ทลาย “มายาคติ” สังคมไทย พบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่า “บ้า”

คนไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าคนที่ต้องเข้าพบจิตแพทย์นั้นต้องเป็นคนวิกลจริต หรือมีปัญหาทางจิตอยู่เสมอ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงที่จะยุ่งเกี่ยวกับจิตแพทย์

ทั้งที่จริงการเข้าพบจิตแพทย์นั้น “คนปกติ” ก็สามารถเข้าพบและปรึกษาได้เช่นกัน

วันนี้มีโอกาสจึงได้พูดคุยกับหมอจิตเวช และผู้ใช้บริการจิตแพทย์ เพื่อสอบถามว่า

เพราะอะไร “มายาคติ” เช่นนี้จึงเกิดขึ้นในสังคมไทย

Advertisement

แพทย์หญิงปวีณา แพพานิช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกอย่างไรให้ อีคิว ดี by หมอปุ๊ก” เล่าถึงสาเหตุที่คนไทยอาจไม่กล้าพบจิตแพทย์ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าคนส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูลได้แค่บางส่วนเท่านั้น ทั้งที่แต่ละอาชีพต่างมีหลากด้านหลายมุม มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมมักจะรับทราบอยู่เพียงแค่มุมเดียวผ่านสื่อต่างๆ และมุมเดียวที่ว่าคือ จิตเวชเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเฉพาะทาง การเข้าถึงจิตเวชส่วนใหญ่ต้องมีปัญหา โดยเฉพาะผ่านทางละคร หรือภาพยนตร์

ซึ่งสื่อพวกนี้ค่อนข้างจะเป็นที่สะดุดอารมณ์ของพวกเขาและทำให้เกิดภาพจำ

Advertisement

“อย่างในละครถ้าตัวร้ายจะได้รับผลกรรม ก็จะผิดหวังทนไม่ไหว เครียด เป็นบ้า แล้วก็จะไปจบใน รพ.จิตเวช คนดูก็จะรู้สึกได้ว่า รพ.จิตเวชรักษาคนวิกลจริตเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงหากพูดถึงเรื่องจิตใจในคน 1 คน มันมีทั้งกายและใจ คนไม่สบายกายได้ ก็ไม่สบายจิตได้เหมือนกัน”

พญ.ปวีณายังบอกถึงอีกเหตุผลหลักที่ทำให้คนไม่กล้าพบแพทย์ว่า บางคนมีหน้าที่การงานค่อนข้างมีชื่อเสียง จึงรู้สึกไม่สะดวกใจในการพบจิตแพทย์ ทั้งที่การเข้าพบข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บเป็นความลับอยู่แล้ว ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สำหรับจิตเวช คือการรักษาความลับผู้ป่วย

“บางคนอาจกลัวว่าถ้าไปปรึกษาแล้วจะมีประวัติเกี่ยวกับจิตเวช จริงๆ แล้วถ้าเป็นอาการทั่วไป เช่น เครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าจะผลต่อการทำงาน”

“หรือถ้าเป็นโรคจิตเภทซึ่งเป็นส่วนน้อยมากที่จะเป็น ซึ่งเกิดจากไม่มีความสมดุลในเรื่องของสารสื่อประสาทของสมองที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดได้ยินเสียงแว่ว เห็นภาพหลอน เป็นต้น กลุ่มนี้จึงจะมีการลงบันทึกว่าป่วย อาจมีผลต่อการงานได้”

“ซึ่งหากเป็นกรณีดังกล่าวก็ควรที่จะมาหาหมอตั้งแต่แรก เพราะหากมารักษาอย่างรวดเร็ว ส่วนมากจะกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้ตามปกติ” พญ.ปวีณากล่าว

 

pra01230859p2
แพทย์หญิงปวีณา แพพานิช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกอย่างไรให้ อีคิว ดี by หมอปุ๊ก

อีกมุมหนึ่งคือ ด้านการบริการอื่นๆ ที่เป็นอีกมุมหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ทราบ พญ.ปวีณาเริ่มต้นว่า

