จากอีสานถึงราชดำเนิน ศิลปะ พื้นที่ อนุสาวรีย์ของคนสามัญ

ดูเหมือนว่าครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ เกิดสถานการณ์น่าสนใจขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเมื่อผ่านพ้นค่ำคืน 13 กุมภาพันธ์ ที่ ถ้อยคำ ‘ม็อบแตก (คอ) กัน’ ส่งเสียงหนาหูมากขึ้นทุกที แม้มีสัญญาณมาก่อนหน้า แต่ยังไม่ฉายภาพชัดในความคิดเห็นที่แตกต่างมากเท่าที่เป็นอยู่ในมุมของยุทธศาสตร์การต่อสู้

แต่ไม่ว่าแนวคิดจะต่างกันอย่างไร จุดมุ่งหมายเดียวกันที่มี ย่อมไม่พ้นจากคำว่า “ประชาธิปไตย” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ 4 บุคคลในขบวนการต่อสู้ยังถูกจองจำ แม้ล่าสุด 2 อาจารย์รุ่นใหญ่ รั้วธรรมศาสตร์ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” อดีตอธิการบดี มาพร้อมกับ “พนัส ทัศนียานนท์” อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ขอยื่นหลักประกันคนละ 400,000 บาท ก็ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 3

อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข 4 แกนนำราษฎร ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ยังไม่ได้รับอิสรภาพ

Advertisement

ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ การแสดงออกเชิงสัญลักษ์ยังคงดำเนินต่อไป ไม่เพียงในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ซึ่งมวลชนนำโดย “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่มขอนแก่นพอกันที เป็นผู้นำทำพิธีทางความเชื่อ เจรจากับศาลหลักเมืองให้อยู่เคียงข้างราษฎร เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ หากแต่ในภาคอีสาน ดินแดนที่มีนักประชาธิปไตยคนสำคัญมากมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็ประกาศ ‘เดินทะลุฟ้า’ ตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย “ไผ่ ดาวดิน” ร่วมกับเครือข่าย People Go Network”

247.5 กิโลเมตร คือระยะทางอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่ต้องอธิบาย

จากลานอนุสรณ์วีรชนคนโคราช เมืองสำคัญแห่งแดนอีสาน มุ่งหน้าถนนราชดำเนิน เพื่อส่งสัญญะของการเคลื่อนไปข้างหน้าว่าจะไม่หยุดเรียกร้องให้ 1.ประยุทธ์ออกไป 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบัน

Advertisement

สำคัญที่สุด “ปล่อยเพื่อนเรา และต้องไม่จับเพิ่ม”

ต่อเนื่องมาถึง 20 กุมภาฯ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ก็ถูกกำหนดให้เป็นจุดนัดรวมพลสำคัญของราษฎรอีสาน ก่อนออกเคลื่อนขบวนเรียกร้องให้ปล่อย 4 แกนนำ คู่ขนานกันไปกับการชุมนุมหน้ารัฐสภา

กิจกรรมเหล่านี้คือ “ศิลปะ” แห่งการ “ต่อสู้” ของผู้ไม่ยอมจำนน บนหมุดหมายประชาธิปไตยที่มีอนุสาวรีย์ของภาคประชาชนเป็นพื้นที่ และสัญลักษณ์ที่ยังต้องจับตานับจากนี้

ต่อสู้-แย่งชิงพื้นที่ วิธีนำเสนอ‘ความจริง’

“เราสู้กับเผด็จการก็จริง แต่ที่มากกว่านั้นคือผู้สนับสนุนเผด็จการ จะเอาอะไรไปสู้กับเขา? เมื่อเราไม่มีกระบอกปืน ไม่มีอำนาจ”

คำกล่าวของ ครูใหญ่ ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 บนเวที “วันสิงห์ภูพาน รัฐศาสตร์ราษฎร 2020” ได้วาดภาพรวมขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยชี้เห็นว่าสิ่งที่จะใช้ในการต่อสู้ คือ ความจริงและศิลปะในการนำเสนอความจริง

“ผมคือคนบ้า! กว่า 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่เป็นนักเรียนมัธยม ได้คุยเรื่องที่พูดกันทุกๆ เวทีของการชุมนุม กับครู กับคนรอบตัว สิ่งที่ผมได้รับคือการพิพากษาว่า ‘บ้า’, ‘เป็นประสาทเหรอ’ แต่ผมสมาทานความบ้า เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีคนบ้าจำนวนมาก และมองคนปกติว่าเป็นคนบ้า ดังนั้น เราต้องทำให้คนปกติมีมากขึ้น” ครูใหญ่กล่าว ก่อนประกาศกร้าวว่า ณ พ.ศ. นี้ ตนกำลังจะหายบ้า

