อาศรมมิวสิก : บ้านเอื้อมอารีย์ พื้นที่ใหม่ของคนดนตรี

อาศรมมิวสิก : บ้านเอื้อมอารีย์ พื้นที่ใหม่ของคนดนตรี

อาศรมมิวสิก : บ้านเอื้อมอารีย์
พื้นที่ใหม่ของคนดนตรี

เมื่อเกษียณออกไปจากภาระผูกพัน ก็รู้สึกว่าตัวเบา ลอยไปลอยมาดุจสัมภเวสี ตอนแรกก็รู้สึกแปลกๆ เพราะไม่เคยตัวเบาแบบนี้มาก่อน ความรู้สึกเหมือนหลุดจากความเป็นทาสที่ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นเสรีชน ใหม่ๆ ก็ไปไม่เป็น ทำอะไรไม่ถูก ได้ไปปรึกษาหมอดู หาพราหมณ์เป่าคาถาอาคม อาบน้ำมนต์หมอผี หาหมอทำขวัญ ทำเหรียญพ่อแก่ ทำเหรียญพระพิฆเนศ เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ ต้องสร้างบริวารใหม่เพราะหมอดูทักว่าเป็นอาการพวกบริวารเป็นพิษ ต้องปรับบุคลิกใหม่ ใส่เสื้อผ้าใหม่ ทำบุญให้ทาน นั่งวิปัสสนา สักพักหนึ่งก็ได้สติ

วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ตัดสินใจสร้างบ้านเอื้อมอารีย์ โดยทำพิธีบอกกล่าวไหว้เจ้าที่ ได้ตอกเสาเข็มสร้างอาคารสอนดนตรีเด็ก สร้างห้องแสดงดนตรี พร้อมทำบุญบวงสรวงผูกเสาเอก ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2563 เดิมต้องการขยายห้องเรียนเด็ก อายุ 0-3 ขวบ เนื่องจากโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์มีนักเรียนเข้ามาเรียนจำนวนมาก ห้องเรียนดนตรีเด็กถือเป็นนวัตกรรมใหม่ สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาเด็กเล็กโดยเฉพาะ

โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ ดำเนินการโดย อาจารย์ตปาลิน เจริญสุข และอาจารย์กมลมาศ เจริญสุข ซึ่งเป็นอาจารย์สอนดนตรีคลาสสิก เมื่อผมว่างงานก็ได้เข้าไปช่วยเพื่อพัฒนาโรงเรียนดนตรี แม้จะทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็เป็นกำลังเสริม ช่วยจัดการแสดงดนตรีและคิดกิจกรรมสร้างสรรค์ดนตรี

Advertisement

บ้านเอื้อมอารีย์ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อของแม่ผู้ให้กำเนิด “เอื้อม” เป็นชื่อของแม่เอื้อม เจริญสุข ส่วนชื่อ “อารีย์” เป็นชื่อของแม่ยาย บ้านเอื้อมอารีย์จึงเป็นบ้านที่ให้ความรักและมอบความปรารถนาดี สัมผัสกับความอบอุ่น สร้างความเชื่อมั่นและให้ความหวัง สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายจินตนาการ โดยใช้เสียงดนตรี

วันที่ทำพิธีหล่อเสาเอกที่บ้านเอื้อมอารีย์ ได้นิมนต์หลวงพ่อวันชัย (พระอุดมพัฒนาการ) เจ้าอาวาสวัดหนองงูเหลือม จากชลบุรี มาทำพิธีเพื่อเป็นสิริมงคล มีญาติมิตรร่วมบุญ เป็นการเริ่มชีวิตใหม่ที่อบอุ่น ทุกคนรู้สึกตื่นเต้น อยากเห็นอาคารดนตรีใหม่ อยากเห็นภาพเด็กๆ ที่เล่นดนตรี ได้ยินเสียงดนตรีที่มีคุณภาพ ดนตรีที่มีชีวิต บ้านเอื้อมอารีย์จะเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาดนตรีและอาชีพดนตรี

วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 รัฐบาลประกาศปิดประเทศเพราะโรคระบาดโควิด-19 การก่อสร้างก็ต้องชะงักลง ทุกคนตกใจกลัวโรคระบาด พยายามประคองให้การก่อสร้างดำเนินไป ขณะที่การออกแบบ การปรับแบบตามความต้องการของสถาปนึก ซึ่งมีจินตนาการงอกใหม่ทุกวัน เพื่อหาจุดลงตัวกับเงื่อนไขใหม่ ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก 116 ตารางวา งบประมาณมีน้อย ช่วงเวลาก่อสร้างที่ลำบาก การก่อสร้างช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเงิน แต่ก็มีข้อดีอยู่บ้างเหมือนกัน คือ การสุมหัวของคนที่มีประสบการณ์และใช้หัวใจทำงานร่วมกัน

