‘เพ ลา เพลิน’ ดินแดนปลูก-ผลิตกัญชาครบวงจร เดินหน้าทำระบบ‘คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง’ เปิดช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย

เป็นเวลาปีเศษแล้ว ที่ต้นกัญชาของ “วิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน” ยังคงออกดอกสวยงามในฟาร์มปลูกระบบปิดที่ได้มาตรฐาน และสามารถเก็บเกี่ยวตัวช่อดอกอย่างต่อเนื่องส่งขายให้กับโรงพยาบาลคูเมือง ซึ่งเป็นโรงผลิตยาสมุนไพรที่ได้รับมาตรฐานจาก GMP แห่งเดียวใน จ.บุรีรัมย์

สร้างความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดในการผลักดัน “กัญชาทางการแพทย์” โดยสามารถพัฒนาต่อยอด สกัดเป็นยาน้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มกระจายให้กับคลินิกและสาธารณสุขจังหวัดได้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชัก โรคมะเร็ง และอีกหลากหลายโรค เรียกได้ว่าก้าวผ่านความสำเร็จไปอีกขั้นของการปลูกและสกัดน้ำมันกัญชา ตามแผน “บุรีรัมย์โมเดล” สู่เมืองหลวงของกัญชา เพื่อการแพทย์ของประเทศ

พรทิพย์ อัษฎาธร กับเหล่าสมุนไพร และเวชสำอางของเพ ลา เพลิน

คุณพรทิพย์ อัษฎาธร ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพ ลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ ได้พูดคุยถึงความสำเร็จที่พร้อมส่งต่อเรื่องราวของการปลูก “กัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์” ให้กับผู้ที่สนใจทั่วประเทศ โดยจะใช้โมเดลปลูกกัญชาด้วยมาตรฐานการปลูกแบบ “เมดิคัล เกรด (Medical Grade)” เป็นต้นแบบการผลิตและเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ พร้อมทั้งช่วยในเรื่องของการชำกิ่งหรือโคลนนิ่งต้นกัญชา การแจกเมล็ดกัญชงให้กับผู้ขออนุญาต/สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ได้นำไปปลูกแล้วรับซื้อเมล็ดคืน รวมไปถึงการทำระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง

“ในไทยคนที่ปลูก Charlotte’s Angel แล้วได้ CBD สูง ก็จะมีองค์การเภสัชกรรม แบ่งปลูกที่ เพ ลา เพลิน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี และที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งทำระบบปิดเหมือนกันกับเพ ลา เพลิน โดยเพ ลา เพลินสามารถปลูกได้เปอร์เซ็นต์สารสำคัญ CBD อยู่ที่ 13%”

Advertisement

คุณพรทิพย์เล่าว่า เพ ลา เพลินได้เน้นปลูกกัญชาเฉพาะสายพันธุ์ Charlotte’s Angel เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีระดับสาร CBD ที่สูง และมีส่วนผสมของ THC น้อย แต่ก็มีข้อเสียคือ เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ไม่ทนร้อน หากเติบโตในอากาศร้อน ปริมาณ THC ของเฮมพ์ที่ปลูกก็จะสูง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เพ ลา เพลินเลือกปลูกอยู่ในระบบปิด

“อยู่ที่เป้าหมายว่าเราจะเอาไปใช้ทำอะไร ถ้าเน้นเอา THC หาได้ง่ายในสายพันธุ์ไทย เช่น หางกระรอก ตะนาวศรี แต่ถ้าเน้น CBD ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังต้องนำเข้าสายพันธุ์ต่างประเทศ และยังต้องพัฒนาสายพันธุ์กันอยู่ อย่างน้อย 3-5 ปี ถึงจะได้เห็นสายพันธุ์ไทยที่ CBD สูง ที่ทนร้อน และปลูกแบบ Outdoor ได้”

