อาศรมมิวสิก : บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

อาศรมมิวสิก : บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

อาศรมมิวสิก : บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

เมื่อวันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2564 ผมได้นำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Thai Symphony Orchestra) ไปแสดงที่ร้านอาหารเมืองไม้ กระบี่ ตามข้อเสนอของงานวิจัยที่ทำเรื่องเพลงพื้นบ้านของท้องถิ่นต่างๆ ของไทย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว จากเพลงภาคกลางแสดงที่วัดพระราม อยุธยา แล้วได้เลือกเพลงแห่งทะเลอันดามันไปแสดงที่กระบี่ ทั้งอยุธยาและกระบี่ต้องจัดแสดงที่เวทีกลางแจ้ง ต้องจัดการเรื่องเวที ระบบเครื่องเสียง ระบบแสง รวมทั้งการจัดที่นั่งตั้งระยะให้แก่ผู้ชมด้วย ครั้งนี้เป็นบทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

ความท้าทายในการจัดแสดงครั้งนี้ก็มีมากขึ้น ลำพังการจัดแสดงวงไทยซิมโฟนีในต่างจังหวัดก็หนักอยู่ การเดินทางของคนทำงาน การขนอุปกรณ์ ขนนักดนตรี ค่าที่พัก ค่าอาหาร การจัดเวทีแสดงกลางแจ้ง ซึ่งต้องทำหลังคากันแดดกันฝน ดูทิศทางลม ต้องดูแลทั้งระบบเสียงแสง ต้องหาเครื่องปั่นไฟ ต้องมียา (ทา) กันยุง ทั้งนี้ยุงที่กระบี่จบปริญญาทั้งนั้น โดนแล้วทั้งแสบและคัน รวมทั้งแมลงเม่าด้วย ส่วนนักดนตรีนั้นเป็นคนเมืองกลัวยุง

ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องห้องน้ำให้แก่ผู้ชม ดูแลเรื่องอาหารให้คนทำงานทุกฝ่าย ดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานการวิจัย ผู้ให้ทุนวิจัย ผู้สื่อข่าว ต้องใส่ใจดูแลผู้บริหาร ผู้ติดตาม และมิตรรักแฟนเพลง อีกทั้งการตรวจของศูนย์ควบคุมตามข้อบังคับการแพร่ระบาดโควิด-19 (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.) เมื่อรวมเรื่องกันทุกอย่างแล้วก็ลิ้นห้อยพอดี ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับบทเพลงและดนตรีที่จะแสดงแต่ประการใด

Advertisement

อาศรมมิวสิก : บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

กระบี่เป็นเมืองกวี จะหันไปทางไหนก็เจอแต่กวี จะพูดกันก็ต้องร้อยถ้อยคำด้วยภาษาของกวี เมื่อได้ฟังอาจารย์ยรรยง แก้วใหญ่ อ่านบทกวีก่อนการแสดงดนตรี ฟังแล้วก็ตะลึง เพราะอารมณ์ที่ท่านอาจารย์ยรรยงอ่านใส่ในบทกวี สะกดอารมณ์ผู้ฟังให้อยู่นิ่งและถ้อยคำที่กินใจ บรรยายหญิงชายใช้เวทีของรองเง็งเป็นพื้นที่พบรัก สร้างอารมณ์ร่วมอย่างรุ่มร้อน ทำให้ผู้ฟังทุกคนหันมาอยู่กับเวทีแสดงการนำเสนอเพลงรองเง็งเรียบเรียงให้วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าเล่น ประดุจการเอาดอกไม้ป่ามาจัดใส่ในแจกัน แล้วตั้งไว้ในห้องรับแขกหรู ซึ่งความจริงดอกไม้นั้นก็สวยงามอยู่แล้ว แต่คนจัดดอกไม้ก็ตั้งใจที่จะทำให้ดอกไม้ป่ากลายเป็นดอกฟ้าบานในแจกันปานนั้น ทำให้เพลงรองเง็งมีชีวิตใหม่ เป็นการเปลี่ยนบริบทของเพลงรองเง็งและเกิดมีผู้ฟังกลุ่มใหม่ขึ้นด้วย

