สุจิตต์ วงษ์เทศ : กรุงเทพฯ โชคดี มีงานวิจัย ประวัติศาสตร์สังคมกรุงเทพฯ

ชุมชนเก่าสุดของกรุงเทพฯ อายุมากกว่า 600 ปีมาแล้ว หรือมีแล้วตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา ก่อน พ.ศ. 2000

พบหลักฐานเป็นหย่อมๆ ระยะห่างๆ สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) ตั้งแต่บางกรวย (ย่านสะพานพระราม 6) ลงไปทางใต้ถึงบริเวณคลองเตย (ย่านสะพานภูมิพล 1, 2)

หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สนับสนุนความเก่าแก่ของชุมชนคนกรุงเทพฯ มากกว่า 600 ปีมาแล้ว มีไม่น้อยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดูได้จากงานวิจัยสำคัญมาก

เรื่อง “หลักฐานศิลปกรรมอยุธยาที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วิเคราะห์ในฐานะชุมชน ‘ปากใต้’ สมัยกรุงศรีอยุธยา”

Advertisement

โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ได้รับสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและสร้างสรรค์ คณะโบราณคดี พ.ศ. 2557) หนาราว 500 หน้า กระดาษ A4

[หนังสือวัดร้างในบางกอก เป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากการวิจัยนี้ และเป็นที่กล่าวขวัญทั่วไป สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 วางจำหน่ายขณะนี้ เล่มละ 325 บาท]

ศรัทธาเป็นพลัง อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร ทำวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อสร้างสรรค์งานวิชาการเป็นภาพรวมประวัติศาสตร์สังคมของกรุงเทพฯ มีทั้งแม่น้ำลำคลอง เรือกสวนไร่นา วัดวาอาราม จนถึงชุมชนและบ้านเรือนของสามัญชนชาวบ้านทั่วไป

Advertisement

ภาพรวมประวัติศาสตร์สังคมของกรุงเทพฯ ยุคแรกเริ่มอย่างนี้ นับเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อชุมชนวิชาการ กับสังคมไทยโดยรวม เพราะยังไม่มีนักวิชาการโบราณคดีไทยทำมาก่อน (เท่าที่มีบ้างก็ไม่เป็นวิชาการ มีแต่งานรับจ้างอย่างผู้รับเหมาจาก กทม.)

กรุงเทพฯ โชคร้ายที่ไม่มีมิวเซียมกรุงเทพฯ

แต่กรุงเทพฯ โชคดีที่มีงานวิจัยภาพรวมประวัติศาสตร์สังคมกรุงเทพฯ (เพื่อเตรียมไว้ทำมิวเซียม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image