อาศรมมิวสิก : การสร้างมืออาชีพดนตรี เริ่มอายุน้อยและต้องเก่งเท่านั้น

ดนตรี เป็นอาชีพที่ไม่แข็งแรงและไม่เข้มแข็งในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากดนตรีเป็นอาชีพของสังคมที่มีความพร้อมทางการศึกษา รสนิยม บรรยากาศของสังคมที่ปลอดภัย การคมนาคมสะดวก ชีวิตที่สบาย มีการเมืองที่เข้มแข็ง เทคโนโลยีพร้อม และมีฐานะทางเศรษฐกิจดี เพราะนักดนตรีอาชีพคือการพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์ หากสังคมยังขาดหรือบกพร่องด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะสร้างอาชีพดนตรีได้ยากขึ้น ซึ่งจะพบว่าอาชีพดนตรีในภูมิภาคอาเซียนเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน เป็นวิชาของคนชั้นต่ำ ทำมาหากินข้างถนน “ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ” เรียนดนตรีแล้วประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวไม่ได้

สังคมที่เจริญ มีความพร้อมด้านพื้นฐานในเรื่องปัจจัย 4 เขามีปัจจัยที่ 5 เป็นความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เขายังมีปัจจัยที่ 6 เรื่องของคุณภาพชีวิต เสน่ห์ รสนิยม และบรรยากาศที่ดี ดังนั้น จึงเอื้อต่อการเรียนดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ดนตรีจึงเป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กทุกคนได้เรียน

สำหรับการศึกษาพื้นฐานของไทยนั้นอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ การเรียนดนตรีของเด็กจึงอ่อนแอด้วย ซึ่งถูกแบ่งโดยฐานะทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนขั้นพื้นฐาน ดนตรีก็กลายเป็นวิชาของผู้ด้อยโอกาส ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ครอบครัวมีศักยภาพ เลือกที่จะเสริมทักษะวิชาดนตรีอย่างจริงจัง ดนตรีได้กลายเป็นวิชาที่ต้องลงทุนสูง เครื่องดนตรีนั้นเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ทำให้พ่อแม่ต้องลงทุนจัดการศึกษาดนตรีของลูกเอง พ่อแม่ยินดีลงทุนเพื่อจัดการศึกษาดนตรีของลูก เพราะต้องการให้ลูกได้รับอานิสงส์และรสนิยมแห่งดนตรี สิ่งที่แพงอีกอย่างหนึ่งคือค่าเล่าเรียนวิชาดนตรี

หัวใจของการสร้างนักดนตรีอาชีพก็คือ การพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศ สร้างเด็กให้เก่ง โดยเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพที่สร้างได้ ศักยภาพและความสามารถมาจากการฝึก อัจฉริยะมาจากการฝึก ดังนั้น การลงทุนฝึกฝน ทุ่มเทเวลาในการฝึก จึงเป็นหัวใจของการสร้างมืออาชีพ “ยิ่งเล็กยิ่งดี ยิ่งช้ายิ่งเสียโอกาส” เด็กๆ จึงเป็นทรัพยากรที่ควรมีโอกาสได้พัฒนาฝีมือให้เป็นนักดนตรีอาชีพได้ทุกคน

Advertisement

สิ่งที่แพงที่สุดของการเรียนดนตรีคือ เด็กต้องการครูดนตรีที่เก่ง เนื่องจากดนตรีเป็นวิชาทักษะที่จะต้องอาศัยการฝึกซ้อม จึงต้องมีครูที่เก่ง “ครูที่สามารถชี้ผิดบอกถูกได้” หากเด็กได้เรียนกับครูที่ไม่เก่ง ผลลัพธ์ที่ออกมาคือเด็กก็ไม่เก่งด้วย หัวใจของการเรียนดนตรีก็คือ ครูเก่งนักเรียนเก่ง เมื่อดนตรีเป็นวิชาชีพใหม่ในเมืองไทย ครูคนเก่งก็มีน้อย สิ่งที่เป็นคำถามตามมาก็คือ เล่นดนตรีเก่งแล้วจะไปทำอะไรได้ คำตอบก็คือ คนเก่งนั้นสามารถสร้างได้ ไม่จำเป็นต้องไปหางานทำ เพราะงานจะวิ่งมาหาคนเก่งเอง