แฟนเพลงที่กระบี่นั้นมีความหลากหลาย เฉพาะแฟนๆ ที่ลงไปจากกรุงเทพฯ (167 คน) มีสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้สื่อข่าว ส่วนคนในพื้นที่นั้นมีทางวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ศิลปิน และแฟนๆ ที่กระบี่ เนื่องจากพื้นที่จำกัดและถูกจำกัดโดยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ทำให้รองรับผู้ฟังได้แค่นั้น

Advertisement

การแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าเป็นการนำเสนอบทเพลงที่อาศัยงานวิจัยเป็นหลัก เลือกเพลงที่ชอบ เพลงที่มีเสน่ห์ เพลงที่มีความนิยมนำมาเล่น โดยไม่ได้สนใจว่ามิตรแฟนเพลงจะชอบหรือไม่ ไม่ได้เอาใจผู้ฟัง แต่ตั้งใจทำหน้าที่นักวิชาการดนตรี เพราะเชื่อว่า “เพลงก็คือเพลง บรรเลงสำหรับให้ความสุขแก่ทุกคน” รายการเพลงก็เริ่มจากความซับซ้อน ไปสู่ความง่าย แล้วค่อยๆ ปลดปล่อยอารมณ์ออกไปในที่สุด

วันก่อนการแสดงก็ยุ่งกับการเตรียมพื้นที่เวที ต้องย้ายต้นไม้ เจ้าของร้านก็ใจกว้างมากที่ยินยอมให้ย้าย เพราะเป็นร้านอาหารอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ความเดือดร้อนของคนที่รักต้นไม้ เพื่อความสวยงามของเวทีแสดง เพื่อความเหมาะสมของขนาดเวที และเพื่อความลงตัวของเวที เจ้าของร้านก็ยอมให้ย้ายต้นไม้ได้

อาศรมมิวสิก : บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

กระบี่นั้นมีฝนตก 8 เดือน มีแดดออก 4 เดือน ซึ่งแปลว่าไว้วางใจเทวดาไม่ได้ แม้จะเป็นหน้าร้อนก็ตาม เวทีก็ต้องสร้างหลังคาเพื่อกันแดดกันฝนไว้ ครั้นถึงวันแสดงจริง ฝนก็ตกจริงๆ เวลาบ่ายโมง ฝนตกลงมาจนมึน อากาศชื้น ผ้าหุ้มเก้าอี้เปียกหมด ดีที่ได้เตรียมผ้ายางคลุมอุปกรณ์เครื่องเสียง คลุมเวที ต้องเก็บเครื่องดนตรี ทุกอย่างในพื้นที่เปียกหมด ฝนตกสักพักก็หยุด แดดออกสว่างจ้า อากาศดี กระทั่งวงดนตรีได้แสดงจนจบ

สิ่งที่พบหลังจากฝนตก เมื่อพื้นดิน ใบไม้ ใบหญ้าเปียก อากาศชื้น เสียงดนตรีที่เล่นด้วยเสียงธรรมชาติก็จะแห้งมาก วงออร์เคสตร้าที่นำไปวันนั้น (40 ชีวิต) ซึ่งเป็นขนาดกลางๆ เมื่อต้องแสดงเวทีกลางแจ้ง พื้นที่ไม่มีฝาผนังใดๆ อุ้มเสียง เครื่องดนตรีที่ใช้เสียงธรรมชาติ (Acoustic) โดยเฉพาะเครื่องสาย เสียงก็จะลีบโดยไม่รู้มาก่อน เสียงจากเครื่องดนตรีหลังฝนทำให้เสียงแห้งจนน่าตกใจ “ความชื้นพื้นเปียกเสียงจะแห้ง” ความอบอุ่นของเสียงก็จะหายไปหมด บรรยากาศที่เคยอบอุ่นหายไปกับสายฝน จนกว่าความมืดเข้ามาแทนที่ความสว่าง เสียงดนตรีที่อบอุ่นจึงค่อยๆ ดังขึ้นตามลำดับ ความมืดก็ช่วยให้เสียงหนักรวมตัวและไพเราะมากขึ้น

