สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระเจ้าเหา มาจากเมืองจีน

พระเจ้าเหาเป็นใคร? มาจากไหน? ยังไม่พบคำอธิบายน่าเชื่อ

ที่ได้ยินมาเป็นแต่พูดกันโดยเดาเมาธ์เอ็นจอยปาก ว่าได้จากตึกพระเจ้าเหา ที่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นตึกที่ฝรั่งเรียก house แล้วเพี้ยนเป็นเหา

บางทีบอกว่ามาจากชื่อพระพุทธรูป ว่า พระเจ้าหาว (หาว แปลว่า ท้องฟ้า) เพี้ยนเป็น เหา (ในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ฯ ที่กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542 หน้า 99)

พระเจ้าเหา หมายถึง เก่าแก่, โบราณ มักใช้ว่ายุคพระเจ้าเหา หรือสมัยพระเจ้าเหา (จากพจนานุกรม ฉบับมติชน) ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินชื่อ เหา

Advertisement

คำว่า เหา น่าจะมาจากคำจีนว่าเฮ่า เป็นนามพิเศษออกไปจากชื่อตัวและชื่อรองในวัฒนธรรมจีน มีชื่อต่างๆ กัน แบ่งได้ 6 ประเภท ผมเชื่อตามคำอธิบายซึ่งมีอีกมากอยู่ในหนังสือ ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ ของ ถาวร สิกขโกศล (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกสิงหาคม 2559 ราคา 200 บาท) จะยกโดยสรุปเป็นตัวอย่างดังนี้

เมี่ยวเฮ่า เป็นเฮ่าของกษัตริย์เท่านั้น เมี่ยว แปลว่า ศาล ในที่นี้หมายถึง ไท่เมี่ยว คือ ศาลสถิตวิญญาณบูรพกษัตริย์ของพระราชวงศ์ ไทยเรียก “หอพระเทพบิดร” หรือ “ปราสาทเทพบิดร”

อ่านแล้วชวนให้คิดเข้ากันได้กับพระเจ้าเหา หมายถึงเก่าแก่ ดึกดำบรรพ์

Advertisement

ชื่อ แซ่ฯ หนังสือเล่มล่าสุดของถาวร ผมอ่านอร่อยมาก รวดเดียวจบเล่ม เพราะสอดแทรกวรรณกรรมจีนไว้ด้วย และไม่ได้มีเรื่องจีนอย่างเดียว แต่เทียบเรื่องไทยไว้ทั้งเล่ม ยอดเยี่ยมกระเทียมโทนแท้ๆ

ไทยอยู่ราวกึ่งกลางระหว่างอารยธรรมอินเดียกับจีน (ฝรั่งเรียกอินโดจีน) ความเป็นไทยจึงมีผสมทั้งวัฒนธรรมอินเดียและจีน หากไม่เข้าใจพร้อมกัน 2 ด้าน ก็ไม่สมบูรณ์

โบราณคดีในไทยให้ความสำคัญอารยธรรมอินเดียไว้สูงสุด ซึ่งไม่เสียหาย แต่ที่เสียหายก็เพราะทิ้งอารยธรรมจีน จนโบราณคดีไทยไม่เข้าใจลึกซึ้งเรื่องจีน ส่วนมากดีแต่พูด good but mouth

อย่างนี้น่ากลัวมาก เท่ากับปิดตาตัวเองหนึ่งข้าง ระวังตกท่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image