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 มีรายการแสดงดนตรีเครื่องสายเป็นนักไวโอลิน 13 คน นักเชลโล 3 คน รวมตัวกันจัดแสดงด้วยตนเองคนละ 1 เพลง ที่บ้านเอื้อมอารีย์ ตั้งแต่ 18.00-20.00 น. เป็นเยาวชนมีอายุเฉลี่ย 11 ขวบ ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองและญาติๆ ที่สำคัญก็คือ ทุกคนต้องซื้อบัตรเข้าชมการแสดง

นักดนตรีตัวน้อยเหล่านี้ มีผู้ร่วมก่อการหลักๆ อยู่ 4-5 คน แล้วก็ไปหาสมัครพรรคพวกที่มีความสามารถและอยากแสดง ร่วมมือร่วมใจจัดการแสดงขึ้น โดยครูที่สอนเครื่องสายได้สนับสนุนเอื้อเฟื้อเรื่องสถานที่จัดการแสดงให้ นักดนตรีทุกคนต้องทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ต้องฝึกซ้อมเพลงของตัวเองที่จะเล่นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ สอง ต้องรับผิดชอบขายบัตรให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง อย่างน้อยคนละ 3 ใบ ในราคาใบละ 300 บาท เพื่อจะได้ฝึกการจัดการกับอาชีพดนตรี สาม ต้องช่วยกันทำสูจิบัตรและจัดรายการแสดง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการกันเอง เด็กๆ แบ่งหน้าที่กันทำงาน

Advertisement

เด็กๆ นักดนตรีขายบัตรได้ 54 ใบ เป็นเงิน 16,200 บาท ในอีกช่องทางหนึ่ง เด็กๆ ได้ตั้งกล่องบริจาค ได้เพิ่มอีก 5,400 บาท เป็นของขวัญเพื่อให้กำลังใจแก่นักดนตรี “รักมาก ชอบมาก ถูกใจมาก ก็ต้องหยอดกล่องได้ตามความรู้สึกประทับใจ” เมื่อรวมรายได้ทั้งหมดเป็นเงิน 21,600 บาท เด็กๆ ตกลงกันว่าให้แบ่งเป็นค่าตัวของนักดนตรีทั้ง 16 คนเท่ากัน โดยทุกคนได้รับส่วนแบ่งคนละ 1,350 บาท

ดูเหมือนว่า ครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่สำคัญในการเริ่มต้นชีวิตของนักดนตรี ซึ่งเป็นค่าตัวครั้งแรกในชีวิตเลยทีเดียว ในส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น มีหน้าที่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจด้วยความภูมิใจอย่างยิ่ง นอกจากจะได้เห็นลูกๆ ได้ใช้ความสามารถแล้ว ยังได้สัมผัส “ความภูมิใจ” ซึ่งเป็นรากฐานของความงอกงาม สามารถที่จะพัฒนาให้ก้าวไปสู่ความเป็นอาชีพได้ โดยที่เด็กนักดนตรีทุกคนได้ลงมือทำและช่วยกันทำ