เมื่อจบบทกวี ก็เป็นเวทีของวงรองเง็งสวนกวี (5 เพลง) ซึ่งเป็นวงรองเง็งที่ยังรักษาเพลงดั้งเดิมเอาไว้อยู่ โดยตั้งใจจะให้ผู้ฟังได้สัมผัสต้นแบบของรองเง็งที่ยังเหลืออยู่ จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าแสดงบทบาทของดนตรีที่ตกแต่งเสียงใหม่ เล่นเพลงเดิมแต่ใช้เครื่องดนตรีสากล ใช้วิธีคิดแบบสากล นำเสนอวิธีนั่งฟังอย่างสงบ แม้อยากจะลุกขึ้นเต้นเพราะเนื้อเต้น แต่ก็ทำไม่ได้ ทำได้แค่รู้สึกว่าขนลุกและเนื้อเต้นเท่านั้น

ผู้ฟังก็รู้ว่าการปรุงแต่งเรียบเรียงเสียงกลายเป็นโฉมหน้าของเพลงใหม่ “เพลงในร่างใหม่วิญญาณเดิม” มีร่องรอยจิตวิญญาณของเพลงดั้งเดิมอยู่ ความเป็นจริงก็ไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงรักษาความรู้ของเสียง จัดการกับระเบียบของเสียงให้ทำหน้าที่ให้ลงตัว แล้วทำความสะอาดเสียงทุกๆ เสียง โดยอาศัยฝีมือของนักดนตรีเล่นให้ถูกเสียง เล่นด้วยคุณภาพเสียงที่ดี เพียงแค่นี้ บทเพลงดั้งเดิมก็กลับมามีชีวิตใหม่ ต่ออายุยืดชีวิตเพลงออกไปได้

อาศรมมิวสิก : บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

เพลงเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นและแต่ละสังคม เพลงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต การเล่าประวัติศาสตร์โดยการเล่นเพลง เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นโดยใช้ภาษาความรู้สึกผ่านอารมณ์เพลง เพราะเพลงสามารถเข้าถึงจิตใจคนได้ทุกคน พิสูจน์ได้จากการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าที่กระบี่ครั้งนี้ นักดนตรีก็ไม่ได้รู้จักเพลง ผู้ฟังที่ไปจากต่างถิ่นก็ไม่ได้รู้จักเพลง ชาวบ้านที่แม้รู้จักเพลงแต่ก็รู้ว่าเพลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รู้สึกว่าไม่คุ้นเคย แม้รู้จักก็ยังรู้สึกแหยงๆ ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะกลิ่นของเพลงเปลี่ยนไป

ที่น่าตื่นเต้นมากก็คือเพลงศรีนวล สำเนียงมอญ เป็นคนละเพลงกับศรีนวลดนตรีไทยภาคกลาง เพลงศรีนวลของรองเง็ง ปรากฏในเพลงปี่โนราและเพลงปี่ของหนังตะลุง ศรีนวลเป็นเพลงสำเนียงมอญปนกับแขก อย่าลืมว่าโบราณนั้นไม่มีเขตแดน แนวเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพื้นที่แนวการปกครองโดยสยาม การปกครองเป็นอย่างไรนั้นไม่รู้ แต่ในส่วนวัฒนธรรมเพลงก็จะแลกกันไปแลกกันมา กระทั่งมอญกับแขกก็ปนกัน ชาวเรือกับชาวดอนก็แลกวัฒนธรรมกัน เป็นการสังวาสกันทางวัฒนธรรมโดยได้เพลงเป็นลูกออกมา

