24 มิถุนา 63 ถึง 24 มีนา 64 จากประกาศย่ำรุ่งถึงปราศรัยที่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ‘ตราบใดไม่ยอมแพ้ เผด็จการก็ไม่มีวันชนะ’

24 มิถุนา 63 ถึง 24 มีนา 64 จากประกาศย่ำรุ่งถึงปราศรัยที่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ‘ตราบใดไม่ยอมแพ้ เผด็จการก็ไม่มีวันชนะ’

ถูกกลับมาใช้คำว่า ‘จุดติด’ อีกครั้ง เมื่อภาพผู้คนล้นหลามบนแยกราชประสงค์โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประจักษ์แก่สายตาในช่วงค่ำของวันพุธที่ 24 มีนาคม เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนแกนนำและนักกิจกรรมรวม 13 ราย จะเดินทางไปรายงานตัวยังสำนักงานอัยการสูงสุด ตามนัดฟังคำสั่งคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งถูกแจ้งข้อหาในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 รวมถึงข้อหาอื่นๆ สุดท้าย อัยการเลื่อนนัดสั่งคดีไปเป็นวันที่ 13 พ.ค.2564 เวลา 09.00 น. เนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณาสำนวน

ย้อนกลับไปในม็อบเยาวชนปลดแอกที่ท้องสนามหลวงไม่กี่วันก่อนหน้า ซึ่งมาด้วยรูปแบบไม่มีแกนนำ ไม่ตั้งเวที ช่วงเริ่มต้นดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่สถานการณ์เปลี่ยนหลังตู้คอนเทนเนอร์ถูกดึงร่วงหล่นบนถนนราชดำเนิน นำไปสู่ความอลหม่านอย่างคาดไม่ถึง น้ำผสมแก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระทั่งสหบาทา ถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำมาแจกจ่ายในจุดต่างๆ โดยรอบ ทั้งในและนอกเกาะรัตนโกสินทร์

จากบรรยากาศ ‘ม็อบแผ่ว’ ที่ช่วงแรกๆ ดูเหมือนยังถูกปฏิเสธว่าไม่จริง ก่อนที่ต่อมา แกนนำหลายรายทยอยเปิดใจต่อหน้าสื่อทั้งในวงเสวนา และเวทีปราศรัย มาจนถึงวันที่นักกิจกรรม ซึ่งมีคดีติดตัวหลายราย ยอมรับว่าอาจเป็นการปราศรัย ‘ครั้งสุดท้าย’ หลังเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทยอยเข้าเรือนจำ โดยถูกปฏิเสธการประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางแฮชแท็กและการเรียกร้อง #ปล่อยเพื่อนเรา ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

หากลองปักหมุดโดยเริ่มต้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ในกิจกรรมครบรอบ 88 ปีประชาธิปไตย อ่านประกาศคณะราษฎร ในช่วง ‘ย่ำรุ่ง’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาถึงม็อบของแนวร่วมธรรมศาสตร์ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งหลายคนหวั่นว่าจะเป็นการปราศรัยครั้งสุดท้ายในค่ำคืนวันที่ 24 มีนาคม 2564 เป็นเวลาทั้งสิ้น 274 วัน แห่งการต่อสู้ ซึ่ง เบนจา อะปัญ กล่าวบนเวทีในช่วงท้ายว่า

ADVERTISMENT

‘ความหวังเป็นสิ่งที่ไม่มีวันดับ พลังประชาจะไม่มีวันมอดไหม้… ตราบใดที่เรายังไม่ยอมแพ้ เผด็จการก็ไม่มีวันชนะ เราไม่อาจรู้ได้ว่าวันแห่งชัยจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่เรา ณ ที่แห่งนี้จะสู้ต่อ’

ในห้วงเวลาที่ผ่านพ้นโมงยามแห่งความรุ่งโรจน์ หลายคนท้อแท้ หลายคนยังสู้ต่อ และหลายคนชวนให้ย้อนทบทวนเส้นทางนับแต่วันแรกของการก้าวเท้าออกจากประตูบ้านเพื่อมาร่วมชุมนุม ระหว่างเส้นทางเดินนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง ความหวังยังมีอยู่หรือไม่ในโลกแห่งความจริง และพรุ่งนี้จะก้าวต่อไปอย่างไรในวันที่วาทะ ‘ม้วนเดียวจบ’ ไม่อาจเป็นจริง

