Banana Blah Blah ‘กล้วยป่า’ ในสวนแห่งเสรี นฤมล ยิ้มฉวี ศิลปินที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความ ‘ไม่กลัว’

“สะพานเขียว” ในช่วงเวลาเลิกงาน คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เป็นสถานที่หย่อนใจไม่กี่แห่งย่านปทุมวันอันโด่งดังในเวลานี้ที่แทรกอยู่กลางกรุง ลอยอยู่บนถนนพระรามที่ 4 ใกล้กับสวนลุมพินี

ด้วยวิวและสีเขียวของสะพานให้อารมณ์คล้ายอยู่ที่ญี่ปุ่น ชักชวนให้วัยรุ่นหนุ่มสาว สะพายกล้อง แต่งชุดคอสเพลย์มาเก็บภาพ

เสียงนกลั้นลา สลับเสียงใบไม้ลู่ลมเคล้ามาเป็นระยะ พอจะดับความร้อนรุ่มของเมืองกรุงให้พอใจชื้นได้บ้าง แม้บางทีจะมีเสียงเชื่อมเหล็กก่อสร้าง แทรกมาข้างๆ ตามประสา ‘มหานคร’ ก็ตาม

นฤมล ยิ้มฉวี หรือ กล้วย Banana Blah Blah อิลลัสเตรเตอร์สาว ในวัย 27 ปี มาตามนัด ในเชิ้ตลายดอกสดใส ใส่กางเกงทรงบอยสีกากี ให้ลุคทะมัดทะแมง

Advertisement

ก่อนนั่งลงเล่าเส้นทางชีวิตหลังเรียนจบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกนิเทศศิลป์ ออกแบบสื่อสาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ‘กล้วย’ เดินตรงตามเส้นทาง ผ่านประสบการณ์ออกแบบมาหลายโจทย์

เริ่มวาดภาพประกอบหนังสือให้กับ สำนักพิมพ์พันหนึ่งราตรี ย้ายมาร่วมงานกับสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER อยู่ 1 ปี ก่อนไปออกแบบภาพปก ให้นิตยสาร a day BULLETIN

คือผู้ออกแบบปกหนังสือ ‘Happy City : เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง’ และ Digital Minimalism ให้สำนักพิมพ์ broccoli ไปจนถึงงานคอนเสิร์ต อย่าง Maho Rasop กระทั่งงานของกูเกิล (google) ก็เคยผ่านมือมาแล้ว

Advertisement

“วาดทุกวี่ ฝึกฝนทุกวัน” จากที่ไม่ได้ชื่นชอบในภาพประกอบ เมื่อได้จับปากจนถนัด ก็เขียนออกมาได้อย่างลื่นไหลและมีสไตล์เป็นของตัวเอง

ผลงานของ “กล้วย” เตะตาสาธารณชนอยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะในสื่อโซเชียล หรือนิทรรศการ ด้วยสีสันในภาพรวมที่ตัดกันชัดเจน ผสมแนวคิด แทรกมุขตลกให้พอขบขัน

ปัจจุบันหันมาลองเป็น “ครีเอทีฟ” ให้บริษัทเครื่องเล่นแผ่นเสียง ในขณะที่อีกมือถืองาน “ฟรีแลนซ์” รับวาดภาพประกอบไปด้วย เพราะมีอิสระที่จะคิด ที่จะวาด ที่จะสื่อสารบางอย่างออกไปได้ตามความสบายใจ

ล่าสุด Banana Blah Blah จับมือ “มติชน” เตรียมต้อนรับสหายนักอ่าน ผ่านการเนรมิต บูธมติชน L19 ในงานสัปดาห์หนังสือ ครั้งที่ 49 ภายใต้ธีม Read to be Free ‘อ่านปลดแอก’ ให้เป็นสวนสาธารณะแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม ด้วยเอกลักษณ์สุดฟาด สีสันที่หลากหลายและความหมายอยู่ในที

