คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : สุโขทัยจัดการน้ำ

ทะเลหลวง สุโขทัย ภาพจาก ridceo.rid.go.th

ไปดูความเข้มแข็งของกลุ่มจัดการน้ำที่จังหวัดสุโขทัยมาเมื่อสัปดาห์ก่อน

กลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน แล้วเติบโตขึ้นมา

จนวันนี้เปรียบได้กับผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์ที่คิดเอง ทำเอง ได้อย่างเต็มที่

สุโขทัยมีแม่น้ำยมไหลผ่าน รับน้ำจากจังหวัดแพร่มาอีกทอดหนึ่ง

Advertisement

เส้นทางไหลของน้ำตั้งแต่โบราณ คนสุโขทัยต้องยอมธรรมชาติ โดยปล่อยให้น้ำท่วมอยู่บริเวณหนึ่ง

ปัจจุบันเราเรียกว่าพื้นที่รับน้ำ แต่สมัยก่อนเขาเรียก “ทะเลหลวง”

ส่วนตัวเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย เขาบอกว่า 800 ปี ไม่มีท่วม…

Advertisement

การจัดการน้ำในสมัยสุโขทัยก็ถือว่าเป็นเลิศ วิธีการดังว่าหนีไม่พ้นการทำความเข้าใจธรรมชาติ

น้ำจากเขาไหลลงมารวมกันที่ๆ เรียกว่า สรีดภงค์

สรีดภงค์เป็นทำนบกั้นน้ำจากภูเขาไม่ให้เข้าเมืองสุโขทัยในยุคเก่าก่อน

ชาวเมืองสุโขทัยเมื่อ 700-800 ปี สามารถดึงน้ำจากสรีดภงค์เข้าเมืองได้

คือน้ำที่สรีดภงค์กั้นจะไหลลงคลอง จากคลองไหลไปเฉียดกำแพงเมือง

ชาวสุโขทัยก็ทำระบบกั้นน้ำ เรียกว่า “ทำนบพระ” คอยควบคุมเส้นทางน้ำ

ควบคุมให้น้ำเข้าเมือง ควบคุมให้น้ำไหลเฉียดเมือง

ชาวสุโขทัยเล่าให้ฟังว่า กลวิธีบังคับน้ำตั้งแต่ต้นจนเข้าเมืองทำให้โลกสนใจ

ยอมรับในนวัตกรรมสุโขทัย เมื่อสมัย 700-800 ปีที่แล้ว

นั่นคือความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นและสืบทอดต่อๆ กันมา

ปัจจุบันชาวสุโขทัยมีความภาคภูมิใจในการบริหารจัดการน้ำตามยุคสมัย

สืบเนื่องจากแม่น้ำที่ไหลมายังสุโขทัยคือแม่น้ำยมนั้นไม่มีเขื่อนขวางกั้น

น้ำจากแม่ยมที่ไหลลงมาจากจังหวัดแพร่เข้าสุโขทัยจึงมาแบบเต็มๆ

แม้จะมีการชักน้ำออกข้างทางตามวิธีจัดการของกรมชลประทานบ้าง แต่สุดท้ายก็ยังลำบาก

แต่ที่ลำบากอย่างสุดแสนคือไม่มีน้ำใช้ยามแล้ง

จากประสบการณ์หลายสิบปีสืบต่อ ชาวสุโขทัยสั่งสมองค์ความรู้

สรุปว่าน้ำท่วมดีกว่าน้ำแล้ง

เพราะเวลาน้ำท่วมนั้นท่วมไม่นาน แต่เวลาแล้งน้ำไม่มีนี่สิ สุดแสนลำเค็ญ

ปัจจุบันชาวสุโขทัยได้เกาะกลุ่มจับมือกันเป็นเครือข่ายบริหารจัดการน้ำ

ภาครัฐมีกรมชลประทานเป็นหัวหอก มีจังหวัดสนับสนุน

ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่าง นายปิติ แก้วสลับสี ก็เล่นด้วย