ADVERTISMENT

จาก ‘อีเวนต์’ ม็อบสร้างสรรค์

ถึงวันที่ ‘ความปลอดภัย’ ต้องมาก่อน

“ไม่ว่าคนมากหรือน้อย มีอะไรให้สู้ก็สู้ เราในฐานะคนทำม็อบ อาจกำลังทดลองรูปแบบใหม่ๆ ทำอะไรได้ก็ทำ”

คือคำกล่าวของ เอเลียร์ ฟอฟิ จากกลุ่มม็อบเฟสต์ ผู้จัดการกองถ่ายที่กลายเป็นผู้จัด (อีเวนต์) ม็อบ บนเวทีเสวนา ‘ม็อบที่หลากหลาย ดั่งดอกไม้นานาพันธุ์’ ของ ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ในค่ำคืนของวันที่ 18 มีนาคม ก่อน 2 ม็อบใหญ่ของเยาวชนปลดแอกและแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ตามลำดับ

เอเลียร์ เล่าย้อนไปถึงการร่วมทำกิจกรรมตั้งแต่ช่วงแรกๆ หลังเกิด คสช. โดยบอกว่า ตอนนั้นมีแต่คนเสื้อแดงออกมา 10-20 คน กระทั่งคนเยอะ-ขึ้นอย่างชัดเจนในกิจกรรมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจัดกิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฎร ในเช้าตรู่ 24 มิถุนายน 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

จนมีแฟลชม็อบนักเรียน นักศึกษา ตอนนั้นตื่นเต้น เริ่มรู้สึกแล้วว่าสิ่งที่ต่อสู้มา คนเห็นมากขึ้น

24 มิถุนา 63 ถึง 24 มีนา 64 จากประกาศย่ำรุ่งถึงปราศรัยที่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ‘ตราบใดไม่ยอมแพ้ เผด็จการก็ไม่มีวันชนะ’

“ม็อบใหญ่ครั้งแรกที่จัดคือ ม็อบเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คาดหวังว่าคนมา 8,000 ก็หรูแล้ว อาชีพผมเป็นคนจัดการกองถ่ายภาพยนตร์ ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านจัดเวที ปรากฏว่าคนมาเกือบ 70,000 ตอนนั้นสั่นเลย กลัวมาก ไปไกลเกินรับผิดชอบ แต่มีความสุขมาก หลังจากนั้น มีม็อบหลากหลาย คนกล้าออกมาจัดกิจกรรม มีแฮมทาโร่ มีเสรีเทยพลัสออกมา ช่วงนั้นพอม็อบใหญ่ มีคนติดต่อให้ช่วยในหลายประเด็น คิดว่าก็เป็นการเดินทาง มวลชนทั้งหมดก็เดินทางมาพร้อมกับเรา จนม็อบอิ่มตัว มาถึงม็อบคณะราษฎร กดดันมากขึ้น เพราะต้องการกดดันรัฐ จากเดิมเน้นความสร้างสรรค์ มาเน้นยุทธศาสตร์และความปลอดภัย จนมาสู่ม็อบไม่มีแกนนำที่ห้าแยกลาดพร้าว พบว่าเป็นม็อบออร์แกนิค และเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องทำอะไรแล้ว ดีใจว่าหมดหน้าที่ ทุกคนร่วมกันทำได้เอง จนปีใหม่ ขาลงมาถึง จนถึงวันนี้”

ประเด็นเรื่องการเดินทางมาพร้อมกัน สอดคล้องกับความคิดของ ‘พลอย’ จากกลุ่ม นักเรียนเลว ซึ่งเล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากนักเรียนเพียง 4 คน ทำกิจกรรมที่สยาม นำกรรไกรมาวางบนตัก เขียนป้ายว่านักเรียนคนนี้ทำผิดระเบียบโรงเรียน เชิญลงโทษ นั่นคือแคมเปญแรก ต่อมา คิดว่าอยากผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศ พาเดินขบวนไปหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่ทำให้ประเด็นนี้ได้เปล่งประกายขึ้นมา ต่อมา จัดม็อบ ‘เลิกเรียนไปกระทรวงฯ’ และขึ้นปราศรัยครั้งแรก

“ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เกร็งมาก ไม่เคยทำมาก่อน เราได้เรียนรู้และเติบโต จากนั้น จัดม็อบหนูรู้หนูมันเลว จนถึงม็อบรถแห่ไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และม็อบใต้บีทีเอสสยาม ใหญ่มาก คนมาเยอะมาก และภูมิใจมาก” พลอยกล่าว

จุดเปลี่ยนม็อบสู่วันไร้แกนนำ

แม้ ‘เฉียดแสน’ เหลือ ‘หลักสิบ’ จะกี่คนก็ยังสู้

ในขณะที่ ‘ต๋ง’ หนึ่งในกำลังสำคัญของหมู่บ้านทะลุฟ้า ผู้ซึ่งในอดีตไม่เปิดเผยชื่อเมื่อครั้งเคลื่อนไหวในสถาบันการศึกษาของตัวเอง วันนี้ขึ้นเวทีด้วยชื่อนามสกุลตามบัตรประชาชน ปนัดดา สิริมาสกุล โดยยืนยันว่าไม่เคยหมดหวังในผู้คน แม้ถูกมองเป็น ‘ขาลง’ และย้อนเล่าถึงเส้นทางของตัวเอง และจุดเปลี่ยนสำคัญว่า ก่อนหน้าม็อบที่แยกลาดพร้าว ซึ่งตนหยิบโทรโข่งขึ้นมาพูด เคยช่วยทำเวทีมาก่อน โดยไม่ได้ออกหน้าขึ้นนำ เนื่องจากรู้สึกว่ามีความเสี่ยงในการถูกจับ แต่พอเพื่อนโดนจับเยอะ และได้เห็นเหตุการณ์สลายชุมนุมที่แยกปทุมวัน น้ำตาก็ไหลเป็นครั้งแรก วันนั้นบอบช้ำมาก ทุกคนเหนื่อย แต่ก็มานั่งประชุมถึงตี 3 ว่าจะทำอย่างไรต่อ จนตัดสินใจว่าจะทำแบบ เท็ดทอล์ก เกิดการนัดชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวซึ่งคนเยอะมาก พวกตนไปตัวเปล่า คุยกันว่าจะไม่ทำตัวเป็นแกนนำ ตะโกนบอกผู้ชุมนุมว่า จะไม่มีการใช้ความรุนแรง และซ้อมสัญลักษณ์ เช่น ทำมือแบบนี้ให้หยุด เป็นต้น จากนั้น คนลงถนน มีคนเอาโทรโข่งมาให้ แล้วเริ่มมีลำโพงเล็กๆ กระทั่งรถเสื้อแดงมาสมทบ

“หลังจากนั้น มีคนลุกขึ้นมาพูด โดยไม่ได้จัดคิว แต่มาจากการอัดอั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นี่เป็นจุดเปลี่ยนของม็อบมีแกนนำ และเป็นวันที่มีการตั้งแถวส่งหมวกนิรภัย สำหรับวันนี้ อาจเป็นขาลง แต่ไม่ได้หมดหวัง เพราะหมดหวังกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับระบบ กับกระบวนการยุติธรรมมาแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหมดหวังคือ ผู้คน อยากฝากบอกว่า เราเอาจริง และอยากให้ทุกคนมาเอาจริงกับเราด้วย”

ตำรวจไทยใต้วัฒนธรรมศักดินา การต่อสู้ที่ยิ่งกว่ากลไกรัฐ

“นับถือจริงๆ รู้ว่าอาจเหนื่อย และก็รู้ด้วยว่าไม่ย่อท้อ ยังสู้ต่อ ในขณะที่มีคนถูกจับจำนวนมาก หลายคนบาดเจ็บ ถูกคุกคาม แม้บรรยากาศจะซบเซาลงมา แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนี้ตลอดไป นี่คือเรื่องปกติของการต่อสู้ที่ยาวไกล วันนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในขบวนรู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ 3-6 เดือน การที่คนมาน้อยลงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ” คือมุมมองของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกด้วยว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนความอัดอั้นของคนในสังคมที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ พวกเขาไม่ได้มองว่าปัญหาการเมืองอยู่ที่ กทม.เท่านั้น แต่สังคมนี้มีสารพัดกลุ่มที่ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง นักเรียน ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สลัม 4 ภาค คนจนเมือง หรือแม้แต่เสื้อแดง เราสู้กับระบบที่ใหญ่มาก มีระบบ องค์กร กลไกรัฐ และวัฒนธรรม