รายการจบลงด้วยเพลงนกสีเหลืองและเพลงบูบู ผลงานของคุณวินัย อุกฤษณ์ ศิลปินชาวกระบี่ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัวของผม เมื่อครั้งที่เรียนดนตรีในอเมริกา (พ.ศ.2521) มีเพื่อนทำงานร้านขายแผ่นเสียง ก็นำเพลงของนีล ไดมอนด์ (Neil Diamond) นักร้องเพลงยอดนิยมมาเปิดให้ฟัง บรรเลงประกอบโดยวงลอนดอนซิมโฟนีออร์เคสตร้า (London Symphony Orchestra) ฟังกันในร้านอาหารซึ่งเป็นที่ทำงาน ฟังเพลงของนีล ไดมอนด์ ไปทั้งชุดนั้นก็รู้สึกยิ่งใหญ่มาก (Beautiful Noise) ผมเองก็ได้เปิดหูเปิดตาไปอีกมากด้วย จำได้ว่าวันนั้นก็คิดถึงเพลง “นกสีเหลือง” หมายมั่นว่า สักวันหนึ่งอยากทำเพลงนกสีเหลืองแสดงกับวงออร์เคสตร้าบ้าง ซึ่งกว่าจะมาถึงวันแสดงวันนี้ ก็ใช้เวลารอคอยนานถึง 43 ปี

อาศรมมิวสิก : บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน

การแสดงจบแล้ว แต่วงรองเง็งสวนกวียังไม่จบ ไปเปิดแสดงต่อที่บ้านเจ้าของร้านเรือนไม้ โดยมีกลุ่มศิลปินล้อมวงร้องเพลง มีวงรองเง็งร้องเพลงเล่นดนตรีเป็นหลัก ดูเหมือนว่าทุกคนสนุกสนานและมีความสุขมาก ได้คำตอบใหม่ว่า เพลงรองเง็งเป็นดนตรีเพื่อความสุข เพื่อความสนุกสนาน และเป็นการปลดปล่อยตัวตนไปจากความทุกข์และความกังวลที่มี ทำให้นึกถึงปรัชญาของขงจื๊อที่ว่า

“มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี มั่นคงได้ด้วยศีลธรรม และเติมเต็มได้ด้วยดนตรี”

มนุษย์จะสมบูรณ์ได้นั้น ก็ต้องอาศัย 3 สิ่งนี้ในชีวิต

การลงภาคสนามค้นหาร่องรอยเพลงท้องถิ่นในอดีต นำมาขัดเกลาปรุงแต่งตามความรู้ความสามารถเท่าที่จะทำได้ เป็นเพียงการเริ่มต้นศึกษาสังคมของตัวเอง ครั้นเมื่อเพลงในท้องถิ่นมีชีวิตขึ้นมา บทเพลงของท้องถิ่นได้สร้างพลังให้แก่ชุมชนได้อย่างเหลือเชื่อ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็สร้างความเคลื่อนไหวได้พอสมควร ซึ่งก็ได้สดับมาว่า ผู้มีบารมีอยากให้ขยายการวิจัยและเพิ่มการแสดง จากเดิมที่มีอยู่ 7 เมือง เป็น 10 เมือง โดยได้เสนอไปว่า ควรเลือกเพิ่มเมืองใหญ่ คือ 3 นคร เพราะเป็นเมืองที่มีชุมชนและมีวัฒนธรรมเพลงที่สำคัญ คือ นครพนม นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช โดยมีของขวัญติดจรวดว่า “ให้นำเสนอวงใหญ่เต็มวง 2 ครั้ง”

หัวใจสำคัญของงานก็คือ ความร่วมมือร่วมใจของเครือข่ายและพรรคพวก ที่เป็นทั้งอำนาจรัฐ อำนาจพวก และอำนาจเพื่อน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ สิ่งที่จะเชื่อมทั้ง 3 อำนาจได้ คือ น้ำใจ เท่านั้น

พลังของเสียงดนตรีเป็นเสียงจากสวรรค์ สามารถที่จะเชื่อมจิตใจคนให้รักสามัคคีกันโดยไม่รู้ตัว

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image