สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’ ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย

สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’ ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย

สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’
ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย

รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปราสาทพนมรุ้ง อายุราว พ.ศ.1650 บริเวณศูนย์กลางมีปรางค์ประธาน และมีมณฑปทางทิศตะวันออกของปรางค์ประธานซึ่งด้านหน้ามีภาพสลักสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ (1.) ศิวนาฏราช (พระศิวะฟ้อนระบำ) อยู่ด้านบน เรียก “หน้าบัน” และ (2.) นารายณ์บรรทมสินธุ์ (พระนารายณ์นอนบนแท่นอยู่ใต้น้ำ) อยู่ถัดลงไปเรียก “ทับหลัง” (หรือใต้หน้าบัน) (ภาพปราสาทพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์ จากหนังสือปราสาทพนมรุ้ง กรมศิลปากร พ.ศ.2543)

เขียนเรื่องใหม่

สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’ ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย
ทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง อายุราว พ.ศ.1650 (ทับหลัง หมายถึงแผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางทับบนหลังของกรอบประตูทางเข้าอาคาร เพื่อทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักโครงสร้างส่วนบนของอาคาร)

สหรัฐอเมริกาเตรียมพร้อมส่งคืนไทยเร็วๆ นี้ กรณีทับหลังสองชิ้นซึ่งถูกขโมยไปจากปราสาทสองหลังที่ จ.บุรีรัมย์ กับ จ.สระแก้ว เรื่องนี้เป็นผลจากการริเริ่มติดตามใกล้ชิดของภาคประชาชนไทย แล้วขอความร่วมมือจากภาคราชการ (ระยะแรกถูกราชการไทยเตะถ่วงนานเป็นปี แต่ร่วมมืออย่างดีในระยะหลัง)

Advertisement

สหรัฐเคยส่งคืนไทยเมื่อ 33 ปีที่แล้ว กรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งถูกขโมยไปจากปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ การส่งคืนไทยของสหรัฐครั้งนั้นมาจากพลังประชาชนไทยในสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มชาวไทยล้วนๆ ในเมืองชิคาโก มีความเป็นมาโดยย่อ ดังนี้

1.ทับหลังนารายณ์กับบรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ถูกขโมยไประหว่าง พ.ศ.2502-2508 ช่วงสงครามเวียดนาม (สมัยสงครามเย็น) ขณะนั้นไทยมีรัฐบาลเผด็จการทหาร (สืบทอดอำนาจจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ปิดหูปิดตาประชาชน แต่เปิดช่องทางกว้างขวางการโจรกรรมโบราณวัตถุจากพุทธสถานและเทวสถานทั่วราชอาณาจักร ส่งขายทั้งในและนอกประเทศเป็นที่รู้กันระดับนานาชาติ

2.รัฐบาลไทยทวงคืนทับหลังไม่สำเร็จ โดยหน่วยราชการไทยส่งจดหมายทางการถึงสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ.2516 แต่สหรัฐไม่ส่งคืน ส่วนรัฐบาลไทยไม่ติดตามทวงถามต่อเนื่อง แล้วปล่อยทิ้งไว้ยาวนาน 15 ปี กระทั่ง พ.ศ.2531 เริ่มมีความเคลื่อนไหวใหม่จากสภาผู้แทนราษฎรของไทย

3.สภาผู้แทนฯ ของไทยรื้อฟื้นทวงคืนทับหลัง โดยคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (สภาผู้แทนราษฎร) รื้อฟื้นแล้วกดดันรัฐบาลทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2531 แต่รัฐบาลทวงคืน
ไม่สำเร็จ (เหมือนเดิมเมื่อ 15 ปีก่อน)

4. สื่อมวลชนนานาชาติและสื่อไทยกระพือข่าวทวงคืนทับหลังที่สหรัฐขโมยจากไทย โดยเน้นช่วงสงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในไทยทางภาคอีสาน เพื่อส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีเอกสิทธิ์ทางการทหารในสงครามกระตุ้นให้เกิดการทำลายโบราณสถานในอีสานเพื่อเอาโบราณวัตถุไปขายทั้งในกรุงเทพฯ และสหรัฐ รวมถึงที่อื่นๆ ในโลก