ให้เป็นแหล่งลับ ‘อาวุธทางปัญญา’ ท้าสู้ความสลัวราง สู่แสงสว่างแห่งความจริงในอนาคต

“เป็นอะไรที่ท้าทาย ไปนั่งคิดที่สวนสาธารณะนี่แหละ (หัวเราะ) นั่งดูว่าในส่วนเขาทำอะไรกันบ้าง แทนประเด็นที่อยากพูดผ่านกิจกรรมนั้นๆ ความจริงแต่ละคาแร็กเตอร์ที่วาดมามันเชื่อมกับทุกคนนะ เหมือนที่ทุกคนมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย อยากให้ทุกคนตระหนักว่า เรามีส่วนร่วมในสังคม ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศ มันก็คือเรื่องของเราทุกคน”

กล้วยบอกอีกว่า ที่วาดออกมาในรูปแบบ ‘สวนสาธารณะ’ เพราะปกติจะชอบไปนั่งในสวน

“สวนเป็นพื้นที่ที่ใครจะใช้ร่วมกันก็ได้ เลยเปรียบสวนสาธารณะเป็น ‘เมือง’ ถ้าคนที่อยู่ในสวนนั้นเป็นคนในสังคม ก็ควรจะทำกิจกรรมต่างๆ ในสวนสาธารณะอย่างอิสระเสรี ไม่ว่าจะนั่งอ่านหนังสือ วาดรูป เต้น หรือแม้แต่นอนเล่นเฉยๆ”

กล้วยยังวาด ‘น้ำพุ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ให้อยู่ใจกลางสวนสาธารณะ เพื่อเปรียบเสมือนพื้นที่นี้มี “เสรีภาพ” ดูสดชื่น งอกงาม

“ประชาธิปไตย ไม่ต้องดูภาพใหญ่ ขนาด ‘รัฐ กับ ประชาชน’ ก็ได้ อาจจะเริ่มด้วยการที่เราเคารพความคิดเห็นผู้อื่น มองคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไร ไม่ว่าวันหนึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล ก็จะยังมองคนเป็นคนอยู่ดี”

บรรทัดนับจากนี้ คือเสียงของนักวาดภาพประกอบสาว ตัวเล็กๆ ที่พยายามสื่อสารประเด็นใหญ่ในการเมือง ผ่านลายเส้นที่ดู “เป็นมิตร”

  ทำไมต้องเป็น Banana Blah Blah ชื่อนี้มีที่มาอย่างไรบ้าง?
(หัวเราะ) เราชื่อกล้วย แค่ Banana ก็สั้นไป บานาน่าอะไรดี Banana Blah Blah ก็แล้วกัน คิดหาคำมาเติมไม่ออก เลยเป็นชื่อนี้ไป เป็นอะไรก็ได้ บลา บลา บลา (หัวเราะ) เพราะเป็นคนง่ายๆ ด้วย

  ถ้าจะให้นิยามตัวเอง เป็น “กล้วย” แบบไหน เติบโตมาในสภาพแวดล้อมยังไง กล้วยในสวน หรือกล้วยในป่า กล้วยน้ำว้า หรือกล้วยบวชชี?
(หัวเราะ) น่าจะเป็นกล้วยพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในป่า มีความอดทนทนแดด ทนฝน ทนลม

  ลายเซ็นของ ‘Banana Blah Blah’ คืออะไร มีตัวอะไรที่ชอบแอบวาดเข้าไปในงานไหม?
ถ้าภาพรวมจะเป็นสี แต่ทุกงานจะใส่ก้อนเมฆ พระอาทิตย์ และต้นไม้ที่เป็นฟอร์มของตัวเอง บางคนก็จะจำได้จากอิลิเมนต์เดิมๆ ที่ไปอยู่ในทุกๆ งาน อาจจะแทรกแมวลงไปด้วย ในงานนี้ก็มีแมว แต่ไม่ได้มีความหมายอะไร แค่วาดแทรกเข้าไปเฉยๆ ไม่ได้เลี้ยงนะ แต่ชอบเล่นกับแมว ถ้าเดินตามถนนแล้วเจอ ก็จะไปเกาๆ (หัวเราะ)

‘ถ้ากลัว ก็ไม่เปลี่ยน’ นฤมล ยิ้มฉวี ‘กล้วยป่า’ ในสวนแห่งเสรี

  14 คาแร็กเตอร์ ที่คลอดออกมา ส่วนตัวชอบภาพไหนมากที่สุด?
ชอบภาพพระที่เป็นดีเจ กำลังเทศนาให้คนฟัง เป็นภาพที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นพระสมัยใหม่ที่สื่อสารความคิดใหม่ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเทศนาผ่านบทสวดที่ดูยืดยาวและน่าเบื่อ อาจจะผสมผสานกับดนตรี หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น คนฟังก็อาจจะรู้สึกสนุกไปกับคำสอนด้วยก็ได้ วัยรุ่นอาจจะชอบศาสนามากขึ้นก็ได้

