‘ศูนย์ค้ำคูณ’ สวนผักแห่งความหวัง ในวันที่ผู้พิการยังเผชิญความเหลื่อมล้ำ

จากข้อมูลสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ประจำปี 2564 ของกองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ รายงานว่าสถานประกอบการทั่วประเทศยังมีสัดส่วนของผู้พิการที่จะต้องจัดจ้างเป็นแรงงานในระบบอีกกว่า 79,458 คน คิดเป็น 99.59% นั่นเท่ากับว่ายังมีผู้พิการทั่วประเทศจำนวนมากที่ยังไม่ถูกจ้างงาน แม้ว่าสถานะผู้พิการกับโอกาสทางสังคมเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอ และมีการสนับสนุนสิทธิของคนพิการในหลายด้าน แต่ในด้านของตลาดแรงงาน ยังพบความเหลื่อมล้ำอย่างมาก แน่นอนว่า ความสมบูรณ์ของร่างกาย คืออุปสรรคใหญ่ของผู้พิการซึ่งทำให้ “โอกาสของอาชีพ” ลดน้อยลง

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีฯตระหนักว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนนั้น นอกเหนือจากการหายเจ็บป่วยแล้ว การดำรงชีพในชีวิตประจำวันนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จึงให้การช่วยเหลือให้ผู้พิการได้มีอาชีพ โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล ผ่านการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลชุมชน โดยมีการก่อตั้ง “ศูนย์ค้ำคูณ” แปลงผักอินทรีย์ปลอดสารพิษนานาชนิดที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวันในพื้นที่ชายป่าอันอุดมสมบูรณ์ ขนาด 64 ไร่ รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น หนึ่งใน 23 โรงพยาบาลชุมชน ที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ให้การช่วยเหลือทุนทรัพย์ในโครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน

ต้นแบบใช้ชีวิตสมดุลธรรมชาติ

โรงเรียนเกษตรผสาน สร้างงานผู้ด้อยโอกาส

Advertisement
นายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร

นายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์และผู้ก่อตั้งศูนย์ค้ำคูณ ร่วมกับ แพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูร ภรรยาคู่ชีวิต ย้อนเล่าว่า สมัยที่เรียนจบจากรั้วรามาธิบดี ได้สอบบรรจุมาอยู่ที่ รพ.อุบลรัตน์แห่งนี้พร้อมกับภรรยาซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ เริ่มเห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่มารักษาเป็นโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ก็เริ่มคิดว่าตัวเองจะทำอย่างไรได้บ้างนอกจากการรักษาตามตำราแพทย์

“ความเจ็บป่วยที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ โดยเริ่มต้นที่การเลือกทานอาหารที่ดี อยู่ในที่ที่ดี และทำจิตใจให้ดี พอมีความเครียดน้อยลงโอกาสที่จะเกิดโรคก็น้อยลงไปด้วย เลยช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้คนสุขภาพดีขึ้นเพื่อลดการเข้าโรงพยาบาลแลให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เลยเกิดเป็นแนวคิดของการสร้างศูนย์ค้ำคูณขึ้นมา เพื่อให้เป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล กินผักให้เป็นยา ให้ผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลได้ทานผักปลอดสารพิษจริงๆ ให้เป็นโรงเรียนสอนการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนได้ และยังเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ด้อยโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ศูนย์ค้ำคูณแห่งนี้ประกอบไปด้วยเกษตรกรมืออาชีพกว่า 50 คน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนพิการภายใต้ “โครงการจ้างงานคนพิการปลูกผักปลอดสารพิษ” ของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ผักทุกต้นที่เกิดจากความเอาใจใส่ของเหล่าเกษตรกรนักสู้และส่งตรงให้กับโรงครัวของโรงพยาบาลอุบลรัตน์เพื่อให้พ่อครัวแม่ครัวปรุงเป็นอาหารสดใหม่เสิร์ฟให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยได้รับประทานอย่างสุขใจเพราะล้วนเป็นผักปลอดสารพิษทั้งสิ้น สวนแห่งนี้จึงเป็นมากกว่าแปลงผักอินทรีย์แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างโอกาสและรายได้ที่มั่นคงให้แก่ผู้พิการสมกับชื่อ ศูนย์ค้ำคูณ ซึ่งหมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และการพึ่งพาตัวเอง