พ่อแม่ผู้ปกครองนั้นได้ลงทุนกับการเรียนดนตรีของลูกมามากแล้ว พ่อแม่นอกจากจะเสียค่าเล่าเรียนให้วิชาดนตรีซึ่งเป็นวิชาพิเศษที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาของโรงเรียนไทย ต้องหาครูดนตรีพิเศษ ยังต้องใช้เวลาในการ “รับลูก ส่งลูก เลี้ยงลูก และให้กำลังใจลูก” ดุจเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ทำหน้าที่คนละหลายปี ยังต้องลงทุนซื้อเครื่องดนตรีให้ลูกอีก ซึ่งพ่อแม่และผู้ปกครองค้นพบว่า ทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่จะเป็นมรดกมอบให้แก่ลูกคือ “ฝีมือและศักยภาพความเป็นเลิศ” เป็นทั้งความรู้ ความสามารถ และความภูมิใจ เป็นมรดกที่ไม่มีใครแย่งเอาไปจากลูกได้ ฝีมือดนตรีนั้น มีแล้วมีเลย เหมือนกับการขี่จักรยานได้ ปีนต้นไม้เป็น ว่ายน้ำเอาตัวรอดได้ ในการเล่นดนตรีได้เก่ง ความเก่งมาจากการฝึก ฝึกทุกวัน ฝึกอย่างสม่ำเสมอ ฝึกจนเป็นหุ้นส่วนของชีวิต วันที่ไม่ได้ฝึกก็จะรู้สึกว่าป่วย เมื่อเด็กได้แสดงต่อหน้าผู้ชมก็จะได้ยินเสียงปรบมือ เพื่อบอกว่าผู้ฟังยอมรับได้

หากจะประกอบดนตรีเป็นอาชีพก็ต้องมีฝีมือ “ระดับเก่งเท่านั้น” ไม่มีระดับอื่นและไม่มีวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นความเก่งของใคร ความเก่งเป็นพื้นฐานของอาชีพ “ถ้าอยากเก่งก็ต้องฝึกซ้อม” นอกจากนี้ เด็กยังต้องฝึกเรื่องการตรงต่อเวลา การรักษาเวลา เพราะเวลานั้นมีค่ามากที่สุด เวลามีอยู่จำกัด ใช้ไปแล้วเวลาก็จะหายไปเลย อย่าใช้เวลาให้สูญเปล่า การแต่งตัวดีซึ่งเป็นการเรียนรู้เรื่องบุคลิกภาพ เมื่อเด็กได้มีโอกาสแสดงดนตรีบนเวทีที่มีคนชม ก็เท่ากับการได้บอกพ่อแม่ผู้ปกครองที่เตรียมตัวไปฟังดนตรีว่า ต้องไปตรงเวลา ต้องปิดโทรศัพท์มือถือขณะที่นั่งฟัง ต้องมีสมาธิในการฟัง ไม่พูดคุย ไม่เดินเข้าออก และไม่ถ่ายรูปในระหว่างที่นักดนตรีกำลังแสดง รวมทั้งการปรบมือเมื่อการแสดงจบ เป็นต้น

การแสดงดนตรีของเด็กไม่ได้ฝึกเด็กอย่างเดียว แต่เป็นการเตรียมตัวพ่อแม่ผู้ปกครองให้เป็นพี่เลี้ยงมืออาชีพที่ดีด้วย ต้องเตรียมตัวว่าจะทำหน้าที่อะไรบ้างและทำอย่างไร รวมทั้งการปรับตัวให้เข้ากับอาชีพในฐานะพี่เลี้ยงของนักดนตรีอาชีพด้วย การเตรียมตัวของมืออาชีพ ต้องเป็นมืออาชีพทั้งความรู้สึกนึกคิด ทั้งกายและใจ ทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก

สูจิบัตร เด็กๆ นักดนตรีก็ต้องทำเอง ซึ่งจะมีพ่อแม่คอยช่วยสนับสนุน พบว่าสูจิบัตรรายการแสดงเขียนทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมด แสดงว่าการสื่อสารของเด็กเป็นสากลไปแล้ว ซึ่งเลขไทยและภาษาไทยกำลังจะหายไป กลายเป็นภาษาของท้องถิ่น