  ภาพที่สะดุดตา อย่างรูปคนวาดภาพ “NO พิซซ่า” ในสวน สำหรับกล้วย ในแวดวงการออกแบบ การเมืองมีส่วนมากน้อยแค่ไหน?
ส่วนตัวมองว่าศิลปะและการออกแบบ ‘มีอิสรภาพ’ อยู่ในตัว ไม่ควรมีอะไรมาจำกัดในสิ่งที่เราอยากจะสื่อสาร แต่การเมืองจะมีผลก็ต่อเมื่อมีคนมาจำกัดการสื่อสารของเรา ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ศิลปิน ในการที่เขาจะสื่อสารอะไร แต่เป็นปัญหาที่สังคม หรือสภาพแวดวงนั้นๆ ว่าจำกัดเสรีภาพ ให้พูดได้มาก-น้อยแค่ไหน

  รูปคนกำลังพายเรือแปะ มีผู้ชาย 2 คน หน้าตาคุ้นๆ อยากสื่อสารอะไร?
(หัวเราะ) เมื่อมี “น้ำพุประชาธิปไตย” อยู่ตรงกลาง ก็อยากจะสื่อสารเพิ่มเติมถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ วาดเป็นคุณลุงพายเรือซะเลย พายเรือวนอยู่ในอ่าง ทำสิ่งเดิมๆ ไม่ได้มีกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งใหม่ เหมือนการพายเรือไปเรื่อยๆ วนอยู่ในสวนสาธารณะ ไม่มีวันได้ขึ้นมาบนบก (หัวเราะ)

  ทำไมเด็กถึงเล่นของเล่น รูป Democracy?
ที่ทำให้ตัวอักษร Democracy เป็นเหมือนตัวต่อ ‘เลโก้’ เพราะอยากให้เด็กได้เรียนรู้ประชาธิปไตยตั้งแต่เล็ก เรียนรู้ที่จะเคารพคนอื่นตั้งแต่เด็ก เป็นทางที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ทุกคนจะรับรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะถูกสอนตั้งแต่ยังเล็กๆ

  แล้วทำไมคุณป้าขายผลไม้ ถึงต้องอ่านหนังสือกฎหมาย?
เหมือนเด็กที่ต้องรู้เรื่องประชาธิปไตยและการเคารพคนอื่น อย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ บางทีอาจจะใช้คำที่ยาก เฉพาะเจาะจงเกินไป คนปกติอาจไม่เข้าใจความหมายตามมาตราที่ระบุไว้ ขึ้นอยู่ที่คนใช้ ซึ่งถูกบิดเบือนไปเรื่อยๆ ดังนั้น ทุกคนควรรู้ข้อกฎหมาย ศึกษาสิทธิของตัวเองไว้ แม้แต่แม่ค้าก็ต้องรู้ เผื่อเวลามีอะไร จะได้รักษาสิทธิของตัวเอง ไม่ถูกใครเอาข้อกฎหมายมาใช้แบบบิดเบือนเพื่อทำร้ายคนที่ด้อยกว่า

  เป็ดยางสีเหลือง เข้ามาอยู่ในงานได้อย่างไร
มันเป็นสัญลักษณ์ของม็อบราษฎรที่ดูน่ารัก เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของทุกคน ที่ร่วมต่อต้านเผด็จการในปี 2563 ปีนี้ก็ยังคงมีอยู่ เลยคิดว่าถ้าเอาน้องเป็ดเหลือง “กรมหลวงเกียกกาย” ที่ราษฎรตั้งชื่อ มาอยู่ในสระน้ำกลางสวน ก็น่าจะทำให้คนตระหนักถึงการต่อสู้ในปีที่ผ่านมาได้

  คิดว่าลุง 2 คนที่พายเรืออยู่จะวนมาเจอน้องเป็ดบ้างไหม?
ถ้าลุง 2 คนพายเรือวนมาเจอน้องเป็ด ก็น่าจะเจอน้องเป็ดทับ ล้มคว่ำได้แน่นอน (หัวเราะ)