“มติชน” ส่งผู้สื่อข่าวพิเศษไปสหรัฐเพื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยเฉพาะ และสนับสนุนข้อมูลเรื่องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เพื่อการทวงคืนของชาวไทยในสหรัฐ

5.พลังคนไทยในเมืองชิคาโกและเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐ รวมตัวทวงทับหลังอย่างไม่อ่อนข้อท้อถอย แม้รัฐบาลไทยไม่ประสบความสำเร็จที่ส่งนักวิชาการระดับสูงไปเจรจาโดยสหรัฐไม่สนใจไยดีและไม่ส่งคืน

ดังนั้น “คณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ” จึงปรับทิศทางทวงคืนด้วยการ “เข้าถึง” บุคคลสำคัญต่างๆ ที่มีพลังต่อรองทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของเมืองชิคาโกให้สนับสนุนการทวงคืนทับหลังของชาวไทย [“คณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ” เป็นองค์กรของชาวไทยในเมืองชิคาโก ได้ติดต่อสมาชิกสภาเมืองชิคาโก (City Council) มีมติเรียกร้องต่อสถาบันศิลป์ฯ เพื่อส่งคืนทับหลังให้แก่ประเทศไทย] ต่อมาคณะกรรมการกิจการพิเศษและการวัฒนธรรมของสภาเมืองชิคาโก กำหนดให้มีการไต่สวนสาธารณะ (Public Hearing) ณ ศาลาว่าการเมือง (City Hall) ในวันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2531

ครั้งนั้นชาวไทยเมืองชิคาโกร่วมกันออกทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด (โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทยสมัยนั้น) ทูลเชิญศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล (อดีตอธิการบดี และอดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นผู้แทนจากไทยไปเมืองชิคาโกในการไต่สวนสาธารณะของเทศบาลเมืองชิคาโกกรณีทับหลัง โดยมีผู้ร่วมไต่สวนสาธารณะ ได้แก่ พิสิฐ เจริญวงศ์ (ขณะนั้นเป็นผู้แทนจากกรมศิลปากร) และ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ (ปัจจุบันเป็นรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ขณะนั้นเป็นหนึ่งใน “คณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ” ของกลุ่มชาวไทยเมืองชิคาโก)

ในที่สุดก็สำเร็จ แต่เพื่อรักษาหน้าตาชื่อเสียงบางประการทำให้สถาบันฯ ที่ถือครองทับหลัง “ปล่อยข่าว” ต่างๆ นานา แต่ท้ายที่สุดสหรัฐส่งคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ให้ไทยโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อปลายปี 2531

6. สหรัฐส่งคืนไทย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์) เมื่อ พ.ศ.2531 หรือ 33 ปีที่แล้ว หลังถูกขโมยไปตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนาม (ในสมัยสงครามเย็น) การส่งคืนไทยของสหรัฐมาจากเหตุหลายอย่าง อาจสรุปได้ดังนี้

(1.) ถูกเรียกร้องอย่างแข็งแรงและต่อเนื่องจากชาวไทยในสหรัฐที่รวมตัวเป็น
กลุ่มเหนียวแน่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการประสานงานอย่างเข้มข้นของกลุ่มชาวไทยในเมืองชิคาโก ซึ่งเปิดเผยตรงไปตรงมานานหลายเดือนจนเป็นที่ยอมรับถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาเมืองชิคาโก แล้วมีมติอยู่ข้างชาวไทย

(2.) ถูกประณามอย่างรุนแรงจากสังคมโลกกรณีสหรัฐโจรกรรมโบราณวัตถุ คือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ไปจากไทย

(3.) กลุ่มการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มชาวต่างประเทศในสหรัฐที่เคลื่อนไหวด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนหนุนช่วยทวงคืนทับหลังจนสำเร็จ