“เรื่องของการพบหมอจิตเวชก็คงเหมือนกับทะเล สิ่งที่พวกเขารับรู้ข้อมูลก็อาจเหมือนหิน โขดหิน แต่ไม่ได้เห็นถึงความสวยงามในทะเลทั้งหมด” พญ.ปวีณาเล่าพร้อมรอยยิ้มก่อนที่จะเสริมว่า

“จริงๆ แล้ว คนปกติก็สามารถเข้ารับบริการได้ เช่น นอนไม่ค่อยหลับ ไม่สบายใจ เครียด มีปัญหา สมาธิสั้น ก็สามารถมาปรึกษาได้”

พญ.ปวีณากล่าวอีกว่า ปัจจุบันเป็นเรื่องของการส่งเสริมป้องกันมากกว่าการรักษา จริงๆ แล้วคนที่น่าห่วงไม่ใช่คนที่มาพบจิตแพทย์แต่เป็นคนที่เข้าไม่ถึงจิตแพทย์ หรือบางคนที่เข้าถึงแล้วขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง การเข้าพบจิตแพทย์เป็นเรื่องง่าย เหมือนเป็นไข้หวัดแล้วไปหาหมอ

พญ.ปวีณาอธิบายเพิ่มเติมว่า เพียงแค่เราทุกข์ใจ หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รบกวนการทำงาน มาปรึกษาได้เลย การดูแลบำบัดมีทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา หลายๆ คนก็ไม่ได้ใช้ยา บางครั้งแค่คุยในเชิงจิตวิทยาก็ทำให้สบายใจขึ้นได้ แต่บางกรณีถ้าเกี่ยวกับฮอร์โมน สารสื่อประสาทในสมอง ก็เหมือนกับการไม่สบายกายอย่างหนึ่ง อันนี้ต้องใช้ตัวช่วยบ้างคือยา

“โรคที่จะใช้ยาในกับการรักษาได้ เช่น นอนไม่หลับ โดยการที่เราปรับบรรยากาศการนอนให้ดีแล้ว แต่ก็ยังนอนไม่หลับ มีความคิดกังวลวนไปวนมา อันนี้อาจจึงต้องมีตัวช่วยคือยา”

“อีกอันนอนหลับง่าย แต่ระหว่างการนอนหลับมีอาการหลับๆ ตื่นๆ การนอนที่ไม่ได้คุณภาพอาจจะเป็น 1 ในอาการของการไม่สบายใจอะไรบางอย่าง”

“แล้วยังมียาคลายกังวล บางทีใจเราไม่อยากกังวล แต่เราหยุดความคิดของสมองเราไม่ได้ หรือคิดเรื่องอื่นไปหลายเรื่อง แล้วเรื่องนี้ก็ยังวนกลับมาให้คิด จึงอาจต้องใช้ยาทานบ้าง”

พญ.ปวีณายังบอกถึงปัญหาที่พบส่วนใหญ่ที่เข้ามาจิตแพทย์ว่า มักเกิดจากความเครียด การนอนไม่เพียงพอ การนอนไม่ได้คุณภาพ วิตกกังวล ไม่สบายใจ ภาวะซึมเศร้า

“อย่างวัยรุ่นก็มีจะเป็นทางด้านสมาธิสั้น ปัญหาการเรียนอ่านเขียนไม่ถนัด และภาวะบกพร่องทางสังคม”

“จริงแล้ววัยรุ่นเป็นวัยที่น่าเห็นใจอย่างมาก บางครั้งใครหลายคนอาจมองว่าเด็กคนนี้ว่าเป็นเด็กที่ก้าวร้าว แต่ภายใต้ความก้าวร้าวนั้นมีอะไรอย่างอื่นซ่อนอยู่ เช่น ความผิดหวัง ความเสียใจ ความรู้สึกไม่ดี ไม่มีคุณค่าต่อตัวเอง”