ปัจจุบันที่เพ ลา เพลินมีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้ามาทำร่วมกันประมาณ 10-15 คน โดยจะเน้นปลูกสมุนไพรและผักเป็นหลัก ส่วนกัญชาที่ไม่ได้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ปลูกแค่ 300-400 ต้น/รอบ ก็จะใช้คนดูแลแค่ 4-5 คน เนื่องจากเป็นระบบควบคุม สามารถใช้แอปฯเข้ามาช่วยในเรื่องของการให้น้ำให้ปุ๋ยได้ ซึ่งคุณพรทิพย์ก็ได้ย้ำว่า ถ้าจะใช้แบบเมดิคัล เกรด สารในดิน น้ำต้องผ่านการตรวจ ช่อดอกแห้งต้องตรวจผ่าน Lab ก่อนถึงจะขายได้ เพราะหากพบเชื้อราจะเอาไปใช้ในเชิงการแพทย์ไม่ได้ ตรวจเจอต้องทิ้งหมด โดยราคาขายก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสาร CBD เฉลี่ยกิโลกรัมละ 20,000-50,000 บาท (CBD ต้องได้ 18%)

“แม้แต่การปลูกสายพันธุ์เดียวกัน ปลูกคนละรอบ คนละห้อง ถ้าควบคุมน้ำ ดิน ปุ๋ย ไม่ได้ หรือควบคุมแสงสว่างไม่ดีพอ อาจจะเกิดอาการเหลือง หรือให้สาร CBD ไม่เท่ากัน ดังนั้นต้องมีการตรวจทุกรอบ”

ลำต้น ราก ใบ “กัญชา-กัญชง” ใช้ได้หมด

ตอนนี้ลำต้น ราก ใบ ขายได้ ใบกัญชาที่อยู่ใต้โคนช่อดอก ส่งให้กับ ม.นเรศวร ทำวิจัยเพื่อจะทำคอสเมติก ส่วนที่เป็นใบเลยก็นำไปใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ทำ “CBD กะเม็ง” ”CBD เบต้ากลูแคน” พยายามให้ทุกขั้นตอนผ่านการตรวจจาก Lab มีการรับรองและใส่เปอร์เซ็นต์สารสำคัญที่เหมาะสม หรือใบส่วนที่เป็น Waste ก็อาจจะไปสู่การเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้ เป็นต้น

ส่วนรากกัญชา มีส่งให้กับศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ตรวจหาสารสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีการปลดล็อก ลำต้น ราก ใบ ต้องทำลายทิ้ง ซึ่งรากอาจจะเอาไปใช้ทำยาไทย ยาสีฟัน ลดการบวมของเหงือก อย่างยาสีฟันเทพไทยก็จะเข้ามาหาเราวันที่ 7 มีนาคมนี้ด้วย

“มีหลายแบรนด์ในไทยที่จะเข้ามาคุยกับเรา ขอให้หาแหล่งปลูกช่วย โดยให้เราช่วยหาผู้ที่สนใจจะปลูกและได้คุณภาพแบบเรา เขาก็จะขอรับซื้อในราคาที่เขากำหนด เนื่องจากการปลูกระบบปิดมีการลงทุนค่อนข้างสูง ถ้ามารับซื้อเราปีเดียวแล้วราคาตก การคุ้มทุนจะไม่มี ซึ่งเรากำลังคุยกับกรมวิชาการเกษตร จับมือกันพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ CBD ที่เป็นที่ต้องการของทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าถึงการปลูกมากขึ้นและมีรายได้จากส่วนนี้”

ขณะที่ลำต้น ราก ใบ ของกัญชง ทุกส่วนมีเปอร์เซ็นต์สารต่างกันหมด นอกจากปลูกเพื่อนำใยไฟเบอร์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิดแล้ว เมล็ดหลังจากที่สกัดเอาน้ำมันโอเมก้า 3-6-9 เสร็จ เนื้อเมล็ดที่เหลือสามารถเอามาทำเป็น “สแน็กบาร์-เฮลท์ตี้บาร์” ได้ น้ำมันก็สกัดออกมาใช้เป็นคอสเมติกได้ (หรือทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เนย ชีส เต้าหู้ นมกัญชง หรือใช้ในการปรุงอาหาร) อันนี้ก็เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ส่วนใบสดเรายังเน้นขายให้กับคนที่เอาไปทำวิจัย กิโลกรัมละ 500 บาท ซึ่งเอาไปทำคอสเมติกได้ หรือเอาไปทำยาแผนไทยก็ได้เช่นกัน