(4.) สื่อมวลชนในสหรัฐทั้งระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่นหนุนช่วยอย่างแข็งแรงจากการดำเนินการของกลุ่มชาวไทยเมืองชิคาโก

เส้นทางเครือญาติกษัตริย์กัมพูชา

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) ที่สหรัฐส่งคืน พ.ศ.2531 กับทับหลังที่สหรัฐจะส่งคืนปีนี้ พ.ศ.2564 ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ (จ.บุรีรัมย์) กับทับหลังจากปราสาทเขาโล้น (จ.สระแก้ว) ทับหลังรวม 3 ชิ้นมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ดังนี้

1.ถูกขโมยไปสหรัฐในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ระหว่างสงครามเวียดนาม (สมัยสงครามเย็น)

2.อยู่บนเส้นทางคมนาคมเดียวกันเกือบพันปีมาแล้ว ระหว่างที่ราบสูงอีสานในไทยกับที่ราบลุ่มโตนเลสาบในกัมพูชา

“ช่องเขา” พนมดงรัก

ปราสาทหนองหงส์กับปราสาทเขาโล้น ตั้งเป็น “แลนด์มาร์ก” บริเวณที่เป็น “ช่องเขา” ของทิวเขาพนมดงรัก เส้นทางขึ้นลงไปมาระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม

ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นขอบที่ราบสูงต้นทางผ่านช่องเขาเรียก “ช่องตะโก” ลงสู่ที่ราบลุ่ม

ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นต้นทางที่ราบลุ่มรับทางลงจากที่ราบสูงผ่าน “ช่องตะโก” เพื่อเดินทางต่อไปถึงปราสาทสด๊กก๊อกธม (อ.หนองสูง จ.สระแก้ว) แล้วเข้าไปเขตกัมพูชา

[ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็น “ศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์” ของลัทธิเทวราช ที่กษัตริย์กัมพูชาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง]

ชุมชนระหว่างที่ราบสูง-ที่ราบลุ่ม

ปราสาทหนองหงส์ กับปราสาทเขาโล้น เป็นศูนย์กลางชุมชนบนเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม หรือระหว่างลุ่มน้ำมูลกับโตนเลสาบในกัมพูชา

ลุ่มน้ำมูล อยู่ที่ราบสูงบริเวณอีสานใต้ เป็นดินแดนบรรพชน “ยายตาย่าปู่” ของกษัตริย์กัมพูชา (พบหลักฐานอยู่ในจารึกและอื่นๆ) ดังนั้นบรรดาเจ้านายของบ้านเมืองใหญ่น้อยทางลุ่มน้ำมูลล้วนเป็นเครือญาติและเครือข่ายทางสังคมและการเมืองของกษัตริย์กัมพูชาทั้งนั้น

เมืองพิมาย มีศูนย์กลางที่ปราสาทพิมาย (จ.นครราชสีมา) ต่อเนื่องถึงเมืองพนมรุ้ง มีศูนย์กลางที่ปราสาทพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์) เป็นหลักแหล่งบรรพชนของกษัตริย์กัมพูชา “วงศ์มหิธร” อย่างน้อย 5 พระองค์ รวมทั้งพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 (ผู้สร้างปราสาทนครวัด) และพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 (ผู้สร้างปราสาทบายน นครธม)

ดังนั้นกษัตริย์กัมพูชาบางพระองค์หรือหลายพระองค์ ตลอดจนวงศ์วานว่านเครือต่างเคยเดินทางจากโตนเลสาบไปลุ่มน้ำมูลโดยผ่านไปมา “ช่องตะโก” ที่มีปราสาทเขาโล้นกับปราสาทหนองหงส์ เป็นศูนย์กลางชุมชนระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม เสมือนจุดพักระหว่างทาง

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งปราสาทหนองหงส์ (จ.บุรีรัมย์), ปราสาทเขาโล้น (จ.สระแก้ว) และช่องเขาเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงภาคอีสานในไทย ลงไปที่ราบลุ่มภาคกลางในไทยและโตนเลสาบในกัมพูชา [แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ กุมภาพันธ์ 2564]