  ภาพผู้ชายนอนอ่านหนังสือปีศาจ คิดอะไรอยู่ตอนที่ออกแบบ?
หนังสือเรื่องปีศาจ ของ คุณเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่มติชนก็ตีพิมพ์ปกใหม่ด้วย เป็นหนังสือที่พูดเรื่องการต่อสู้กันทางความคิด ระหว่างคนที่มีความคิดเก่า กับความคิดใหม่ ซึ่งในเมืองที่ปลดแอกแล้วทุกคนควรจะต้องอ่านเล่มนี้

‘ปีศาจ’ ที่ตีพิมพ์ในยุคนั้น ถูกกีดกัน ถูกเผาทิ้ง ห้ามไม่ให้ประชาชนอ่าน แต่เรารู้สึกว่าทุกคนมีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิที่จะอ่าน อ่านหนังสืออะไรก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องปิดหูปิดตา ปิดกั้นความรับรู้ของประชาชน เขาคงกลัวเรามีความรู้ เพราะประเทศไทยในเวลานี้ ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าประชาธิปไตยเลย

ถ้าประชาชนทุกคนรับรู้ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้จากการอ่าน จะสามารถปลดแอกความคิดเดิมๆ ออกไป ต่อสู้กับความคิดเก่า และเราจะมีสวนสาธารณะที่เป็นประชาธิปไตยที่สวยงามได้

  อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ชอบนั่งในสวน?
เราอยู่ในเมืองที่เสียงดังมากๆ ต้องไปทำงานทุกวัน ตื่นเช้ามาก็จะมีเสียงแล้ว เสียงคนทำนู่น ทำนี่ เสียงผัดข้าว เสียงรถไฟฟ้า เสียงรถมอเตอร์ไซค์บิดครืนน… เลิกงานเลยชอบไปนั่งสวนสาธารณะ เพราะรู้สึกว่าเป็นที่ที่เสียงเบาลงนิดนึง มีพื้นที่สีเขียวให้เราได้พักผ่อน ชอบไปนั่งดูคนอื่นที่มาสวนสาธารณะว่าเขาทำอะไรกันบ้าง บางคนก็มาอ่านหนังสือ บางที ฝรั่งมาเต้นติ๊กต็อกก็มี สวนเบญฯ ที่อยู่ตรงข้ามเอ็มควอเทียร์ จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาก เพราะตรงนั้นเป็นโซนญี่ปุ่น คนไทย คนฝรั่ง คนอีสาน แม่บ้าน จะมารวมตัวกันอยู่ในสวนเบญ เป็นที่รวมหลากหลายทางวัฒนธรรม (culture) ฝั่งนั้นมีแม่ค้าปูเสื่อนั่งตำส้มตำอยู่ มีคนมานั่งกิน ฝั่งนี้เป็นฝรั่งนอนอาบแดดอ่านหนังสืออย่างชิค อีกฝั่งมีแม่บ้านญี่ปุ่นพาลูกๆ เด็กเล็กเดินตามริมน้ำ ให้อาหารเต่า มีหลากหลายสิ่งให้มองมาก เลยชอบเดินวนรอบสวน มองไปเพลินๆ หรือไม่ก็นั่งแล้วมอง บางทีก็นอนตรงไปตรงนั้นเลย (หัวเราะ) จะมีต้นไม้ประจำที่ชอบไปนอน

แต่เอางานเขียนไม่ได้เลยนะ (หัวเราะ) ไปนั่งคิดได้อย่างเดียว เป็นเวลาที่อยากใช้สายตามองออกจากหน้าจอคอมพ์มากกว่า

  เวลาที่คิดงานไม่ออก มีวิธีจัดการกับตัวเองอย่างไร?
คิดงานไม่ออกก็นอน (หัวเราะ) คิดอะไรไม่ออกก็ไม่ต้องไปคิดมัน เดินออกจากความคิดไปเลย ไปนอนก่อน ตื่นมาค่อยลุยอีกที หรือถ้าจำเป็นต้องคิดให้เสร็จจริงๆ ก็พยายามหาอะไรดู ทำอะไรไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะคิดได้เอง มากกว่าไปขยี้ ไปคะยั้นคะยอให้มันเกิดขึ้น จะพยายามดูอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่จะต้องคิด เดี๋ยวสักพักมันก็มาให้เชื่อมได้เฉย ‘อ๋อ! อย่างนี้ดีกว่า’ เดี๋ยวมันมาเอง (หัวเราะ)