รัฐทำหน้าที่ให้ความรู้ และคอยช่วยเหลือ แบบลงไปร่วมลุย

ภาคท้องถิ่น มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยเป็นโต้โผ

ท้องถิ่นสนับสนุนอุปกรณ์ และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยก็ทุ่มเท

และสุดท้าย คือ ภาคประชาชนที่ตั้งเครือข่ายจัดการน้ำขึ้นมา

ความสำเร็จความล้มเหลวก็อยู่ที่ประชาชนนี่แหละ

เมื่อทุกฝ่ายพร้อมใจกันแก้ปัญหา โครงการ “ทะเลหลวง” ก็เริ่มต้น

ใช้พื้นที่รับน้ำซึ่งโบราณเรียกว่า “ทะเลหลวง” เป็นหลัก จากนั้นระดมขุดเป็นสระขนาดใหญ่

ใครขึ้นเครื่องบินไปลงสุโขทัยจะเป็นแอ่งน้ำรูปหัวใจ…นั่นแหละทะเลหลวงที่เขาทำ

ทะเลหลวงนี้จะทำหน้าที่เหมือน “แก้มลิง” ที่ลพบุรี

เมื่อถึงหน้าน้ำก็ทำหน้าที่รับน้ำและกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้

เมื่อถึงหน้าแล้งก็ใช้น้ำที่กักเก็บมาหล่อเลี้ยงเรือกสวนไร่นาแก่เกษตรกร

การกำกับดูแลการใช้น้ำ ให้ภาคประชาชนที่เป็นเครือข่ายดำเนินการ

มีกองทุน มีประธาน มีสมาชิก มีกฎระเบียบกติกา..กำหนดโดยประชาชน

เครือข่ายน้ำนี้มีตลอดแม่น้ำยม แต่ชาวสุโขทัยเขาบอกว่า ที่นั่นโดดเด่น

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือเครือข่ายเหล่านั้นมีศักยภาพเพิ่มขึ้นมาก

เครือข่ายจัดการน้ำสามารถรู้ว่าขณะนี้ “มวลน้ำ” ไหลมาถึงไหน ผ่านแต่ละจุดด้วยปริมาณเท่าใด

อีกกี่วันจะมาถึงสุโขทัย และเมื่อมาแล้วมีโอกาสท่วมมากหรือน้อยแค่ไหน

ข้อมูลเรื่องน้ำมีการส่งทางไลน์ให้แต่ละคนทราบ

เรียกได้ว่ามีรายงานเรื่องน้ำมาให้รู้ทุกๆ 30 นาทีก็ว่าได้

เมื่อภาครัฐ ท้องถิ่น และเกษตรกรรู้สถานการณ์ไปพร้อมๆ กัน

การดำเนินการบริหารจัดการน้ำก็ “พูดภาษาเดียวกัน”

เวลาทำงานด้วยกัน พูดจาภาษาเดียวกันก็รู้เรื่อง

ผลที่ออกมาก็รวดเร็ว และสำเร็จลงด้วยดี

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอ่ยปากชม

แถมยังอยากจะให้สุโขทัยเป็นต้นแบบแก่จังหวัดอื่น

เรื่องการบริหารรจัดการน้ำของสุโขทัยจึงสมควรนำมาเอ่ยถึง

คนทั่วไปจะได้รู้ว่า หากคิดจะจัดการสิ่งใดก็สามารถทำได้

ขอให้เข้าใจในสิ่งที่ทำ และลงมือกระทำด้วยกันอย่างสมัครสมาน

เหมือนดั่งการจัดการน้ำที่เป็นปัญหาระดับชาติ

แต่สำหรับชาวสุโขทัย ปัญหากำลังคลี่คลาย ด้วยการร่วมแรงร่วมใจ…

และผลที่ปรากฏก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สุโขทัยทำได้ !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image