เนื่องจากพื้นฐานของเด็กที่เรียนดนตรีเหล่านี้ เป็นนักเรียนที่มาจากโรงเรียนนานาชาติเสียส่วนใหญ่ เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือคู่ชีวิต ในการฝึกซ้อมดนตรีที่บ้านก็สามารถจะส่งให้ครูดูการฝึกซ้อมและส่งให้พ่อแม่ดูความก้าวหน้าในการเรียนดนตรีได้ โดยใช้เทคโนโลยีคู่การฝึกซ้อม

อย่าลืมว่า เด็กก็คือเด็ก เด็กยังไม่พร้อมที่จะรับคำวิจารณ์หรือการเผชิญโลกในชีวิตจริง แต่เด็กต้องการคำชี้แนะจากครู โดยครูเป็นผู้ชี้ผิดและบอกถูกให้แก่เด็ก เด็กยังต้องการเสียงปรบมือ ต้องการคำชื่นชม ต้องการช่อดอกไม้ ต้องการความอบอุ่นในอ้อมกอดของพ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กยังต้องการของขวัญเป็นรางวัล เด็กจะภูมิใจอย่างยิ่งถ้าได้รับการยอมรับจากผู้อื่น โดยเฉพาะผู้คนที่เกี่ยวข้องรอบข้างและคนใกล้ตัว

ถึงวันนี้ มีอาชีพนักเล่นเปียโนประกอบ เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ ในอดีตเป็นแค่งานจ้างวาน แต่ปัจจุบันเป็นอาชีพคู่กับการแสดง เพราะเด็กที่เรียนดนตรี (เครื่องสาย) ทุกคนจะต้องมีนักเปียโนเล่นประกอบ ในความเป็นมืออาชีพของนักเปียโนคือ เล่นไม่ผิด จะฝึกซ้อมกี่สิบเที่ยวก็เล่นไม่ผิด มีความอดทนเล่นซ้ำๆ เป็นที่พึ่งและสามารถช่วยเหลือนักเรียนดนตรีที่แสดงได้

การสร้างนักดนตรีอาชีพ ซึ่งเป็นวิชาทักษะ จะต้องฝึกฝนจนชำนาญ ฝึกจนเก่ง ฝึกซ้อมทุกวัน ไม่ต้องรีบ แต่ต้องได้เรียนได้ฝึกอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด ฝึกจนกระทั่งดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนในชีวิต เครื่องดนตรีกลายเป็นอวัยวะส่วนเกินที่ติดตัวอยู่กับเด็กตลอดเวลา เห็นเด็กเห็นเครื่องดนตรี ได้ชื่อว่าเป็นมืออาชีพต้องฝึกซ้อม โดยยังไม่มีวิธีอื่น การเดินไปสู่อาชีพไม่มีทางลัดและไม่มีทางอื่น นอกจากทางที่ต้องฝึกซ้อมเท่านั้น

การสร้างเด็กให้มีความเป็นมืออาชีพ คือการสร้างงานบนความสามารถ มีความสามารถที่จะจัดการได้ มองเห็นความสำเร็จและควบคุมความสำเร็จ การฝึกคนให้เป็นมืออาชีพนั้นจะมีชีวิตที่ไม่เป็นภาระของผู้อื่นและสังคม ซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดของพ่อแม่ผู้ปกครอง คือการสร้างคนดนตรีให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งในคนเดียวกัน

เมื่อได้เห็นเด็กแสดงแล้วก็มีความสุข เป็นความสุขที่มองเห็นอนาคตของเด็ก และมองเห็นอนาคตของชาติ เพราะวันนี้ทรัพยากรธรรมชาติหมดแล้ว ที่เหลือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องพัฒนาโดยอาศัยศักยภาพความเป็นเลิศเท่านั้น คนเก่งดนตรีต่อไปนี้ต้องมีเป้าหมายทำงานในประชาคมระดับนานาชาติ เพียงในประเทศไทยนั้นเล็กเกินไปเสียแล้ว เพราะตลาดของคนเก่งดนตรี ก็คือตลาดในประชาคมโลก

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image