  ออกแบบงานมามากมาย ออกแบบชีวิตตัวเองบ้างไหม?
ไม่ออกแบบนะ ปล่อยโฟลว์มาก ให้สิ่งแวดล้อมออกแบบเราเลย แล้วแต่ว่าจะปรับแต่งเราไปทางไหน ถึงออกแบบ ถ้าไม่เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น เดี๋ยวก็จะรู้สึกไม่ดีอีก

  ในมุมวัยรุ่น ใน 1 วันทำอะไรบ้าง?
ตื่นเช้ามาก็แทบจะไปทำงานไม่ทันแล้ว (หัวเราะ) รีบอาบน้ำให้ไว ไปดำเนินชีวิตที่รวดเร็วเร่งรีบในเมืองอย่างแท้จริง ยังทำงานประจำอยู่จันทร์-ศุกร์ บางเสาร์อาทิตย์มีงานที่เป็นฟรีแลนซ์ ก็จะเอาเวลาเสาร์อาทิตย์มาทำงานด้วย หรือไม่ก็ผ่อนคลายไปกินข้าวในร้านอาหารที่อร่อย วันไหนเครียดมากก็ต้องอร่อยมากหน่อย เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง (หัวเราะ) อาหารเยียวยาทุกสิ่ง คงจะเป็นความสุขที่ใกล้ตัวที่สุด

  อะไร หรือจุดไหน ที่คิดว่าต้องทำให้ได้สักครั้งในชีวิต?
บางทีไม่คิดไกลไม่คิดถึงวันพรุ่งนี้ด้วยซ้ำ เอาแค่วันนี้ว่าอะไรที่ทำได้ อาจจะมีดูวันต่อไปบ้าง แต่ให้มันเป็นจุดเล็กๆ …

ให้มันเติบโตไปเรื่อยๆ เหมือนที่บอกว่าเป็นกล้วยป่า ปรับเปลี่ยนไปได้ตามสภาพแวดล้อม (หัวเราะ)

  อะไรที่พาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ แถมยังอายุน้อย สิ่งไหนเป็นแรงขับ มีใครเป็นแรงบันดาลใจไหม?
ไม่ได้มีไอดอลขนาดนั้น (หัวเราะ) สิ่งที่ไดรฟ์ตัวเอง คงเป็นความไม่กลัว ทุกอย่างถ้าเกิดจากความกลัว จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เลยพยายามไม่กลัว ไม่กลัวงาน ไม่กลัวอะไร บางงานเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่ก็จะตอบตกลงไปก่อนทุกงาน จะ ‘โอเค เอาสิ’ ไปก่อน เพื่อเป็นการเรียกความมั่นใจว่าต้องทำได้ ไม่ว่ากระบวนการมันจะเป็นยังไงก็ต้องจบสักแบบ

เดี๋ยวงานที่ต้องทำนี่แหละ จะทำให้เรามีแรงทำได้เอง (หัวเราะ)

  คือเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เป็น Banana Blah Blah ในวันนี้?
ที่บ้านค่อนข้างให้อิสระมาก ไม่เคยบังคับ ให้เสรีภาพแบบสุดสุดไปเลย ให้ลองเรียนรู้เองทุกอย่าง ซึ่งความจริงควรเกิดกับเด็กทุกคนด้วย เด็กควรจะลองเดิน ลองวิ่งด้วยตัวเอง ลองผิด ลองถูก เพื่อจะได้รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เป็นใคร กลัว ชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่ไม่ควรไปยัดเยียดอะไรสักอย่างให้เด็ก