“ถามว่า คุณจะเอาอุดมการณ์แบบไหน ชาตินิยมหรือราษฎร เมื่อขวาก็ถูก ซ้ายก็ถูก แต่สิ่งที่จะวัดความถูกได้ง่ายที่สุด คือ ปริมาณ ทำไมไทยยังมีคนยึดอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมอยู่ ซึ่งผมไม่โกรธเขา แต่โกรธตัวเองที่ยังอธิบายให้เขาฟังยังไม่เข้าใจ สิ่งที่ต้องทำคือ จูงใจให้ผู้อื่นเชื่อเหมือนเรา แล้วเราจะหายบ้า”

ครูใหญ่บอกด้วยว่า ยาแก้บ้าที่ดีที่สุดคือ “ศิลปะ” คือความสนุกสนาน ส่วนตัวอาจมีปากเป็นอาวุธ แต่หากดูให้ดี พื้นที่การต่อสู้ทางศิลปะมีอยู่ตลอด ง่ายที่สุด ศิลปะถูกใช้ในเพลงที่เราร้องตอนเช้าและเย็น ซึ่งไม่ได้มีแค่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ผลิตเพลง

ครูใหญ่ อรรถพล ยังชวนคิดต่อไปว่า ถ้าไม่ชุมนุมประท้วง รอให้รัฐบาลหมดวาระ แล้วเลือกตั้งใหม่ โอกาสฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะอาจ “มี” แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้แค่พื้นที่ทางอำนาจ ไม่อาจได้ พื้นที่ทางความคิด ดังนั้น การแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด คือสิ่งที่ต้องทำ ด้วยการผลิตศิลปะมาต่อสู้

“สู้ด้วยศิลปะ บทกวี เพียงแต่ศิลปะของราษฎรไม่ได้ถูกรองรับด้วยอำนาจรัฐ ให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรตำราเรียน วรรณคดีมีเรื่องไหนเป็นสามัญชนบ้าง มีแต่นาง 12” ครูใหญ่สาธยายตัวอย่างของพื้นที่ทางศิลปะ

สวนผักชี ‘อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย’   

“7 กุมภาพันธ์” ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ทำการปรับภูมิทัศน์โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้เป็นโครงเหล็กคลุมบันไดโดยรอบทั้งหมด และใช้แผ่นพื้นปูทับกึ่งถาวร เพื่อปรับเป็นทางลาด ก่อนวางกระถางต้นไม้และดอกไม้ เติมสีสัน นำมาซึ่งความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย ว่าประชาชนจะไม่สามารถเดินเข้าไปได้อีก

ทั้งยังสร้างคำถามคาใจ รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงการติดตั้งโครงเหล็กที่มีน้ำหนักไม่น้อย ลงบนฐานอนุสาวรีย์ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ นับแต่ปี 2558 ว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานมากน้อยแค่ไหน

“13 กุมภาฯ” อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับมาอยู่ใต้วงล้อมของมวลชนอีกหน บนการชุมนุม “นับหนึ่งให้ถึงล้าน คืนอำนาจประชาชน” สามัญชนร่วมนั่งฟังการปราศรัย เขียนข้อความบนผ้าแดง 30 เมตร เรียกร้องยกเลิก 112 และปล่อยเพื่อน

ก่อน ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง ประกาศให้เอาเศษขยะออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“ในอดีตประชาชนสามารถเข้าพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แต่ปัจจุบันมีการนำโครงเหล็กมาติดตั้งและล้อมรั้ว ปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ การนำต้นไม้มาวางเป็นการเหยียบย่ำเสรีภาพของประชาชน เป็นการประกาศว่ารัฐกำลังทำร้ายประชาชน” สิ้นคำกล่าวของไมค์ ระยอง

สองมือของมวลชนประคองต้นไม้ ส่งต่อเป็นทอดๆ ให้กับเพื่อนร่วมอุมดมการณ์ที่ยืนตั้งแถวรอรับ เพื่อนำมาวางเรียงเป็นเลข 112 รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กดดันให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

ด้าน รศ.ดร.ชาตรี ชวนให้ฉุกคิดอย่างจริงจังอีกครั้งถึงกรณีดังกล่าว ผ่านถ้อยอักษรในบทความ “สวนผักชี” คอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 19-25 กุมภาพันธ์ 2564