“เราสู้กับสิ่งที่ใหญ่มาก ไม่ใช่แค่กลไกอำนาจรัฐ แต่คือวัฒนธรรมศักดินา นั่นคือ ระบบพรรคพวก ต้องจำนนให้คนมีอำนาจ ระบบอาวุโส ทำตามคำสั่ง ที่ชัดมากคือโรงเรียน การทำกับเด็กนั้นง่ายที่สุด สังคมไทยไม่เคยมองเด็กในฐานะคนมีสิทธิมีเสียง แต่ต้องเชื่อฟังตลอดเวลาเมื่อเด็กกล้ายืนขึ้นจึงต้องถูกลงโทษ มีคนถามว่า ทำไมตำรวจไทยเป็นหุ่นยนต์ ไม่มีใครกบฏเลยหรือ เขาเป็นกลไกในระบบราชการที่สร้างคนเป็นหุ่นยนต์ แต่ดิฉันอยากเสนอว่ามันมีสิ่งที่อุ้มให้ราชการไร้จิตใจ นั่นคือวัฒนธรรมศักดินา”

ไม่มีทางลัด ไม่มีม้วนเดียวจบ แต่เดินมาไกล

อย่าบั่นทอนกำลังใจซึ่งกันและกัน

นอกเหนือจากประเด็นม็อบแผ่ว ปฏิเสธไมได้ว่า ข่าวหนาหูเรื่องความไม่ลงรอยกันในกลุ่มนักเคลื่อนไหว ความคิดต่างในยุทธวิธีหลากหลาย ก็แพร่สะพัดไปพร้อมๆ กัน

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า ในวิธีการ แนวคิดหลากหลายได้ แต่สิ่งสำคัญในการต่อสู้คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฝ่ายประชาธิปไตย จะกินข้าวยังเถียงกันเลย แต่อย่าบั่นทอนกำลังใจซึ่งกันและกันระหว่างเดินทาง แม้อาจจะช้าหน่อย แต่ทุกคนถึงจุดหมายพร้อมกัน ตอนนี้ต้องคิดเกินกว่าแฟลชม็อบ อาจต้องคิดถึงการจัดตั้งองค์กรระยะยาว เช่น ภาคีต่างๆ ทีมแพทย์อาสา กลุ่มผู้หญิงและอื่นๆ โดยให้ความหลากหลายเป็นพลัง

“วันนี้เราเห็นพ่อแม่ที่เป็นคนธรรมดา มีอาชีพค้าขายต้องออกมาร่วมต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้ลูก ตอนสมัครเป็นอาจารย์ เมื่อ พ.ศ.2545 เป็นยุคที่มีความหวังโดยไม่รู้ว่าหนึ่งในหน้าที่คือ ประกันตัวนักศึกษา สมัยผมเรียนปริญญาตรีเมื่อปี 2537 การเมืองน่าเบื่อมาก อึกทึกสุดคือประเด็น ส.ป.ก.4-01 ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เกี่ยวข้อง ประชาธิปัตย์ต้องยุบสภา ถือได้ว่าครั้งหนึ่งชนชั้นกลางเคยฉลาด เคยรู้ว่าคอร์รัปชั่นคิออะไร ในขณะที่วันนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครคอร์รัปชั่น และผมเดินทางมาจนถึงวันที่สุเทพเป็นลุงกำนันแสนดี”

ผศ.ดร.ประจักษ์ เล่าด้วยว่า นักศึกษาคนแรกที่ประกันตัวให้ คือ จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ซึ่งตอนนั้นออกมาเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ ด้วยความเป็นครูก็ห่วง เลยบอกว่า กลับไปเรียนเถอะ จ่านิวบอกว่า บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เขาทนไม่ได้ ต้องออกมาเคลื่อนไหว หลังจากนั้น ยังมีคนถูกดำเนินคดีอีก 14 คน เช่น นายรังสิมันต์ โรม, นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด และนายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ซึ่งออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง

“ที่ผมเล่าย้อนหลังเพื่อให้เห็นว่าเราเดินทางมาไกลแค่ไหนแล้ว ตอนนั้นมืดกว่านี้ ต้องขึ้นศาลทหาร ตอนนั้นไผ่ถามว่า ข้างนอกเป็นอย่างไรบ้าง มีคนออกมาสู้เพื่อพวกเขาไหม ผมไม่กล้าบอกว่าไม่มี คนไม่กล้า เพราะกฎหมายถูกใช้ตามอำเภอใจ บางคนบอกว่าตอนนี้ม็อบขาลง แต่ถ้าย้อนมองปี 57 ถือว่าเดินทางมาไกลอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างน้อยคนตื่นแล้ว เข้าใจปัญหาบ้านเมือง ไม่นิ่งเฉย”

24 มิถุนา 63 ถึง 24 มีนา 64 จากประกาศย่ำรุ่งถึงปราศรัยที่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ‘ตราบใดไม่ยอมแพ้ เผด็จการก็ไม่มีวันชนะ’

ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง และไม่ได้อยู่เบื้องหน้า

แต่เดินไปข้างๆ นักศึกษา

สำหรับประเด็นที่มีกลุ่มบุคคลโจมตีคณาจารย์ว่ายุยงปลุกปั่น ตั้งคำถามว่าสอนลูกศิษย์อย่างไรให้ไปติดคุก บ้างก็ถึงขนาดร้องเรียนจริงจัง อย่าง กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเดินทางไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งแต่ 16 มีนาคม ยื่นหนังสือถึง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ขอให้พิจารณาสอบจรรยาบรรณอาจารย์ 8 คน ที่ยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัวนักศึกษา 3 คน ว่าไม่อยู่ในครรลองคลองธรรม และจรรยาบรรณของครูบาอาจารย์ที่ปกป้องนักศึกษาที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน กระทั่ง จักษ์ พันธ์ชูเพชร ผู้มีปริญญาถึง 5 ใบ ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ โดยระบุว่า รัฐมนตรีเอนกไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมเชิญอธิการบดี หรือคณบดีของอาจารย์ทั้ง 8 คน เพื่อให้มาทำความเข้าใจถึงเป้าหมาย และหาแนวทางป้องกันต่อไป นำมาสู้การโต้เดือดถามหามโนธรรมสำนึกความเป็นครูโดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา รั้วธรรมศาสตร์ ด้วยจดหมายเปิดผนึกที่ขึ้นต้นว่า เรียน อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ผมรู้จัก

กระทั่ง 25 มีนาคม วันรุ่งขึ้นหลังคำปราศรัยอันลือลั่นของ ‘มายด์ ภัสราวลี’ บนเวทีแยกราชประสงค์ กองทัพประชาชนปกป้องสถาบัน ก็รวมตัวที่ลานปรีดีตามข้อความนัดหมายของ อดีตพุทธะอิสระ เรียกร้องลงโทษทางวินัยอาจารย์รั้วเหลืองแดง

ประเด็นที่ว่านี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ เมินคำกล่าวหา ยืนยันว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลัง และไม่ได้อยู่เบื้องหน้า แต่เดินไปข้างๆ นักศึกษา ไม่สามารถนิ่งเฉย สอนหนังสือไปวันๆ ได้

“เพนกวินไม่เคยฟังผมแม้แต่คำเดียว บอกอะไรไป ทำตรงกันข้าม ผมอยู่เบื้องหลังเขาไม่ได้หรอก เด็กสมัยนี้ ม.4 ไล่รัฐมนตรีมาแล้ว ยุคเรายังไม่กล้าเลย เขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนทั้งสังคม สู้กับระบอบ กับอำนาจที่บิดเบี้ยว ใช้กลไกรัฐทำลายคนที่ออกมา ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปาก ระบอบประยุทธ์ คือระบอบที่ใช้อำนาจโดยไม่เกรงกลัวต่อบาป อยากคว่ำรัฐธรรมนูญก็ทำเลย เป็นระบอบโนสนโนแคร์ เชื่อว่าวันหนึ่งคนจะค่อยๆ ตื่นขึ้น

ถ้าเป็นการเดินทางไกล การสู้เพื่อประชาธิปไตยคือวิ่งมาราธอน ถึงจุดหนึ่งพักได้ ให้พลังใจกันและกัน ค้นหาทางสู้ต่อไป ไม่มีม้วนเดียวจบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image