ทั้งนี้ อยากจะบอกคนที่กลัวหรือไม่กล้าพบจิตแพทย์ว่า จิตแพทย์ก็เป็นแพทย์สาขาหนึ่ง คนเราไม่สบายร่างกายก็พบบ่อย แต่หลายครั้งถ้าเรานั่งฟังเสียงหัวใจตัวเองดีๆ บางคนก็อาจจะพบว่า ใจของเรามันก็ไม่สบายเหมือนกัน แต่เมืองไทยก็ยังมีศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจได้ และเมื่อไหร่ก็ตาม การที่เราพึ่งตัวเองแล้ว แต่รู้สึกว่าเหนื่อยเหลือเกิน แล้วมันไม่ไหว

“จิตแพทย์ก็เป็นเหมือนเพื่อนได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ทุกคนได้เลือก ให้มาดูแลกัน มาร่วมมือกัน มาช่วยกัน เพราะว่าปัญหาทางใจมันเกิดขึ้นกับใครก็เหมือนกับฝุ่นเข้าตาบางทีก็เขี่ยเองก็ลำบาก” พญ.ปวีณากล่าวทิ้งท้าย

ด้าน พฤทธิ์ ไผ่รำลึก ผู้ใช้บริการจิตแพทย์เล่าถึงประสบการณ์ว่า ตอนแรกที่จะไปพบหมอจิตเวชนั้น พ่อของเขาบอกว่าจะพาไปหาหมอจิตเวช ซึ่งเอาจริงๆ ก็กลัวและงง คิดว่าเขาบ้าไม่รู้ตัวเหรอ และยังมีวิตกอยู่ก่อนไปหาหมอ กลัวเป็นบ้าจริงๆ

“พอไปหา หมอก็บอกว่าเราอาจเป็นโรคสมาธิสั้น จึงได้พูดคุยและให้คำแนะนำหลายๆ เช่น การนั่งสมาธิ แล้วหมอยังให้ยามาทาน รู้สึกว่าทานไปแล้วจะจดจ่อกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น บวกกับการนั่งสมาธิ”

“หมอจะนัดเราเดือนละ 1 ครั้งเพื่อดูความคืบหน้า หลังจากที่ไปหาหมอได้ครั้ง 2 ครั้งก็มีความรู้สึกดีขึ้น และมีความไว้ใจในตัวหมอ ในการมาพบหมอในแต่ละครั้งก็จะมีการพูดคุยกันตลอด”

“เรื่องบางอย่างที่ไม่กล้าคุยกับพ่อแม่ แต่เรากล้าคุยกับหมอ กล้าปรึกษา หมอก็จะมีคำแนะนำให้เรา แล้วเวลาเหมือนมีเรื่องเครียดมาคุยกับหมอก็เหมือนการได้ระบายอีกทาง”

pra01230859p3
พฤทธิ์ ไผ่รำลึก หนึ่งในผู้ใช้บริการจิตแพทย์

“ซึ่งผมคิดว่าหลังจากที่ไปหาหมอจิตเวชแล้ว มุมมองของผมกับการพบหมอจิตเวชเปลี่ยนไปสิ้นเชิง จึงอยากจะบอกกับคนที่ไม่กล้าไปหาหมอจิตเวช กลัวคนคิดว่าเป็นบ้าบ้าง หรือไม่กล้าไปเพราะคิดว่าหมอรักษาแต่คนบ้า ว่าจริงแล้ว หมอจิตเวชรักษาคนปกติได้”

บางคนเครียด บางคนมีเรื่องที่คิดมาก ก็สามารถไปปรึกษาหมอได้ เพราะหมอเหล่านี้พร้อมรับฟังปัญหาของเรา แล้วคุณจะมองหมอจิตเวชมุมใหม่ไปเลย เหมือนกับผม”

ทั้งนี้ จิตกับใจก็เหมือนร่างกาย ที่ต้องการพักผ่อนบ้าง

การพบจิตแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะได้พักจิตใจของเราเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image