บ้านเอื้อมอารีย์มีห้องแสดงดนตรีขนาดเล็ก พื้นที่ 128 ตารางเมตร (16 x 8 เมตร สูง 7 เมตร) ออกแบบเพื่อเล่นดนตรีที่ใช้เสียงสดธรรมชาติ อาทิ การแสดงเดี่ยว แสดงคู่ การแสดงดนตรีวงเล็ก วงดุริยางค์เครื่องสายไม่เกิน 30 คน วงดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีนานาชาติ โดยเลือกตั้งวงดนตรีไว้ตรงกลาง ผู้ฟังนั่งรอบนักดนตรี รวมนักดนตรีและผู้ฟังได้ 80 คน ผนังห้องบุด้วยไม้ตะแบก มีไม้ระแนงดักเสียงก้อง มีฉนวนกันความร้อนและกันเสียงที่รบกวน พื้นห้องปูด้วยไม้ตะแบก (เก่า) พื้นเรียบไม่ยกเวที นักดนตรีสามารถเลือกจะตั้งวงแบบไหนก็ได้

ชาตรี ลดาลลิตสกุล สถาปนิก (ศิลปินแห่งชาติ),พิสิฐ เกียรติสุขศรี วิศวกรก่อสร้าง,สุกรี เจริญสุข สถาปนึกและวิศวกะ

บ้านเอื้อมอารีย์ ออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรผู้มีประสบการณ์ คุณพิสิฐ เกียรติสุขศรี ออกแบบระบบเสียงโดย คุณสราวุฒิ โสนะมิตร สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการทำห้องดนตรีที่ต้องการเสียงธรรมชาติ มีเปียโนหลังใหญ่ยี่ห้อยามาฮ่า (C-7 XE) สามารถบันทึกเสียงที่ส่งออกผ่านระบบออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อและสื่อสารกับโลก โดยไม่ต้องมีผู้ชมในห้อง

การออกแบบห้องดนตรีเพื่อใช้เสียงธรรมชาติคือ ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง กระจายเสียงจากกลางห้องให้มีค่าความก้องเสียงอยู่ที่ 1.25 วินาที เมื่อเสียงออกจากแหล่งกำเนิดเสียงไปถึงหูผู้ฟัง หากมีเสียงที่ยาวกว่านั้น เสียงก็จะก้อง ทำผนังบุไม้จะช่วยให้เสียงดนตรีสั้น นุ่ม และกังวาน ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของความไพเราะ ถ้าหากว่าเสียงยังยาวอยู่ก็ต้องใส่ไม้ระแนงเพิ่ม เมื่อพบว่าเสียงยังยาวอยู่อีก จึงใช้ผ้ายีนส์ย้อมครามจากสกลนคร โดยเอาผ้ายีนส์หุ้มฟองน้ำปะติดฝาผนังแทนไม้ระแนง เพื่อซับเสียงลดความก้อง เป็นวิธีที่ทำให้เสียงสั้นลง ลดความกังวาน ซึ่งมีพื้นที่อยู่ 2 ช่วง ช่วงละ 3 เมตร รวมพื้นที่ผ้ายีน 18 ตารางเมตร

การตั้งเวทีจากมุมไหนของห้องก็ได้ ข้อดีคือผู้ชมนั่งอยู่ในด้านตรงข้ามเวที แต่การกระจายเสียงจะด้อยกว่าการตั้งวงกลางเวทีเล็กน้อย สำหรับระบบเสียงในการถ่ายทอดสด มีไมโครโฟน 2 ชนิด คือ ไมค์สำหรับพิธีกร เป็นไมค์ลอย ขยายเสียงโดยมีลำโพงที่มุมห้อง ตั้งไว้ 4 จุด วิธีที่ 2 คือ ใช้ไมโครโฟนรับเสียงเพื่อการถ่ายทอดหรือเพื่อการบันทึก วางตำแหน่งไมค์ไว้ 4 จุด อยู่เหนือเวทีตรงกลาง เหมาะกับการถ่ายทอดสด สัญญาณที่ส่งไปยังเครื่องบันทึกเสียง (mixer) ที่มุมห้อง สามารถดึงเสียงที่มีคุณภาพจากเครื่องบันทึกนี้ได้

การซ้อมของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าที่บ้านเอื้อมอารีย์ เพื่อแสดงที่วัด

บ้านเอื้อมอารีย์ตั้งใจใช้เป็นห้องแสดงดนตรีสำหรับคนทุกวัย เด็กที่มีความสามารถ ผู้ด้อยโอกาส ดนตรีสำหรับผู้สูงวัย วงขับร้องประสานเสียง วงดนตรีลูกผสม เป็นพื้นที่ฟังเพลงที่มีคุณภาพ ทั้งเพลงเก่า เพลงหายาก เพลงที่อยากฟัง บ้านเอื้อมอารีย์เป็นเวทีประกวดดนตรีของเยาวชน ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นบันไดให้เยาวชนคนเก่งได้ประลองฝีมือ สร้างมาตรฐานการประกวดที่มีคุณภาพ เป็นเวทีที่มีเกียรติเชื่อถือได้ เพื่อสร้างศรัทธาซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของอาชีพดนตรี ให้เด็กได้ก้าวไปสู่ความเป็นนักดนตรีในระดับสากล