Advertisement

จากคนปกติสู่ผู้พิการ

ชีวิตหลังมรสุมสู่ความหมายที่ยั่งยืน

นัฐพล โภชภัณฑ์

จากมุมมองของนายแพทย์ มาคุยกับผู้พิการตัวจริง อย่าง ตี้-นัฐพลโภชภัณฑ์ ชายหนุ่มวัย 24 ที่เกิดมามีร่างกายสมบูรณ์และเคยใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผันในช่วงที่เขากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ด้วยอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนส่งผลให้สมองได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงและร่างกายครึ่งขวากลายเป็นอัมพาต กลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเกือบสิบปีแต่ยังจดจำเรื่องราวต่างๆได้ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้

“รู้สึกเหมือนตัวเองตายไปแล้วตอนที่ฟื้นขึ้นมา ช่วงแรกจำอะไรไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หมอเล่าให้ฟังว่าผมสลบไปหลายวันและอาการก็อยู่ในขั้นโคม่า พอฟื้นขึ้นมาได้คนรอบข้างก็พูดว่าปาฏิหาริย์มาก แต่เชื่อไหมว่าความรู้สึกแรกตอนที่ผมรู้ว่าร่างกายจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปผมกลับอยากตายไปจริงๆ มากกว่า”

เมื่อออกจากโรงพยาบาลตี้ต้องทำกายภาพบำบัด ฝึกเดิน ฝึกพูด ฝึกการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่เขายังไม่คุ้นเคย จนเวลาผ่านไปตี้จึงค่อยๆ ทำใจยอมรับสถานะใหม่ที่เขาไม่เคยต้องการมาก่อน ด้วยร่างกายที่ไม่เหมือนเดิมทำให้ตี้ไม่ได้เรียนต่อ แต่ครั้นจะอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่อยากรู้สึกเป็นภาระให้กับครอบครัว ตี้จึงเริ่มมองหาอาชีพที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการอย่างเขาสามารถทำงานได้เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง

“ผมพยายามหางานทำอยู่เรื่อยๆ นะ เพราะไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ พอว่างแล้วมันจะคิดมาก ใครใช้ให้ทำอะไรก็ไปทำหมดที่ทำให้เรามีรายได้มาช่วยที่บ้านบ้าง แต่งานสำหรับคนพิการเป็นสิ่งที่หายากมาก เพราะร่างกายเราไม่ได้สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เชื่อไหมว่าผมเคยคิดสั้นด้วยนะ เพราะน้อยใจโชคชะตาตัวเอง แต่ไม่รู้ว่ายังไม่ถึงเวลาตายรึเปล่าเพราะเชือกที่ผูกเอาไว้ดันหลุดออกเลยทำให้ผมยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ แต่ผมจะไม่กลับไปคิดสั้นอีกแล้วเพราะตอนนี้ผมรู้แล้วว่าแค่ร่างกายเราไม่เหมือนเดิมไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีคุณค่า ทุกวันนี้ผมยังใช้ความสามารถของผมหาเงินได้อยู่และยังเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกด้วย” ตี้เปิดใจ

ปัจจุบันตี้ทำหน้าที่ดูแลแปลงผักภายในสวนค้ำคูณมาแล้วเกือบ 2 ปี ทุกวันต้องตื่นเช้าและเดินทางออกจากบ้านมากว่า 20 กิโลเมตร โดยมีน้องชายช่วยขี่รถจักรยานยนต์มาส่งที่สวนแห่งนี้ ภายในสวนจะมีการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบกันอย่างเป็นระเบียบ ทุกวันตี้จะทำหน้าที่ดูแลตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ดพันธุ์ รดน้ำใส่ปุ๋ยและเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยแต่ละเดือนตี้จะมีรายได้ประจำที่ทางโรงพยาบาลจ่ายให้เป็นค่าแรงในการดูแลสวนผักเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท นอกจากนี้ ผลผลิตที่ปลูกภายในสวนเขายังสามารถนำกลับไปประกอบอาหารในครอบครัวได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นอาชีพที่มั่นคง

จากวิถีการดำเนินชีวิตแบบปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบผลสำเร็จที่ถ่ายทอดเป็นความรู้แก่คนในชุมชน เกิดเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

แนวคิดนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ “โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน” ที่สนับสนุนให้โรงพยาบาลเป็นมากกว่าการรักษาผู้ป่วยแต่ยังร่วมกระจายความช่วยเหลือให้คนในชุมชนมีสุขภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตัวอย่างได้อย่างยั่งยืน

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image