คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : การ์ตูนญี่ปุ่น เมดอินอาเซียน

การ์ตูนและแอนิเมชั่นของญี่ปุ่น ได้รับความนิยมในประเทศไทยและประเทศอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ผู้ใหญ่วัยหลักสามหลักสี่ทั่วอาเซียนและทั่วโลกต่างได้รับอิทธิพลของการ์ตูนและเกมญี่ปุ่นมาบ้างไม่มากก็น้อย แม้กระทั่งในพิธีปิดของโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงริโอเดจาเนโร

ของบราซิล นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ก็ยังลงทุนแต่งชุดมาริโอประกอบแอนิเมชั่นในคลิปเปิดตัว เพื่อเดินทางไปรับมอบธงโอลิมปิกครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงโตเกียวในปี 2020 ด้วยตัวเอง

ความนิยมในการ์ตูนญี่ปุ่นดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมการ์ตูนและสื่อที่เกี่ยวข้องเป็นอุตสาหกรรมใหญ่มีวงเงินสะพัดมากกว่า 1.63 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.54 แสนล้านบาท) ในปี 2014 และเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเลขสองหลัก ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังซบเซาไม่ฟื้นมาง่ายๆ ความนิยมและวงเงินสะพัดนี้ ทำให้บริษัทด้านการ์ตูนญี่ปุ่นต้องหาบุคลากรและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองต่อตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยประชากรวัยทำงานชาวญี่ปุ่นที่ลดลง รวมถึงรายได้ของพนักงานในอุตสาหกรรมที่ไม่สอดคล้องต่องานที่ทำและขนาดธุรกิจที่ขยายตัวทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในธุรกิจการ์ตูน

เป้าหมายของบริษัทเหล่านั้น จึงมุ่งมาที่แรงงานในกลุ่มอาเซียน ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่ามากและทัศนคติที่ดีต่อการ์ตูนญี่ปุ่นจากการรับสื่อในวัยเด็ก แรงงานวัยหนุ่มสาวชาวอาเซียนจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะได้ร่วมงานกับบริษัทญี่ปุ่น บริษัทการ์ตูนและแอนิเมชั่นญี่ปุ่นจึงเริ่มเอาท์ซอร์สงานพื้นฐานด้าน

Advertisement

การผลิตออกนอกประเทศมาเรื่อยๆ โดยระยะแรกขยายฐานมายังไต้หวันที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกันก่อน จากนั้นจึงเข้ามาเจรจากับไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่มีฐานประชากรซึ่งเสพสื่อทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และยังขยายไปถึงลาว พม่าและกัมพูชาในระยะหลัง

ในปี 2015 บริษัทคาโดกาวะโชเต็น สำนักพิมพ์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วยตนเอง โดยร่วมมือกับร้าน Animate เพื่อขายสินค้าจากญี่ปุ่นโดยตรง รวมถึงเปิดหลักสูตรโรงเรียนอบรมนักวาด อนิเมเตอร์ และนักสร้างสรรค์ผลงานด้านต่างๆ และแสวงหาผู้มีความสามารถเพื่อเข้าร่วมทำงานในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการจัดงาน Anime Festival Asia กระจายไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน นำเอาผู้ผลิต นักวาด นักพากย์ นักร้องและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการ์ตูน อนิเมชันและเกม มาพบปะกับผู้สนใจซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

นักวาดและอนิเมเตอร์ของอาเซียน เข้าไปมีบทบาทในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นตามลำดับ เป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วที่จะพบชื่อคนอาเซียนตามเครดิตท้ายเรื่องในอนิเมชัน นักวาดการ์ตูนไทยเปลี่ยนจากการประกวดชิงรางวัลเป็นครั้งคราว ไปสู่ระบบการตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ในนิตยสารประจำ หรือแม้กระทั่งได้ตีพิมพ์รวมเล่มจำหน่ายในรูปแบบปกติ เช่น คุณ Garun (พิเชฐ วัฒนเวสกร) รวมทั้งภายในแต่ละประเทศเอง ก็มีการผสานรวมทางวัฒนธรรมของการ์ตูนท้องถิ่นกับการ์ตูนญี่ปุ่นมากขึ้น ในมาเลเซียมีการตีพิมพ์การ์ตูนสอนศาสนาอิสลามที่ใช้ลายเส้นแบบการ์ตูนญี่ปุ่น และได้รับการแปลออกไปในประเทศมุสลิม

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในยุคอดีตที่ส่งข้อมูลยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้นฉบับต้องส่งทางแฟกซ์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงหรือรอขนส่งทางเรือ ตั๋วเครื่องบินมีราคาแพง กำแพงทางภาษาและการตรวจคนเข้าเมือง การจ้างงานอยู่ในระบบราชการที่ล่าช้า แต่ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นสามารถส่งงานให้กับพนักงานชาวอาเซียนผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ประชุมงานและแก้ไขผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ราคาไม่แพง และสามารถจ่ายค่าจ้างผ่านระบบธนาคารและการเงินออนไลน์ในช่องทางต่างๆ

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงจากผู้บริโภคไปเป็นผู้ร่วมผลิตเช่นนี้ ทำให้รูปแบบของการ์ตูนและอนิเมชันของทั้งญี่ปุ่นและอาเซียนเข้าใกล้กัน และส่งผลต่อวัฒนธรรมด้านอื่นซึ่งควรจับตามอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image