“สำคัญเลยก็คือ ต้องรู้ว่าสัดส่วนที่จะใส่คืออะไร ถ้าเราไม่วิเคราะห์ เอามาเข้าสูตรยา หรือมาใส่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เราก็ไม่รู้ว่าตรงไหนจะให้ข้อดีอะไร อย่างเมล็ดกัญชงที่จะทำเอนเนอร์จี้บาร์ ยังต้องวิเคราะห์กับสถาบันอาหาร หาว่าสารสำคัญที่มีอยู่ช่วยอะไรได้บ้าง”

แต่ที่เป็นปัญหาของบ้านเราตอนนี้เลยก็คือ ยังมีเมล็ดพันธุ์กัญชงที่ไม่เพียงพอที่จะไปสกัดเป็นน้ำมันจากเมล็ดได้ ยังต้องอยู่ในเฟสการขยายพันธุ์ก่อนในช่วงปีแรก ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ คอสเมติก สปา ยาสีฟัน ต่างก็กำลังมองหาฟาร์มปลูก คิดว่ามหกรรมงาน “กัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” 5-7 มีนาคมนี้ ที่สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์ จะเป็นอีกงานสำคัญ ที่จะได้เห็นระบบ “คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง” เรื่องกัญชงกัญชาเกิดขึ้น

นำร่องโครงการ “SEED TO SALE”

ขณะนี้มีโครงการ SEED TO SALE ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มองหาแหล่งปลูก ซึ่งมีศักยภาพในการทำโมเดล 60-100 ต้น ได้ทำงานร่วมกันกับเกษตรกรในลักษณะ “คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง” ซึ่งจะเริ่มปลูก-ผลิต ในพื้นที่เพ ลาเพลินเป็นที่แรก

“เราต้องการเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพ ที่มีออเดอร์ ต้องการเอาไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในอนาคต ให้เขามาเจอกับคนที่อยากจะปลูก เพราะคนที่อยากจะปลูกเขาก็มาคุยกับเรา และเราก็ต้องวิเคราะห์ให้เขาด้วยว่าเจ้าไหนมีศักยภาพ ถ้าปลูกแบบไร้ทิศทางก็ไม่อยากแนะนำ แล้วต้องประกันรับซื้อให้ผู้ปลูกด้วย โดยเราจะเป็นตัวกลางให้”

กัญชากัญชงปลูกได้! อยู่ที่การแจ้งครอบครอง

คุณพรทิพย์บอกว่า กัญชาหากเป็นสายพันธุ์ไทย เน้น THC ชาวบ้านปลูกได้เลยตามที่ขอจดแจ้งกับ สสจ. และสามารถเอามาทำเป็นอาหารได้ ตอนนี้ก็เริ่มเอาไปทำได้แล้ว อย่างปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นของโนนมาลัยโมเดล ซึ่งเราก็ไปช่วยในเรื่องการปักชำ และเน้นให้ปลูกเพื่อเอาไปทำอาหาร ทำยาไทย สูตรสมุนไพรไทย แต่ถ้าจะปลูก-ผลิตเพื่อไปทำยา ก็ต้องมีออเดอร์จากเรา เราถึงให้ปลูก อยากให้หาคู่พาร์ทเนอร์ในการปลูก ไม่ใช่ปลูกมาแล้วไม่รู้จะขายให้ใคร