บ้านเอื้อมอารีย์เป็นห้องฝึกซ้อม เป็นห้องแสดง และเป็นห้องบันทึกเสียงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งเป็นวงออเคสตราอาชีพ โดยรวบรวมนักดนตรีที่มีฝีมือเพื่อการบันทึกเสียง การแสดงผลงานใหม่ บรรเลงประกอบภาพยนตร์ เพลงสารคดี ดนตรีประกอบการ์ตูน เพลงโฆษณา นำเพลงไทยและเพลงพื้นบ้านมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นเพลงสำหรับวงออเคสตรา

บ้านเอื้อมอารีย์เป็นพื้นที่ใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองทางดนตรี เป็นเวทีแสดงดนตรีเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ตั้งแต่ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีประจำชาติ ดนตรีสมัยนิยม ดนตรีนานาชาติ ดนตรีแจ๊ซ ดนตรีคลาสสิก เฉพาะดนตรีที่ใช้เสียงธรรมชาติ ซึ่งยังเปิดพื้นที่ให้กับดนตรีที่สร้างสรรค์เสียงใหม่ หรือดนตรีทดลอง เป็นต้น เพราะจะได้พัฒนาฝีมือและเป็นการเปิดเวทีให้กับอาชีพดนตรี

บ้านเอื้อมอารีย์ เป็นพื้นที่ใหม่ของคนดนตรี เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น เสียงดนตรีหลังจากโควิด-19 จะเปลี่ยนไป จึงต้องหาช่องทางใหม่ ต้องเชื่อมโยงและสื่อสารกับโลก เด็กรุ่นใหม่สามารถมองเห็นดนตรีของโลก เข้าถึงโลกได้โดยไม่ต้องไปวิ่งตามโลก เด็กไทยรุ่นใหม่ได้เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่แรกเกิด (0-3 ขวบ) ซึ่งได้ก้าวหน้าไปทันโลกแล้ว เมื่อเด็กอายุได้ 3-5 ขวบ สามารถที่จะขึ้นแสดงบนเวที เด็กมีความกล้าหาญและมีฝีมือ พ่อแม่มีกำลังและให้การสนับสนุนลูกเรียนดนตรี ดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ซึ่งเป็นโฉมหน้าใหม่ของการศึกษาดนตรีในประเทศไทย

ครูดนตรีเป็นอาชีพใหม่ที่สามารถเลี้ยงชีพได้ นักดนตรีนั้นเป็นอาชีพเก่า แต่ต้องจัดการใหม่กับอาชีพ เพราะต้องสร้างพื้นที่ทำมาหากินแบบใหม่ ยังมีอาชีพช่างดนตรี ทั้งช่างเสียงและช่างซ่อม รวมอาชีพธุรกิจดนตรีซึ่งเปิดกว้างมากขึ้น โรคระบาดโควิด-19 ทำให้อาชีพดนตรีต้องปรับตัวข้ามพรมแดน ซึ่งไร้เงื่อนไขและไร้ข้อจำกัด ดนตรีต้องทำงานสื่อสารกับโลก พื้นที่อาชีพดนตรีได้ขยายกว้างออกไป ลำพังในประเทศไทยนั้นแคบไปแล้ว

แต่ก่อนนักดนตรีพื้นบ้านไม่มีราคาค่าตัว นักดนตรีไทยราคาถูก นักดนตรีสากลราคาแพงกว่านักดนตรีไทย

นักดนตรีฝรั่งค่าตัวแพงกว่าคนไทย แต่วันนี้นักดนตรีทุกประเภทมีราคาค่าตัวไม่ต่างกัน แค่มีฝีมือและมีคุณภาพทำให้ค่าตัวเท่าเทียมกัน บ้านเอื้อมอารีย์เป็นช่องทางเล็กๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับสังคมดนตรีโลก ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเรื่องราคาและค่าตัว การประกวดดนตรีเด็กนานาชาติ การแสดงสดและการแสดงผ่านสื่อออนไลน์ โดยจะเปิดการแสดงครั้งแรก ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2564 เวลา 18.00 นาฬิกา

บ้านเอื้อมอารีย์ สร้างเป็นอาคารอารยสถาปัตย์ มีที่จอดรถเพียงพอ ให้ความสะดวกและเป็นมิตรกับคนทุกวัย แม่อุ้มท้อง เด็กน้อย คนแก่ คนพิการ มีลิฟต์ขึ้นอาคาร 2 ชั้น มีรายการดนตรีที่หาดูได้ยาก เป็นพื้นที่ของผู้ที่แสวงหาและโหยหาดนตรี หากไปดูไม่ได้ก็เปิดมือถือดู บ้านเอื้อมอารีย์เป็นช่องคนดูที่ข้ามพรมแดน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image