ทับหลังที่สหรัฐส่งคืนไทย
จากปราสาท 2 หลัง

สรุปจากเอกสารของ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

พระยมทรงกระบือ ภาพสลักทับหลังที่ปราสาทหนองหงส์
ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์

ระหว่างที่กลุ่มเพจสำนึก 300 องค์ กำลังติดตามค้นหาหลักฐานประติมากรรมสำริดจากกรุประโคนชัยอยู่นั้น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2559 ได้พบรูปทับหลังชิ้นหนึ่งบรรยายรายละเอียดของทับหลังที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชอง-มูน ลี (Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ความว่า มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย ปราสาทหนองหงส์ บุรีรัมย์ (Place of Origin: Northeastern Thailand, Nong Hong Temple, Buriram province)

เมื่อตรวจสอบหลักฐานภาพถ่ายจากหนังสือของกรมศิลปากร พบว่าเป็นทับหลังชิ้นเดียวกัน (โครงการและรายงาน การสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 2 กรมศิลปากร พ.ศ.2502 หน้า 34) แสดงว่าทับหลังชิ้นนี้ได้ถูกลักลอบขนออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย

สภาพปราสาทหนองหงส์

ปราสาทหนองหงส์ (บ้านโนนดินแดง หมู่ 9 ต. โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์) เป็นปราสาทก่อสร้างด้วยอิฐ 3 หลังตั้งอยู่บนฐานร่วมเดียวกัน ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่ที่สุดยกฐานสูงกว่าปราสาทบริวารข้างทิศเหนือและทิศใต้ หน้าปราสาทประธานมีห้องมณฑป มีวิหารข้างมณฑปทางด้านใต้ (หน้าปราสาทบริวารหลังทิศใต้) อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพง มีประตูซุ้ม 2 ซุ้มทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เป็นทางเข้า-ออก

ทับหลังพระยมทรงกระบือ

ป้ายประกอบคำบรรยายทับหลังชิ้นนี้ระบุชัดว่าได้มาจากปราสาทหนองหงส์ บุรีรัมย์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชอง-มูน ลี (Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ชัดว่ามีการลักลอบโดยผิดกฎหมายของประเทศไทย เอาออกไปจากกรอบประตูปราสาทหลังใต้ อันเป็นปราสาทบริวารของปราสาทหนองหงส์

(บน) สภาพปราสาทหลังใต้ที่ยังมีทับหลังติดอยู่เหนือวงกรอบประตู (ที่มา: กรมศิลปากร 2502)
(ล่าง) ทับหลังพระยมทรงกระบือ จากปราสาทบริวารหลังใต้ ปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ (ที่มา: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชอง-มูน ลี)

พระอินทร์เหนือเกียรติมุข ภาพสลักทับหลังที่ปราสาทเขาโล้น
ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
ปราสาทเขาโล้น (บ้านเจริญสุข ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว) ตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ยๆ สภาพปัจจุบันเป็นปราสาทก่อสร้างด้วยอิฐเหลือเพียงหลังเดียวบนยอดเขาโล้น ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ
ทับหลังรูปพระอินทร์เหนือเกียรติมุขจากปราสาทเขาโล้น ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ชอง-มูน ลี (Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) สหรัฐอเมริกา เดิมเคยอยู่ติดที่บนปราสาทเขาโล้น ภายในบริเวณวัดปราสาทเขาโล้น หลักฐานทับหลังชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือศิลปะสมัยลพบุรี โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล พ.ศ.2510

(บน) ปราสาทเขาโล้น (ที่มา: ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ
ดิศกุล. ศิลปะสมัยลพบุรี. มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2510)
(ล่าง ทับหลังรูปพระอินทร์เหนือเกียรติมุข จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชอง-มูน ลี สหรัฐ (ที่มา: Asian Art Museum)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image