แท็งก์ความคิด : อ่าน‘ประสบการณ์’

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มักย้อนกลับมาเกิดซ้ำ

แม้จะไม่เหมือนแบบเป๊ะๆ แต่ก็คล้ายคลึงกันแบบสัมผัสได้

อาทิ การบริหารประเทศ มักสลับสับเปลี่ยนกันระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

พม่าที่ปกครองด้วยเผด็จการ หลายปีที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง

Advertisement

จู่ๆ พม่าก็กลับไปยึดอำนาจ คืนกลับไปสู่เผด็จการอีกรอบ

การระบาดของโรคไวรัสก็เช่นกัน โลกใบนี้เคยประสบมาแล้วหลายครั้ง

อาทิ ไข้หวัดสเปน เมอร์ส ซาร์ส แล้วก็โควิด-19

Advertisement

ดังนั้น การได้เก็บบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกหรือในประเทศไว้จึงเป็นประโยชน์

ประโยชน์ในระยะสั้นที่ปรากฏตัวอย่างให้เห็น คือ การระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19

เมื่อปี 2563 ประเทศไทยและโลกทั้งใบเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 เกิดความหวั่นวิตกเพราะไวรัสคุกคามถึงชีวิต มีผลต่อเศรษฐกิจ

ปลายปี 2563 ไทยเกิดการระบาดรอบใหม่ แต่คราวนี้ ไทยเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว

ไทยมีเครื่องมือแพทย์ มีอุปกรณ์ตรวจพิสูจน์ และป้องกันไวรัส มีแผนการขับเคลื่อนประเทศ

รักษาสมดุลระหว่าง “สาธารณสุข” กับ “เศรษฐกิจ”

ผลกระทบจึงน้อยกว่ารอบแรก

ทั้งหมดนี้ล้วนมาจาก “ประสบการณ์”

ล่าสุด วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 3 แสนโดสมาถึงไทย และตามด้วยการฉีด

เหตุการณ์การระบาดที่เคยเกิดเมื่อปี 2563 พอมาถึงปี 2564 สามารถคลี่คลายได้

ถือเป็นประโยชน์ต่อคน เป็นประโยชน์ต่อชาติ

แม้เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ และน่าห่วง ว่าพันธุ์ใหม่นี้อาจดื้อต่อวัคซีนที่กำลังฉีด

แต่กระบวนการผลิตวัคซีนก็พัฒนาตัวเองเพื่อป้องกันโควิดกลายพันธุ์ต่อไป

นอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ใช้ “ประสบการณ์” ไปปรับตัว

ประเทศใดบันทึกเหตุการณ์ และองค์ความรู้ ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้มาก

คนรุ่นใหม่ของประเทศนั้นย่อมมีโอกาสสรุปบทเรียนเก่า เพื่อสร้างนวัตกรรมได้ดี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ถือเป็น “ประสบการณ์”

อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ของเรา อาจเป็นประสบการณ์ของ “คนอื่น”

แต่ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของใครก็ล้วนมีประโยชน์

การได้ศึกษาประสบการณ์ ย่อมมีประโยชน์

สำนักพิมพ์มติชนได้ผลิตหนังสือ ชื่อ “บันทึกประเทศไทยปี 2563” ขึ้นมา

เนื้อหาเป็นการบันทึกเหตุการณ์เมื่อปี 2563

พลิกดูภายในเล่ม พบหลาย “ประสบการณ์” ที่ไทยควรนำมาใช้ประโยชน์

มกราคมปี 2563 ไทยพบผู้ป่วยรายแรกเป็นหญิงชาวจีนจากอู่ฮั่นมาไทย

เดือนเดียวกัน รัฐบาลตั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าทีมสู้โรคโควิด-19

มีนาคม 2563 เกิดการติดเชื้อที่เวทีลุมพินี และผับย่านทองหล่อ

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดในประเทศ

ต่อมารัฐบาลเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์

เมษายน 2563 รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ

การหยุดกิจกรรมต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจทรุดฮวบ รัฐบาลต้องหาเงินมาเยียวยาช่วยเหลือ

ผลดีจากการล็อกดาวน์คือการควบคุมโรคเป็นไปตามเป้า

สามารถควบคุมการระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศลดลงจนกลายเป็นศูนย์

พฤษภาคม รัฐบาลตัดสินใจปลดล็อก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หลังจากนั้น ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ

ตอนนั้นประเทศไทยมีการสาธารณสุขดี เศรษฐกิจทรุด ขณะที่การเมืองกลับมายุ่ง

อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงมาตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563

แนวคิดของคนรุ่นใหม่กับรัฐบาลมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง กระทั่งนักเรียนนิสิตนักศึกษาออกมาขับไล่รัฐบาล

กรกฎาคม เกิดแฟลชม็อบทั่วประเทศ สิงหาคม นักเรียนนิสิตนักศึกษาตั้งเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แล้วหลังจากนั้น การชุมนุมก็ขยายตัว

เดือนกันยายน เดือนตุลาคม ประเด็นใหญ่ๆ ล้วนเป็นเรื่องม็อบ

ยิ่งเมื่อเกิดกรณีเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย

ขณะเดียวกัน รัฐสภาพยายามหาวิธีลดอุณหภูมิ ด้วยการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์

กระทั่งเดือนธันวาคม โรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ มีต้นเหตุจากขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ และบ่อนการพนัน

ประเทศไทยกลับคืนสู่การควบคุมโรคระบาดอีกครั้ง การเคลื่อนไหวนอกสภาหยุดลงชั่วคราว

นี่เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ในปีเดียวคือปี 2563

จังหวะเวลานี้จึงน่าจะรีบทบทวนอดีต เพื่อทำให้ปัจจุบันดีกว่าเดิม

การได้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนได้ทบทวน “ประสบการณ์”

หนังสือ “บันทึกประเทศไทยปี 2563” จึงน่าอ่าน

เหมือนกับหนังสือบันทึกประเทศไทยปีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ก็น่าอ่าน

เพราะนี่คือการบันทึกประสบการณ์ของประเทศ

อ่านแล้วจะได้นึกออก อ่านแล้วจะได้ฉุกคิด

คิดแล้วทำเพื่อให้ผลที่ออกมาดีกว่าเดิม

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image