คอลัมน์แทงก์ความคิด : รอให้พิสูจน์

คอลัมน์แทงก์ความคิด : รอให้พิสูจน์

คอลัมน์แทงก์ความคิด : รอให้พิสูจน์

เพิ่งล่วงเลยวันมาฆบูชามาได้นิดหน่อย บังเอิญได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจาก พระปัญญา นีลวัณโณ สำนักสงฆ์ เขาตะบองนาค จ.นครสวรรค์ เรื่องโพชฌงค์ 7 จึงอยากมาเล่าสู่กันฟัง

เพราะฟังพระธรรมแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์ทั้งพระสงฆ์และปุถุชนคนธรรมดา

กรณีโพชฌงค์นี้ มีดีตรงที่เป็นเครื่องมือในการทำให้วิปัสสนาได้ผล

Advertisement

เพราะเป็นเทคนิคช่วยในการค้นหาพระธรรม

ดั่งที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การปฏิบัติธรรม ต้องมีทั้งการสะสมความรู้ คือ ฟังธรรม และการปฏิบัติ คือ สมาธิวิปัสสนา

การปฏิบัติธรรม นอกจากที่ผู้ปฏิบัติต้องรู้ขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทราบเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท”

ไล่เรียงเหตุปัจจัย ตั้งแต่ “อวิชชา” เป็นปัจจัยให้เกิด “สังขาร” เรื่อยไปจนถึง “ชรามรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ”

นอกจากจะต้องทำความเข้าใจกับ “อริยสัจ 4” ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

และรู้วิธีเข้าถึงอริยสัจ 4 ด้วย “สติปัฏฐาน 4” คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้ว

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7 นี่แหละจะเป็นเครื่องมือช่วยให้เข้าถึงสัจธรรม

โพชฌงค์ 7 มีองค์ประกอบ 7 ประการ

นั่นคือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา

พลิกดูคำแปลที่ให้ความหมายแล้ว ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ

เริ่มตั้งแต่ “สติ” ที่หมายถึง ความระลึกได้

ธัมมวิจยะ คือ การสืบค้นธรรม วิริยะ หมายถึง ความเพียร

ปีติ คือ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบกายใจ

สมาธิ คือ ใจตั้งมั่น และ อุเบกขา หมายถึง ใจเป็นกลาง เห็นตามที่เป็นจริง

ทั้งหมดของโพชฌงค์ 7 นี้ หากใครนำไปปฏิบัติจะช่วยในการศึกษาแสวงหาธรรม

เมื่อ “สติ” จับอยู่กับสิ่งที่ต้องการศึกษา

ในทางธรรมแนะนำให้ “สติ” ไปจับอยู่ที่ กาย หรือ เวทนา หรือ จิต หรือ ธรรม

เมื่อสติจับอยู่บ่อยๆ ก็จะสังเกตเห็นสิ่งที่เกิด

เห็นการเกิด เห็นการดำรงอยู่ และเห็นการดับไป

เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เห็นว่า นี่ไม่ใช่เรา นั่นก็ไม่ใช่ของเรา

สรุปคือ ทางธรรมท่านให้เห็นกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เห็นได้ดั่งนี้ก็เข้าสู่มรรค 8 ที่เริ่มต้นด้วย สัมมาทิฏฐิ เกิดความเห็นชอบ

การจะเห็นเช่นนั้นได้ พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะให้ “สืบค้นหา” (ธัมมวิจยะ)

ต้องมี “ความเพียร” (วิริยะ) ในการค้นหา มี “ความสุข” (ปีติ) ในการสืบค้น

มี “ความสงบกายใจ” (ปัสสัทธิ) ในการพิจารณา มี “ใจที่ตั้งมั่น” (สมาธิ)

แล้วเมื่อ “ใจเป็นกลาง” (อุเบกขา) เราก็จะเห็นสิ่งที่เป็นจริง

ทั้งหมดนั้นเป็นข้อแนะนำการศึกษาพระธรรม

แต่ถ้าเราจะลองนำโพชฌงค์ 7 มาใช้ในทางโลก เชื่อว่าจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเรียนและการงานได้

ถ้านักเรียน เริ่มต้นด้วยสติ เกาะติดกับบทเรียน

มีเป้าหมายคือค้นหาความรู้ มีความเพียร มีความสุขใจในการเรียน

มีความสงบกายใจในการพิจารณา มีความตั้งใจมั่นฟังอาจารย์

มีใจเป็นกลางต่อองค์ความรู้ที่ได้

ความสำเร็จในการเรียนย่อมเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับพนักงานคนทำงาน ที่ประกอบอาชีพต่างๆ

หากเริ่มต้นด้วยสติ เกาะติดกับงานที่ทำอยู่

แล้วงัดเอาข้อแนะนำตามแนวทางโพชฌงค์ 7 คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา มาใช้

นั่นคือ ค้นหาความรู้ในงานที่กำลังทำ มีความเพียรในการปฏิบัติภารกิจ

อิ่มเอิบใจต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สงบกายและใจในช่วงการปฏิบัติ มีความตั้งใจมั่นเพื่อบรรลุผล

และใจเป็นกลาง มองเห็นสิ่งที่เป็นจริง

ภารกิจการงานที่ทำอยู่ ย่อมมีโอกาสสำเร็จ

สูตรทางธรรมนี้ เป็นไอเดียหลังจากฟังพระธรรมเทศนา

ความจริงแล้วมีบทธรรมหลายตอนที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิต

แม้จะเป็นธรรมที่พระสงฆ์สาวกปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน

แต่ปุถุชนคนธรรมดา หากน้อมนำพระธรรมมาปรับใช้กับการเรียนการงาน

หลายคำสั่งสอนจะช่วยให้การงานสำเร็จการเรียนประสบผล

เรื่องเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องเชื่อ

ขอให้ถือเป็นแค่สมมุติฐานที่รอการพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ

สมมุติฐานตั้งไว้ว่า แนวทางโพชฌงค์นี้ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ยึดถือปฏิบัติ

หลายรูปสามารถบรรลุธรรม ก้าวเข้าสู่อรหันต์

ประสบความสำเร็จกันมาแล้ว

ดังนั้น ถ้าจะใช้โพชฌงค์เป็นแนวปฏิบัติในทางโลก

นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียน และการงาน

ความสำเร็จจากการปฏิบัติตามคำแนะนำก็น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น

นี่คือสมมุติฐาน และรอการพิสูจน์ว่า ถ้าปฏิบัติตามแล้วจะสำเร็จ

เชื่อว่าหลายคนคนปฏิบัติแล้ว แต่อีกหลายคนยังไม่ปฏิบัติ

เรื่องโพชฌงค์ 7 นี้หากใครปรับมาใช้ในทางโลกแล้วได้ผล ช่วยบอกเล่ามาให้ฟัง

ช่วยกันพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อให้แก่พระสงฆ์ปฏิบัติเท่านั้น

พระองค์ตรัสรู้และทรงสั่งสอนเพื่อให้ทุกคนในโลกนำไปใช้

ใช้เพื่อละทิ้งอาสวกิเลส เพื่อพบความสำเร็จในชีวิต

แม้จะไม่สามารถเข้าถึงนิพพาน แต่แค่เรียนสำเร็จ ทำงานสัมฤทธิผลได้

แค่นี้ชีวิตก็มีสุข รุ่งเรืองเจริญก้าวหน้า

หากได้แค่นี้ก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว

 

โดย : นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image