“สวนผักชีอาจไม่เสียหายถ้าเป็นการทำโดยเอกชนที่ใช้เงินของตัวเองสร้างขึ้น เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

แต่สวนผักชีจะเลวร้ายมากหากถูกสร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของประชาชน เพราะเป็นการเททิ้งงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

ไม่มีความยั่งยืนอะไร เป็นเพียงกระถางดอกไม้ที่ตั้งอยู่บนพื้นคอนกรีต (แม้บางแห่งจะปลูกลงดินแต่ก็เรียกร้องการดูแลรักษามากจนเกินไป) ซึ่งต้องคอยเปลี่ยนอยู่เสมอ

จะดีกว่าไหม หากงบประมาณเหล่านี้ถูกเปลี่ยนมาเป็นงบประมาณในการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดที่ดูทีท่าแล้วจะยังไม่จบลงได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

จงอย่าปล่อยให้ผักชีที่โรยหน้า ปิดซ่อนการบริหารที่ล้มเหลวอีกต่อไป”

ขอนแก่น กับ ประติมากรรม ศึกลดทอน-ชิงความหมาย

“ขอนแก่นเป็นเมืองที่ประหลาด ในมุมเมืองหนึ่ง มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ และเกิดก่อนกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้รับการดูแล จงภูมิใจไว้ว่า ไม่ว่าขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์
(ซึ่งหายไปแล้ว) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในภาคอีสาน เกิดก่อนอนุสาวรีย์ในกรุงเทพฯ ขอนแก่นใหญ่ที่สุด ส่วนที่อื่นถูกเอาไปซ่อนไว้” ครูใหญ่ อรรถพล เล่ามุมที่หลายคนอาจไม่รู้

ก่อนเผยว่า ในอีกมุมเมืองหนึ่ง “อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล จัดสวน แต่งไฟให้สวยงาม ไปจนถึงมีพิธีบวงสรวงทุกปี ในวันที่ 8 ธันวาคม

“คุณอาจจะเห็นศิลปะแห่งการต่อสู้ ผ่านอนุสาวรีย์ตามมุมเมือง เราเห็นอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก อนุสาวรีย์ต่างๆ มากมาย ซึ่งภายหลัง 2475 คณะราษฎรเรืองอำนาจ ก็มีการต่อสู้ทางศิลปะ แย่งชิงพื้นที่ความหมายกันอยู่ประจำ เช่น การตั้งอนุสาวรีย์ของสามัญชน อย่าง ย่าโม่ คุณหญิงมุก คุณหญิงจัน ชาวบ้านบางระจัน เพื่อให้ความหมายใหม่ ว่าสามัญชนคือผู้ที่รักษาประเทศนี้ไว้ คือการต่อสู้ชิงพื้นทางความหมายด้วยศิลปะ ผ่านประติมากรรมที่มีทุกมุมเมือง”

ครั้นคณะราษฎรเสื่อมอำนาจ ครูใหญ่บอกว่า “ศิลปะตัวเดิมนี้ก็ถูกทำให้เกิดความหมายใหม่ กลายเป็นเทพารักษ์ประจำเมือง เสริมด้วยการให้ความหมายในหนังสือเรียนใหม่ ว่าต่อสู้เพื่อรักษาชาติ ทั้งที่คนเหล่านี้ต่อเพื่อสู้เพื่อรักษาชีวิต ทรัพย์สิน ที่ดินของราษฎร

“ปัจจุบันเราก็ใช้ศิลปะในการต่อสู้ ไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ เสาร์แรกเอาผ้าคลุม เสาร์ที่ 2 เอาหุ่นศพพาด เสาร์ที่ 3 ใส่ชุดนักเรียนให้ ทำปู้ยี่ปู้ยำอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์เหมือนไม่มีค่า เอาสติ๊กเกอร์ไปติด ถัดไป 3 วัน มีการจัดผ้า จัดดอกไม้ ใส่ชุดขาวเป็นตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เอาพวงมาลัยไปวางหน้าอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ นี่คือการแย่งชิงความหมาย เชื่อว่าภาพอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ใส่ชุดนักเรียน คงจะค้างตาอยู่บ้าง”

“ผมไม่ทุบ การทุบมันกระจอกเกินไป จะรอให้อายุครบ 35 ปี มีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีจะลงสมัคร โดยชูนโยบายเดียว คือ เคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ไปไว้หน้าห้องน้ำ เพราะถ้าทุบ ประวัติศาสตร์จะสูญหาย

