ประสานักดูนก : Raptor Day 2016

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นตัวแรกเดินทางผ่านภาคตะวันตกและภาคใต้ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา

เป็นไปตามข้อมูลในอดีตที่ผ่านเป็นประจำทุกปีที่เหยี่ยวนกเขาชนิดนี้จะเดินทางถึงไทยเป็นชนิดแรก หลังจากนี้ ในเดือนกันยายน จะพบเหยี่ยวอพยพอีก 2 ชนิด คือ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน” และ “เหยี่ยวนกเขาชิครา” แล้วก็ตามมาด้วยยักษ์ใหญ่ ใจเสาะ เช่น “เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวหน้าเทา” และปิดท้ายด้วยทัพใหญ่ของ “เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ” นับแสนตัวในเดือนตุลาคม

เหยี่ยวอพยพ 6 ชนิดหลักข้างต้น มีรูปแบบการอพยพต่างกันแม้ว่าจะเดินทางผ่านบ้านเราในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม บางชนิด อพยพมาน้อย บินผ่านจุดชมเหยี่ยวอพยพรายตัว อาทิ เจ้าญี่ปุ่น ชิครา ส่วนชนิดที่เหลือจะพากันมาเป็นฝูงเรือนร้อยเรือนพันตัว ในบางวันที่การอพยพได้สภาพภูมิอากาศ ทิศทางลมเอื้อหนุน จำนวนเหยี่ยวอาจมากถึงหลายพันตัว เช่น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวหน้าเทา หรือหลายหมื่นตัวในกรณีของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ

หากสีสันของฤดูกาลเหยี่ยวอพยพ มิได้มีแต่เหยี่ยวอพยพ 6 ชนิดหลักนี้เท่านั้น กล่าวคือ ไม่ได้มีแต่จำนวนอันอลังการ ที่แปรรูปขบวนเป็นสายธารเหยี่ยวอพยพ หรือ river of raptors เมื่อเหยี่ยวอพยพขาดแรงหนุนส่งจากลมร้อน แล้วแปรขบวนเป็นแถวแนวยาว บินต่อเนื่องไปข้างหน้า มีเป้าหมายทิศใต้เพื่อไปยังบ้านในฤดูหนาวบนหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

Advertisement

สีสันของเหยี่ยวอพยพยังมีชนิดเหยี่ยวและนกอินทรีที่พบจำนวนน้อย แต่เห็นได้ยาก มีสถานภาพเป็น นกเทพนั่นเอง จากเดิมพบเห็นได้ยากมาก แต่ถ้ามาเฝ้ารออย่างใจเย็น เมื่อนกต้องเดินทางตามสัญชาตญาณยังไงก็ต้องผ่านจุดชมเหยี่ยวอพยพ อาทิ “เหยี่ยวตีนแดง เหยี่ยวนิ้วสั้น นกอินทรีปีกลาย นกอินทรีทุ่งหญ้าสเต็ป” หรือ “นกอินทรีหัวไหล่ขาว”

ชื่อเหล่านี้หากได้ยินนักดูนกขานขึ้นเสียงดังบนลานนับเหยี่ยว รับรองได้ว่ากระตุ้นระดับสารตื่นเต้นในสายเลือด หรืออะดรีนาลิน ได้ชงัดนัก

เมื่อครบปี หลายคนอาจจะลืมเลือน เพราะเนื้อหารายละเอียดมากนัก เนื่องจากการดูเหยี่ยวนับเป็นความท้าทายระดับต้นๆ ของกิจกรรมดูนกในธรรมชาติ ด้วยความหลากหลายของชุดขนของเหยี่ยว เพราะความแตกต่างของเพศ อายุ และสายพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และกลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย จึงจัดวันนกนักล่า Raptor Day เพื่อบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจจะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเหยี่ยวอพยพ รวมทั้งนกนักล่าชนิดอื่นๆ ที่เป็นทั้งสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย และทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า ที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของระบบนิเวศ และในฐานะมรดกทางธรรมชาติที่ควรรักษาและส่งต่อให้รุ่นต่อไปในสังคม เช่น นกแสกทุ่งหญ้า นกนักล่าเวลากลางคืนอันลึกลับ และสถานภาพหายาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะบ้านของมันต้องอาศัยทุ่งหญ้าระดับสูงเป็นสถานที่ทำรังวางไข่ มีรายงานพบน้อยมากในจังหวัดภาคเหนือ และมีหัวข้อแนะนำแหล่งชมเหยี่ยวอพยพใกล้กรุง เช่น ดงเหยี่ยวดำปากพลี จังหวัดนครนายก

Advertisement

สนใจใคร่รู้ พบกัน “วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน” ศกนี้ ที่ “ห้องบรรยาย 1 อาคารเรียนและปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์” ถนนพหลโยธิน ลงทะเบียนฟรีหน้างาน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. บรรยายตลอดวัน

นักดูนกและประชาชนที่มารับความรู้ จะได้รับโปสเตอร์สี เรื่อง แร้งไทย และเหยี่ยวอพยพของ ททท. ติดไม้ติดมือกลับบ้านฟรีอีกด้วย รายละเอียดสอบถามที่เพจ www.facebook.com/ThaiRaptorGroup.TRG ครับ

ถ้าต้องการทำการบ้านมาก่อนการฟังบรรยาย มีแอพพ์มือถือ เป็นคู่มือช่วยจำแนกชนิดเหยี่ยวอพยพ ด้วยภาพถ่าย ชื่อ Thai Raptor Guide ให้ดาวน์โหลดฟรีอีกด้วย สามารถโหลดได้จาก iTunes และเพลย์สโตร์ สะดวกต่อผู้ใช้ไอโฟนและแอนดรอยด์ตามลำดับครับ ความรู้อยู่ที่ปลายนิ้ว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image