว่าไม่มีค่าสารอันตรายเจือปนในกัญชาที่เราเก็บเกี่ยว เพื่อส่งไปใช้ทำยาได้”

ศศิการ เผยด้วยว่า ในระดับต่อไปจะมีการนำส่วนอื่นๆ ของกัญชาและกัญชงไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้จำเป็นต่อวิสาหกิจฯอย่างมาก ในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถเพื่อร่วมแข่งขันในระดับสากล

ซึ่งหลายวิสาหกิจและกลุ่มธุรกิจขนาดย่อย อาจประสบปัญหาที่การเข้าถึงการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้ได้ยาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และมีแล็บตรวจในประเทศค่อนข้างจำกัด ดังนั้น วิสาหกิจเพลาเพลินฯจึงเล็งเห็นว่าการร่วมมือกับทางศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อภาคต้นน้ำการปลูก และภาคการเกษตร

เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้” ศศิการมองการณ์ไกล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image