อาศรมมิวสิก : การประกวดกีตาร์ จัดโดยยามาฮ่า

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา บริษัทสยามดนตรียามาฮ่าจับมือกับบริษัทไทยยามาฮ่า (มอเตอร์ไซค์) จัดประกวดเล่นกีตาร์ชิงรางวัลใหญ่ประจำปี (TWO YAMAHAS, ONE PASSION : Acoustic Guitar Competition 2020) มีเงินรางวัลรวม 5 แสนกว่าบาท พร้อมรางวัลรถมอเตอร์ไซค์ (YAMAHA XSR155 Sport Heritage) ซึ่งทำให้วัยรุ่นคนที่รักกีตาร์ทั้งหลายชอบมาก นอกจากนี้ ยังมีรางวัลเป็นกีตาร์โปร่งรุ่นอาชีพแจกเพิ่มให้อีกด้วย

รับสมัครโดยให้ส่งผลงานการแสดงกีตาร์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เริ่มวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกผลงานให้เหลือผู้แข่งขันรอบสุดท้าย 10 คน ซึ่งได้ขึ้นเวทีแสดงฝีมืออวดความสามารถต่อหน้าคณะกรรมการและแฟนเพลงทั้งหลาย แต่ละคนต้องเล่น 2 เพลง มีเวลาคนละ 15 นาที จัดการแข่งขันที่ห้องประชุม ดร.ถาวร พรประภา ชั้น 5 อาคารสยามกลการ ปทุมวัน

คุณสมบัติของนักกีตาร์ที่สมัครได้ คือ อายุไม่เกิน 25 ปี สัญชาติไทย สิ่งที่สำคัญนั้นต้องใช้กีตาร์โปร่งหรือกีตาร์ไฟฟ้าที่เป็นยี่ห้อของยามาฮ่าเท่านั้น เมื่อสมัครแล้วให้ส่งผลงาน ระบุชื่อนามสกุล ชื่อเล่น และแนบข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นวิธีการประกวดที่ปรับเปลี่ยนโลกดนตรีไปแล้ว เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างรวดเร็วมาก

สำหรับในชุมชนคนที่รักชอบกีตาร์ด้วยกัน ก็ต้องเข้าไปอยู่ในช่องเทคโนโลยีกลุ่มเดียวกัน ใครที่ไม่รู้ช่อง มองไม่เห็น ปรับตัวไม่ทัน ก็จะตกยุคไป เพราะการประกวดในรูปแบบเก่าที่ต้องกรอกใบสมัครลงในกระดาษ ส่งเอกสารด้วยตนเอง ต้องใช้เอกสารใบรับรองความถูกต้อง ใช้สำเนาทะเบียนบ้าน ใช้สำเนาบัตรประชาชน หมดยุคและล้าหลังไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพียงแค่กะพริบตา

Advertisement

การที่คนรุ่นใหม่เล่นกีตาร์ในรายการประกวดครั้งนี้ (ทั้งกีตาร์โปร่งและกีตาร์ไฟฟ้า) เป็นภาพของสังคมยุคใหม่ เป็นคุณภาพของนักดนตรีที่ก้าวล้ำไปข้างหน้า กีตาร์นั้นเป็นเครื่องดนตรีสากลอยู่แล้ว สามารถจะเข้าถึงและสื่อสารภาษากีตาร์กับประชาคมโลกได้ง่าย เพราะคนที่ชอบและเล่นกีตาร์นั้นมีอยู่มาก ฟังเสียงกีตาร์และเข้าใจภาษากีตาร์ ซึ่งกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมมาก เข้าถึงง่าย เป็นเฟอร์นิเจอร์ประจำตัวที่หรู เดินหิ้วกีตาร์แล้วรู้สึกว่า “เท่” ขึ้นมาทันที

สำหรับการประกวดครั้งนี้ ได้เห็นฝีมือของนักกีตาร์คนไทยไปไกลมาก การขึ้นประกวดบนเวทีที่สำคัญๆ ในเวทีกีตาร์ระดับโลกกับเวทีการประกวดกีตาร์ในประเทศ ดูแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันอีกต่อไป เพราะมีกีตาร์ไทยได้ไปล่ารางวัลในเวทีระดับนานาชาติมาหลายครั้งแล้ว

วิธีการประกวดและพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้การนำเสนอฝีมือนักกีตาร์ไปได้รวดเร็วและกว้างไกล โดยเฉพาะแรงบันดาลใจ สีสันในการนำเสนอ และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างบทเพลง เป็นวิธีการและการให้โอกาสนักกีตาร์ได้ใช้ความสามารถในการแต่งเพลงขึ้นเอง คิดค้นวิธีทำเสียง แสดงอวดฝีมือได้เต็มที่ ให้โอกาสนักกีตาร์ได้ปล่อยของ โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเล่นกีตาร์แบบดั้งเดิมแต่ประการใด ทำให้เกิดการสร้างสรรค์วิธีใหม่ให้วงการประกวดกีตาร์อีกด้วย

รางวัลใหญ่ที่ได้จากการประกวดนั้น ยั่วยวนใจนักกีตาร์มาก ต่างก็หมายมั่นปั้นมือเพราะเป็นรางวัลใหญ่ รางวัลสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้ ทำให้นักกีตาร์มุ่งมั่นในการฝึกซ้อมมาก ทุกคนฝึกฝนมาอย่างหนัก ต่างก็มีความตั้งใจอย่างแรงกล้า โดยมีรางวัลเป็นเป้าหมาย ที่สำคัญก็คือ การประกวดเป็นการพัฒนาฝีมือในการเล่นกีตาร์ ได้อวดฝีมือซึ่งกันและกัน ได้โอกาสที่จะนำจุดเด่นที่เห็นกลับไปพัฒนาฝีมือได้อีก ซึ่งฝีมือที่ได้ก็จะอยู่กับตัวนักกีตาร์ไปทั้งชีวิต เมื่อเก่งแล้วก็จะเก่งไปเลย

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ คือ นายณัฐกฤตย์ เปลี่ยวจิตร์ (ลิขิต) ได้รับมอเตอร์ไซค์ (Yamaha XSR155 Sport Heritage) มูลค่า 91,500 บาท ได้เงินสด 100,000 บาท และกีตาร์โปร่งไฟฟ้า (Yamaha Red Label: FGX5) มูลค่า 51,000 บาท รวมรางวัลชนะเลิศมูลค่า 242,500 บาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง นายนครินทร์ ทามูล (ซีริว) ได้รางวัลเงินสด 50,000 บาท กีตาร์โปร่งไฟฟ้า (Yamaha Red Label: FGX3) มูลค่า 39,000 บาท รวมมูลค่า 89,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง นายปัณณวิชญ์ พงษ์หฤษฎ์ (ปัณณ์) ได้เงินสด 30,000 บาท ได้กีตาร์โปร่งไฟฟ้า (Yamaha Red Label: FG3) มูลค่า 32,000 บาท รวมมูลค่า 62,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลที่มอบให้ อาทิ Mixing Console รุ่น AG06 มูลค่า 7,500 บาท รวมมูลค่า 52,500 บาท เป็นรางวัลที่ 4-10 ส่วนรางวัลพิเศษศิลปินประทับใจ (Yamaha Popular Vote) นางสาวเวธกา วสุรัตต์ (ซิดนีย์) ได้เงินสด 10,000 บาท พร้อมกีตาร์โปร่งไฟฟ้า (Yamaha FG-TA) มูลค่า 25,500 บาท รวมมูลค่า 35,500 บาท

การประกวดครั้งนี้ มีคณะกรรมการตัดสิน 5 ท่านด้วยกัน ได้แก่ อาจารย์อรรถพล หมั่นเจริญ (อาจารย์แก๊ป) จากสยามดนตรียามาฮ่า (YAMAHA Music academy) อาจารย์แจ๊ค ธรรมรัตน์ ดวงศิริ ซึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพ คุณทักษ์ เหล็กกล้า ศิลปินของยามาฮ่า (Yamaha Guitar Artist) คุณโอ๊บ เพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทดนตรี (Muzik Move Records) และคุณเจน มโนภินิเวศ (เต่า จากวง MILD)

ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ นายณัฐกฤตย์ เปลี่ยวจิตร์ ชาวนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 เริ่มเรียนกีตาร์เมื่ออายุ 9 ปี สอบเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช โดยผ่านโครงการความสามารถพิเศษกีตาร์คลาสสิก เรียนกีตาร์คลาสสิกกับอาจารย์พานิช ลาภานันต์ ที่โรงเรียนดนตรีสยามนครศรี ได้เข้าเรียนกีตาร์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเรียนกีตาร์กับอาจารย์วรกานต์ แสงสมบูรณ์ ปัจจุบันศึกษาปริญญาโทดนตรี ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายณัฐกฤตย์ เปลี่ยวจิตร์ ยังเป็นสมาชิกวงจันทร์แรม (3 ชิ้น) โดยมีวิโอลาและเครื่องเคาะจังหวะ สร้างผลงานแนวเพลงใหม่ ได้นำดนตรีพื้นบ้านมาเรียบเรียงเพื่อนำเสนอแก่ผู้ฟังในโลกสมัยใหม่อีกด้วย

ในขณะที่โรคระบาดโควิด-19 ได้เปลี่ยนโลกดนตรีไปมาก การตกงานของนักดนตรี การเปลี่ยนวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพดนตรี การใช้ชีวิตในโลกเทคโนโลยีแบบใหม่ แต่เนื่องจากดนตรีเป็นเรื่องของทักษะ เป็นเรื่องของฝีมือและความรู้สึก ก็ต้องใช้ฝีมือ ซึ่งเทคโนโลยียังทดแทนความรู้สึกของมนุษย์ไม่ได้

ในการจัดประกวดเล่นกีตาร์ชิงรางวัลใหญ่ สนับสนุนโดยบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า ซึ่งมีธุรกิจดนตรีที่ใหญ่ในประเทศและมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นเรื่องสำคัญมากที่บริษัทให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรี นอกจากจะได้ช่วยพัฒนากิจการดนตรีแล้ว ยังช่วยให้วงการดนตรีมีความก้าวหน้ามองเห็นอนาคต อีกทั้งยังเป็นการออกจากโลกและวิถีชีวิตของโควิด-19 ด้วย รางวัลจากการประกวดกีตาร์ทำให้นักดนตรีและผู้เล่นกีตาร์ทั้งหลายรู้สึกฮึกเหิมกันพอสมควร เป็นกำลังใจให้ทุกคนมีเป้าหมายในการเล่นดนตรีและฝึกซ้อมฝีมือ สำหรับคนที่ได้รางวัลรองๆ ก็ต้องกลับไปฝึกเพิ่มเติม ต้องคิดว่าโชคดีที่ต้องไปฝึกซ้อมเพื่อการประกวดในครั้งต่อไป ฝึกซ้อมจนกีตาร์เป็น “อวัยวะพิเศษ” ที่ผูกติดตัวนักกีตาร์

เมื่อศิลปินกีตาร์มีกำลังใจในการฝึกซ้อม “คิดบวก” มองหาสิ่งที่ดีให้ได้ สามารถสร้างงานได้ด้วยตนเอง ที่สำคัญก็คือ ได้ใช้เทคโนโลยีที่จะสื่อสารผลงานออกสู่ผู้ฟังได้กว้างขวางมากขึ้น เพราะนักกีตาร์ที่แสดงผลงานต่อไปนี้ ไม่ได้เกิดจากเวทีแสดงสดอีกต่อไป แต่สามารถเป็นศิลปินในสื่อออนไลน์และทำได้ด้วยตนเอง

เวทีการประกวด เป็นบันไดสำคัญในการเรียนดนตรีและการเล่นดนตรี ผู้ชนะก็คือผู้ที่ยังเล่นดนตรีอยู่ต่อไป ตราบใดที่ยังเล่นดนตรีอยู่ก็ยังดำรงความเป็นผู้ชนะ เมื่อดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต นักกีตาร์ทุกคนก็เป็นผู้ชนะ รางวัลนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ คนที่เล่นดนตรีจึงได้กำไรชีวิต

จากเวทีการประกวดกีตาร์ ความสามารถและทักษะในการเล่นกีตาร์ก็จะกลายเป็นสินค้าส่งออก คือ “ส่งออกศักยภาพความเป็นเลิศ” เมื่อการประกวดกีตาร์มีมาตรฐานสูง นักกีตาร์ไทยก็จะออกไปเป็นนักดนตรีนานาชาติ เป็นครูเป็นวิทยากรกีตาร์ในต่างประเทศ ความสามารถก็จะนำทางสร้างพื้นที่และสร้างอาชีพให้แก่นักกีตาร์ได้เอง

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image