ลองจินตนาการ มันจะแอ๊บสแตรกต์ แปลกมากเลยนะ เลี้ยวซ้ายห้องน้ำชาย ขวาห้องน้ำหญิง มีอนุสาวรีย์จอมพลข้างหน้า ประวัติศาสตร์ตรงนี้จะต้องไม่หาย แต่ผมจะให้ความหมายใหม่” ครูใหญ่ลั่น ก่อนเล่าต่อว่า

ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการต่อสู้ทางความคิดนี้ เราจึงเห็นสามัญชนเอาธาตุใส่กระดูกเป็นต้นมา

“ไม่ใช่แค่คนเท่ากัน ผีก็ต้องเท่ากัน เราจะไม่ได้เป็นแค่ราษฎรเสมอหน้า แต่เราจะเป็นวิญญาณกันโดยเสมอภาค ซึ่งความจริง ไม่เห็นด้วยกับการเอาธาตุใส่กระดูกเพราะกินพื้นที่”

“ขอเสนอ 1 ตาย 1 ต้น ใส่ไว้กับต้นไม้ ใครไม่ไปวัดต้นไม้ของพ่อแม่คุณก็ตาย เราจะมีวัดป่าเยอะแยะมากมาย ประเทศเราจะเขียวทั้งประเทศ” ครูใหญ่แทรกไอเดีย

สู้ด้วย ‘ศิลปะ’ อย่าให้เผด็จการ ตามทางทัน

หนึ่งบทพิสูจน์ เมื่อ ครูใหญ่ อรรถพล ขึ้นพูดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อกลางปี 63 โดยมีการเล่นมุข อาทิ “งูเห่า สีนวล” รัฐมนตรีแป้งมัน เช้าวันต่อมา คนรู้จักกันไปทั่ว โดยส่วนตัวครูใหญ่มองเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์ ตั้งตัวไม่ทัน สะท้อนแง่คิดว่า ศิลปะคือสิ่งที่มีอำนาจมหาศาล เพราะเข้าถึงจิตใจคนได้

“ผมมายืนอยู่ตรงนี้ในปี 63 เป็นเรื่องแปลกมาก ผมไม่ใช่ ไผ่ ดาวดินที่ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อทรัพยากรมาก่อน ที่ไปชู 3 นิ้ว หน้าประยุทธ์ จันทร์โอชา มันเร็วมากที่อยู่ดีๆ เป็นที่รู้จักของคนเกือบประเทศ สิ่งที่ผลักผมมาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่มีความคิด เพราะมีคนหลายคนเข้าใจ และคิดเรื่องเดียวกัน แต่ที่ต่างคือ ศิลปะ”

ครูใหญ่มองว่า ถ้าขบวนการพูดอย่างมีศิลปะ คนจะเข้าใจมากขึ้น เพราะศิลปะคือสื่อการสอน คือสื่อบริหารอำนาจ คือสื่อในการชักจูงหรือครอบงำความคิด ทุกวันนี้จึงต้องต่อสู้กันอย่างมีศิลปะ

“การเรียกร้องในครั้งนี้อาจยาวนาน เราด่าประยุทธ์แล้วจบ ไม่ด่าต่อ แต่ที่เราพูดมากๆ คือ โครงสร้างทางสังคม ทางอำนาจ วัฒนธรรมและความคิด ซึ่งถูกนำเสอผ่านบทเพลง ชูเวช และ แก้วใส วงสามัญชน
ก็ใช้ศิลปะในการต่อสู้ของเขาด้วยเพลงที่ว่า “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้… เอาชนะความจนด้วยรัฐสวัสดิการ” เอาสารที่เราต้องการสื่อ เข้าไปอยู่ในจิตใจคน

เราเครียดมากในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ แต่ทุกวันนี้เราผ่อนคลาย เรามีเพลง เราเขียนถนนด้วยชอล์ก (แล้วมีคนเอาสีไปทาทับ) เราใช้ศิลปะ สู้ผ่านถ้อยคำ บทเพลง ภาพวาด การทำอะไรด้วยความสุขจะทำได้นาน และทำได้อย่างมีพลัง ผู้มีอำนาจกลัวแบบนี้แหละ เพราะไม่มีรูปแบบ กฎเกณฑ์ อยากทำอะไรก็ทำ ใครจะไปคิดว่าเป็ดเหลือง กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ นำเสนอออกไปด้วยศิลปะ อย่าให้เผด็จการตามทางได้” ครูใหญ่ฝากข้อคิดปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image