บางที ถ้าพ่อแม่สอนว่า “อันนี้ไม่ได้นะ” เขาก็อาจคิดว่าไม่ได้ไปตลอด ไปห้ามเขาทั้งๆ ที่มันทำได้ แล้วเขาก็อาจจะทำได้ดีด้วย เราเห็นในสวนสาธารณะก็เกิดความคิดเรื่องแบบนี้ พ่อแม่ชาวยุโรป หรือคนญี่ปุ่น เขาไม่เคยกลัว ที่จะให้ลูกทำอะไร ปล่อยให้เด็กตัวเล็กเดินไปตามแม่น้ำ เห็นน้องๆ เอามือขุดทราย แล้วไปกวักน้ำจากแม่น้ำมาทำให้เป็นบ่อของตัวเอง แล้วก็ไปเด็ดดอกไม้มาวาง เราก็คิดว่า ถ้าเป็นพ่อแม่เด็กคนไทย คงห้ามแล้ว คงจะบอกว่าอย่าเล่น มันสกปรก ถ้าเดินไปตรงน้ำ ก็คงบอกว่า “อย่าเดี๋ยวตก” “เดี๋ยวปลางับ พูดอะไรที่มันจะสร้างความกลัวให้เด็ก แล้วมันก็ไม่เกิดการเรียนรู้ เราเห็นภาพนั้นแล้วรู้สึกว่าพ่อแม่คนญี่ปุ่น พ่อแม่ชาวต่างชาติคนอื่นเขาให้อิสรภาพลูกมาก ที่จะจับนู่นจับนี่เรียนรู้ด้วยตัวเอง

⚫  แล้วอย่างนี้เคยไปม็อบไหม พ่อแม่ห้ามหรือเปล่า?
ไปๆๆ ปีที่แล้วไปบ่อยมาก แต่ปีนี้งานเยอะยังไม่ได้ไปสักม็อบ พ่อแม่ไม่ห้ามในเรื่องความคิดที่จะแสดงออก แต่เขาก็กลัวเรื่องความปลอดภัย เลยอธิบายเขาว่าเพราะอะไร เขาก็รับฟังและเข้าใจ ไม่ได้ห้ามอะไรแค่จะโทรมาเช็กว่ายังปลอดภัยอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ)

  โดนแก๊สน้ำตามาบ้างหรือยัง?
ยัง อยู่ไกลๆ ถ้ามีอะไรแบบนี้จะหลบก่อน เพราะรู้สึก กลัวตัวเองจะเป็นภาระคนอื่น บางทีเอาคอมพ์ไปด้วย (หัวเราะ) เลิกงานแล้วไปเลย ไม่สามารถไปอยู่แนวหน้าได้

  ความฝันในวัยเด็กกับตอนนี้ ใช่ภาพเดียวกันไหม ค้นตัวเองเจอตอนอายุเท่าไหร่?
ใช่นะ คุยกับตัวเองเหมือนกันว่า ตอนเด็กๆ ฝันอยากทำอะไร ทำมันหมดหรือยัง ตอนนี้ทำมาเกือบหมดแล้วที่เคยฝัน ทำมาทีละนิดๆ อยากจะเป็นนักออกแบบ อยากจะมีนิทรรศการ (exhibition) ของตัวเอง ก็เคยมีแล้ว อยากจะเป็นนักดนตรี ก็เคยลองทำแล้วนิดๆ หน่อยๆ พอถึงจุดที่ทำหมดแล้วตอนนี้ก็เลยกลับมานั่งคิดว่า แล้วอยากจะเป็นอะไรต่อ คงเป็นเพราะเราค่อยๆ เดิน กล้าลอง กล้าทำ ไม่ได้ตั้งเป้าใหญ่ สมมุติ ใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักดนตรี แค่เราได้ลองเล่น ได้ขึ้นแสดง 1-2 เวที ก็รู้สึกว่า ‘โอเค ได้เป็นแล้ว!’ (หัวเราะ) ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัล อะวอร์ด เป็นความชื่นใจเล็กๆ ในชีวิต

เสน่ห์ของงานวาด ถ้าบอกอย่างจริงใจคือ ไม่ได้ชอบมันมากขนาดนั้น อย่างแรกเลย คือเลี้ยงชีพได้ (หัวเราะ) มีใช้ กินอิ่ม นอนหลับ สิ่งที่ได้ตามมาคือความรู้สึกภูมิใจข้างในตัวเอง เวลาที่เราทำงานนั้นเสร็จแล้วเราได้สื่อสารอะไรออกไป มันทำให้เรารู้สึกว่า ‘เฮ้ยเราทำแบบนี้ได้ด้วยหรอ’ ไม่เคยคิดว่าเราทำได้ แต่เราทำได้ ค่อยๆ ทำได้ไปเรื่อยๆ มันเป็นความรู้สึกที่ตัวเองกล้าขึ้น