“ถ้าทำระบบปิดดีๆ ทำแบบไม่เสียหาย คืนทุนได้ 2-3 ปี แต่ถ้าจะทำกรีนเฮาส์ ดีที่สุดที่จะทำได้ก็ไม่เกิน 2 รอบปลูก อันนี้ที่ผ่านมาเราให้ความรู้อยู่แล้ว มีศูนย์เรียนรู้ เราเปิดกว้างเรื่องการทำงาน การปลูก การทำโคลนต้นกัญชา อีกทั้งยังเตรียมเมล็ดพันธุ์กัญชงจากโครงการเกษตรที่พบพระ จ.ตาก ไว้เพื่อแจกวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มเราเอง 35 คน ที่ยังไม่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในโรงของการปลูกกัญชา ใครที่จดครอบครองได้ให้มาลงชื่อไว้ก่อน เราให้เมล็ดไปปลูกและจะส่งเสริมการรับซื้อเมล็ดกลับคืน”

แน่นอนว่าหากสามารถควบคุมการปลูกได้ดี ก็จะได้สารสำคัญสูง ราคาก็จะสูงตาม กัญชาข้อดีคือไม่ต้องควบคุม THC เพราะราคาขายจะอยู่ที่ CBD ส่วนกัญชงถ้า THC พุ่งสูงเกิน 1% ใบช่อสดต้องทิ้งหมด ต้องคุมสายพันธุ์ให้ดีตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเร็วๆ นี้ ที่เพ ลา เพลินก็จะมีการทดลองปลูกแบบกรีนเฮาส์ด้วย เพื่อลดต้นทุนและให้ชาวบ้านได้เข้าถึงการปลูกกัญชา-กัญชงมากขึ้น

คุณพรทิพย์ยังแนะนำอีกว่า การจะปลูกกัญชากัญชง ถ้าจะให้ดีแหล่งปลูกควรห่างกันถึง 40 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดการเบี่ยงเพศ หรือไม่ทำให้สาร CBD ลดลง หรือ THC พุ่งสูงขึ้น ใครจะปลูกตรงไหน ต้องมีการกำหนดโซนกัน

คลินิกกัญชา ณ เพ ลา เพลิน

นอกจากนี้ที่เพ ลา เพลิน ยังเตรียมเปิด “เอกายาสหคลินิก” ศูนย์ Wellness แห่งแรกใน จ.บุรีรัมย์ ที่พร้อมให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งแพทย์แผนไทย แผนจีน และแผนปัจจุบัน โดยจะมีห้องตรวจ 3 ห้อง และห้องให้หัตถการ 3 ห้อง เพื่อให้เป็นที่สำหรับจ่ายน้ำมันกัญชาร่วมกับ รพ.คูเมือง

เบื้องต้นมีถึง 10-13 หัตถการ อาทิ การนั่งยา เผายา พอกตา รมยา พอกเข่า นวดหน้าทองคำ โดยจะใส่ผลิตภัณฑ์ของเอกายา อย่างครีม CBD กะเม็ง เข้าไปในคอร์สต่างๆ ด้วย ซึ่งจะเปิดทำการทุกวันเวลา 09.00-20.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ เพ ลา เพลินเพื่อชุมชนแล้วร่วมใช้บริการเหล่านี้ได้

ถือว่าเป็นแห่งเดียวที่นำร่องทำครบวงจร ทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ และทำเรื่องเมดิคัล เกรด ปลูกในระบบปิดที่ได้มาตรฐานสูงที่สุด ภายใต้การควบคุมของ รพ.คูเมือง และองค์การเภสัชกรรม

ทั้งหมดนี้เพ ลา เพลินจะยกมาให้สัมผัสกันแบบใกล้ชิดที่งาน “กัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” จะได้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของการปลูกกัญชากัญชง มีเวิร์กชอปชวนทำอาหารโดยมีส่วนผสมของกัญชา มีคลินิกกัญชาที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญเป็นงานที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายผู้ปลูก ได้เจอกับผู้ประกอบการรายใหญ่อีกด้วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำข้อตกลงซื้อขายผลิตผลต่างๆ ได้ในอนาคต

โอกาสดีๆ มาถึงแล้ว ที่จะได้ปลูกกัญชากัญชงกันแบบถูกกฎหมาย 5-7 มีนาคมนี้ ห้ามพลาด พบกันที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image