แท็งก์ความคิด : เห็นแวว‘นิว เจน’

จําได้ไหม ก่อนหน้านี้เคยเล่าเรื่อง “KPI NEW GEN” ซึ่งเป็นโครงการของสถาบันพระปกเกล้าให้ฟัง

โครงการนี้ต้องการให้เด็กรวมตัวกันเป็นทีมขนาดเล็ก มีด้วยกัน 5 คน เป็นแกนหลัก

แล้วคิดค้นโครงการพัฒนาท้องถิ่นขึ้น

คิดแล้วเขียนโครงการ แล้วประสานงานกับท้องถิ่น ผลักดันผลงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์

Advertisement

โครงการนี้เสมือนฝึกให้เด็กเป็น “สตาร์ตอัพ” ผลักดันไอเดียพัฒนาท้องถิ่น

ทีมไหนคิดค้นโครงการได้แล้ว ส่งรายละเอียดเบื้องต้นไปที่คณะกรรมการ

หากเข้าตากรรมการจะได้รับเชิญมาอบรมเพื่อเพิ่มเขี้ยวเล็บ

Advertisement

คิดเป็นระบบ เขียนโครงการได้

จบจากการอบรม จะได้รับทุนไม่เกินทีมละ 50,000 บาท ไปสานฝันให้เป็นจริง

ผลักดันโครงการจากตัวอักษรให้เป็นรูปธรรม

ทบทวนเรื่องราวของ KPI NEW GEN มาถึงตรงนี้แล้วคงจำกันได้

วันนี้อยากบอกว่า โครงการ KPI NEW GEN คืบหน้าไปไกล

หลังจากประกาศโครงการออกไป ได้มีน้องๆ รวมตัวกันเป็นทีม คิดค้นโครงการแล้วส่งมามาก

คณะกรรมการนำโครงการมาพิจารณา ต่างชอบใจไอเดียของน้องๆ

อยากบอกว่า ดีทุกโครงการ

แต่เมื่อกติกาบอกให้ต้องคัดเลือกให้เหลือ 10 โครงการ คณะกรรมการก็ต้องทำงานหนัก

กรรมการทุกคนใช้หลัก 4 ประการ ได้แก่ 1.นวัตกรรม 2.เป้าหมายและผลกระทบ 3.โอกาสการขยายผล และ 4.ความร่วมมือ เป็นเกณฑ์ในการกลั่นกรอง

กระบวนการคัดเลือก รอบแรก คัดเลือกจากเอกสาร รอบที่สอง คัดเลือกด้วยการสัมภาษณ์ผ่านซูม

หลังจากนั้นจะเหลือ 10 ทีม เพื่อเชิญน้องๆ มาอบรมเพิ่มทักษะแล้วให้ทุน

เบื้องต้นที่ได้สัมผัสโครงการ พบว่าน้องๆ มีไอเดียพัฒนาท้องถิ่นหลากหลาย

บางทีมเน้นไปที่การอนุรักษ์เอกลักษณ์ท้องถิ่นตัวเอง บางทีมส่งเสริมการตลาด หารายได้เข้าชุมชนตามศักยภาพที่ท้องถิ่นมีอยู่ บางทีมมีแนวคิดช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

แต่ละทีมมีความใหม่ มีเป้าหมาย มีประโยชน์ มีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อ่านเอกสารเหล่านี้แล้วอิ่มใจ

หลายทีมคนรุ่นใหม่ได้นำใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนา

หลายทีมคิดการใหญ่ ผลักดันโครงการให้ขยายต่อยอดออกไป

ไอเดียแพรวพราวแบบนี้ คิดตามแล้วสนุก

นี่ถ้าได้เห็นรูปธรรมหลังจากนี้ คงประทับใจไม่น้อย

สอบถามคณะกรรมการที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกทีม ทราบว่าสถาบันพระปกเกล้าเคยจัดโครงการทำนองนี้มาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน

ได้ความรู้ว่า ผลงานน้องๆ ทั่วประเทศที่คิดและทำนั้นมีผลิตผลเกิดขึ้นจริง

หลายท้องถิ่น เมื่อทีมรุ่นพี่เคยทำได้ ทีมรุ่นน้องก็คิดและทำต่อ

แม้ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าโครงการไหนจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไปบ้าง

แต่สิ่งที่สัมผัสได้ คือ เด็กในท้องถิ่นรู้จักท้องถิ่นของตัวเอง รู้จักเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รู้จักปัญหาในท้องถิ่น และมีแนวทางแก้ปัญหา มีแนวทางพัฒนาต่อยอดท้องถิ่น

สำหรับผู้ใหญ่แล้ว การได้เห็นเด็กในท้องถิ่นทั่วประเทศ “คิดได้ ทำได้” น่าภาคภูมิใจ

การเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดได้แสดงออก ถือว่ามาถูกทาง

ในขณะที่โลกทั้งใบรวมทั้งประเทศไทย กำลังเผชิญหน้ากับคนสองรุ่น

รุ่นใหม่กับรุ่นเดิม มีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกัน

คนรุ่นใหม่ต้องขึ้นมาแทนที่คนรุ่นเดิมตามธรรมชาติ ขณะที่คนรุ่นเดิมยังแข็งแรงและทำงานได้

ช่วงการเปลี่ยนรุ่นจึงเกิดการปะทะกันทางความคิด

การเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้คิด ได้ทำ และเห็นผลเชิงพัฒนา เป็นตัวอย่างในการลดความขัดแย้ง

คนรุ่นใหม่จะได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ

ส่วนคนรุ่นเดิมเมื่อเห็นผลสัมฤทธิ์ที่คนรุ่นใหม่ทำได้ก็จะคลายกังวล

ยอมปล่อยมือให้คนรุ่นใหม่ดำเนินการ

นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เด็กในท้องถิ่นทำงานร่วมกับท้องถิ่น

ไม่ว่าจะทำงานร่วมกับ อบจ. หรือเทศบาล หรือ อบต. ก็ตาม

สุดท้ายน้องๆ จะเห็นความสำคัญของท้องถิ่น

เช่นเดียวกับท้องถิ่นก็จะเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่

การเปิดเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถ ในลักษณะคล้ายกับ “สตาร์ตอัพ” การพัฒนาท้องถิ่นเช่นนี้ ย่อมก่อประโยชน์ให้เกิดสุขในท้องถิ่น

เกิดประโยชน์สุขแก่ทีมเด็กที่ทำงานพัฒนาท้องถิ่น

ส่วนผู้ใหญ่ที่เห็นคนรุ่นใหม่มีความคิด มีความสามารถ ก็ย่อมมีความสุข

และมั่นใจว่าพวกเขาพร้อมจะรักษาและพัฒนาท้องถิ่นที่ตัวเองอยู่ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image