  เป็นหนึ่งในคนที่วาดรูปในหนังสือเรียนไหม?
ไม่นะ (หัวเราะ) คนชอบบอกว่า ถ้าเป็นนักวาดภาพประกอบ ตอนเด็กๆ ต้องเป็นคนชอบวาดรูปชอบขีดเขียนแน่เลย แต่เราไม่ได้เป็นเด็กแบบนั้น ชอบคิดมากกว่า ไม่ได้เป็นคนวาดรูปสวย แต่เพราะเอาความคิดมาบวกกับศิลปะ ออกมาเป็นอะไรสักอย่าง ไม่เคยคิดว่าจะต้องว่าสวย วาดเหมือน วาดให้มันดีสุดสุดไปเลย แค่ให้มันสื่อสารอะไรบางอย่างออกไปได้ก็พอแล้ว

  ครอบครัวมีส่วนที่ทำให้มีความคิดแบบนี้?
ใช่ๆ พ่อจะเป็นคนที่แบบว่า อยากทำอะไรลองไปเลย จะชอบสังเกตเวลาพ่อสอนน้องชาย เพราะตอนเรายังเด็กไม่ทันได้สังเกต เช่น ถ้ามีน้ำแข็งในตู้เย็นแล้วน้องชายแกะไม่ออก บางทีจะมาขอให้พ่อช่วย พ่อก็จะบอกว่า ‘แกะไม่ออกก็ไม่ต้องกิน’ ให้น้องหาวิธีแกะให้จนได้ น้องก็คิดว่าแกจะทำยังไง เอามีดมาแงะก็ไม่ออก ไปเติมน้ำแล้วน้ำแข็งละลาย อ่ะ ออกแล้ว ให้หาวิธีด้วยตัวเอง เป็นวิธีการสอนของที่บ้าน ให้ทำเอง ไม่ช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ไม่ดูแล ช่วยให้คิดได้ช่วย ให้เรียนรู้ด้วยตัวเองได้

⚫  มองย้อนกลับไปในอดีต รู้สึกอิ่มในใจ หรือมีอะไรอยากกลับไปแก้ไขบ้าง?
ไม่มีเลยนะ เอาจริงไม่รู้จะแก้อะไรเพราะรู้สึกว่า อดีตก็คืออดีต เป็น process ที่ทำให้เรามาเป็นเราในวันนี้ ไม่ว่าเรื่องดีไม่ดี เราไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกเรื่องมันดีขึ้นในชีวิตก็ได้ เพราะในเรื่องที่แย่ ก็ทำให้เราได้ดี ทำให้ได้เรียนรู้เหมือนกัน

  ถ้ามองสวนนี้ ที่ชื่อว่าประเทศไทย กล้วยจะออกแบบอย่างไร ให้ดอกไม้ประชาธิปไตย จะผลิดอก เบ่งบานไปทั่วสวน โดยไม่เบียดบังการเติบโตของกันและกัน?
ก็คงเริ่มจากการดูว่าคนที่อยู่ในสวน ในประเทศ มีใครบ้าง ซึ่งก็คือประชาชนทุกคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเจนไหน เขาก็ควรมีพื้นที่ ในสวนเราก็คงมีพื้นที่สำหรับทุกคน มีพื้นที่ให้เด็ก ให้คนแก่ มีพื้นที่ให้คู่รัก มีพื้นที่ให้ทุกคนในขอบเขตที่ทำได้

แต่สวนประเทศไทยทุกวันนี้ อาจจะไม่รองรับคนที่อยากจะทำกิจกรรมอะไรในสวนเท่าไหร่ ยังจำกัดพื้นที่อยู่ สีเขียวในเมืองก็อาจจะไม่ได้ใหญ่พอ

——————–

เตรียมพบกับทัพหนังสือใหม่ หนังสือไฮไลต์ และกองพรีเมียมสุดเซอร์ไพรส์ “Banana Blah Blah X Matichon” ที่ บูธมติชน L19 สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49

วันที่ 17-25 เมษายนนี้ เวลา 10.00-21.00 น. ณ ฮอลล์ 98-99 ไบเทค บางนา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image