หนุมาน : เทพแห่งสรรพวิทยา (46)

พระราม นางสีดา

ในตอนก่อนเล่าถึงพระรามกับนางสีดาพักอยู่ที่ป่าทัณฑกะ (Dandaka) ป่านี้อยู่ระหว่างแม่น้ำโคทาวารีกับแม่น้ำนรรมทา (Narmada) แม่น้ำนรรมทานี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เนรพุทธะ (Nerbudda) ถือเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าใต้แม่น้ำนี้มีรอยพระพุทธบาท

ส่วนนามทัณฑกะนั้นว่าเป็นนามของบรรพบุรุษของอิกษวาถุ (เนรพุทธะหรือนรรมทา คือแม่น้ำที่มีกล่าวถึงในเรื่องลอยกระทงของไทย)

ตามเรื่องรามายณะเล่าว่า เมื่อพระรามเดินทางจากป่านี้ไปก็ได้พบกับ “ชฏายุ” (ในรามเกียรติ์ไทยเรียกสดายุ) และได้พาไปสร้างอาศรมที่ริมฝั่งน้ำโคทาวารี และที่นี่เองนางสีดาถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป พญาชฏายุ (Jatayu) เป็นน้องชายของ “สัมปาตี” (Sampati) ทั้งสองเป็นบุตรของพญาครุฑ (ที่เป็นพาหนะของพระวิษณุ)

เมื่อทศกัณฐ์พานางสีดาไปนั้น ผ่านหน้าถ้ำของชฏายุๆ จึงเข้าขัดขวาง แต่พลาดท่าแพ้ ตกลงนอนที่พื้นดิน พระรามมาพบจึงได้ทราบว่าทศกัณฐ์เป็นผู้ลักพา พอเล่าเรื่องจบชฏายุก็ตาย ขอรวบรัดตัดความเพื่อมิให้เรื่องยืดยาว เมื่อทศกัณฐ์พานางสีดาไปถึงกรุงลงกาก็พาเข้าไปในวัง ชวนให้ดูปราสาทราชฐาน แต่นางก็ไม่ยอมดูอะไรทั้งสิ้น ทศกัณฐ์จึงสั่งนางรากษสให้พานางสีดาไปไว้ในสวนอโศก สั่งให้โอรสอันมีนามว่า “สหัสกุมาร” คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นจะทำโทษถึงสิ้นชีวิต นอกจากนี้ได้จัดนางกำนัลไว้ปรนนิบัติอีกจำนวนหนึ่ง

Advertisement

ส่วนรามายณะของมลายูกล่าวว่า ทศกัณฐ์พานางสีดาเทวีไปไว้ในปราสาทกลางสวนสระบัว มีกำแพงปราการล้อมถึงเจ็ดชั้น ยากที่ใครจะเข้าไปได้ ในอุทยานนั้นเข้าใจว่าจะมีทั้งมะม่วงและอโศก เพราะนางสีดาเคยคิดจะผูกคอตายที่ต้นอโศก และอโศกเป็นต้นไม้สำคัญที่มักกล่าวถึงในวรรณคดีอินเดียหลายเรื่องเมื่อกล่าวถึงความเศร้าโศกก็จะต้องกล่าวถึง

อย่างเรื่องพระนลนางทมยันตีก็เคยไปยืนคร่ำครวญอยู่ใต้ต้นอโศก หญิงอินเดียบูชาต้นอโศกคือเผาเครื่องหอมในภาชนะดินเผา และทำความสะอาดบริเวณใต้ต้นอโศกอยู่เสมอ ทั้งยังมีศรัทธากินดอกอโศกเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย สมัยก่อนเมืองไทยก็นิยมปลูกตามวัดและโรงพยาบาล เพราะเป็นไม้พุ่มให้ร่มเงาดีแต่ไทยเรามาเรียกว่าต้นโศก จะเพราะเหตุไรก็ไม่ทราบ

ดอกอโศกมีสีแดง เคยเห็นคนเก็บดอกเอาไปแกงส้ม ครั้งพุทธกาลว่าเคยใช้เป็นดอกไม้ถวายพระด้วย ตามคติความเชื่อของชาวฮินดู ถือว่าอโศกเป็นสัญลักษณ์ของความรัก และใช้ถวายพระกามเทพ ในหนังสือบางเล่มกล่าวว่าศรของพระกามเทพเล่มหนึ่งในจำนวน 5 เล่ม (ปัญจศร) มีดอกอโศกรวมอยู่ด้วย

ธรรมชาติของอโศกจะมีดอกในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม นิยมเก็บมาประดับเทวาลัยหรือที่ประดิษฐานรูปพระเป็นเจ้า บางตำราว่าเป็นต้นไม้อุทิศแก่พระศิวะ เล่านอกเรื่องไปนิดเพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักอ่านวรรณคดีอินเดียบ้าง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image